Skip to main content
sharethis

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม 2005 14:58น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


ปฏิเสธไม่ได้ว่า มุมมองของสื่อมวลชนที่เกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอดนั้น ถือเป็นมุมมองที่มีน้ำหนักไม่น้อยสำหรับการประเมินสถานการณ์ไฟใต้ในปี 2549 ศูนย์ข่าวอิศรา จึงนำเสนอ "บทวิเคราะห์" ของ ไชยยงค์ มณีพิลึก นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ซึ่งเขาประเมินว่าปฏิบัติการของกลุ่มก่อความไม่สงบจะรุนแรงยิ่งขึ้นในปีหน้า ขณะที่นโยบายของรัฐบาลล้วนเข้าทางกลุ่มผู้ก่อการ


 


thumb_boss.jpg (ไชยยงค์ มณีพิลึก)      


"รากเหง้า" ซึ่งเป็นที่มาของการก่อการร้ายโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ดำรงอยู่นานนับสิบๆ ปี ความขัดแย้งทางความคิด ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม ความไม่เสมอภาค และความไม่เป็นธรรมในอดีตถูกสั่งสมมายาวนาน และทั้งหมดก็แปรสภาพเป็นปัญหาการแบ่งแยกดินแดน


 


ที่สำคัญ ขณะนี้มันได้ถูกพัฒนาเป็นขั้นสุดท้าย นั่นก็คือการพยายามให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็น "เขตการปกครองพิเศษ" เพื่อปกครองตนเอง


 


นั่นหมายถึงว่าการก่อความไม่สงบที่รุนแรงต่อเนื่องมา 2 ปี จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น เพื่อที่ขบวนการจะเดินหน้าไปสู่จุดประสงค์ที่แท้จริง!


 


ดังนั้นใครก็ตามที่เข้าใจว่าเหตุการณ์ที่เริ่มสงบลงหลังจากมีการเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็ดี, การใช้นโยบายเชิงรุกจับกุมแนวร่วมกลุ่มปฏิบัติการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ก็ดี


 


การใช้กลไกของฝ่ายปกครองบีบให้แนวร่วม "กลุ่มเสี่ยง" ออกมารายงานตัวกับทางราชการก็ดี หรือแม้กระทั่งการติด ยูบีซี ให้กับทุกตำบลหมู่บ้าน แล้วสรุปว่าสถานการณ์กำลังดีขึ้นแล้วนั้น ย่อมถือเป็นการสรุปแบบ "มักง่าย!"


 


ทั้งนี้ เพราะการประเมินแนวโน้มสถานการณ์ในระยะต่อไป จะต้องมองย้อนไปถึงสิ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้วในอดีต โดยสถานการณ์ที่เบาบางลงในช่วงเดือนพฤศจิกายน ต่อเนื่องถึงกลางเดือน ธันวาคม 2548 นั้น เกิดจาก 2 สาเหตุด้วยกัน คือ


 


1.หลังจากที่กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) และศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) เปิดเกมรุกด้วยการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จับกุมแนวร่วมผู้ก่อการได้จำนวนหนึ่ง ทำให้แกนนำของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต้องถอยร่น และประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อปรับวิธีปฏิบัติการใหม่


 


2.อุทกภัยจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญของแนวร่วม และ 4 รัฐในประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นฐานสั่งการของบรรดาแกนนำ ทำให้ขบวนการไม่สามารถเปิดปฏิบัติการก่อความรุนแรงได้อย่างสะดวก ซึ่งเป็นผลจากภัยธรรมชาติเป็นอุปสรรค หาใช่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจบล็อกพื้นที่ได้ทั้งหมดไม่


 


อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า การที่ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผบ.ทบ. ให้นโยบาย 3 เกาะ ซึ่งเป็นทฤษฎีของ "ประธานเหมา" (เหมาเจ๋อตุง) ได้แก่ เกาะติดพื้นที่ เกาะติดศัตรู และเกาะติดประชาชน ทำให้แกนนำในพื้นที่ และแนวร่วมที่เปิดเผยตัวต้องหลบออกจากพื้นที่มากพอสมควร


 


กระนั้นก็ตาม การหลบซ่อนตัวดังกล่าวจะเป็นเพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แม้จะทำให้เห็นว่า "ห่วงโซ่" ของขบวนการถูกทำลายลงแล้ว แต่มันจะส่งผลดีเพียงระยะแรก เพราะเมื่อแกนนำและแนวร่วมกำหนดวิธีการตอบโต้ขึ้นใหม่ การก่อความไม่สงบก็จะเกิดขึ้นอีก


 


และคำตอบที่ชัดเจนก็คือ หลังจากอุทกภัยคลี่คลายเพียง 2 วัน "คาร์บอมบ์" ลูกแรกก็เกิดขึ้นที่ อ.เมือง จ.นราธิวาส ติดตามด้วยการฆ่ารายวัน โดยเป้าหมายอยู่ที่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่เป็นชาวไทยพุทธ และมุสลิมที่เป็น "สายข่าว" ซึ่งไม่ให้ความร่วมมือกับขบวนการ


 


ยุทธวิธีเช่นนี้ กลุ่มผู้ก่อการสามารถทำได้ง่ายๆ แต่ฝ่ายรัฐป้องกันได้ยากยิ่ง!


 


นอกจากนั้น การฆ่าประชาชนไปเรื่อยๆ และการก่อวินาศกรรมอย่างต่อเนื่อง มีผลในการสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้บริสุทธิ์ จนต้องอพยพออกจากพื้นที่ ซึ่งก็เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มขบวนการที่ต้องการให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเพียงชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่ 100%


 


ขณะที่การฆ่าคนมุสลิมที่เป็นคนของรัฐ หรือสายข่าวของทางการ ก็เพื่อเป็นการข่มขู่ให้คนมุสลิมหวาดกลัว ไม่กล้าให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ และอยู่อย่างนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


 


กรณีดังกล่าวนี้ ทำให้เกิด "แนวร่วมจำยอม" และถูกคนของรัฐมองด้วยความเคลือบแคลงสงสัย เพราะไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นคนเหล่านี้อาจจะถูกกดดันจนกลายเป็น "แนวร่วมตัวจริง" ไปโดยปริยาย


 


และสุดท้ายการฆ่ารายวัน กับการก่อวินาศกรรมต่อเนื่อง จะทำให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลไร้ประสิทธิภาพในการปกป้องดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้บริสุทธิ์ ส่งผลให้หมดความเชื่อมั่นในผู้นำรัฐบาล และหมดความเชื่อถือในอำนาจรัฐ เข้าสู่ภาวะ "มีการปกครอง แต่ปกครองไม่ได้"


 


ดังนั้น การปฏิบัติการของ กอ.สสส.จชต.และ ศปก.ตร.สน. ตลอดจนฝ่ายปกครองในปีนี้ จึงเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มสถานการณ์ในปีหน้า ซึ่งแม้ว่าตลอด 2 เดือนที่ผ่านมาจะมีการจับกุมแนวร่วมระดับปฏิบัติการได้กว่า 50 คน แต่ก็เป็นแนวร่วมระดับกลางและปลายแถวเท่านั้น ส่วนแกนนำ และแนวร่วมระดับ 1 กับ 2 ยังคงอยู่กันอย่างพร้อมหน้า


 


ขณะที่แกนนำซึ่งเป็นอุสตาซไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ยังคงปฏิบัติการปลุกระดมผู้คนอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวร่วมระดับปฏิบัติการที่มีการฝึกฝนยุทธวิธีการก่อการร้ายจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น "เปอมูดอ" หรือ "อาร์เคเค" จำนวน 5,000 คน ก็ยังไม่มีใครคิดมอบตัว และแทบไม่มีโอกาสที่จะใช้ พ.ร.ก.ฉุนเฉินฯ เข้าจับกุม


 


ที่สำคัญแกนนำจำนวนนับร้อยคนที่อยู่ในเครือข่ายของ สะแปอิง บาซอ ซึ่งถูกรัฐบาลระบุว่าเป็นหัวโจกใหญ่ และอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการก่อความรุนแรงทั้งหมด ก็ยังเคลื่อนไหวได้อย่างปกติทั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในประเทศที่สาม โดยการเจรจาลับๆ ของหน่วยงานหลายหน่วยกับกลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่ได้ผล


 


และที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีการจัดตั้งหน่วยงานลึกลับขึ้นมา โดยดึงเอากลุ่มอิทธิพลในพื้นที่มาติดอาวุธและงบประมาณ เพื่อปฏิบัติการ "เก็บเงียบ" บรรดาแกนนำและแนวร่วมที่ยังเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยในพื้นที่


 


ในระยะสั้น วิธีการนี้อาจจะได้ผล แต่ในระยะยาวจะส่งผลเสียอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดความเจ็บแค้นและไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ที่สำคัญกลุ่มคนที่ถูกสร้างขึ้นมาอยู่เหนือกฎหมาย เพื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้ามเช่นนี้ สุดท้ายจะกลายเป็นกลุ่มอิทธิพลที่สร้างปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก ดังนั้นวิธีการนี้จึงเป็นเหมือนการแก้ปัญหาหนึ่ง แต่กลับไปสร้างอีกปัญหาหนึ่ง


 


ยิ่งเมื่อหันไปมองสถานการณ์โลก การที่สหรัฐอเมริกาจัดตั้งศูนย์ป้องกันการก่อการร้ายขึ้นในประเทศออสเตรเลีย โดยครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย จะยิ่งทำให้เกิดเงื่อนไขใหม่ที่ถูกนำไปปลุกระดมคนในพื้นที่ ให้เห็นถึงความเลวร้ายของอเมริกา ที่มีจุดประสงค์แฝงเร้นในการเข้ามามีอำนาจในภูมิภาคนี้


 


ขณะเดียวกัน การที่จังหวัดอาเจะห์ ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มกบฏอาเจะห์ สามารถต่อสู้กับรัฐบาลกลางจนต้องมีการเจรจาสงบศึก พร้อมยอมให้ปกครองตนเองได้นั้น ย่อมไม่ส่งผลดีต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เพราะจุดมุ่งหมายของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ก็คือการให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ เช่นเดียวกับกรณีของอาเจะห์นั่นเอง


 


จากเหตุปัจจัยดังกล่าวข้างต้น เมื่อนำมาพิจารณาประกอบกับข้อมูลลับของหน่วยข่าวความมั่นคง ที่มีการระบุถึงแผนการของขบวนการแบ่งแยกดินแดนว่า รูปแบบการก่อการร้ายไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือก่อเหตุด้วยความรุนแรงในทุกช่องว่างที่เกิดขึ้น , ไม่ใช้กำลังติดอาวุธที่มีชื่ออยู่ในหมายจับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขบวนการโจรก่อการ้าย (ขจก.) ออกปฏิบัติการ เพราะภาพของ ขจก.คือกลุ่มโจรเรียกค่าคุ้มครองที่ถูกมองจากสังคมว่าไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง


 


ฉะนั้นหน่วยปฏิบัติการของขบวนการจึงเป็นเยาวชน และครูสอนศาสนา โดยจะมีภาพของนักวิชาการ และนักการเมืองเป็นภาพซ้อนอยู่เบื้องหลัง


 


นอกจากนั้น ยังมีการเปลี่ยนนโยบายจากการแบ่งแยกดินแดนเพื่อตั้งรัฐปัตตานี เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อให้ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ เพื่อปกครองตนเอง ซึ่งกลุ่มขบวนการมีการกำหนดนโยบายไว้แล้ว โดยเชื่อว่า แนวทางนี้จะ "โดนใจ" คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ทั้งหมดจึงวิเคราะห์ได้ว่า สถานการณ์การก่อความไม่สงบในปี 2549 นั้น จะเพิ่มความรุนแรงของปฏิบัติการด้วยอาวุธมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการปลุกระดมคนในพื้นที่เพื่อให้เห็นด้วยกับ "เขตปกครองพิเศษ" ซึ่งจัดตั้งโดยคนพื้นที่ เพื่อคนพื้นที่ และผู้เป็นชนชาติมลายู


 


ดังนั้นหากวิธีการแก้ปัญหาความไม่สงบของรัฐบาล ยังคงเน้นหนักในด้านการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อสร้างความหวาดกลัว และกวาดล้างจับกุมผู้ที่ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็น "แนวร่วม" รวมทั้งวิธีการนำ "แนวร่วมกลุ่มเสี่ยง" ออกมารายงานตัวแบบ "เหวี่ยงแห" แล้วล่ะก็ สุดท้ายย่อมไม่มีทางยุติการก่อความไม่สงบได้ ท่ามกลางกระแสสมานฉันท์ที่กำลังถูกลดบทบาทลงไปทุกขณะ


 


ถึงนาทีนี้จึงน่าเป็นห่วงว่า สิ่งที่รัฐบาลพยายามบอกประชาชนว่า "เราเดินมาถูกทางแล้วนั้น" เป็นการถูกทางของเรา หรือเข้าทางของเขากันแน่!?!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net