Skip to main content
sharethis

 


 


 


หลังจากเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งใหญ่จากกรณีคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ทำให้เกิดความตื่นตัวในการป้องกันภัยและเตือนภัยที่จะเกิดจากเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ประสบภัยพิบัติสึนามิที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งหอสัญญาณเตือนภัย ป้ายบอกช่องทางหนีภัยภาษาต่าง ๆ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากชาตินั้นๆ จะเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ การซักซ้อมหนีภัย รวมทั้งแนวคิดขององค์กรในระดับนานาชาติที่จะจัดทำคู่มือเพื่อความปลอดภัยของประชาชนหรือนักท่องเที่ยวเป็นหลายๆ ภาษา


 


แต่ข้อสังเกตของนักวิชาการ สื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งที่ออกมาระบุว่า ยังไม่มีการจัดทำป้ายบอกช่องทางหนีภัย หรือเอกสารคู่มือเป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เลย ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริงแล้วจำนวนตัวเลขของแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติ คือ พม่า ลาวและกัมพูชา ในพื้นที่ประสบภัยเหล่านี้มีไม่ต่ำกว่า 70,000 คน และน่าจะมีมากกว่านั้นเนื่องจากมีแรงงานจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนของทางราชการได้ และในเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ผ่านมาก็พบว่ามีแรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้จำนวนไม่น้อย


 


หากจะตีความจากสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมองได้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เขาไม่เคยมีตัวตนปรากฎในความรับรู้ของการจัดการเรื่องความปลอดภัยหรือการเตือนภัยโดยภาครัฐไทยเลย หรืออาจจะไม่มีตัวตนเลยในสายตาของภาครัฐ สิ่งที่ปรากฏอยู่ในห้วงสำนึกอาจจะเป็นเพียงการเป็นแรงงานราคาถูกที่มาทดแทนการขาดแคลนแรงงานไทยในพื้นที่ต่างๆ ในกิจการต่างๆ เช่น ประมงทะเล สวนยางพารา อีกด้านหนึ่งก็เป็นปัญหาความมั่นคงที่รัฐต้องจัดการเท่านั้น


 


ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติ การให้ความช่วยเหลือเรื่องการสื่อสารของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นคนข้ามชาติ ข้ามวัฒนธรรม และมีปัญหาในเรื่องการสื่อสารไม่ต่างจากนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ เช่นกัน


 


หากจำกันได้หลังภัยพิบัติสึนามิไม่กี่วัน ก็มีการระดมอาสาสมัครที่จะช่วยในเรื่องการแปลภาษาให้นักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ มากมาย แต่ไม่มีการจัดล่ามแปลให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติแม้แต่น้อย จนส่งผลให้หน่วยงานราชการไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มพวกเขาเพื่อให้การช่วยเหลือได้ จนกระทั่งมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีบุคลากรหรืออาสาสมัครที่สามารถสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติเข้าไปช่วยเหลือ พวกเขาถึงปรากฏตัวขึ้นมาบ้าง


 


หรือกรณีที่แรงงานข้ามชาติในพื้นที่ประสบภัยสึนามิส่วนหนึ่งที่ถูกจับกุมในข้อหาลักทรัพย์ก็พบว่า ในกระบวนการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีหลายครั้งที่ไม่มีล่ามแปลให้ ทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งต้องรับโทษโดยที่ตนเองไม่ได้เข้าใจว่า ทำไมตนเองต้องถูกจับกุม จนกระทั่งมีการเข้าไปช่วยเหลือขององค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรทางกฎหมายบางส่วนที่เข้าใจปัญหานี้เข้าไปให้การช่วยเหลือจัดหาล่ามและทนายความให้ เมื่อมีการดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมถึงที่สุด ก็พบว่าศาลตัดสินยกฟ้องแรงานเหล่านี้


 


หรือหากมองเลยไปถึงช่วงเวลาปกติ ก็พบว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้าไปรับบริการต่างๆของภาครัฐมีเพียงไม่กี่แห่งที่จะจัดล่ามแปลภาษาหรือเอกสารที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ จะมีเพียงหน่วยงานสาธารณสุขบางส่วนที่ตระหนักถึงเรื่องนี้ทำให้การเข้าถึงการบริการ การคุ้มครองสิทธิของแรงงานเหล่านี้เป็นไปได้ค่อนข้างยาก


 


ขณะเดียวกันเมื่อมองไปยังกระบวนการทางสังคมแล้วคงเป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อย ที่เราไม่สามารถจะสื่อสารกับคนกลุ่มที่มีขนาดใหญ่พอสมควรที่อยู่ในสังคม เพราะนั่นเท่ากับว่าเราไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่เราต้องการกับพวกเขาได้ และเราก็ไม่สามารถรับรู้ได้ว่าพวกเขาคิด และต้องการอะไรจากพวกเรา การไม่มีช่องทางการสื่อสารดังกล่าวย่อมมีแนวโน้มไปสู่ความขัดแย้งที่มีฐานมาจากอคติอยู่แล้วระดับหนึ่ง กลไกในการคลี่คลายปัญหาด้วยการสื่อสารจึงไม่อาจกระทำได้ นั่นเป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อยสำหรับสังคมไทยที่เราปล่อยให้ความเสี่ยงดังกล่าวเกิดขึ้นในสังคมที่มีความต่างดังเช่นสังคมไทย ยกเว้นเราจะหลอกตัวเองว่าเราเป็นสังคมที่มีแต่ความเหมือน


 


วันนี้ปัญหาเรื่องการไม่มีป้ายสัญญาณเตือนภัย หรือคู่มือช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติจึงไม่เป็นเพียงปัญหาของการขาดกลไกการเตือนภัยให้แก่คนทุกกลุ่มเท่านั้น แต่ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาการสื่อสารทางสังคมของกลุ่มคนชายขอบในสังคมไทย สะท้อนให้เห็นถึงการกีดกันคนกลุ่มหนึ่งออกจากการมีตัวตนในสังคมไทย ซึ่งเท่ากับเราได้สนับสนุนให้เกิดการกดทับ ซ่อนเร้นปัญหาต่างๆไว้ และหากถึงจุดวิกฤติแล้วสิ่งที่เราจะได้รับจากการสื่อสาร คือ การสื่อสารที่อยู่นอกกรอบความเข้าใจ หรือนอกกรอบไวยากรณ์ของพวกเรา ซึ่งสังคมไทยอาจจะไม่มีศักยภาพในการจัดการใด ๆ แล้วก็ได้


 


สิ่งที่สังคมไทยและพวกเราจำเป็นต้องตระหนักคือ สังคมไทยวันนี้เป็นสังคมที่ประกอบขึ้นด้วยความแตกต่าง เราอยู่ร่วมกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลาย เรามีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้า แต่เราก็หลงลืมพวกเขา หลายครั้งที่ความหลงลืมหรือการรับรู้แต่เพียงบางมิติอาจจะนำไปสู่การลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่งได้


 


วันนี้สิ่งที่พวกเรา สังคมไทยต้องตระหนักคือ เราต้องเปิดพื้นที่การสื่อสารให้แก่คนชายขอบทั้งหลาย อาจจะเริ่มต้นด้วยเรื่องเล็กๆดังกรณีของการเพิ่มภาษาของพวกเขาเหล่านั้นลงไปในป้ายบอกช่องทางหนีภัยสึนามิ จัดทำเอกสารป้องกันและช่วยเหลือตนเองเมื่อประสบภัยพิบัตสึนามิที่มีภาษาของแรงงานข้ามชาติ เพราะนั่นเท่ากับว่าเราได้เปิดพื้นที่ให้แก่จินตนาการใหม่ที่จะอยู่ร่วมกันในสังคมไทยที่เป็นสังคมแห่งความหลากหลายนั่นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net