Skip to main content
sharethis


 


 


ลองหลับตา ย้อนนึกกลับไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 จนถึงวันนี้ แล้วถามตัวเองว่า หากเราย่นย่อเวลาได้เท่ากับระยะที่สมองและหัวใจส่งสัญญาณได้ "คุณเห็นใครในปีที่ผ่านมา" และนี่คือโจทย์ที่กองบรรณาธิการประชาไทแต่ละคนได้รับ เพื่อให้มันเหมาะกับวาระแห่งการสรุปบทเรียนอย่างในช่วงปีเก่าผ่าน-ปีใหม่มานี้


 


โปรดอย่าเพิ่งคิดว่า บุคคลที่อยู่ในหัวข้อข้างบนเป็นบุคคลที่ "ประชาไท" จัดให้เป็น "The Visible Man" ของเรา เพราะบทวิพากษ์วิจารณ์ต่อจากนี้ เป็นการนำเสนอคนที่อยู่ในสายตาในรอบปี 2548 จากบุคคลในกองบรรณาธิการประชาไท คนที่ 1 ที่ผ่านการสืบค้น วิเคราะห์ วิพากษ์ ชั่ง ตวง วัด และให้น้ำหนัก จากจำนวนทั้งหมด 8 คน ซึ่งจะทยอยนำเสนอวันละคนจนครบ 8 ก่อนที่เรา "กองบรรณาธิการประชาไท" จะได้ร่วมกันประชุม ถกเถียง และเลือกโดยใช้หลักฉันทามติ ซึ่งก็คือ ทุกคนจะต้องเห็นพ้องต้องกันอย่างปราศจากข้อข้องใจ เพื่อให้ได้ "The Visible Man" ของ "ประชาไท" โดยมี อ.รุจน์ โกมลบุตร จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการประชุม


 


0 0 0


 


คัทลียา แมคอินทอช : "เจ้าหญิง" "ผู้หญิง" และ "ความเป็นผู้หญิง" ในข่าวรอบปี 2548


 


ปี 2548... "แม่" และ "เมีย" เอียนเมือง


ท่ามกลางกระแสข่าวสารที่ไหล่บ่าถาโถมมาจากสื่อมวลชนนั้น หากเจาะเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ปรากฏเป็นข่าวโดยสื่อมวลชน จะพบว่า ประเด็นข่าวส่วนใหญ่ภายในปีนี้ที่เกี่ยวกับสตรียังคงวนเวียนซ้ำซากอยู่กับการจองจำผู้หญิงด้วยโซ่ตรวนของความเป็น "แม่" และ "เมีย" จนไม่ไปไหน


 


แม้ว่าจะมี "ผู้หญิงเก่ง" อย่างคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ให้เราได้โล่งอกได้พักหนึ่งที่สื่อจะไม่ถ่ายทอดภาพความเป็น "แม่" และ "เมีย" ของผู้หญิงบ้าง (ก่อนจะน้ำตาเล็ดเพราะต้องเห็นความอยุติธรรมจงใจกระหน่ำเล่นงานผู้หญิงคนนี้) แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนน้อยนิดเมื่อเทียบกับข่าวทั้งหมด  


 


ไล่เรียงตั้งแต่ไฮโซสาวใหญ่และอีกหนึ่งพิธีกร พร้อมใจกันจับปากกาแฉชีวิตรักอันอับเฉาที่ต้องแต่งงานกับอดีตสามีที่เป็นเกย์ ไม่เหลือเยื่อใยแม้ความเป็นเพื่อน ไหนจะข่าวนางแบบยืนหยัดที่เลี้ยงลูกโดยลำพังไร้เงาพ่อ และข่าวอดีตนางแบบภาพวาบหวิวตกอับกลายเป็นหมอนวด รวมทั้งอดีตนางเอกรุ่นใหญ่ที่สลัดผ้าถ่ายภาพเปลือย ทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดกลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดี (และอาจจะขายหน้าสำหรับบางคน)


 


แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ล้วนตามมาด้วยการตั้งคำถามถึง "ความเป็นผู้หญิงที่ดี" ต่อพวกเธอ เช่น ทำไมนางเอกที่เคยเรียบร้อยแสนหวานอย่างคุณปิยะมาศ โมนยะกุล ถึงลุกขึ้นมาทำอะไร "เปลืองตัว" เช่นนั้น ทำไมดาวโป๊ต้องกลายเป็นหมอนวด หรือการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมแวร์ โซวถึงได้รับรางวัลเงินล้านจากโออิชิ ซึ่งเลยเถิดไปถึงการพยายามโยงใยความสัมพันธ์แบบชู้สาว ฯลฯ


 


หรือข่าวดังสนั่นเมืองของมาช่าและสุ่ย พรนภา ที่มาช่าคว้าอดีตแฟนหนุ่มของเพื่อนรักอย่างสุ่ยมาครอง จนถูกเรียกขานเหตุการณ์ดังกล่าวว่า "เพื่อนรัก หักเหลี่ยมโหด" แม้ต่อมา เรื่องราวความขัดแย้งของเพื่อนรักจะซาลง พร้อมกับภาพความหวานหยดของคู่รักมาช่า - กฤษณ์ แต่มิวายมาช่าก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ควรจะหา "พ่อ" ให้ลูก มากกว่าจะหา "แฟน" ให้ตัวเอง


 


มวยเด็ดอีกคู่หนีไม่พ้นนักร้องสาว ทาทา ยัง และระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช สมาชิกวุฒิสภา โดย ส.ว.คนดังกล่าวประณามอย่างรุนแรงถึงการแต่งกายของนักร้อง จนถึงขั้นเรียกร้องให้ประชาชนไม่ไปดูคอนเสิร์ตของทาทา ยัง และยังคงเดินหน้าปราบปรามผู้หญิงที่ออกนอกเขตข่ายความเป็น "กุลสตรีไทย" อย่างเอาเป็นเอาตาย ไม่ว่าจะเป็นการประท้วงปฏิทินโป๊ โดยกล่าวว่าบ้านใดที่มีรูปผู้หญิงเปลือยเหล่านี้จะมีแต่ความอัปมงคล


 


อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่โจษจันของผู้คนก็คือ แนวความคิดชวนเวทนาของ วัฒนา เมืองสุข ที่เสนอว่าภรรยาควรกราบเท้าสามีก่อนนอนตามแบบฉบับไทยโบราณ เพื่อความสงบสุขของครอบครัว ผลที่ตามมาคือการคัดค้านอย่างรุนแรงของประชาชน


 


และส่งท้ายปลายปีด้วย ณหทัย ทิวไผ่งาม ส.ส.ไทยรักไทย ที่หลั่งน้ำตาปฏิเสธข่าวลือว่า เธอตั้งท้องกับผู้หลักผู้ใหญ่ภายในพรรค ในเวลาใกล้เคียงกับ มุกดา พงษ์สมบัติ ส.ส.ไทยรักไทย ที่วิ่งโร่ปฏิเสธข่าวความสัมพันธ์ลับกับคนขับรถ และข่าวเตียงหักของนัท มีเรีย และ เต๋า สมชาย หรือข่าวการเลิกรากันหรือไม่ของเขตต์ ฐานทัพ และนุ่น วรนุช


 


ราวกับว่าสื่อมวลชนหมดสิ้นแล้วที่จะนำเสนอแง่มุมอื่นของผู้หญิงที่นอกไปจาก "แม่" และ "เมีย" ภาพรวมของข่าวที่เกี่ยวกับสตรีจึงยังคงอยู่ในวังวนเดิมๆ


 


มองในอีกแง่มุมหนึ่ง การขาดการกระตุ้นบทบาทของผู้หญิงโดยสื่อมวลชนนี้เอง ที่ทำให้ผู้หญิงยังไม่ออกจากกรอบที่ว่านี้เพื่อมาเป็นข่าวเชิงสร้างสรรค์ใน "ประเด็นอื่น" บ้าง แม้ว่าข่าวคุณหญิงจารุวรรณจะไม่ใช่ข่าวที่ "ดี" - ข่าวการทุจริตในวงราชการ - แต่นั่นก็ยังเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการแสดงบทบาทอื่นของผู้หญิงที่มีความเป็นผู้นำบ้าง


 


นี่ยังไม่นับรวมข่าวอาชญากรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงอีกจำนวนมาก ที่ถูกกระทำผ่านอาชญากรรอบหนึ่ง แล้วถูกผลิตเป็นข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ ก่อนจะถูกหยิบมาเล่าผ่านรายการคุยข่าว และถูกผลิตซ้ำย่ำยีผ่านการเล่าซ้ำแบบปากต่อปากอีกหลายต่อ ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นสายพานลำเลียงความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงให้ขจรขจายไปทั่ว


 


ข่าวคัทลียา แมคอินทอช กับการทบทวนวาทกรรม "บุคคลสาธารณะ" ของสังคม


ในบรรดาข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงนั้น ทุกข่าวก็ต้องยอมศิโรราบให้กับความร้อนแรงของข่าวการตั้งครรภ์ของคัทลียา แมคอินทอช นางเอกผู้ถูกขนานนามว่า "เจ้าหญิงแห่งวงการมายา" และเป็นผู้บัญญัติคำว่า "เบนโล" ให้กลายเป็นคำใหม่ติดปากผู้คน


 


นี่เป็นข่าวที่โด่งดังที่สุดในชีวิตของเธอ และทำให้เธอกลายเป็นผู้หญิงที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดแห่งปี ปรากฏการณ์ผู้คนแห่แหนกันแสดงความคิดเห็นจนเวบไซต์บางแห่งล่ม คงแสดงให้เห็นว่า ชื่อเสียงของเธอนั้นมีอิทธิพลอันทรงพลังต่อการกำหนดวาระข่าวสารเพียงใด ไม่บ่อยนักที่ใครจะสามารถเขย่าสังคมให้คิดหรือมีความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งพร้อมๆ กันได้อย่างข่าวของเธอ


 


ประเด็นข่าวดังกล่าวได้เปิดพื้นที่แก่สังคมไทยหลายเรื่อง อันที่จริงประเด็น "การท้องก่อนแต่ง" ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคม แต่มันถูกหมกเม็ดไว้ "ใต้ผืนพรม" เสมอมา นี่จึงนับเป็นครั้งแรกที่มีการพูดถึง "การท้องก่อนแต่ง" อย่างจริงจังผ่านการกล้ายอมรับความจริงของเธอ


 


ทันทีที่สิ้น "คำสารภาพ" ของเธอ คัทลียาก็ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของความประพฤติที่ควรเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นในฐานะ "บุคคลสาธารณะ"


 


ยิ่งไปกว่านั้น "ความคาดหวัง" ต่อเธอยิ่งทวีคูณขึ้น เมื่อเธอเป็น "ผู้หญิง" คนหนึ่งบน "โลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่" เธอจึงถูกกดดันด้วยกฏเกณฑ์ว่า "ผู้หญิงที่ดี" ต้องไม่มีความต้องการทางเพศ (ส่วนผู้ชายน่ะเรอะ... "ลุยโลด!") โดยเพศสัมพันธ์ที่ดีงามของสังคมไทยต้องเป็นเพศสัมพันธ์ที่ถูกกฎหมาย ผ่านการจดทะเบียนสมรสเพื่อขออนุญาตรัฐในการมีเพศสัมพันธ์ และต้องเกิดขึ้นในเพศตรงข้ามเท่านั้น ในขณะที่ห้ามผู้หญิงข้องเกี่ยวกับเรื่องเพศนี่เอง ก็มีความพยายามผลักดันแกมบังคับให้ผู้หญิงต้องยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศเสียทีก่อนอายุ 30 ปี ไม่แคล้วจะถูกตราหน้าว่าไม่มีใคร "เอา"


 


เราจะเห็นได้ว่า การคาดหวังต่อใครสักคนถึงขนาดตั้งฉายาว่า "เจ้าหญิง" แม้จะฟังดูว่า เป็นคำที่น่าชื่นชม แต่ในแง่มุมหนึ่งมันคือการ "จองจำ" ให้เขาต้องตายด้านอยู่เพียงมิติเดียว นั่นคือมิติที่เรา "เชื่อว่า" เป็น "ความดีงาม" ในสายตาเรา ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่เราทำไม่ได้ แต่ดันอยากให้คนอื่นทำเหลือเกิน เช่น เราเชื่อว่าความผอม ขาว และสูงระหงคือความสวย เราก็อยากให้ดาราเป็นเช่นนั้น เพื่อให้เราได้ "ชื่นชม" ดังนั้น พอคัทลียาอวบขึ้นมาหน่อย เราถึงเป็นเดือดเป็นร้อน จนเธอต้องหาทางรีดน้ำหนักเป็นการด่วน และต้องพยายามดำรงความเป็นนางเอกที่ต้องสวยไว้ตลอดชีวิต


 


ในขณะเดียวกัน "บุคคลสาธารณะ" ทั้งหลายก็ยอมสมาทานตัวเองเข้ากับความคิดเรื่อง "แบบอย่างที่ดี" เสียด้วย ไม่อย่างนั้น คัทลียาคงจะไม่ยอมเป็น "เจ้าหญิง" จนถึงวินาทีสุดท้ายที่แถลงข่าวเช่นนี้


 


ผลก็คือทั้งเราและเขาก็ไม่ได้เป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็น และต้องทนทำร้ายตัวเองอยู่เสมอ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้แสดงให้เห็นว่า "บุคคลสาธารณะ" ก็เป็น "มนุษย์ธรรมดา" ที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ คุมกำเนิดไม่ได้ ตั้งครรภ์ได้ อ้วนได้ และมีอีกหลากหลายแง่มุมที่ไม่ใช่ "เจ้าหญิง"  และเธอก็เป็นอีกคนที่ทนแบกรับความกดดันนี้ไม่ไหว เราเองนั่นแหล่ะที่ไปเรียกร้องให้เธอเป็น "เจ้าหญิง" จนเธอเองก็เชื่อว่าตัวเองเป็นเช่นนั้น และต้องเป็นเช่นนั้นตลอดไป แต่ทั้งเราและเธอต่างก็ลืมไปว่า "เจ้าหญิง" ก็เป็น "คน" เหมือนกัน


 


ในขณะเดียวกัน ดูเหมือนว่าในขณะนั้น สังคมจะพยายามทบทวนและทำความเข้าใจที่มีต่อ "ความเป็นบุคคลสาธารณะ" กันใหม่ แต่หลังผ่านพ้นข่าวคราวของคัทลียา เราก็ยังคงพบวาทกรรมของ "การเป็นตัวอย่างที่ดีของบุคคลสาธารณะ" ในความหมายแบบเดิมอยู่ นั่นแสดงว่า ที่สุดแล้ว สังคมก็ยังคง "ยินดี" ที่จะเรียกร้องใฝ่หา "ต้นแบบ" ที่ "บริสุทธิ์ผุดผ่อง" อยู่เช่นเดิมอย่างนั้นหรือ?


 


นอกจากนั้น ข่าวการตั้งครรภ์ของคัทลียายังเปิดพื้นที่ให้สังคมได้ถกเถียงเรื่อง "ความเป็นส่วนตัว" และ "ความเป็นสาธารณะ" ด้วย


 


เพราะบางครั้ง มันมีความขัดแย้งกันอยู่ระหว่าง "สิ่งที่คนอยากรู้" กับ "สิ่งที่แหล่งข่าวอยากบอก" และอะไรกันคือตัวกำหนดว่าพื้นที่ใดสมควรได้รับการบอกเล่าผ่านสื่อมวลชน และใครที่ควรเป็นผู้กำหนด


 


คำถามก็คือ "บุคคลสาธารณะ" สมควรได้รับการเปิดเผยทุกแง่มุมของเขางั้นหรือ แต่ถ้าเขาไม่ต้องการเปิดเผยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เขาจะมีอำนาจต่อรองต่อ "ความเป็นสาธารณะ" นี้อย่างไรดี และสื่อมวลชนควร "วางตัว" อย่างไรต่อ "ความเป็นส่วนตัว" นั้น


 


แท้ที่จริงแล้ว การเปิดเผยดังกล่าวควรจะเกิดจากความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย แหล่งข่าวก็มีสิทธิที่จะป้องกัน "พื้นที่ส่วนตัว" ของเขา โดยการไม่ตอบคำถาม ซึ่งรวมไปการโกหกหรือเลือกที่จะพูดความจริงเฉพาะส่วนที่เขายินดีด้วย ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าคัทลียาจะพูด "ความจริง" ทั้งหมดหรือไม่ ก็ไม่ใช่ประเด็นที่จำเป็นต้องขุดคุ้ย เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เธอกำลังป้องกัน "ความเป็นส่วนตัว" ของเธออยู่ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่สังคมและสื่อมวลชนควรเคารพ


 


ถ้าไม่เข้าใจ "ความเป็นส่วนตัว" เช่นนี้ สังคมก็จะยังคงกระเหี้ยนกระหือรือ "ความลับ" ของคนดังอยู่อย่างเดิม ซึ่งมันกระตุ้นเร้าให้สื่อมวลชนต้องรุกล้ำชีวิตส่วนตัวของผู้อื่นอยู่บ่อยๆ ในขณะเดียวกัน สื่อมวลชนก็ต้องเรียนรู้ที่จะชี้นำสังคมให้เป็นไปในวิถีทางที่ดี ผ่านการกำหนดวาระข่าวสารที่สร้างสรรค์ด้วย


 


คุณูปการสำคัญอย่างหนึ่งซึ่งข่าวคัทลียาได้สร้างไว้ก็คือ การที่เราต้องกลับมาคิดทบทวนตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เรา "เรียกร้อง" ให้พวกเขาตั้งมั่นอยู่บน "ความดีงาม" แต่บางคนก็ "ระริกระรี้" เหลือเกินเวลาได้รับรู้ "ความเน่าเฟะ" ของพวกเขา


 


ตกลงแล้วเราต้องการอะไรจากพวกเขากันแน่...


 


หรือที่จริงแล้ว เราควรเรียกร้องอะไรจากเขาไหม...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net