Skip to main content
sharethis

"เจ๊ก" เคยเป็นชนกลุ่มน้อยในสยามที่เคยมีประสบการณ์การถูกทำให้ต่างและแบ่งแยกออกโดยรัฐ แต่ในปัจจุบันมีความผสานกลมกลืนและไม่ถูกมองอย่างแบ่งแยกอีกต่อไป บทเรียนของ "เจ๊ก" อาจนำมาสู่การแก้ปัญหาให้ "แขก" ที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าวในปัจจุบัน


 


รายงานฉบับนี้เป็นการประมวลข้อสรุปเชิงแนวคิดทั่วไปเกี่ยวกับประสบการณ์ของวัฒนธรรม "เจ๊ก" ในสังคมที่ รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยค้นคว้าและนำมาประยุกต์กับปัญหาความแตกต่างทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของคนไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูผู้เป็นชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งในรัฐชาติไทย แต่เป็นคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้


 


เจ๊กกับสังคมไทย : ความเหมือน


รศ.ดร. เกษียร ยกเรื่องเล่าจากประสบการณ์ชีวิต นายแพทย์แวมาหะดี แวดาโอ๊ะ (หมอแว) ที่สะท้อนปัญหาอันเกิดจากความต่างทางวัฒนธรรม


 


เรื่องแรก หมอแวเล่าถึง คือพ่อของเขาที่แม้จะไม่รู้ภาษาไทย รู้แต่ภาษามลายูดี ประกอบอาชีพทอดปาท่องโก๋ขายส่งเสียเลี้ยงดูลูก 8 คน จน 2 คน ได้เป็นหมอ 4 คน ได้เป็นวิศวกร และอีก 2 คนทำโรงงานผ้าบาติกของตัวเอง เมื่อพ่อไปโรงพยาบาล กลับถูกเจ้าหน้าที่หาว่าไร้การศึกษา


 


เรื่องที่สอง เมื่อหมอแวอายุ 7 ขวบ นอกจากต้องเรียนหนังสือสายสามัญจันทร์ถึงศุกร์แล้ว ยังต้องไปเรียนที่โรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามประจำมัสยิดระดับชั้นเด็กเล็กเพื่อปูพื้นฐานด้านศาสนาอิสลาม) ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เหมือนลูกหลานมุสลิมทั่วไป จึงบ่นกับพ่อว่าเหนื่อย แต่พ่อบอกไม่เรียนตาดีกาไม่ได้ เพราะจะไม่รู้ภาษามาลายู หมอแวตั้งคำถามทิ้งท้ายไว้ว่า :ใครผิดที่เด็กเล็กอย่างเขาตอนนั้นต้องเรียนถึง 7 วัน พ่อ? หรือกระทรวงศึกษาธิการ?


 


เรื่องสุดท้ายที่แผนกสูตินารีเวช โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โต๊ะครูพาภรรยามาคลอดลูกที่โรงพยาบาล และขอเข้าไปในห้องคลอดด้วยเพื่อทำ "อาซาน" ลูกทันทีตามประเพณีมุสลิม แต่พยาบาลไม่อนุญาต จากนั้นโต๊ะครูก็ไม่พาภรรยามาคลอดที่โรงพยาบาลอีกเลย กรณีนี้ใครผิด ประชาชน หรือนโยบายโรงพยาบาลที่ไม่เคารพประเพณีชาวบ้าน


 


เรื่องเล่าของหมอแวสอดคล้องกับประสบการณ์ในฐานะความเป็นลูกเจ๊กในอดีตของ  รศ.ดร.เกษียร หลายเรื่อง ตั้งแต่การที่แม่เคยถูกเสมียนดุด่าว่า ไม่รู้ภาษาไทยเมื่อไปยื่นคำร้องที่อำเภอ พ่อที่เคยทั้งปลอบและขู่สมัยชั้น ป.5 ให้เรียนภาษาจีนพิเศษตอนกลางคืนเพิ่มจากการเรียนปกติตอนกลางวัน เป็นต้น


 


ปัญหาของ "เจ๊ก" ในสังคมไทยในอดีต เกิดขึ้นเพราะรัฐไทยบีบคั้นให้เลือกว่า จะมีเอกลักษณ์(Identity) เป็น "คนจีน" หรือ "คนไทย" อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งๆ ที่เป็นการฝืนความจริงทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรม ที่พวกเขาเป็นพร้อมกันทั้งสองอย่าง


 


ปัจจุบันโจทย์นี้สำหรับจีนคลี่คลายไปแล้วในระดับหนึ่ง แต่แขกยัง ราว 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สังคมไทยยอมรับว่า "It"s Ok to be both Thai and Jek at the same time."


 


การแสวงหาความไม่เหมือน


น่าสังเกตว่าการแชร์ประสบการณ์ความเป็นชนส่วนน้อยเหมือนกันระหว่าง "เจ๊ก"กับ"แขก"  ปฏิกิริยาตอบรับจาก "แขก" กลับเน้นไปที่ความ "ไม่เหมือน" โดยเฉพาะในประเด็นการเป็นเจ้าของพื้นที่ของมลายูมุสลิม โดยระบุว่า คนจีนเป็นผู้อพยพมาจากที่อื่น ในความจริงอาจฟังแปลกหูสำหรับลูกหลานจีนที่ไม่เคยอพยพมาจากที่ไหน


 


รศ.ดร.เกษียรจึงสรุปลักษณะเฉพาะที่คนมลายูมุสลิมมักยกมาเพื่อแสวงหาความไม่เหมือนมี 4 ประการ ดังนี้


 


1.มุสลิมในชายแดนภาคใต้ของไทยไม่ใช่ผู้อพยพมาจากดินแดนอื่น เพราะมีรากฐานอยู่ในพื้นที่มายาวนาน อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวก็อยู่ประชิดกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีคนมลายูมุสลิมเป็นประชากรหลักด้วย (แต่กรณีนี้ก็ไม่ใช่ความโดดเด่นเฉพาะของกลุ่มมลายูมุสลิมเสียทีเดียว คนลาวทางภาคอีสานของไทยก็มีความคล้ายคลึงกันในลักษณะเช่นนี้)


 


2.ทางวัฒนธรรม มลายูมุสลิมแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยทั้งทางชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา ลักษณะเฉพาะดังกล่าวเมื่อผสานกับวิถีอิสลามจะแนบแน่นจนมิอาจแยกความเป็นมลายูทางชาติพันธุ์และภาษาออกจากความเป็นมุสลิมทางศาสนาได้


 


3.หากมองให้ลึกและกว้างออกไปจากระดับชาติ สถานภาพชนกลุ่มน้อย (Minority) ของคนมุสลิมในสังคมไทยมีบุคลิกพิเศษที่ดำรงอยู่ท่ามกลางชนกลุ่มน้อยซ้อนกันสามชั้น (triple minorities) คือ


ชั้นแรก ในระดับพื้นที่ ชาวไทยพุทธเป็นชนส่วนน้อย แต่มุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่


ชั้นที่สอง ในระดับประเทศ ชาวมุสลิมเป็นชนส่วนน้อยท่ามกลางชาวไทยพุทธเป็นคนส่วนใหญ่


ชั้นที่สาม ในระดับภูมิภาค ชาวไทยพุทธเป็นคนส่วนน้อย ท่ามกลางชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่ในเอเชียอาคเนย์


 


4.มลายูมุสลิมบางส่วนโดยเฉพาะปัญญาชนและผู้นำชุมชนมีสำนึกทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างสูงในจุดที่เคยเป็นรัฐปาตานีอิสระที่เก่าแก่กว่าสุโขทัย และเป็นศูนย์กลางความรู้ทางอิสลามในภูมิภาคอุษาคเนย์ ทำให้มี "เรื่องเล่า" ที่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์แห่งชาติฉบับราชการไทยที่ ธงชัย วินิจจะกูลเรียกว่า "ประวัติศาสตร์ไทยแบบราชาชาตินิยม"


 


ตรงนี้เป็นความต่างที่สำคัญที่สุดของชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ เพราะทำให้เกิดจินตนาการที่มองเห็น "ชาติในชาติ" "สังคมในสังคม" ที่อึดอัดขลุกขลัก ดิ้นรนแสวงหาทางเลือกทางออกไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง


 


จากการเมืองจีนสยามสู่การเมืองมลายูมุสลิมไทย


หากพิจารณาบทบาทของคนจีนในสังคมไทยเทียบกับบทบาทของมลายูมุสลิมในสังคมไทย โดยอ้างอิง "การเมืองจีนสยาม : การเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย ค.ศ. 1924-1941 (พ.ศ.2539)" ของ เออิจิ มูราชิมา จะพบลักษณะทางการเมืองที่เด่น 3 ประการ


 


1.มีความเหลื่อมเหลื่อมล้ำลักลั่นระหว่างรัฐกับชาติที่สังกัด (the non-congruence between the state and the nation) คืออยู่ในเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยในทางจริง แต่ในทางจินตนากรรม รู้สึกว่าสังกัดชาติจีน


 


2. รอยแยกนี้ทำให้คนจีนอพยพในสยามตกอยู่ในข้อเรียกร้องของลัทธิชาตินิยมหลายกระแส (being subjected to the calls and claims of many nationalism) ไม่ว่าจะเป็นก๊กมินตั๋ง ชาตินิยมจีนคอมมิว-นิสต์ ชาตินิยมของรัฐข้าราชการไทย เป็นต้น


 


3. การเมืองจีนสยามกลายเป็นการเมืองของชุมชนอพยพพลัดถิ่น (diaspora politics) และจีนอพยพในสยามก็พยายามแสดงบทบาทเป็นนักชาตินิยมทางไกล (long-distance nationalists) คือ อยู่ไกลบ้านก็รักบ้านได้


 


เมื่อเปรียบเทียบกับการเมืองมลายูมุสลิมไทยแล้วเป็นดังนี้


1.มีความเหลื่อมล้ำลักลั่นระหว่างรัฐไทยที่สังกัดกับชุมชุนที่พวกเขาถือสังกัดทั้งในทางประวัติศาสตร์และในทางศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่พวกเขาผ่านประสบการณ์ที่อาจทำให้เห็นว่ารัฐไม่ได้ปกป้องสิทธิประโยชน์ของเขา (มิใช่ a protect state ) มิได้เป็นตัวแทนของพวกเขา(a non-representative state) มิได้เป็นรัฐชาติของพวกเขาเอง (มิใช่ their own national state)


 


ดังนั้นเมื่อถูกแบ่งแยกให้รู้สึกว่ามิได้เป็นหุ้นส่วนหนึ่งของชาติไทยจึงทำให้หันไปสังกัดชุมชนแห่งความทรงจำอื่น เช่น ชาติปตานี หรือชุมชนทางศีลธรรมอื่น เช่น แนวคิดชุมชนอิสลามเอกภาพที่ครอบคลุมทั่วสากล (Umma) เหนือสิ่งอื่นใด


 


2.เงื่อนไขข้างต้นทำให้เกิดแนวคิดขบวนการอันหลากหลายรวม ทั้งชาตินิยมแยกรัฐ (separatist nationalism) อิสลามสู้รบ (militant Islam) และสามารถอ้างความชอบธรรมเพื่อหาแนวร่วมได้


3.การเมืองมลายูมุสลิมในชายแดนภาคใต้กลายเป็นการเมืองบนพื้นทางชุมชนชาติพันธุ์ทางศาสนา(ethno-religious community-based politics) และชาวไทยมุสลิมมลายูก็แสดงบทบาททางการเมืองออกมาในลักษณะนักชาตินิยมทางชาติพันธุ์วัฒนธรรม(ethno-cultural nationalists) เพื่อเรียกร้องให้ยอมรับการดำรงอยู่ของวัฒนธรรมอันแตกต่างหลากหลาย เสมอภาคและต้องการแสดงอำนาจส่วนรวมที่สะท้อนลักษณะทางวัฒนธรรมชุมชนและปกป้องสิทธิทางวัฒนธรรมท้องถิ่น


 


ประมวลสรุปประสบการณ์เจ๊กเพื่อลองขบแก้ปัญหามลายูมุสลิมไทย


หากเลียนแนวคิดอันโด่งดังของ ศ.Benedict Anderson ผู้เชี่ยวชาญการเมืองไทย เอเชียอาคเนย์ และลัทธิชาตินิยม ที่ว่าชาติคือชุมชนในจินตนากรรมหรือ imagined communities แล้ว ชาติไทยก็เป็นเช่นนั้น โดยรัฐไทยในสมัยสมบูรณายาสิทธิราชย์และรัฐบาลทหารอำนาจนิยมจินตนากรรมให้ "ไม่เป็นชุมชน" หรือ "แบ่งแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า"(imagined ucommunity)


 


คนจีนกับคนไทยจึงผสานเข้ากันไม่ได้ ทางเดียวที่จะสร้างชาติจากสภาพที่ไม่เป็นชุมชนดังกล่าว ณ เวลานั้นคือการครอบงำชาติอื่นๆ ทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรมเพื่อให้กลายเป็น "คนไทย"


 


และสร้างสิ่งที่เรียกว่า "นโยบายผสมกลมกลืน" หรือ "นโยบายสมานลักษณ์" (assimilation policy) ของรัฐไทย แต่ตรงนี้กลับกลายเป็น "นโยบายตอน" (emasculation policy) สองทิศทาง


 


ทิศหนึ่งคือตอนคนจีนทางวัฒนธรรมและการเมือง โดยเอาขุมพลังทางเศรษฐกิจทรงพลวัตรที่สุดในประชาสังคมเมืองไทยไปสยบภายใต้อุดมการณ์ "ความเป็นไทย" แบบรัฐนิยมอุปถัมป์


 


อีกทิศทางหนึ่งคือตอนชุมชนไทยและชนชาติอื่นๆ ในชนบททางเศรษฐกิจ โดยเอาแรงงานและทรัพยากรท้องถิ่นไปสังเวยให้การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไม่ยั่งยืนภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ชี้นำโดยรัฐ


 


ในความเป็นจริง วาทกรรมชาตินิยมไทยก็ไม่ใช่ลักษณะเชื้อชาตินิยม(racism) ด้วย คือมีลักษณะเลือกปฏิบัติและฉวยโอกาส วาทกรรมดังกล่าวฉวยเอาเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ไปใช้ทางการเมือง (racializing or ethnicizing political discourse)จะเห็นได้ว่า ชาตินิยมของรัฐไทยไม่เคยขัดขวางชนชั้นนำทหารหรือข้าราชการไทยในการสนิทกับนายทุนจีน ต่อมาจึงกลายเป็นระบบทุนขุนนางทางเศรษฐกิจ (bureaucratic capitlism) ควบคู่กับราชการ (bureaucratic polity) ซึ่งรวมศูนย์อำนาจสูงสุด แต่ขาดเอกภาพทางการเมือง


 


จึงอาจกล่าวได้ว่า แท้จริงแล้วชาตินิยมโดยรัฐไทยมีไว้เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้นายทุนจีนแปรเปลี่ยนอำนาจครอบงำทางเศรษฐกิจของตัวเองไปเป็นอำนาจอิสระทางการเมือง


 


แต่ในระยะหลังมีการก่อตัวของชาตินิยมใหม่ที่เปิดให้กับ "เจ๊ก" คือ ทุนเจ๊กเติบใหญ่ รุ่นลูกรุ่นหลานเรียนหนังสือไทย พูดภาษาไทย ผนวกกับเหตุการณ์ใน 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 จนพรรคคอมมิวนิสต์ไทยล่มสลาย จีนเปลี่ยนแนวทางจากประธานเหมามาเปิดประเทศมากขึ้น มาจนถึงการลุกขึ้นสู้ในเดือนพฤษภาคม 35 ทำให้มีการตื่นตัวและสนใจเข้าร่วมกิจกรรมของวัฒนธรรมจีนขนานใหญ่


 


หลังพฤษภา 35 ก็มีการพยายามจินตนากรรมชาติไทยใหม่ของสื่อมวลชน เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้เมื่อมาประชุมกันจึงเปลี่ยนสถานการการเมืองโลก คนจีนในสังคมไทยก็เปลี่ยนสถานะ


 


จากนั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับรัฐจึงเปลี่ยนไปเป็นผ่านระบอบเลือกประชาธิปไตย ตรงนี้เริ่มก่อตัวหลัง 14 ตุลา จนไปถึงปฏิรูปการเมืองสมัย 2540 ทุนก็เข้าสู่เข้าสู่อำนาจรัฐได้โดยตรงผ่านการเลือกตั้งตามระบอบ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเกิดชาตินิยมใหม่


 


ร่างเค้าโครง "ข้อตกลงใหม่" ระหว่างมลายูมุสลิมกับรัฐชาติไทย


ปัจจุบันกลุ่มทุนใหญ่เชื้อสายเจ๊กหรือลูกจีนกลายเป็น "ไทย" ภายใต้ความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างทุนกับรัฐไปแล้ว กลุ่มทุน "ไทย" เหล่านี้อาศัยกำลังทุนที่สั่งสมมาจากธุรกิจสัมปทานผูกขาดและตลาดฟองสบู่ รวมทั้งเงื่อนไขในระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตย จนผงาดขึ้นเป็นอิสระทางการเมือง ผูกสัมพันธ์กับชนบทด้วยสัญญาประชาคม "ประชานิยม" แบบอุปถัมป์-บริโภคนิยม ยึดกุมอำนาจรัฐและควบคุมกลไกรัฐระบบราชการให้รับใช้ขึ้นต่อผลประโยชน์และแนวนโยบายของตน


 


วัฒนธรรม "ความเป็นจีน"จึงมิใช่ปมด้อยในสังคมไทยที่ต้องิดบังอำพรางอีกต่อไป บัดนี้กล่าวได้เต็มปากเต็มคำแล้วว่า "It"s OK to be both Thai and Jek at the same time."


 


แต่สำหรับแขกยังไม่


 


ที่ผ่านมารัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เคยสร้าง "ระเบียบเก่า" ไว้สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 ให้มีศูนย์อำนวยกาบริหารชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหารที่ 43 (พตท.43) เป็นแกนกลางในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แต่เมื่อ พ.ศ.2545 รัฐบาลทักษิณ 1 ได้สร้าง "ระเบียบใหม่" โดยยุบหน่วยงานทั้งสองตามคำแนะนำของตำรวจ


 


ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การสถาปนา "ระเบียบใหม่" รัฐบาลทักษิณมุ่งใช้กำลังทางตำรวจเป็นหลักในการรักษาความสงบและเกิดการรื้อโครงสร้างสายสัมพันธ์ทางการเมืองของ "ระเบียบเก่า" ปฏิกริยาต่อต้านขัดขืนจากบุคคลสายข่าวของทหารในพื้นที่ถูกจัดการโดยการอุ้มฆ่าและสังหารทิ้ง แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ถูกลอบสังหารจำนวนมากจนผิดสังเกต และสถานการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อรัฐบาลประกาศสงครามยาเสพติด พศ. 2546 จนนำไปสู่การฆ่าตัดตอนที่เป็นปัญหามากมายทั่วประเทศกว่า 2000 ศพ รวมทั้งในพื้นที่ภาคใต้


 


อาการต่อต้าน "ระเบียบใหม่" ประทุแรงขึ้นด้วยเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เมื่อประกอบกับผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ศกนี้ เป็นสัญญาณชัดว่า "ระเบียบใหม่" ของรัฐบาลทักษิณไม่เป็นที่ยอมรับของขุมพลังฝ่ายต่างๆ


 


ในปรัชญาการเมืองเสรีนิยมคลาสสิคคือ รัฐสูญเสีย consent หรือความยินยอมให้ปกครองของราษฎรไป ได้แต่ใช้ coercion หรือกำลังบังคับในการปกครองควบคุมและลงอาญาราษฎรถ่ายเดียวโดยสิทธิขาด ไม่ต่างกับภาวะไม่มีรัฐหรือภาวะธรรมชาติ (stateless state or state of nature) ที่ปราศจากอำนาจทางการที่ สถิตยุติธรรม (want of common judge with authority)  และอาจเสื่อมถอยไถลไปสู่ภาวะสงคราม(the state of war) ซึ่งผู้คนใช้กำลังเข้าทำร้ายกันโดยปราศจากสิทธิ (force without right,upon a man"s person) ได้โดยง่าย


 


การหลุดจากภาวะความรุนแรงดังกล่าว จำเป็นต้องสร้างสัญญาประชาคมใหม่ โดยสรุปวิเคราะห์เป็นข้อเสนอดังนี้


 


1.สร้างชุมชนทางการเมืองขึ้นมาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ อาศัยพลังชุมชนเป็นหลักสร้างภาคีที่เสมอกับภาครัฐ มีชุมชนทางการเมืองที่เป็นอิสระและหลากหลายทางวัฒนธรรม สร้างสถาบันการเมืองในระดับพื้นที่แทนพลังสังคมที่หลากหลาย


 


2.เปลี่ยนเอกลักษณ์ไทยให้หลากหลาย รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยที่ความจริงเป็นไทยพุทธต้องเปลี่ยนไปในทิศทาพหุวัฒนธรรมยิ่งขึ้น ในอดีตรัฐปล่อยให้เจ๊กคงวัฒนธรรมจีนได้ มีชุมชนส่วนตัว เช่น เยาวราช เล่งเน่ยยี่


           


แต่ในกรณีชุมชนมลายูไทยมุสลิมต้องขยับเส้นนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนมลายูมุสลิมเคลื่อนจากมณฑลมลายูที่เป็นชุมชนส่วนตัวเข้าสู่สาธารณะทางการมากขึ้น คือต้องทำให้วัฒนธรรมมลายูปรากฏใน official culture


 


3.ในแง่เศรษฐกิจ เจ๊กกับรัฐไทยอยู่กันโดยสันติได้เพราะเจ๊กพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยม โดยรัฐเก็บภาษีและค่าเช่าเศรษฐกิจ แต่มลายูมุสลิมใช้แบบนี้ไม่ได้ รัฐต้องปรับเปลี่ยนเป็นการสร้างเศรษฐกิจที่รวมเศรษฐกิจการค้ากับเศรษฐกิจพอเพียงเพราะสอดคล้องกับหลักศาสนาและวิถีชีวิตของมลายูมุสลิม


 


......................................


หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบทความ "เจ๊กและแขกกับสังคมไทย" พินิจปัญหาใต้จากประสบการณ์จีนสยาม


โดย รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการประจำปีของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) "เหลียวหลังแลหน้า : 20 ปีเศรษฐกิจและสังคมไทย" เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงเรียนแอมบาสเดอร์ พัทยา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net