Skip to main content
sharethis


 


แม้ภัยพิบัติสึนามิจะผ่านมาแล้วหนึ่งปีก็ตาม แต่เรื่องราวเหตุการณ์หรือผลกระทบต่อผู้คนกลุ่มต่างๆยังคงดำรงอยู่และดำเนินต่อไป หลายเรื่องราวถูกรับรู้จากผู้คนนับล้านผ่านการนำเสนอของสื่อต่างๆ แต่มีเรื่องราวอีกไม่น้อยที่ถูกรับรู้และตระหนักอยู่เพียงตัวผู้ได้รับผลกระทบในชุมชน หรือในกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ เพียงเท่านั้น


 


หนึ่งปีที่ผ่านไปอาจจะมีเสียงสะท้อนด้วยความภาคภูมิใจจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่อีกมุมหนึ่งก็กลับมีเสียงเพรียกร้องออกมาอย่างแผ่วเบาของกลุ่มชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่มองว่าการช่วยเหลือเหล่านี้ไม่ได้กระจายถึงพวกเขาเลย เช่น หลายพื้นที่ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาปกป้องที่ดินที่ตนเองอาศัยอยู่มานาน ที่ถูกนายทุนบางกลุ่มบุกรุกเข้ามายึดที่เหล่านั้น หรือผู้ใช้แรงงานอีกหลายคนก็ต้องตกอยู่ในภาวะคนตกงาน เป็นหนี้สิน


 


ถึงแม้ว่าสถานประกอบหลายแห่งจะเปิดตัวขึ้นอีกครั้ง แต่พวกเขาก็ยังกลายเป็นคนตกงาน เพราะนายจ้างไม่เลือกจ้างพวกเขากลับเข้ามาทำงานดังเดิม ด้วยเหตุผลเพียงเพราะพวกเขาเห็นร่วมกันว่า สิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาในฐานะที่เป็นแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้นั้น พวกเขาต้องรวมตัวกันเพื่อตั้งสหภาพไว้ต่อรองกับนายจ้างและพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งนายจ้างไม่ชอบใจกับแนวคิดนี้ ฉะนั้นสิ่งที่พวกเขาได้รับ คือเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งและการได้รับการอบรมเรื่องอาชีพ เพื่อให้พวกเขาสามารถเลี้ยงชีพและใช้หนี้สินที่เกิดจากภัยพิบัติสึนามิเท่านั้น


 


แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจากพม่า ลาวและกัมพูชา ที่เมื่อครั้งภาวะปกติพวกเขาเป็นกำลังสำคัญของภาคเศรษฐกิจในพื้นที่เหล่านั้น  ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ เป็นแรงงานในสวนยางพาราพืชเศรษฐกิจสำคัญของพื้นที่ เป็นลูกเรือประมงสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เป็นผู้ใช้แรงงานเพื่อก่อสร้างบ้าน โรงแรม ร้านอาหาร หรืออาคารต่างๆ ของพื้นที่เหล่านั้น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิ เรื่องราวของพวกเขากับสูญหายไปกับคลื่นยักษ์และความสูญเสีย


 


ภาพการรับรู้ของสาธารณชนที่ปรากฏ กลับกลายเป็นเพียงเรื่องของโจรพม่าที่ออกมาลักทรัพย์ของผู้ประสบภัย ซึ่งปรากฏเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ซึ่งเมื่อสืบหาความจริงแล้วก็จะพบว่าส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทยที่ลักทรัพย์ด้วยกันเอง แต่ภาพลักษณ์เหล่านี้เองได้กลายเป็นภาพแทนความจริงทั้งหมดของพวกเขา และได้ส่งผลกระทบต่ออย่างรุนแรงและกลายเป็นประเด็นสำคัญในการที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ


 


หลังจากเกิดภัยพิบัติสึนามิ แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในพื้นที่จำนวนมากต้องหนีขึ้นไปอยู่บนภูเขาเพื่อเอาตัวรอด แต่เมื่อเกิดกระแสข่าวดังข้างต้นขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่รัฐออกมาเข้มงวดกับแรงงานข้ามชาติมากขึ้น เริ่มกวาดจับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีบัตรประจำตัวหรือใบอนุญาตทำงาน ทำให้แรงงานข้ามชาติที่บัตรสูญหายไปกลับคลื่นยักษ์ หรือแรงงานที่ปกติไม่ได้พกบัตรติดตัวเพราะนายจ้างจะเก็บเอาไว้ (แม้กฎหมายจะระบุชัดเจนว่า แรงงานต้องถือบัตรเองก็ตามที) เกิดความหวาดกลัวเนื่องจากข่าวคราวของเพื่อนที่ถูกจับกุมและส่งกลับแพร่กระจายไปทั่ว ความช่วยเหลือต่างๆ ก็ยากที่จะได้รับ เพราะแรงงานข้ามชาติไม่กล้าลงมาจากภูเขา เนื่องจากกลัวถูกจับและไม่สามารถที่จะสื่อสารให้ผู้ช่วยเหลือเข้าใจได้  ในขณะเดียวกันความช่วยเหลือที่มักจะได้คำตอบว่าช่วยคนไทยก่อนกีดกันพวกเขาออกจากความช่วยเหลือด้วยเช่นกัน


 


จนกระทั่งเรื่องราวของพวกเขาถูกตั้งคำถามจากองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการจำนวนหนึ่งและเรื่องราวถูกเผยแพร่ต่อสังคมมากขึ้น ก็เริ่มมีมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น เช่น มีการผ่อนคลายในการจับกุมแรงงานที่ไม่สามารถแสดงบัตรได้เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำบัตรใหม่แทนบัตรเดิมที่สูญหาย และทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพตามปกติอีกครั้ง


 


โก อ่อง แรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่า ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงงานข้ามชาติที่ต้องหนีขึ้นไปอยู่บนเขาเล่าถึงเหตุการณ์ตอนนั้นว่า


 


"ตอนนั้นพวกเรากลัวมาก เพราะเราไม่รู้ว่าคลื่นยักษ์มันจะมาอีกหรือเปล่า หลายคนตกใจและเสียใจมากๆ เพราะไม่รู้ว่าครอบครัวตัวเองไปอยู่ที่ไหนเป็นหรือตายไม่รู้ ตอนนั้นก็อาศัยเพื่อนคนพม่าที่ทำงานในสวนยางคอยช่วยส่งข้าว บางครั้งตอนกลางคืนก็ต้องแอบลงไปข้างล่างเพื่อหาข้าวมากินกัน มีเพื่อนที่อยู่ข้างล่างเขามาบอกว่า ตอนนี้ตำรวจจับหนักมาก หลายคนโดนจับไปแล้ว เพราะว่าไม่มีบัตร พวกเราก็ยิ่งตกใจมากขึ้น หลายคนก็พยายามจะลงมาเพื่อจะกลับมาทำงานอีกครั้ง จนมีข่าวว่าเริ่มมีจับน้อยลงพวกเราก็ค่อยๆ ลงมาหางานทำกันอีกครั้ง"


 


เมื่อถามว่าได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้างไหม โกอ่อง ก็บอกว่า "มีบ้าง มีกลุ่มคนพม่าคนไทยบางกลุ่มเข้ามาให้ข้าวของเครื่องใช้ แล้วหลายคนเขาก็พาไปทำบัตรใหม่กัน แต่อย่างอื่นไม่ได้เลย"


 


ความช่วยเหลือที่พวกเขาได้รับ นอกจากจะมาจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติแล้วนั้น ชุมชนของแรงงานข้ามชาติด้วยกันที่ไม่ได้รับผลกระทบก็เป็นแหล่งให้ความช่วยเหลือที่สำคัญสำหรับพวกเขา แม้พื้นที่เหล่านั้นจะอยู่ห่างออกไปอีกอำเภอหรืออีกจังหวัดหนึ่ง แต่นั่นก็เป็นสิ่งเดียวที่จะยังเยียวยาชีวิตและจิตใจของพวกเขาได้ แม้มันจะเสี่ยงต่อการถูกจับกุมก็ตามที


 


ดังกรณีของมะโช แรงงานข้ามชาติหญิงจากพม่า ซึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่อำเภอตะกั่วป่า เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ของเธอ คือสามีของเธอเสียชีวิตจากเหตุการณ์และทรัพย์สินที่มีอยู่สูญหายหมด เธอเหลือเพียงเสื้อผ้าที่ติดตัวหนึ่งชุด และลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ที่ใกล้คลอดของเธอ สิ่งเดียวที่เธอทำได้คือ โบกรถของผู้หญิงคนหนึ่งเพื่อเดินทางไปยังอำเภอคุระบุรี เพื่อหาเพื่อนของเธอ ตอนนี้เธอทำงานอยู่ที่อำเภอคุระบุรีกับเพื่อนๆ ในชุมชนของแรงงานข้ามชาติและเลี้ยงลูกน้อยที่เกิดหลังจากเหตุการณ์นั้นได้เพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น


 


วันนี้หนึ่งปีที่ผ่านไป เรื่องราวของเขาในสังคมไทยก็ยังเป็นที่รับรู้ไม่มากนัก เขายังคงเป็นชายขอบที่ถูกเบียดขับจากศูนย์กลางของสิ่งต่างๆ แม้แต่ความช่วยเหลือในฐานะของผู้ประสบภัยสึนามิ อย่างไรก็ตามที ชีวิตของพวกเขาต้องดำเนินต่อไป


 กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net