สัมภาษณ์ จาตุรนต์ ฉายแสง : เด็กหมื่นคนรอบทะเลสาบอาจไม่มีที่เรียนนานร่วมเดือน


สถานการณ์น้ำท่วมใน 8 จังหวัดภาคใต้ ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังบริเวณกว้างในพื้นที่รอบทะเลสาบสงขลาอยู่จนถึงขณะนี้ ว่ากันว่า เป็นสถานการณ์น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 30 ปี

 

"นายจาตุรนต์ ฉายแสง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเดินทางมาตรวจเยี่ยมดูความเสียหาย และผลกระทบต่อการเรียนการสอนจากเหตุการณ์น้ำท่วมคราวนี้ ดูจะมีความเห็นสอดคล้องว่า เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่หนักสุดอีกครั้งหนึ่งของประเทศนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอบๆ ทะเลสาบสงขลาที่โรงเรียนอาจจะต้องปิดนานเกือบเดือน หรืออาจจะถึงหนึ่งเดือน

 

ต่อไปนี้ คือ คำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถอดจากแถบบันทึกเสียงคำต่อคำ

 

0 0 0

 

จากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนในพื้นที่น้ำท่วม สถานการณ์เป็นอย่างไร

ทั้ง 8 จังหวัด มีโรงเรียนได้รับผลกระทบประมาณ 2,200 โรง ต้องปิดโรงเรียนประมาณ 1,700 โรง ขณะนี้ค่อยๆ ทยอยเปิดไปเรื่อยๆ ถึงวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม 2548 เปิดเรียนได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ เหลืออยู่เฉพาะโรงเรียนที่มีน้ำท่วมขังริมทะเลสาบสงขลา และพื้นที่ต่ำ บริเวณปากแม่น้ำริมทะเลอีกประมาณ 100 กว่าโรง มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบโดยรวมเกือบ 6 แสนคน แต่ละพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป นักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเรียนนานๆ จำนวนรวมๆ ก็ประมาณ 200 โรง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ปริมาณเด็กก็เป็นหมื่นคน

 

จุดที่หนักมากที่สุด คือ รอบทะเลสาบสงขลา ตอนนี้น้ำในทะเลสาบยังสูงอยู่ โรงเรียนปิดมานานกว่าสัปดาห์แล้ว และคาดว่าอาจจะต้องปิดต่อไปนานถึง 2 - 3 สัปดาห์ หรืออาจจะถึง 1 เดือน นี่พูดแบบชาวบ้านที่ไม่ทราบข้อมูลทางกรมชลประทาน หรือกรมอุตุนิยมวิทยา ฟังจากคนโน้นคนนี้ประเมินแล้วคิดว่า ไม่น้อยกว่า 2 - 3 สัปดาห์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนและครอบครัวของเด็กเหล่านี้ด้วย โรงเรียนรอบทะเลสาบสงขลา ที่ต้องปิดเรียนยาวขนาดนี้ น่าจะถึง 60 - 70 โรง เฉพาะสงขลาก็ 20 กว่าโรง ที่เหลือก็อยู่ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง กับจังหวัดนครศรีธรรมราช

 

จังหวัดปัตตานีก็หนัก โรงเรียนต้องปิดไป 300 กว่าโรง เพราะปัตตานีเป็นที่ต่ำ หลายๆ จุด เป็นพื้นที่รองรับน้ำก่อนลงทะเล เลยเจอสภาพน้ำทะเลหนุนในขณะที่น้ำในแม่น้ำมาก เลยทำให้หลายโรงเรียนน้ำท่วมขึ้น - ลง ตามกระแสน้ำทะเลไปด้วย ลงไม่ทันหมดก็ขึ้นมาอีก

 

อย่างจังหวัดสงขลา แถวอำเภอจะนะ เทพ สะบ้าย้อย นี่ก็หนัก เพราะเป็นที่ต่ำ เวลาท่วมจึงสูงมาก ผมเข้าไปเยี่ยมที่อำเภอสะบ้ายย้อยนี่ ผมเห็นรอยน้ำท่วมสูงถึง 3 เมตร ตอนผมเข้าไปนี่ยุบไปแล้วนะ ที่อำเภอสทิงพระท่วมสูงถึง 1.80 เมตร ตอนนี้ก็ยังอยู่ในระดับเมตรกว่าๆ ที่ตรังก็ท่วมเยอะ แต่ยุบเร็ว

 

เด็กที่ผมเป็นห่วงมากๆ ก็คือ เด็กที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นที่ต้องไปสอบเรียนต่อ ตั้งแต่อนุบาล 3 ประถม 6 มัธยม 3 มัธยม 6 ที่กำลังเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าเด็กกลุ่มนี้หยุดเรียนยาว กระทบกับการเรียนการสอน ก็จะมีผลต่อการเรียนของเด็ก ทำให้เสียเปรียบเด็กอื่นๆ

 

ส่วนทั่วๆ ไป พอน้ำท่วมมากๆ ทำให้จำนวนโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบมากไปด้วย ก็จะมีความเสียหายในเรื่องของเอกสาร หนังสือ สมุด ซึ่งแต่ละที่ก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป ถ้าหนังสือสมุดเสียหายมาก ก็กระทบกับเด็ก ถ้าเอกสารเสียหายมากก็ลำบากกับบรรดาครู เพราะตัวเลข สถิติ ข้อมูลต่างๆ จะลบเลือนเสียหายจนอ่านไม่ออก ส่วนพวกวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ก็มีความเสียหายจำนวนหนึ่ง ตรงนี้ได้ทำการสำรวจออกมาแล้ว บางส่วนเข้าไปล้างทำความสะอาด หรือซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ

 

ก่อนหน้านี้ ก็ให้ประสานขอความช่วยเหลือกันเอง หรือประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยอื่น ต่อจากนี้ ส่วนที่ต้องใช้งบประมาณ ก็จะต้องให้งบทดรองจ่ายไปยังแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา เขตละ 1 ล้านบาท เขตที่เสียหายมาก 2 ล้านบาท ตอนนี้กำลังรวบรวมเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อของบประมาณให้ ในขณะนี้คาดว่า คงจะขอประมาณ 400 ล้านบาทในวันที่ 27 ธันวาคม 2548 นี้ แล้วจะได้นำมาดำเนินการต่อไป

 

นอกจากจะให้ช่วยดูแลเด็กที่ขาดเรียนนาน หรือยังจะต้องขาดอีกนาน และเด็กที่ขาดตำรับตำราแล้ว ยังได้ขอให้เขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ดูแลให้โรงเรียนช่วยเป็นกลไกในการสนับสนุนการแก้ปัญหาให้กับประชาชน โดยให้โรงเรียนช่วยรวบรวมข้อมูลความเดือดร้อนของประชาชน ด้วยการให้เด็กที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมช่วยเขียนเรียงความคนละหน้าสองหน้าก็ได้ ในช่วง 2 - 3 สัปดาห์ต่อไปนี้ เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ไหนมีโรคระบาดแล้วหรือยัง พื้นที่มีน้ำเน่าเสีย พื้นที่ไหนถนนขาด สะพานขาด มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปช่วยซ่อมแซมให้หรือยัง อย่างนี้เป็นต้น

 

เด็กที่อยู่ในชั้นเรียนที่ต้องเตรียมสอบเพื่อเรียนต่อ จะดูแลอย่างไร

คงต้องจัดสอนเสริมให้ โรงเรียนที่น้ำไม่ท่วมก็ต้องช่วยโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วม ถ้าอยู่ในชั้นที่ต้องเตรียมสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา หรือมัธยม 6 ถ้าต้องหยุดเรียนนาน ก็คงต้องจัดติวให้เป็นพิเศษ เหมือนกับที่กระทรวงศึกษาธิการทำใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตอนนี้ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเหมือนกัน อาจจะต้องจัดโครงการในลักษณะเดียวกันนี้ เสริมเข้าไปอีกด้าน

 

สำหรับโรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นี่จัดติวให้มาก่อนแล้ว ได้รับความสนใจดีมาก มีเด็กเข้าร่วมโครงการนี้มาก ในช่วงหลังนี่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปช่วยจัดเพิ่มขึ้นมาอีก ชั้นเรียนหนึ่งๆ มีเด็กเข้าเรียนเป็นพันคน เด็กที่เข้าเรียนก็ตั้งใจเรียนมาก โครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับโรงเรียน ร่วมกับองค์กรต่างๆ นี่ เข้าใจว่ายังจะมีอีก

 

ในเบื้องต้นมีการดำเนินการอะไรไปบ้างแล้ว

ในระหว่างนี้เขายังทำอะไรไม่ได้ เพราะในพื้นที่ท่วมขังหนักๆ น้ำยังไม่ลด ยังอยู่ในขั้นเตรียมการ ซึ่งต้องดูว่า ถ้ามีความจำเป็นจริงๆ อาจจะต้องให้เด็กไปเรียนชั่วคราวในโรงเรียนข้างเคียง หรือโรงเรียนในตัวเมืองได้หรือไม่ เฉพาะในส่วนของโรงเรียนที่มีแนวโน้มว่าจะน้ำท่วมยืดเยื้อ จะทำทั้งหมดก็ค่อนข้างยาก ถ้าออกไปเรียนไกลบ้านมาก พ่อ - แม่ ก็อาจจะเป็นห่วง หรือเด็กบางคนอาจจะต้องอยู่ช่วยพ่อ - แม่ที่บ้าน ช่วยดูแลสัตว์เลี้ยง เพราะบางบ้านต้องอพยพสัตว์เลี้ยงขึ้นไปอยู่บนที่สูง แต่เท่าดูนี่ โรงเรียนปิดแล้ว แต่เด็กก็ยังไปต้อนรับคณะที่เข้าไปเยี่ยมโรงเรียน ดูแล้วเขาก็ยังเป็นห่วงการเรียนอยู่

 

ถ้านานจริงๆ ถึง 2 - 3 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น อาจจะให้เด็กมาเช้า อยู่สัก 1 ชั่วโมงแล้วให้กลับ เพราะบางโรงเรียนมีอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนก็พอเรียนได้ แต่ห้องน้ำอาจจะใช้ไม่ได้ จึงอาจจะเปิดเรียนเหมือนปกติไม่ได้ อาจจะมาชั่วโมงหนึ่งแล้วให้การบ้าน วันรุ่งขึ้นค่อยเอาการบ้านมาส่ง รับการบ้านไปทำ อาจจะต้องพลิกแพลงไปอย่างนั้น ที่พูดนี่หมายถึงเฉพาะโรงเรียนที่ต้องปิดนานๆ 2 - 3 สัปดาห์ หรือนานกว่านั้น ประเภทปิดแค่ 2 - 3 วัน ก็ไม่ต้องคิดถึงขนาดนี้ ก็ไปคิดเรื่องอื่น ถ้าหยุดสัก 7 วัน ก็อาจจะต้องสอนพิเศษบ้าง โดยเฉพาะชั้นที่ต้องไปสอบหาที่เรียนต่อ

 

บรรยากาศการประชุมคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมเป็นอย่างไรบ้าง

ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ละกระทรวงก็รายงานปัญหา และที่กำลังดำเนินการอยู่ นายกรัฐมนตรีก็กำชับให้ช่วยกันดูแล ทางกระทรวงศึกษาธิการที่ผ่านมาก็ส่งผู้บริหารแยกย้ายสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันลงมาดูพื้นที่กันอยู่ ผมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายรุ่ง แก้วแดง) ก่อนหน้านี้ก็สลับกันมา เลขานุการรัฐมนตรี รองเลขานุการรัฐมนตรี ก็สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา

 

สถานการณ์น้ำท่วมตลอดปี 2548 เทียบกันแล้วที่ไหนหนักสุด

ทางใต้หนักกว่าที่อื่น เพราะฝนตกยาว เจอน้ำทะเลหนุน ทำให้มีน้ำท่วมขังหลายวัน จุดที่จะเสียหายมาก ก็คือ รอบทะเลสาบสงขลา

 

กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท