พฤ โอ่โดเชา : "ผมต่างหากที่ต้องถาม พวกคุณรักษากันอย่างไร ป่ากลายเป็นเมืองหมด"

"พฤ โอ่โดเชา" คือชายหนุ่มปกากะญอ มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านแม่ลานคำ ต.สะเมิงใต้ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เป็นลูกพะตีจอนิ โอ่โดเชา อดีตปกากะญออาวุโสผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และปัจจุบันเป็นผู้หนึ่งในสภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ หรือสภาปราชญ์ชาวบ้านที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี


 

เขาเป็นหนุ่มผมยาว ชอบม้วนผมไว้ข้างหลัง หน้าตาไม่หล่อแต่เฮฮาหน้าตาเปื้อนยิ้ม พูดภาษากลางด้วยสำเนียงแปลกหู เดินสะพาย "ก๋วย" หรือ "โส่เกวอะ" อุปกรณ์ประจำกายของผู้หญิงปกากะญอสำหรับใส่ฟืน-พืชผัก ซึ่งเขาเอามาใส่สัมภาระต่างๆ เพื่อเดินรณรงค์เรื่องป่าชุมชนจากเชียงดาวถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลา 50 วันเต็ม

 

รณรงค์ได้แค่ไหนไม่รู้ แต่ผลเบื้องต้นคือ ขาบวม ฝ่าตีนเป็นปุ่มแข็งขนาดใหญ่ และรองเท้าหูคีบขาดไปหลายคู่  

 

ขณะที่เพื่อนๆ เขาอีก 98 คนมาถึงหน้ารัฐสภาตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค. เพื่อเรียกร้องให้ส.ส.ยืนยันร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับแรกที่ประชาชนเสนอเข้าไป พร้อมกับให้ปฏิเสธร่างพ.ร.บ.ฉบับล่าสุด ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันระหว่าง 2 สภาเพิ่งแก้ไข้เสร็จ เนื่องจากมีการกีดกันชาวบ้าน โดยระบุ "เขตอนุรักษ์พิเศษ" ไม่ให้มีการจัดตั้งป่าชุมชน โดยเขตที่ว่านี้มีหลักเกณฑ์ที่คลุมเครือและยังไม่รู้ว่าจะประกาศตรงไหนบ้าง

 

จนแล้วจนรอด ก็ยังไม่มีการบรรจุร่างพ.ร.บ.นี้เข้าสู่การพิจารณาจนหมดวาระการประชุมสมัยนิติบัญญัติเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.48 ต้องรอเปิดสมัยประชุมอีกทีเดือนมี.ค.49

 

 "พฤ" หายไปไหนมา เดินหลงหรือแอบอู้ คำถามนี้ได้รับการเฉลยอย่างละเอียดละออ พอสรุปได้ว่า

 

หลังจากร่วมขบวนเดินเท้าจากเชียงดาว จนมาถึงพิจิตร เขาตัดสินใจแยกเส้นทางกับพรรคพวกโดยยอมเดินอ้อมไปรณรงค์ทำความเข้าใจกับชาวบ้านตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามเจตนารมณ์แต่แรกเริ่ม ขณะที่เพื่อนๆ ซึ่งมีเป้าหมายทางการเมือง ต้องการไปกดดันหน้ารัฐสภาให้ทันก่อนหมดสมัยประชุมนั้น ทำให้ต้องเร่งเท้าเดินทางสายสั้นที่สุดและเลิกแวะทำความเข้าใจกับชุมชนรายทาง

 

"ผมแยกมาคนเดียวเลย เพราะไม่อยากรีบ มันตั้งใจไว้แล้ว สัญญาใจไว้กับเจ้าป่าเจ้าเขาแล้ว นโยบายก็สำคัญเพราะมันไล่เราออกจากป่าได้ แต่ว่าเราก็มาชุมนุมที่กรุงเทพฯ หลายครั้งแล้ว คราวนี้ผมอยากทำให้เต็มที่ เพราะธรรมะมันสำคัญกว่ากฎหมาย"

 

"เดินซักวันละ 30 กิโลได้ ค่ำไหนก็ขอนอนวัด แบกของเองหมดเลย คืนแรกที่ไปนอนที่วัด พระเขากลัวผมหน่อย เพราะไปถึงก็เจ็ดโมงกลางคืนแล้ว เขาให้ผมไปนอนที่ศาลาเก่า แล้วมีหมาเยอะ มีหมัดเยอะ เหยียบขาลงไปไต่ขึ้นขาเต็มเลย เราก็ว่าแมงอะไรวะ พอลูบดู โอ้โห ก็เลยต้องถอดกางเกงไปล้างที่ก๊อกเลย"

 

เขาเล่าเรื่องราวอย่างมีชีวิตชีวา ดวงตาเป็นประกายสีทองยามต้องแสงสนธยาริมน้ำเจ้าพระยา เพราะขณะที่นั่งสัมภาษณ์นี้เครือข่ายป่าชุมชนและองค์กรพันธมิตรกำลังจัดเวทีเสวนา แสดงดนตรี ที่สวนสันติชัยปรากการ ถนนพระอาทิตย์

 

ที่ที่ไปพักพิงส่วนใหญ่จะเป็นวัดและปั๊มน้ำมัน บางคนก็กลัวนึกว่าเป็นคนบ้า แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว หลังจากได้สื่อสารกันถึงที่มาและที่ไป ก็จะให้ความช่วยเหลืออย่างดี เลี้ยงข้าว เลี้ยงน้ำ บางคนให้เงิน 40 บาทด้วย

 

มีบ้างบางคืนที่ต้องปักกลดนอนในป่าริมทาง ซึ่ง "พฤ" บอกว่ากลัวงูเหลือมเป็นที่สุด และมีบางคืนที่เอ็นจีโอในพื้นที่บางคนถึงกับลงทุนขับรถไปกางเต็นท์นอนเป็นเพื่อน

 

ในแต่ละพื้นที่ที่เขาผ่าน บ้างได้รับการต้อนรับจากบรรดาคุณครู นักเรียน นายก อบต. อาสาสมัครสาธารณสุข นอกจากนี้เขายังได้รับเชิญไปร่วมรายการวิทยุชุมชน 2 ครั้งระหว่างทาง รวมทั้งให้แวะไปบรรยายเรื่องป่าชุมชนให้นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏฟังด้วย ซึ่งเขามีข้อแม้ว่ารับไปทำกิจกรรมยังไงก็ได้ แต่ต้องมาส่งลงที่เก่าที่เดินมา

 

"ผมได้แวะอนุสาวรีย์สืบ นาคะเสถียรด้วยนะ เขาเป็นรักธรรมชาติมาก ยอมเสียสละตัวเองเพื่อธรรมชาติ ดูภาพหนึ่งแล้วแกนั่งกับชาวบ้านที่เป็นกระเหรี่ยงสะพายย่ามแดง ดูเหมือนกำลังถามข้อมูลอะไรชาวบ้าน ดูแกเข้าใจชาวบ้านในป่านะ แกใจดีมาก"

 

กระทั่งมาถึงสุพรรณบุรี เพื่อนของเขาที่เดินเท้าจนมาถึงกรุงเทพฯ และกลับไปเชียงใหม่แล้ว ตัดสินใจลงมาเดินเป็นเพื่อนเขาอีก 6 คน

 

 

ตลอดเส้นทางพบเห็นปัญหาอะไรไหม?

ทางข้างบนมีปัญหาอย่าง ข้างล่างมีปัญหาอย่าง อย่างที่เวียงมอก จังหวัดลำปาง เป็นปัญหาอ่างเก็บน้ำท่วมที่ชาวบ้านไป 15,000 ไร่ ชาวบ้านก็ร้องไห้ ยังไม่ได้ค่าชดเชย พอลงมาทุ่งสะเรียง จังหวัดสุโขทัย ก็บอกน้ำไม่มี ทั้งที่ขอให้รัฐสร้างเขื่อน แต่พอสร้างเสร็จชาวบ้านกลับไม่ได้ใช้ อุตสาหกรรมได้ใช้

 

แถวพะเยาก็มีปัญหา ทั้งชาวเขาชาวบ้านทั่วไปปลูกข้าวโพดสุดตา ปลูกแล้วก็เป็นหนี้แต่คนรวยเอาๆ อีกคนหนึ่ง นายทุนนี่เขาไม่ต้องเสี่ยง แถมได้ขายสารเคมี ปุ๋ย ได้ขายพวกนี้มหาศาล พอรับซื้อก็เก็งกำไรอีก ได้อีกเยอะ คนปลูกข้าวโพดก็เหนื่อย แล้วพอป่าหมดก็บอกว่าชาวเขาทำลาย ไม่มีนายทุนออกมารับว่าฉันร่วมด้วยซักคน สังคมต้องมองตรงนี้ให้ออก

 

เดินมาคิดอะไรบ้าง ?

เดินมาก็ภาวนาให้กับคนที่เราไม่ชอบ ให้เขามีความสุข ถ้าพูดในแง่ตื้นหน่อยก็โกรธเขา แต่พูดลึกๆ เขาน่าสงสาร มันมีอะไรบางอย่างทำให้เขาเป็นแบบนี้

 

เขาที่ว่านี้คือใคร?

เขาคือคนที่ออกกติกา เห็นแก่ตัวกอบโกยทรัพยากรคนเดียว เขาหลายๆ คนนั่นแหละ พวกคนที่ไม่เห็นคุณค่าธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องเอาตัวรอดไปวันๆ ไม่มีชีวิตให้กับตัวเอง ไม่เคยติดว่าตัวเองต้องการอะไร ไม่ได้อยู่กับตัวเองลึกๆ ข้างใน มันมีแต่ความวุ่นวาย แล้วคนที่เอารัดเอาเปรียบกัน เอาในเมืองไม่ได้ก็ไปเอาในชนบท ชนบทไม่รู้จะทำไงก็ต้องไปตัดไม้

 

ทางที่ผมเดินตอนเช้าๆ สว่างขึ้นหน่อยเดินข้างซ้ายมันจะมีเสียงนกร้องจิ๊บๆ จ๊าวๆ วิ๊ดๆ แว็ดๆ ข้างขวาจะมีเสียงรถดังกระหึ่ม เราเดินตรงกลางเราจะรู้ว่าเราคืออันไหน วิถีชุมชนของเราใกล้เคียงกับอันไหน แล้วผมก็คิดถึงบ้าน

 

แต่พอเข้ามาในกรุงเทพฯ ขึ้นสะพาน เดินตามทางด่วนนี่อันตรายมาก  มันแคบมากแล้วน้องเขาก็เดินเตะก้อนซีเมน ทีหนึ่งผมก็ไม่พูด พอเตะอีกที ผมก็ต้องตะโกน -เดินยังไงวะ- ต้องด่าเขาไปเลย เพราะว่าถ้าเตะแล้วล้ม รถสิบล้อวิ่งมาก็ตายเลย

 

50 วันนี้ที่ผ่านมาให้อะไรบ้าง?

ผมก็ได้ความรู้ แล้วก็ได้สมดังตั้งใจที่ว่าเดินมาถึงซักครั้งนึง ภูมิใจ อิ่มใจ แล้วถ้าจะกลับบ้านก็เหมือนกับเราเล่าให้ลูกหลานฟังได้อีกยาว ว่าเราตั้งใจจะมาทำอะไรดีๆ ในยุคที่มันเกิดปัญหากับธรรมชาติ เกิดปัญหากับจิตใจคน กับวิถีชีวิต กับโลกด้วยนะ โลกที่มันกลายเป็นวัตถุ มนุษย์ก็กำลังกลายเป็นวัตถุ กลายไปแล้วด้วย เพราะวัตถุกำหนดมนุษย์ไปแล้วตอนนี้  เราก็ถือว่าได้มายืนยันแล้วว่า ไม่น่านะ มันมีธรรมชาติ มีจิตวิญญาณลึกซึ้งอยู่

 

ถ้าผมเดินมาคนเดียวมันไม่ถึงหรอก แต่ที่ผมทำมัน....ธรรมชาติบอกมาอีกที จิตวิญญาณของธรรมชาติให้ผมมา

 

แต่สังคมก็มักจะเรียกร้องว่า ถ้าชุมชนดีจริง ชุมชนเข้มแข็งจริง คุณก็ต้องสู้กับนายทุน สู้กับสิ่งเลวร้ายได้ มันก็เหมือนกับบอกว่าถ้าคุณแข็งแรงจริงคุณก็ต้านทานลูกปืนได้สิ หมู่บ้านมันเหมือนดอกไม้ มีรถแมกโครมาเหยียบ มีก้อนหินมาทับมันก็แบน แล้วก็ถามว่าทำไมดอกไม้ไม่แข็งแรง ผมจะบอกว่า ดอกไม้น่ะแข็งแรงอยู่แล้ว คุณแข็งแรงอยู่แล้ว แต่คนที่คิดจะยิงคุณนั่นแหละที่อ่อนแอ คนที่คิดจะยิงคุณนั่นแหละเขาตายก่อนตั้งแต่ตอนที่คิดแล้ว

 

ผมเดินมาบอกตรงนั้น ไม่ใช่ว่าหมู่บ้านผมจะแข็งแรง ผมจะทนทาน ผมแค่เดินมาบอก ผมทำให้ดีที่สุด แล้วก็พบว่าคนรอบข้างไหลมาเทมา มีคนเอาข้าวเอาน้ำมาให้กิน บางคนให้เงินด้วย มันเป็นน้ำใจมากกว่าที่ผมจะแบกรับแล้ว น้ำใจนี้แหละที่มันหล่อเลี้ยงให้สังคมอยู่ได้ และถ้ามันหมดไป สังคมจะวิกฤต

 

คาดหวังขนาดไหนกับการเดินนี้ แล้วถ้าผิดหวังจะทำยังไงต่อ ?

ถ้ามันต้องล้มเหลว ระดับข้างในแทนที่มนุษย์จะได้สัมผัสจิตวิญญาณตรงนั้นก็สูญเสียไป แล้วผมแทนที่จะได้มีความสุขยืนยันคุณค่าตรงนั้น ก็ต้องสูญเสียไป อาจถูกอพยพจากป่า จิตวิญญาณถูกฆ่า ชุมชนก็ล่มสลาย ก็จะเสียใจมาก

 

แล้วถ้าพ.ร.บ.ไม่ออกมา ก็ต้องหาวิธีใหม่ ก็ไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องคุยกันดู แต่อาจจะพ่ายแพ้ไปนั่นแหละ อินเดียนแดงก็สูญพันธุ์ไปแล้วนี่

 

กลัวมั้ย ?

กลัวครับ

 

ถามจริงๆ ไม่คิดจะใช้ชีวิตสบายๆ ในเมืองบ้างเหรอ ?

ในเมืองเขาก็ใช้กันเต็มที่แล้ว แล้วถ้ายิ่งใช้ชีวิตที่นี่เท่าไหร่ มันก็ยิ่งไปบดบังเอาความอ่อนหวานไปทุกที เพราะมันไม่ใช่ธรรมชาติ ยิ่งทำให้เราเข้าไปในหลุมดำมากขึ้นทุกทีๆ

 

ก็ทำไมพระพุทธเจ้าต้องเรียนรู้จากธรรมชาติ ไม่เรียนรู้จากในวัง เพราะอะไร เพราะเราคือธรรมชาติ คุณคือธรรมชาติ ต้องหาสมดุลให้ได้ ไม่ใช่ใช้บำเรอความสะดวกสบายเกินไป มันก็เจ๊งด๊อง

 

เราก็หวังว่า การมาครั้งนี้จะทำให้คนรู้เรื่องมากขึ้นๆ แล้วก็ตรวจสอบผู้แทนของเขา ช่วยพูดแทนผมได้ ทำให้ผมไม่ต้องมาเดิน แล้วไปเยี่ยมผมบ้าง ตรวจสอบผมบ้าง ไปช่วยดู ช่วยผมคิด จะอยู่ยังไงท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ เพราะเขามีประสบการณ์ในเมืองมาแล้วมาแชร์ให้ชุมชน แล้วเราก็แชร์ทางด้านจิตใจ คนกรุงเทพฯ จะเอามาปรับใช้ในเมืองยังไง

 

พ.ร.บ.มันเป็นเครื่องมือตัวหนึ่ง ที่ถ้าเกิดขึ้นได้มันจะนำไปสู่ตัวอื่นๆ คล้ายถ้าได้ 1 รูแล้วเห็นว่าหลังกำแพงมีแสงสว่างต่อไปก็จะมีมากขึ้น มีพ.ร.บ.อีกหลายอันที่ต้องตามมาตามรัฐธรรมนูญ

 

แล้วประเมินสถานการณ์ยังไง ?

แนวโน้มว่าจะไม่ได้สูง เพราะตอนนี้มันเป็นกระแสที่รถกำลังขนกะหล่ำเต็ม ขนหินเต็ม มาแบบลงดอยแรงถ่วงแรงโน้มก็ทำให้ลงมาเร็วเหลือเกิน สังคมก็สร้างความร้อนแรงเชี่ยวกรากให้ไปในทางที่ผิด เร็วขึ้นแล้วก็มากขึ้นเป็นคูณยกกำลังคูณ

 

แล้วไอ้สิ่งดีๆ ก็จะถูกทำลาย เพราะสังคมสร้างองค์ความรู้ที่ไม่ดีขึ้นมา ทำให้แรงขึ้น ทำลายคู่ต่อสู้ได้ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่ แต่เราก็มาทำอะไรเล็กๆ เพราะผมเชื่อว่ามันสามารถทำได้ เหมือนจุดไฟเผาป่า จุดนิดเดียว มันก็ลามไปได้ ถ้ามันมีเชื้อดี

 

สมมติถ้าได้เป็นนายกฯ จะแก้ปัญหาเรื่องป่าไม้ยังไง ?

ถ้าผมเป็นนายกฯ ผมจะเป็นแค่ตัวอำนวยการให้ประชาชนมาถกมาเถียงกัน ยังไงก็ได้ให้หันหน้าเข้าหากัน อำนวยเวทีให้สังคมมาพูดกันเรื่องนี้ เพราะตอนนี้สังคมไม่มีใครสนใจ สนใจแต่ตัวใครตัวมัน ธุรกิจใครธุรกิจมัน สังคมใหญ่ขึ้น มันต้องมีเวทีใหญ่ขึ้น ให้ประชาชนมาเรียนรู้ปัญหาต่างๆ กันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ประเทศจนถึงนอกประเทศ  แต่เวทีตรงนี้มันไม่มี

 

ส่วนเรื่องป่าก็เอาคนป่า คนไม่เข้าใจป่า มีคุยมาวิเคราะห์กันเพื่อจะเกิดสิ่งดีๆ โดยที่คำนึงว่าเราคือธรรมชาติ เราจะอยู่ในกลีบของธรรมชาติ แต่ถ้าคิดว่าเราควบคุมธรรมชาติได้มันคนละความคิดกันเลย เราไม่ใช่จ้าวทั้งหมด

 

มีคนถามอยู่เรื่อยว่า ชาวบ้านจะรักษาป่าได้เหรอ ?

มันมีคำถามแบบนี้มาตลอด แล้วก็เห็นเราเป็นจำเลย อันที่จริงที่ไหนๆ บ้านใครๆ ก็เคยมีป่ามีน้ำเหมือนกัน แล้ววันดีคืนดีคุณก็ทำลายจนหมดแล้วมาถามเอากับผม ผมต่างหากที่ต้องถามกลับไปว่าป่าคุณหายไปไหน คุณรักษาป่าของคุณยังไง ถึงได้ไม่เหลืออย่างทุกวันนี้

 

ผมไม่อยู่ในฐานะจำเลย ผมอยู่ในฐานะที่ผมอยู่ในป่า สิทธิของผม ศักดิ์ศรีของผมยิ่งใหญ่ตรงนั้น ผมแหละต้องถามคุณว่าคุณมารุกอะไรป่าผม เอากฎหมายมารุกป่าผม แต่พวกนั้นเขาไม่ยอมเป็นจำเลยเลย

 

มีคำถามมาผมก็ตอบอันนี้แล้ว อันนั้นก็แล้ว คำถามก็ยังไม่หมด ก็มาเลยมา มาบ้านผม แล้วจะเห็นภาพจริงว่าเป็นยังไง ตอบในกรอบของจำเลยยังไงก็ยังเป็นจำเลย มีคำถามร้อยแปด

 

จนเขาสร้างองค์ความรู้ใหม่ว่า ตรงนี้สำคัญมาก แค่เหยียบลงไปก็ทำให้สะเทือนไปทั้งหมด แล้วคนกรุงเทพฯ เขาก็ตกใจ ขนาดนั้นเลยเหรอ ความจริงมันไม่ขนาดนั้น เบื้องหลังของคำนั้น คือ คนพูดจะได้ยึดป่าไว้ได้ อำนาจการจัดการจะอยู่ที่เขา มีอำนาจชี้เป็นชี้ตายคนเดียว

 

อย่างบ้านเรามีไม้เนื้อหอม มีรองเท้านารี ชาวบ้านอยู่กันมาสามสี่ร้อยปีมันก็ยังอยู่ พวกป่าไม้เพิ่งมาเจอ โอ๊ยมีรองเท้านารี ต้องอนุรักษ์ไว้ ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ ไล่ออก มันอะไรกัน แล้วไม้หอมบางชนิดเราไม่กล้าบอกเขา ถ้าเราบอกเขาเขาก็จะไล่เราออก แล้วก็เป็นข่าวดัง นักท่องเที่ยวก็จะแห่กันไป คนในเมืองไม่มีความรู้แล้วกับป่า แล้วก็เอาอำนาจมาบังคับ

 

แล้วตามความรู้ของหมู่บ้าน มันมีมั้ยพื้นที่ที่เปราะบางมาก มนุษย์ห้ามย่างกรายเข้าไปแตะต้อง ?

ชาวบ้านเขาไม่ห้ามตัวเองถึงขนาดนั้น แต่เขาลึกซึ้งกว่านั้น อยู่ในป่ามานาน พัฒนามาจนต้นไม้น่ะมีวิญญาณ มีเจ้ามีนางอยู่ในต้นไม้ น้ำมีเจ้าน้ำผีน้ำ ข้าวมีขวัญ กว่าจะเกี่ยวต้องขออนุญาตเกี่ยว จะเอากลับบ้านต้องขออนุญาตเอากลับบ้าน ก่อนกินต้องขออนุญาตกิน มองน้ำ มองปลา มองภูเขา มองต้นไม้ มองคน มีวิญญาณที่ต้องเคารพ มันจะทำให้ชาวบ้านระมัดระวัง มันไม่ใช่แค่ตรงนี้เหยียบได้ ตรงนี้เหยียบไม่ได้

 

เหมือนยุคหนึ่ง เมืองไทยบอกว่าภูมิใจมากมีแร่ดีบุก ข้าว ต้นไม้ ส่งขาย ตัดกันใหญ่ ไม่ผิดเลยเราทำเพื่อประเทศชาติ มาตอนนี้ป่าหมดไป ชาวเขาทำลายครับ น้ำท่วม เพราะชาวเขาครับ เราต้องปลูกต้นไม้คนละต้น กลับมารักต้นไม้เหลือเกินอีก เมื่อก่อนเกินทางนี้ มาตอนนี้เกินมาอีกทางหนึ่ง แต่ชาวบ้านเขาเป็นยังไงก็ยังเป็นอย่างนั้น เขาคลุกคลีกับธรรมชาติมานานนัก

 

ยอมรับมั้ยว่ามีชาวบ้านบางส่วนทำลายป่าจริง ทำให้ภาพมันออกมาแย่จริงๆ ?

ใช่ ต้องยอมรับ แต่ว่าต้องดูด้วยว่ามันมีเงื่อนไขอะไรมาทำให้เขาแย่ ถ้าเขามีโอกาส กฎหมายช่วยเขาเขาก็กลับมาทำดีได้ แต่ตอนนี้จับหมดเลย

 

คุณต้องทำพื้นที่เดิมนะ ไร่หมุนเวียนไม่ได้ หาของป่าไม่ได้ คุณต้องทำกินแปลงเดียว 1 งาน 2 งาน ถ้าเราทำแปลงเดียวอย่างนั้นแล้วมันต้องพึ่งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ส่งสินค้าไปขายข้างนอก เรากำหนดราคาไม่ได้ สุดท้ายเราเป็นหนี้ ไม่มีรถพ่อค้าคนกลางก็เอาค่ารถแพง พอเราดาวน์รถเราก็ต้องทำมากขึ้น ก็ต้องขยายพื้นที่อีก สุดท้ายแล้วคุมไม่อยู่ เพราะเงินเข้ามามากกว่าจิตใจ

 

ชาวบ้านพวกนี้ ชาวเขาม้งพวกนี้ก็เลยเหมือนเป็นผู้หญิงที่ถูกข่มขืน แต่เราก็ไปบอกอีกว่า ก็อยากยั่วยวนเขาดีนัก ที่จริงแล้วเขาไม่มีทางเลือก ไม่รู้จะทำอะไร ใครส่งเสริมอะไรก็ทำอย่างนั้น เหมือนคนจนส่วนหนึ่งค้ายาบ้าก็ถูกฆ่าทิ้ง แต่รัฐไปขูดรีดเขาจนหมด สังคมก็ไม่มีพื้นที่ให้เขา เราต้องมองอะไรให้มันลึกเข้าไปในทุกๆ เรื่อง

 

ไม่ว่าคนกรุงเทพฯ คนดอย ล้วนเชื่อธรรมชาติ ง่ายๆ เรามีลูก ธรรมชาติจะสอนให้เรารักลูกเลยทันที เรารักน้องมั้ย รักพ่อรักแม่มั้ย เรารัก เอามาดูซิมีกี่กิโล มันไม่มีจริง แต่คนก็จะเอากิโลมาว่าเรื่อยๆ แล้วก็ลืมสิ่งที่ธรรมชาติสอนเราหมด

กลับหน้าแรกประชาไท

      

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท