Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมทองกวาว UNISERV มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คนเชียงใหม่ประมาณ 500 คน ร่วมจัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ มีการจัดเวทีสาธารณะ "คนฮักเจียงใหม่" และการสัมมนา "สัตว์ป่ากับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี" ก่อนร่วมกันแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ จี้รัฐหยุดนำสัตว์ป่าเข้าไนท์ซาฟารี ชี้เป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในเชิงธุรกิจการค้า และเป็นการกระตุ้นให้เกิดการล่า ทำลายสัตว์ป่ามากขึ้น


 


ในกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการจัดเวทีสาธารณะคนฮักเจียงใหม่ โดยมีการนำเสนอประมวลภาพรวมโครงการเชียงใหม่เวิลด์ ทั้งที่กำลังดำเนินการสร้าง และโครงการที่ได้รับการอนุมัติ และมีนักวิชาการจากหลายองค์กรหน่วยงาน อาทิ นายสุรพล ดวงแข เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าฯ นายสัญญา ศุกระศร ที่ปรึกษากฎหมายสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทยและสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์ นายวีรวัธน์ ธีรประสาธน์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ นางสาวโซไรดา ชาวาลา มูลนิธิเพื่อนช้าง เป็นต้น เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเสวนา


 


หลังจากนั้น ได้มีการแสดงละครหุ่นจากเยาวชนคนฮักเจียงใหม่ โดยได้นำหุ่นรูปสัตว์ต่างๆ พร้อมหุ่นล้อเลียน นายปลอดประสพ สุรัสวดี และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาแสดงถึงการนำสัตว์มาทำการค้า ก่อนที่จะมีการประกาศเจตนารมณ์ การอนุรักษ์สัตว์ป่า เนื่องในวันคุ้มครองสัตว์ป่าประจำปี พ.ศ.2548


 


โดยในประกาศเจตนารมณ์ ระบุว่า การพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ภายใต้โครงการเชียงใหม่เวิลด์ และโครงการสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีที่นำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังถูกเร่งให้มีการพัฒนาในผืนป่าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งถือได้ว่าเป็นฐานทรัพยากรฯ ของคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนท้องถิ่น ที่มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันในมิติต่างๆ ทั้งทางด้านระบบนิเวศที่เป็นแหล่งน้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และทางด้านวัฒนธรรม เช่น ลานครูบาศรีวิชัย วัดพระธาตุดอยสุเทพ และวัดต่างๆ อีกมากมายที่อยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ


 


รัฐบาลกำลังใช้งบประมาณแผ่นดิน และภาษีของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ทำโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ในท่ามกลางข้อกังขาและสงสัยของประชาชนทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ความโปร่งใสในการใช้งบประมาณ ผลประโยชน์ทีทับซ้อน ตลอดถึงความชอบธรรมทางด้านกฎหมาย ที่เกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและการส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม


 


หัวใจสำคัญของโครงการสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ก็คือ การนำเอาสัตว์ป่า ทั้งที่เป็นของประเทศไทยและนำเข้าจากต่างประเทศมาจัดแสดง ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมทั้งกลางวันกลางคืน รวมทั้งการจัดโครงการและกิจกรรมอื่นๆ เช่น การทำอุทยานช้าน สวนนก อควอเลี่ยม บ่อจรเข้ กระเช้าไฟฟ้า รวมไปถึงก่อนหน้านี้ ที่โครงการฯ จะเปิดให้มีการขายเนื้ออาหารสัตว์ป่า ประเภทเปิบพิศดาร ต่อมามีประชาชนจำนวนมากได้ออกมาแสดงการคัดค้านต่อต้านอย่างรุนแรง จนทำให้โครงการฯ ดังกล่าวนี้ยกเลิกไป


 


แต่การสำรวจเบื้องต้น ของเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่า พบว่า สัตว์ป่าที่นำมากักขังในกรง และจัดแสดงในสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีนี้ ยังพบว่ามีปัญหาอีกมาก ทั้งในเรื่องของการกักขังในกรงที่คับแคบ การอยู่อาศัยที่ไม่เป็นธรรมชาติ การกินอาหารที่ไม่สอดคล้องกับชีววิทยาของสัตว์ป่า รวมไปถึงสวัสดิภาพของสัตว์ป่า เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย


 


ในขณะเดียวกัน รัฐบาลไทย กำลังมีการประสานงานที่จะนำเข้าสัตว์ป่าชนิดต่างๆ จำนวนมากจากหลายประเทศ เช่น เคนยา อินเดีย จีน ออสเตรเลีย และอื่นๆ การนำเข้าสัตว์ป่า และการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในเชิงธุรกิจการค้า เป็นสาเหตุสำคัญที่ให้เกิดการล่า การกักขัง การขนย้าย การซื้อขายสัตว์ป่า


 


การดำเนินการดังกล่าว เป็นเหตุให้ประเทศไทยถูกประณามอย่างรุนแรง จากกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าทั้งในและต่างประเทศ อย่างเช่น กรณีชนเผ่ามาไซ และชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศเคนยา ลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อต้านการจับสัตว์ป่า ที่รัฐบาลไทยใช้เงิน 40 ล้าน แลกกับสัตว์ป่า จำนวน 175 ตัว จนทำให้ศาลสูงสุดของประเทศเคนยา ต้องสั่งระงับ


 


ไม่เพียงแต่ข้อกล่าวหาว่า ประเทศไทยผิดเงื่อนไขสัญญาหรือข้อตกลงในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกภาคีความร่วมมือในการอนุรักษ์สัตว์ป่า หรือ CITES เท่านั้น นานาประเทศยังถามถึงคุณธรรม จริยธรรมขั้นพื้นฐานของผู้นำประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความร่ำรวยทางด้านฐานทรัพยากรฯ และวัฒนธรรม สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภาพพจน์ของประเทศไทยในด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า ตกต่ำอย่างไม่เคยมีมาก่อน


 


ดังนั้น เนื่องในวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2548 นี้ เครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่าทั้งในและต่างประเทศ และด้วยความร่วมมือของประชาชนในพื้นที่ที่เรียกว่า "กลุ่มภาคีฮักเจียงใหม่" ขอประกาศเจตนารมณ์ด้วยเหตุผลดังนี้


 



  1. ขอให้รัฐบาลไทยประกาศอย่างชัดเจนว่า จะไม่ให้มีการเปิดขายร้านอาหารเนื้อสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นสวนสัตว์ไนท์ซาฟารีหรือพื้นที่อื่นๆ

  2. สัตว์ป่าจำนวนมาก ที่มีการกักขังในกรง เพื่อใช้ในกิจการสวนสัตว์ต่างๆ รวมไปถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ควรจะได้รับการเอาใจใส่ดูแลให้ดีมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้

  3. รัฐบาลไทยไม่ควรจะนำเข้าสัตว์ป่าชนิดต่างๆ จากต่างประเทศ เพราะเท่ากับว่า เป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากสัตว์ป่าในเชิงธุรกิจการค้า หรือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการล่า ทำลายสัตว์ป่ามากขึ้น อีกทั้งยังเสี่ยงต่อภาวการณ์แพร่กระจายของเชื้อโรคจากต่างประเทศที่รุนแรง

  4. ขอให้การดำเนินงานกิจการสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นไปเพื่อการศึกษา การพักผ่อนหย่อนใจอย่างแท้จริง โดยมุ่งที่จะตอบสนองการพัฒนา การเรียนรู้ และคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นเป็นสำคัญ ไม่ใช่มุ่งเน้นที่จะสร้างรายได้ ผลกำไรให้กับคนบางกลุ่ม

  5. การดำเนินงานในสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี ขอให้รัฐบาลได้ยึดถือหลักธรรมภิบาล บนพื้นฐานของความถูกต้องของกฎหมาย ศีลธรรมอันดีงามของประเทศ ต้องคำนึงถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส และความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ

 


หลังจากนั้น ได้มีพิธีลงนามสัญญาประชาคม กรณีสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ที่ทางเครือข่ายองค์กรเอกชนด้านพิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยเอกสารสัญญาประชาคม ได้ระบุให้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นผู้ให้สัญญา กับ องค์กรเอกชนด้านพิทักษ์สิ่งแวดล้อม 9 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สถาบันเพื่อสิทธิชุมชนและตัวแทนภีคนฮักเจียงใหม่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิโลกสีเขียว สมาคมอนุรักษ์และธรรมชาติแห่งประเทศไทย สมาคมพิทักษ์สัตว์(ไทย) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เป็นผู้รับสัญญา


 


โดยในสัญญาดังกล่าว ระบุว่า ซึ่งเป็นผู้ให้สัญญา คือ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โดยได้นำเงินงบประมาณแผ่นดิน ภาษีอากร อันเป็นรายได้ของประชาชน เป็นค่าใช้จ่ายในการออกแบบ ก่อสร้าง ดำเนินการต่างๆ ของกิจกรรมสวนสัตว์ เช่น การจัดหาซื้อสัตว์ การบำรุงรักษา และกิจกรรมโครงการอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต เช่น อุทยานช้าง กระเช้าไฟฟ้า ฯลฯ ตามโครงการเชียงใหม่เวิลด์


 


ขอให้สัญญากับองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม อันเป็นตัวแทนของประชาชนว่า หากผู้ให้สัญญา ในฐานะผู้ดูแลจัดการโครงการสวนสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และโครงการอื่นๆ ดังกล่าว ได้ดำเนินการไปไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของพระราชกฤษฎีกา การจัดตั้งองค์การบริหารจัดการพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) องค์กรมหาชน พ.ศ.2546 ขาดทุน หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง ผู้ให้สัญญายินยอมรับผิดชอบ ชดใช้ค่าเสียหายที่ประเทศชาติ ได้รับความเสียหายจากการดำเนินงานของผู้ให้สัญญาโดยสิ้นเชิง


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net