รัฐธรรมนูญตอนที่ 1 : 2549 ปีแห่งการ (ชิง) ปฏิรูปการเมือง

 

บรรยากาศปฏิรูปการเมืองร้อนระอุขึ้นทุกขณะภายหลังจากค่อย ๆ สะสมอุณหภูมิมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

 

ปฏิรูปการเมืองรอบที่ 2 โดยนัยที่พูดกันก็คือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ซึ่งว่ากันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา กระทั่งถูกเรียกขานกันว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"

 

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะมากจะน้อยเพียงใดยังไม่อาจคาดเดาได้ และหากเกิดขึ้นจริง การปฏิรูปการเมืองครั้งนี้น่าจะถูกบันทึกไว้ว่า นี่คือครั้งแรกที่การปฏิรูปการเมืองถูกจุดประกายและเคลื่อนทัพโดยนักธุรกิจสื่อสารมวลชน

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีมีการออกมาขานรับการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้โดยแนวทางที่ต่างๆ กันไป แน่นอนว่าฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลย่อมอิดออดที่จะร่วมขบวนด้วย ก็มิใช่เพราะพวกเขาหรอกหรือ ความต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลาย ๆ มาตราจึงได้บังเกิดขึ้น

 

ฟากของนักวิชาการ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม 2548 ผศ.ดร. บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกมาประกาศว่า นักวิชาการจะผนึกกำลังกันเคลื่อนประเด็นปฏิรูปการเมืองซึ่งเรียกกันอย่างไม่เป็นทางการขณะนี้ว่า "เครือข่ายสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองรอบ  2"

 

พร้อมกันนี้ ผศ.ดร. บรรเจิดได้ประกาศแนวทางการปฏิรูปการเมืองในประเด็นหลัก ๆ 2 ส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันการเมือง กับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

 

เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันการเมือง ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 5 ประเด็นคือ  1. การบังคับสังกัดพรรคการเมือง ตามมาตรา 107 (4) ของรัฐธรรมนูญ 2. นายกรัฐมนตรีจะต้องแต่งตั้งจาก ส.ส. หรือผู้เคยเป็น ส.ส. แต่พ้นจากสมาชิกภาพ ตามมาตรา 118 (7) ในอายุของสภาผู้แทนราษฎรชุดเดียวกัน (มาตรา 201) 3. การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 185 4. บทบัญญัติเกี่ยวกับจัดการหุ้นของรัฐมนตรีตามมาตรา 209 และการกำหนดห้ามมิให้กระทำการใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 110 และ 5. ปรับระบบการได้มาของวุฒิสมาชิกใหม่

 

และส่วนที่เกี่ยวกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ที่จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่มี 3 องค์กร คือศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใน 3 ส่วนคือ คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่ง คณะกรรมการในการสรรหา และกระบวนการในการพิจารณาขององค์กรอิสระดังกล่าว

 

ดูเหมือนนี่จะเป็นข้อเสนอที่เป็นทางการที่สุด นับแต่กระแสแก้รัฐธรรมนูญบังเกิดขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ดีเดย์ปฏิรูปการเมืองซึ่งประกาศจากปากของสนธิ ลิ้มทองกุล แห่งรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร คือวันที่ 13 ม.ค. 2549 ซึ่งเขาเลือกวิธีถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "ประชาไท" จึงถือโอกาสในช่วงรอยต่อของปี เสนอทัศนะต่าง ๆ เพื่อเก็บเป็นเสบียงไว้สำหรับรับมือกระแสปฏิรูปการเมือง-แก้รัฐธรรมนูญที่ใกล้เข้ามาทุกขณะ โดยจะทยอยนำเสนอทีละวัน วันละตอน ต่อจากนี้จนจบ

 

โปรดติดตามวันพรุ่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท