Skip to main content
sharethis

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนรายวัน วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10089


 


เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2548 คดีคุณจินตนา แก้วขาว ที่ละเมิดบริษัทยูเนี่ยนเพาเวอร์ ดิเวลลอปเมนท์ ได้บรรลุไปอีกขั้นตอนหนึ่ง นั่นคือ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยให้จำคุกเป็นเวลา 1 เดือน จึงกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในวันที่ 20 กันยายน 2546 ซึ่งให้ยกฟ้อง


 


คดีนี้ คุณจินตนาถูกกล่าวหาว่าพาพวกเข้าขัดขวางงานเลี้ยงของบริษัทยูเนี่ยนเพาเวอร์ ดิเวลลอปเมนท์ ได้บุกรุก "โดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร" เข้าไปในบริเวณงานของบริษัท แล้วนำของโสโครกไปขว้างปาและเทลงบนโต๊ะอาหาร ถังน้ำแข็ง และเวทีจัดงานเลี้ยง "อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข"


 


ในที่นี้ ขอสรุปประเด็นสำคัญของคำพิพากษาทั้งสองศาล เพื่อบอกกล่าวให้ทราบโดยทั่วกัน


 


คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเริ่มปรารภเหตุของความขัดแย้งระหว่างจำเลย และโรงไฟฟ้า ถ้าพูดอย่างภาษาวิชาการก็คือ แสดงบริบทของกรณีที่เกิดขึ้นว่าฝ่ายผู้ประท้วงคัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้านั้น มีความห่วงใยผลกระทบของโรงไฟฟ้า ที่อาจมีต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตการทำมาหากินของชาวบ้านตำบลหินกรูด ถ้าพูดภาษาชาวบ้านก็คือ กรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆ โดยปราศจากปูมหลัง


 


ถัดจากนั้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็อ้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันว่า ในหมวด 3 มาตรา 39 อันว่าด้วยเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เช่น การพูด, การเขียน, การพิมพ์ ฯลฯ โดยคำพิพากษาไม่ลืมประโยคท้ายสุดของวรรคนี้ด้วยคือ "และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น" นอกจากนี้ คำพิพากษายังอ้างถึงมาตรา 44 วรรคหนึ่งที่ให้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และมาตรา 46 นั่นก็คือสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมในการอนุรักษ์จารีตประเพณี, ภูมิปัญญา, ศิลปวัฒนธรรมอันดี และการจัดการ, บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล


 


จุดมุ่งหมายที่อ้างรัฐธรรมนูญ ท่านระบุไว้อย่างชัดเจนและงดงามว่า "คดีนี้เกี่ยวข้องกับความมุ่งหมายดังกล่าว(ของรัฐธรรมนูญ) จึงต้องพิจารณาพยานหลักฐานด้วยความละเอียดอ่อน มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดหรือคนดีถูกรังแกโดยกลไกทางกฎหมาย"


 


ประเด็นท้ายสุดของคำพิพากษาคือ การวินิจฉัยข้อเท็จจริง พบว่าคำให้การของพยานโจทก์ขัดแย้งกันเอง เช่น ในเวลาเดียวกันพยานบางคนเห็นคุณจินตนานำพรรคพวกประมาณ 10 คน เดินเข้าไปในบริเวณงาน ในขณะที่พยานบางคนกลับให้การว่าเห็นแต่ฝูงคนเดินเข้าไป แต่ไม่ได้เห็นคุณจินตนา ทั้งๆ ที่พยานทุกคนต่างรู้จักคุณจินตนามาก่อนทั้งสิ้น พยานบางคนให้การว่า เห็นคุณจินตนายกมือขึ้นชี้นิ้วออกคำสั่งให้เอาน้ำปลาวาฬเทราดลงไป บางปากไม่เห็น


 


นอกจากนี้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นยังตั้งข้อสงสัยในความเที่ยงแท้ของคำให้การพยานอีกด้วย เช่น พยานทุกปากทำงานหรือได้รับประโยชน์จากบริษัทโรงไฟฟ้า ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม พยานบางปากยอมรับว่ามีเรื่องขัดแย้งกับคุณจินตนาในเรื่องโรงไฟฟ้า บางปากมีคดีฟ้องร้องอยู่ในศาลด้วยซ้ำ จึงล้วนมีเหตุให้ไม่อาจฟังความได้แน่นอนทั้งสิ้น(ขอให้ย้อนกลับไปดูเหตุผลข้างต้นเรื่องของความละเอียดอ่อนของคดี)


 


และด้วยเหตุดังนั้นจึงพิพากษาว่า "พยานหลักฐานของโจทก์ก็เท่าที่นำสืบมาทั้งหมดยังไม่พอฟังว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง"


 


คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นเดียวว่า "จำเลยเป็นคนร้ายคนหนึ่งที่ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของผู้เสียหายและผู้เสียหายครอบครองอยู่ดังกล่าวหรือไม่"


 


ในส่วนคำให้การที่ขัดแย้งกันในชั้นศาลนั้น ศาลอุทธรณ์เลือกจะฟังคำให้การในชั้นสอบสวนมากกว่า เพราะที่พยานบางปากให้การในชั้นศาลผิดไปจากที่ให้การไว้ในชั้นสอบสวนก็เนื่องจาก "เกรงกลัวต่ออิทธิพลของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด หรือมิฉะนั้นอาจกลับใจเบิกความเพื่อช่วยเหลือให้จำเลยพ้นความผิด"


 


นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์ยังยืนยันว่า คำให้การฝ่ายพยานโจทก์น่าเชื่อถือ เพราะไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ยิ่งบุคคลที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจก็ยิ่งไม่มีเหตุโกรธเคืองที่จะให้ร้ายแก่จำเลย ในขณะที่จำเลยก็ยอมรับว่าเข้าไปที่สำนักงานโรงไฟฟ้า (นอกบริเวณงาน) ในวันเกิดเหตุจริง (ในศาลชั้นต้นจำเลยยืนยันว่าเดินเข้าไปตามเส้นทางที่เป็นที่ดินสาธารณะ) แต่จำเลยก็ไม่ได้อ้างบุคคลเป็นพยาน ทั้งๆ ที่ได้เข้าไปหลายคน จึง "เจือสม" กับคำให้การของพยานโจทก์(ว่าได้บุกรุกเข้าไปละเมิดจริง)


 


พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 (2) ประกอบด้วยมาตรา 362 และ 83 ให้จำคุก 6 เดือน


 


คำพิพากษาทั้งสองศาลนี้จะมีความสำคัญต่อการศึกษากฎหมายในประเทศไทยต่อไปข้างหน้ามากน้อยอย่างไร ไม่ทราบได้ แต่คุณจินตนา แก้วขาว นั้นมีมิตรอยู่มากทั้งประเทศไทย จึงใคร่บอกกล่าวโดยรายละเอียดให้ได้ทราบทั่วกัน


 


ตัวคุณจินตนาเองนั้นมีความวิตกต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นทั่วไป จึงอยากให้พี่น้องพินิจพิจารณาคำพิพากษาทั้งสองนี้เอง อาจมีประโยชน์ในการเคลื่อนไหวต่อไปข้างหน้า


 


ขณะนี้ทางฝ่ายจำเลยได้เตรียมการยื่นฎีกาแล้ว


 


หน้า 6


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net