Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 ธันวาคม 2548  ที่ศาลาอเนกประสงค์บ้านเต่าร้าง ตำบลคลองหอยโข่ง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนและเครือข่ายในการจัดการป่าต้นน้ำ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมป่าผาดำ มีผู้เข้าร่วม 40 คน ประกอบด้วย เครือข่ายอนุรักษ์ป่าต้นน้ำคลองอู่ตะเภา ในพื้นที่ตำบลท่าโพธิ์ ตำบลทุ่งหมอ ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา และประชาคมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงลา


 


นายวิฑูรย์ เริ่มวิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (สงขลา) กล่าวเปิดการประชุมว่า พื้นที่ป่าที่มีอยู่หากไม่มีคนดีคอยรักษาไว้ คงจะหมดไปแล้ว ตนขอยกตัวอย่างประสบการณ์สมัยที่ทำงานอนุรักษ์ป่าในจังหวัดระยอง ครั้งนั้น มีสื่อมวลชนนำเสนอภาพตอไม้ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายวัน เมื่อเข้าไปตรวจสอบเป็นตอไม้ที่มีอยู่ก่อนประกาศเป็นป่าอนุรักษ์ เพราะฉะนั้น ในการทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ ขออย่าได้โจมตีซึ่งกันและกัน


 


"ส่วนที่ว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำลายป่าด้วยนั้น ถ้าพบว่าเป็นลูกน้องของผม ผมจะไม่เลี้ยง ในการทำงานอนุรักษ์ ผมจะห้ามลูกน้องไม่ให้ข้องแวะ 3 อย่าง คือ ไม่ให้ลักลอบตัดไม้ ไม่ให้ร่วมมือกับนายทุนเข้ามาลักลอบตัดไม้ และไม่ให้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด" นายวิฑูรย์ กล่าว


 


นายสมพิศ ใกล้เจริญ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลปาดังเบซาร์ นำเสนอการดำเนินโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศป่าผาดำ ต้นน้ำอู่ตะเภาว่า ตนอยู่ที่บ้านบาโรย หมู่ที่ 11 ตำบลปาดังเบซาร์ อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำผาดำ มักจะพบว่าชาวบ้านมักตกเป็นจำเลยในกรณีตัดไม้ทำลายป่ามาตลอด ซึ่งบางส่วนก็ต้องยอมรับ เมื่อไม่นานมานี้มีสื่อโทรทัศน์นำเสนอข่าวการจับกุมชาวบ้านผาดำลักลอบตัดต้นไม้ในป่าอนุรักษ์ ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าว อยู่ในแนวป่าเศรษฐกิจที่กองทัพภาคที่ 4 กำหนดไว้ เพื่อแบ่งเป็นแปลงจัดสรรให้ชาวบ้าน ตามโครงการหมู่บ้านป้องกันชายแดนไทย - มาเลเซีย ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินโครงการต่อไปหรือไม่ เพราะฉะนั้น ในการอนุรักษ์ป่า ต้องให้เจ้าหน้าที่รัฐหารือกับชาวบ้านด้วย มิใช่ปล่อยให้ฝ่ายจับกุมก็จับกุม ฝ่ายที่ทำลายก็ทำลาย


 


นายสมพิศ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่เกิดน้ำท่วมรุนแรงนั้น ตนขอให้ชาวบ้านในพื้นที่ราบ ปลูกต้นไม้ให้มากๆ เพราะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ระดับหนึ่ง ไม่ใช่โทษแต่ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ


 


นายแคล้ว ห้าวหาญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองหอยโข่ง กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่ป่าต้นน้ำผาดำ ยังมีการตัดไม้ทำลายป่า โดยนายทุนว่าจ้างชาวบ้านในพื้นที่ให้ลักลอบตัดไม้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เช่น ทำให้น้ำในคลองลดน้อยลง ทำลายแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เป็นต้น ขณะนี้ ประชาคมอนุรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ ได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อให้ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ เช่น ห้ามขุดหาของป่า, ร่วมกันลาดตระเวนระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน


 


นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยการจัดการทางสังคม ผู้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน เสนอต่อที่ประชุมว่า ควรมีการทบทวนการใช้ประโยชน์ในที่ดินด้วย ทั้งทางการเกษตร ที่อยู่อาศัย และเลี้ยงสัตว์ หากพบว่ามีการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพิ่ม ก็แสดงว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มขึ้น และเสนอให้ชาวบ้านลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ และองค์การพัฒนาเอกชน รวมทั้งให้ประสานกับเครือข่ายอนุรักษ์อื่นๆ ด้วย


 


นายเพิ่มศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในการป้องกันรักษาป่าต้องให้ภาครัฐดำเนินการร่วมกับชุมชน และต้องให้ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยมีหลักการ คือ ต้องทำให้ดิน น้ำ และป่า อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งต้องให้คน ชุมชน องค์กร และเครือข่ายมีความเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันในเรื่องปากท้องชีวิตความเป็นอยู่ต้องมีความพอเพียง ซึ่งเป็นหลักการสากลทั่วไป หากไปเน้นจุดใดจุดหนึ่ง การอนุรักษ์ก็จะไม่ยั่งยืน


 


จากนั้น นายวิฑูรย์ได้ขึ้นมากล่าวว่า ยินดีที่จะทำงานร่วมกับชาวบ้านในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำต่อไป


 


ต่อมา ในช่วงบ่ายได้มีการเปิดให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมีข้อเสนอให้มีการจัดเวทีหารือระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน ในพื้นที่ป่าต้นน้ำผาดำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาป่า สำหรับโครงการนี้ทางสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 เป็นผู้สนับสนุน


 


นายสมพิศ เปิดเผยกับ "ประชาไท" หลังการประชุมว่า สำหรับพื้นที่แนวป่าเขตเศรษฐกิจตามที่ตนระบุนั้น ทางกองทัพภาคที่ 4 ได้ขออนุญาตจากกรมที่ดิน เพื่อทำโครงการหมู่บ้านป้องกันชายแดนไทย - มาเลเซีย เมื่อปี 2534 จำนวน 2,800 ไร่ โดยขอใช้พื้นที่ไปจนถึงปี 2564 จากนั้น ได้มีการให้สัมปทานตัดไม้ ที่อยู่ในที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อหมดสัมปทาน ปรากฏว่า โครงการหมู่บ้านป้องกันชายแดนไทย - มาเลเซีย ก็หยุดชะงักไปด้วย โดยไม่ทราบว่าเพราะเหตุใด


 


นายสมพิศ กล่าวต่อว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินให้ ไม่สามารถโค่นต้นยางพาราเก่าไปขายได้ เนื่องจากทางองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ไม่อนุญาต โดยแจ้งว่าทางกองทัพภาคที่ 4 ยังไม่คืนที่ดิน อีกทั้ง จะขอเงินกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เพื่อปลูกยางใหม่ก็ไม่ได้ด้วยเหตุผลด้วย ซึ่งปัญหานี้ได้เสนอต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2547 แล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ


 


นายสมพิศ กล่าวอีกว่า ส่วนในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำนั้น กลุ่มชาวบ้านได้กำหนดกติกาชุมชนผาดำขึ้นมา โดยมีมาตรการที่สำคัญ เช่น ให้หยุดการเลี่อยไม้เพื่อการค้า ห้ามขายที่ดินทำกินให้กับผู้อื่น ต้องร่วมกันดูแลป่าไม้ในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่ดินทำกินของตัวเองด้วย หากพบว่ามีการทำลายป่าในพื้นที่ใกล้เคียงก็ต้องรับผิดชอบด้วย เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net