รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 3 : ฟัง 2 ทนาย พูดถึงกระบวนการยุติธรรมไทย ใต้รัฐธรรมนูญ

 

ไพโรจน์ พลเพชร และ สมชายหอมละออ 2 ทนาย (ที่ไม่ใช่คู่หูคู่ฮา) ได้ใช้โอกาสในวันรัฐธรรมนูญเล่าให้ฟังถึงกระบวนการยุติธรรมไทยในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งบัญญัติชัดเจนถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ก็ไม่วายต้องประสบปัญหาการใช้การตีความ และที่สุดคือไม่ใช้และไม่ตีความเลย

 

ปัญหาที่ประมวลได้ก็คือ การตกร่องอยู่กับ "ทฤษฎี" และ "หลักการ" อันเก่าและพร่ามัวของนักกฎหมายไทยเอง และอีกประการที่สำคัญก็คือ "ฐานคิด" ของสังคมไทยเองที่ยังมองเห็นว่า "รัฐ" ใหญ่กว่า "คน"

 

0 0 0

ไพโรจน์ พลเพชร

 

เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ผู้นี้กล่าวถึงบทเรียนจากคดีของจินตนา แก้วขาวว่า นี่คือหนึ่งในหลายๆ กรณีที่ชาวบ้านตกเป็นจำเลยในคดีที่มีรัฐหรือองค์กรเอกชนที่เกี่ยวพันกับโครงการของรัฐเป็นโจทย์ฟ้อง เขาบอกว่า นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าฐานคิดของรัฐธรรมนูญ กับฐานคติของสังคมไทยยังไม่ไปด้วยกัน

 

ฐานคิดของรัฐธรรมนูญคือสิทธิเสรีภาพของประชาชน-ฐานคิดสังคมไทยคือรัฐเป็นใหญ่

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของไทยถูกร่างขึ้นมาจากฐานคิดอีกแบบหนึ่ง คือสิทธิของประชาชนต้องเป็นที่มาของฐานอำนาจ แต่กระบวนทัศน์ของสังคมไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง ฐานคิดของผู้คนในสังคมไทยยังเชื่อว่าอำนาจรัฐใหญ่กว่าสิทธิของประชาชน ผู้ปกครองทั้งหลายที่ใช้อำนาจอยู่ขณะนี้ยังเชื่อว่าอำนาจรัฐเหนือกว่าสิทธิของประชาชนไม่ใช้สิทธิของประชาชนเป็นฐานในการใช้อำนาจรัฐแต่ใช้อำนาจรัฐเหนือกว่าในการกำกับดูแลตรวจสอบ และเมื่อกระบวนทัศน์เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังไม่เปลี่ยนการพิจารณาคดีส่วนใหญ่ก็มาจากความคิดว่าอำนาจรัฐใหญ่กว่า

 

อำนาจบริหารเข้มแข็ง อำนาจตุลาการต้องถ่วงดุล

คำถามที่ตามมาคือ 1.ศาลจะประกันสิทธิของประชาชนได้อย่างไรถ้าเกิดข้อโต้แย้งระหว่างสิทธิของประชาชนกับอำนาจรัฐ 2. ศาลจะตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างไรในกรณีที่รัฐใช้อำนาจละเมิดสิทธิประชาชน และ 3. ศาลจะใช้อำนาจบนฐานสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไร

 

ผมคิดว่าประเด็นสำคัญก็คือสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญจะได้รับการประกันอย่างไร ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างนะครับ ประการแรก ถ้าประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิเสรีภาพอย่างมีพลังเข้มแข็งเพียงพอก็น่าจะบังเกิดได้

 

ประการที่ 2 มีบางเรื่องที่สิทธิเสรีภาพนั้นถูกมอบหมายให้ฝ่ายบริหารไปดำเนินการต่อ เช่นไปออกกฎหมายลูกซึ่งก็เป็นปัญหาของบ้านเมืองนี้มาตลอด ถ้าฝ่ายบริหารกุมอำนาจเสียอย่างเขาก็ไม่ยอมให้สิทธิแก่ประชาชน เขาไม่ยอมให้สิทธิเสียอย่างจะเป็นอะไรไหม

 

ประการที่ 3 แม้รัฐธรรมนูญได้พูดไว้ชัดเจนว่าความสัมพันธ์ของสิทธิเสรีภาพที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจประชาชนกับรัฐ แต่ศาลยุติธรรมจะประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนได้อย่างไร

 

ปัจจุบันนี้อำนาจบริหารเข้มแข็งมาก และการถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจฝ่ายบริหารทำได้น้อย ดังนั้นเราต้องคิดใหม่ว่าในสถานการณ์ที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจเข้มแข็งในปัจจุบัน สถาบันตุลาการจะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลได้เพียงใด

 

อำนาจรัฐ  vs  สิทธิเสรีภาพของประชาชน ศาลไทยเห็นอะไรสำคัญกว่า

ผมมีตัวอย่างการตัดสินคดีที่สะท้อนทิศทางของการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐโดยองค์กรตุลาการ 3 คดี คดีแรกคือ การตัดสินคดีการกระจายหุ้น กฟผ. ของศาลปกครอง ซึ่งต้องถือว่าเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายบริหารที่ยิ่งใหญ่มาก เนื่องจากองค์กรอื่นๆ เช่น สภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้วเพราะสภาผู้แทนราษฎรกับฝ่ายบริหารนั้นเป็นพวกเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่เหมือนกันทั่วโลก เพราะฉะนั้นการตรวจสอบโดยสภาจึงเป็นไปไม่ได้ และศาลจำเป็นต้องมีบทบาทในการตรวจสอบ เพื่อให้ฝ่ายบริหารอยู่ในร่องในรอย หรือเพื่อจะเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

คดีต่อมา การชุมนุมของชาวบ้านจะนะ ชุมนุมกันที่หาดใหญ่ แล้วใช้สิทธิชุมนุมมาตรา 44 และ 59 ว่าถ้าอยู่ในชุมชนแล้วมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตจากโครงการของรัฐ ตนเองมีสิทธิให้ความเห็นและเสนอแนะต่อรัฐ แต่ฝ่ายตำรวจบอกว่าคุณใช้เสรีภาพในการชุมนุมเป็นการก่อความวุ่นวายเกิน 10 คน ก็เกิดมีข้อโต้แย้งระหว่างการใช้สิทธิคุ้มครองชุมชนตนเอง กับการที่รัฐบอกว่าเป็นการก่อความวุ่นวาย นี่คือข้อโต้แย้งที่สำคัญในคดีจะนะ แล้วศาลก็พิพากษาออกมารับรองสิทธิของประชาชนว่าประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงออกโดยการเดินขบวน เพราะการเดินขบวนเป็นการแสดงออกชนิดหนึ่ง ศาลยืนยันว่าประชาชนมีสิทธิเดินขบวนได้ แม้ว่าจะขัดขวางการจราจรบ้าง ไม่ใช่ความผิดของผู้ชุมนุม เพราฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในกรณีจะนะ ศาลยอมรับว่าถ้าประชาชนใช้สิทธิในการปกป้องชุมชน สามารถใช้สิทธิในการชุมนุมได้ ไม่ผิดกฎหมายข้อโต้แยงนี้ยุติในชั้นต้น แต่ไม่แน่ใจว่าในศาลอุทธรณ์จะเป็นอย่างไร

 

ในคำพิพากษามีประเด็นหนึ่งที่แสดงให้เห็นความตลกของสังคมไทย คือการที่สังคมไทยเชื่อว่าถ้ามีคนกลุ่มหนึ่งใส่เสื้อแดงและถือธงแดงเป็นความรุนแรงซึ่งชาวบ้านจะนะใช้สัญลักษณ์นี้ในการต่อสู้ กรณีนี้ศาลจะนะให้ความเห็นว่าการใส่เสื้อแดงและถือธงแดงนั้นเป็นเรื่องที่จะให้รู้ว่าเป็นหมู่เดียวกัน เพื่อบอกให้คนอื่นรู้และเพื่อดูแลควบคุมกันเอง ไม่เรียกว่าเป็นความรุนแรงวุ่นวาย

 

คดีที่ 3 กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับลูกแป้งข้าวหมากซึ่งเป็นเชื้อในการทำสุรา เนื่องจากเรามีกฎหมายสุราบอกว่าการทำสุราผูกขาดได้เฉพาะรัฐเท่านั้น ฉะนั้นใครก็ตามที่ทำแป้งจะต้องไปขออนุญาตรัฐ ก็มีคนโต้แย้งเรื่องนี้ว่าลูกแป้งข้าวหมากเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นรัฐจะผูกขาดได้อย่างไร จะไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิในภูมิปัญญาของตนเองได้อย่างไร

 

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าแม้ว่าลูกแป้งข้าวหมากจะเป็นสิ่งที่นำไปทำเหล้าได้ แต่ก็เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นไม่จำเป็นต้องขออนุญาตรัฐ นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าถ้าศาลเข้าใจว่าหลักระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับอำนาจรัฐอยู่ตรงไหนกันแน่ รับจะเข้าไปแทรกแซงภูมิปัญญาท้องถิ่นได้แค่ไหนอย่างไร

 

คดีที่ 4 โรงโม่หิน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณภูมิ จ.หนองบัวลำภู เนื่องจากเรามีสัมปทานโรงโม่หิน และราษฎรลุกขึ้นมาใช้สิทธิในการปกป้องชุมชุนของตนเองโดยฟ้องต่อศาลปกครองว่า การทำโรงโม่หินกระทบต่อวิถีชีวิต โดยระบุประเด็นปัญหา 2 ประเด็นคือ 1. ไม่เคยแจ้งให้ราษฎรทราบว่าจะทำโรงโม่หินอย่างไร ดังนั้นการให้สัมปทานโรงโม่หินจึงการกระทำทางปกครองที่ไม่ชอบ 2. เกิดผลกระทบต่อชุมชน ประชาชนในชุมชนใกล้เคียงจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการโรงโม่หินดังกล่าวและมีสิทธิที่จะฟ้องร้อง ศาลปกครองจึงวินิจฉัย 2 ประเด็นที่สำคัญคือการใช้สิทธิตามมาตรา 59 คือการตรวจสอบในโครงการของรัฐที่ไปกระทบคุณภาพชีวิต คุณภาพสิ่งแวดล้อม ศาลระบุว่า การดำเนินโครงการของรัฐต้องแจ้งให้ประชาชนทราบก่อน และประเด็นที่ 2 ซึ่งสำคัญมากว่าประชาชนที่ฟ้องร้องนั้นมีส่วนได้เสียหรือไม่ ศาลปกครองก็วินิจฉัยว่าน่าจะเกี่ยวข้องเนื่องจากเป็นการปกป้องชุมชนของตนเอง

 

0 0 0

สมชาย หอมลออ

 

ทนายความอีกผู้หนึ่งซึ่งทำงานด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน เขาบอกว่าเรื่องตลกอันขมขื่นของการเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายไทยนั้นติดอยู่กับกรอบอันคับแคบเขาบอกว่า และไม่ว่าเราจะพูดหลักการกันอย่าสวยหรูเพียงใดแต่ในทางปฏิบัติ เช่น กระบวนการพิจารณาคดีของศาลแล้ว ยัง.....ยังอีกไกล

 

คดีทนายสมชาย ความโปร่งใสในกระบวนการพิจารณาคดียังเป็นที่กังขา

จากการพิจารณาคดีของคุณสมชาย นีละไพจิตร ในระยะ 3-4 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นคดีโด่งดังและเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลย อาจจะมีอิทธิพลทำให้คดีบิดเบือนได้ กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ จึงได้เชิญนักสังเกตการณ์ต่างประเทศมาสังเกตการณ์พิจารณาคดีจำนวนหลายคนเกือบทุกนัด รวมทั้งตัวแทนจากสถานทูตต่างๆ ทั้งนี้เพื่อที่จะประกันว่าการดำเนินคดีเป็นไปด้วยความโปร่งใสและถูกต้องตามหลักยุติธรรม

 

เราได้รับข้อคิดเห็นหลายประการจากผู้สังเกตการณ์นานาชาติ ซึ่งบางท่านก็เป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา เขาตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อพยานเบิกความ ศาลจดแต่คำพูดของศาลไม่ใช่เป็นคำพูดของพยาน ซึ่งนี่คือสิ่งที่สภาทนายความเคยเรียกร้องตุลาการมาเป็นเวลานานแล้วว่า การบันทึกนั้นควรบันทึกวีดีโอ การที่ศาลจดคำพยานตามที่ศาลเข้าใจ เมื่อขึ้นไปสู่ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาซึ่งไม่ได้ยินพยานที่มาเบิกความ ไม่ได้เห็นสีหน้า ไม่ได้ยินคำพูด น้ำเสียง อากัปกิริยาอาการ ทั้งที่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องสำคัญมากในการพิจารณาพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีอาญา ศาลก็จะพิจารณาตามที่ศาลชั้นต้นเป็นผู้บันทึก นี่ประเด็นหนึ่งนะครับที่น่าสังเกต

 

ประเด็นที่ 2 ก็คือว่าพยานเบิกความโดยหันหน้าเข้าศาล แต่ว่าหันหลังให้กับสาธารณชนในห้องพิจารณา การที่พยานจะพูดจริงพูดเท็จอะไรต่างๆ พยานต้อง Accountable (เคารพ) ไม่ใช่ต่อคำสาบานตัวองเท่านั้น แต่ต้องเคารพต่อสาธารณะด้วย แต่ว่าสาธารณะกลับไม่ได้เห็นสีหน้าท่าทางอากัปกิริยาของพยานเลย พยานจะหลบสายตาหรือจะสู้สายตาสู้ศาล มันเป็นปัญหาทางจิตวิทยาในการเบิกความเหมือนกัน นี่เป็นข้อสังเกตประการที่ 2

 

เปลี่ยนตัวผู้พิพากษากลางคัน เรื่องธรรมดาที่ไม่ (ควร)ธรรมดาของศาลไทย

ข้อสังเกตประการที่ 3 ซึ่งเขาตกใจแล้วก็มีการท้วงติงโดยผู้สังเกตการณ์นานาชาติ ทั้งๆ ที่การสืบพยานเกือบจะจบแล้ว แต่ปรากฏว่าจะมีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา ซึ่งแต่ก่อนนี้การเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาเป็นเรื่องปรกติมาก แม้แต่ศาลชั้นต้นเองคนที่พิพากษาอาจไม่ใช่คนที่นั่งฟังในการทำคดีก็ได้ และมีจำนวนมากในหลายคดีไม่ได้ให้ประธานองค์คณะหรือในบางกรณีให้ผู้ช่วยด้วยซ้ำไปมานั่งฟังและนั่งจด ตัวผู้พิพากษามีหน้าที่ในการวินิจฉัยตัดสินจริงๆ หลายนัดไม่ได้มา และคดีบางคดีกว่าจะเสร็จเปลี่ยนผู้พิพากษาไป 2 ชุด 3 ชุด แล้วจะได้ความจริงกันอย่างไร

 

นี่เป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมของศาล ซึ่งในที่สุดก็มีการท้วงติง และที่สุดแล้วก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา

 

ที่จริงแล้วกระบวรการพิจารณาคดีของเราไม่ใช่เปลี่ยนผู้พิพากษาอย่างเดียว อัยการก็เปลี่ยน กระทั่งมีการท้วงติงกันอย่างมากในที่สุดก็ไม่เปลี่ยน แต่ก็ชัดเลยนะครับว่าเคยมีการเปลี่ยนตัวมาแล้ว ปรากฏว่าคนที่มาไม่ได้ศึกษาคดีมาก่อนเลย ก็มีการประท้วงกัน ในที่สุดคนเดิมก็ต้องกลับมา อันนี้ก็เห็นว่ามันมีปัญหาอยู่เยอะมากเลยในกระบวนการยุติธรรมของเรา

 

ยิ่งกระบวนการยุติธรรมในทางอาญา ซึ่งจะต้องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในชีวิต สิทธิในชีวิต ซึ่งของเรายังมีโทษประหารชีวิตอยู่ ในร่างกาย สิทธิเสรีภาพในการถูกจับกุมคุมขัง อันนี้เป็นข้อสังเกตเป็นตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมา ชัดๆ ว่ามันมีปัญหายังไง

 

นักกฎหมายศรีธนญชัย เล่นแร่แปรธาตุตัวหนังสือ

ที่ผ่านมาเราก็ถูกปลูกฝังให้มีความเชื่อในโครงครอบ ในกรอบวิธีทางกฎหมายที่ค่อนข้างจะแคบมาก 3-4 ทฤษฎี ประการแรกก็คือ การอธิบายว่า ระบบกฎหมายของเราเป็นระบบ Civil Law ดังนั้นต้องพิจารณากฎหมายตามลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ทราบอาจารย์เข้าใจอย่างนั้นหรือเปล่า แต่ว่าอย่างน้อยสอนให้เราเข้าใจอย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องตลก

 

ผมขอยกตัวอย่าง เช่น ในกฎหมายหรือในระเบียบคณะกรรมการวินิจฉัยข้อมูลข่าวสารซึ่งผมเป็นกรรมการบอกว่า ถ้าผู้ขอข้อมูลต้องการก็สำเนาให้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องถ่ายสำเนา แต่ก็มีเรื่องตลกเจ้าหน้าที่ถ่ายสำเนาให้จริง แต่ไม่ยอมรับรองสำเนา ในที่สุดคำวินิจฉัยก็ต้องบอกว่าให้ถ่ายสำเนาพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องให้กับผู้ขอด้วย นี่แสดงให้เห็นชัดเลยครับว่า ทฤษฎีกฎหมายที่เป็นไปตามลายลักษณ์อักษรแบบศรีธนญชัยมันมีปัญหา ก็คือเจตนากฎหมายที่ว่าให้ถ่ายสำเนาให้ก็คือต้องรับรองอยู่แล้วถ้าฝ่ายที่ขอประสงค์ นี่โดยเจตนา

 

ชอบด้วยกฎหมายอาจจะไม่ชอบธรรมก็ได้

จะเห็นได้ชัดว่าระบบกฎหมายของเรา หรือกฎหมายที่สอนมามันครอบงำอย่างนี้ ดังนั้นเราจึงไม่แปลกใจเลยว่านักกฎหมายระดับเหรียญทอง ระดับศาสตราจารย์เมื่อขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีหรือรองรัฐมนตรีก็จะหยิบยืมทฤษฎีกฎหมายในลักษณะเช่นนี้มาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือมารับรองการกระทำที่ไม่ชอบธรรมของรัฐบาลให้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยกฎหมายอาจจะไม่ชอบธรรมก็ได้นะครับ

 

อีกทฤษฎีหนึ่งก็คือ หลักทฤษฎีที่ว่าระบบของเราเป็นระบบที่เรียกว่าทวินิยม หรือ Dualism ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ตีความอย่างที่เราถูกสอนหรือถูกให้เข้าใจอย่างนั้น ก็คือว่าระบบกฎหมายภายในของเราจะไม่สามารถไปอ้างอิงกฎหมายระหว่างประเทศได้ ซึ่งก็ถูกตีความอย่างสุดโต่งโดยลักษณะของการที่ไม่สนใจกระทั่งศึกษาเลย ฉะนั้นจึงไม่ต้องไปพูดเรื่องการนำเอากฎหมายระหว่างประเทศมาใช้

 

เราจะไม่เห็นการใช้กฎหมายที่เป็นพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยมีอยู่ไม่ว่าจะเป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางการเมือง พลเมือง ทางเศรษฐกิจสังคมวัฒนธรรม หรือสิทธิเด็ก หรือสิทธิสตรี เราจะไม่เห็นศาลโดยทั่วไปที่จะนำเหล่านี้มาใช้ แม้แต่เมื่อเราหยิบขึ้นมาในการสืบพยานก็ดี หรือในคำฟ้อง ในคำร้อง ในคำให้การก็ดี ศาลจะบอกว่าอย่า! เอามาไม่ได้! อย่างนี้เป็นต้น แสดงว่าทฤษฎีนี้มันครอบงำมาก

 

กฎหมายระหว่างประเทศ...ใช้กับเรื่องการค้าได้ แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนห้ามใช้

แต่ผมก็แปลกใจมากว่า เดี๋ยวนี้ในยุคโลกาภิวัตน์พันธกรณีในทางธุรกิจในทางเศรษฐกิจ เริ่มมีฝ่ายรัฐบาลทั้งๆ ที่บางกรณียังไม่มีกฎหมายใดที่มารองรับ หยิบหรืออ้างเอามา เช่นเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศจากต่างประเทศ เช่น กรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็นต้น แต่ก็มีคำพิพากษาบางคดีอ้างว่าการกระทำของประชาชนซึ่งหาเช้ากินค่ำ อาจจะผิดกฎหมายไปบ้างในเรื่องการบุกรุกที่ดินหรืออะไรต่างๆ ทำให้บรรยากาศการลงทุนเสีย อันนี้เป็นประเด็นที่ 2 ที่ผมคิดว่าเป็นโครงครอบในทางทฤษฎีที่มันมีปัญหา

 

(นัก)กฎหมาย ไฉนไม่เกี่ยวพันกับสังคม

หลักการข้อที่ 3 ซึ่งผมถูกปลูกฝังมาตลอดและตอนนี้ผมก็ไม่เชื่อแล้ว ก็คือความคิดทางกฎหมายไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นความคิดของทางสังคม ก็คือเป็นคนละเรื่องกันไปเลยถ้าตีความกันสุดโต่ง และก็มักมีการอ้างกันอย่างนี้ ก็คือกฎหมายจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ผลออกมาจะไม่เกิดความยุติธรรมในสังคมยังไงก็ได้ เพราะว่าไม่ได้มองว่ากฎหมายจะต้องเป็นเครื่องมือในการสร้างความยุติธรรมในสังคมเท่านั้น

 

ผมคิดว่าโดยหลักแล้วเราต้องการสร้างสังคมที่สงบสุข มีการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ถ้าการบริหารราชการแผ่นดินก็ดี หรือการตีความกฎหมาย หรือการใช้กฎหมายออกไปภายใต้โครงครอบอย่างนั้นแล้วมันก็เสียในจุดนี้

 

นั่นก็เป็นเหตุว่าทำไมในช่วงหลังนี้จะมีทนายความส่วนหนึ่งร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนร่วมกับองค์การประชาชนพยายามที่จะแหวกกรอบเหล่านี้โดยทำคดีตัวอย่าง ก็คือคดีส่วนใหญ่ที่ทางสภาทนายความ หรือสำนักงานสิทธิมนุษยชนของสภาทนายความทำอยู่ ซึ่งเราต้องการที่จะให้คดีเหล่านี้เป็นคดีตัวอย่างโดยการพยายามที่จะหยิบยกข้อความในรัฐธรรมนูญก็ดี หยิบยกหลักการในกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็ดีมานำเสนอต่อศาล มานำเสนอต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง มาเสนอให้ประชาชนที่เขาเคลื่อนไหวอยู่แล้วเพราะปัญหาความยากจน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาความเดือดร้อนที่เขาได้เจอมาเป็นอาวุธในการต่อสู้ในปริมณฑลทฤษฎีในทางกฎหมาย

 

สำหรับคดีของของคุณจินตนา (แก้วขาว) คำฟ้องของอัยการเขาฟ้องให้เข้าไปในข้อกฎหมายเท่านั้นเอง โดยไม่ได้พูดเลยว่าก่อนที่คนๆ นี้จะมาทำความผิดตามกฎหมายอันนี้ มันมีพื้นเพมีพฤติกรรมอะไรมา มันมีปัญหาอะไรมา มันสู้เรื่องโรงไฟฟ้า ซึ่งจะสร้างปัญหามลพิษให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนแตกสลาย ไม่มีการบรรยาย คือถ้าคนฟ้องเป็นทนายที่โจทก์จ้างมาจะไม่ว่า แต่อัยการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเป็นส่วนหนึ่งของผู้ให้ความยุติธรรม เขากินภาษีของจำเลยในคดีนั้นด้วย ทำไมเขาพูดเรื่องขาวกับดำเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความจริงมันมีสีเทาอยู่ด้วย นี่คือปัญหาระบบความยุติธรรม

 

กระบวนการกฎหมายไทย กระบวนการทำให้คนไม่เป็นคน

สิ่งที่จะต้องทำตอนนี้คือ ทำยังไงจึงจะให้มีการปรับปรุงกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ใช่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ตั้งแต่การสอนการเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัยไปจนถึงศาล ทำอย่างไรจึงจะปรับปรุงได้ทั้งในเรื่องแนวคิด ทั้งในเรื่องวิธีการต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งพอเราไปอยู่ในกระบวนการแล้วเรารู้สึกว่าเราไม่ใช่คน กระบวนที่มันทำให้คนซึ่งเป็นคนอยู่แล้วนี่ มันกลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ เราจะรู้สึกถ้าเรามีความรู้สึกบางอย่าง เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกซึ่งมันมีความแปลกแยกกับคนมากๆ ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น

 

ปัญหาคือว่าการดำเนินการอย่างนี้ เรามาถูกทางไหม ช่วงที่เราเป็นนักศึกษาต่อสู้เผด็จการสฤษดิ์ ถนอม ประภาส เรายังจำได้ว่าสิ่งที่เราพูดคือ ศาลเป็นความหวัง เป็นที่พึ่งของประชาชน แต่พอหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เราสู้มาในขบวนการประชาธิปไตย เราต้องการรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย เราไม่ได้นึกถึงเรื่องนี้ เราอาจจะละเลยก็ได้ แต่พอถึงจุดนี้เกิดความรู้สึกขึ้นมาอีกแล้ว เหมือนเดิมเหมือนก็คือว่าในยุคที่รัฐบาลมีอำนาจค่อนข้างมาก ก็คือเริ่มหันมามองที่ศาล

 

ผมมีข้อสรุปอยู่อย่างหนึ่งซึ่งแน่นอนอาจจะเป็นเพียงข้อสรุปที่ยังไม่สามารถมายืนยันได้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันในระยะยาว ก็คือมีคำพิพากษาที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการตุลาการอาจจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้หลายคดี รวมทั้งคดีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เมื่อเทียบกับองค์กรด้านรัฐธรรมนูญอื่นๆ เมื่อเทียบกับการทำงานของฝ่ายบริหารและรัฐบาลว่า ศาลอาจจะเป็นที่พึ่งของประชาชนได้ อาจจะไม่ใช่แค่ตีความอย่างเดียว อาจจะวางนโยบายหรือสร้างบรรทัดฐานบางอย่างได้เพื่อให้เกิดความสมดุลในสังคม ซึ่งผมคิดว่าการจะทำอย่างนี้ได้ ส่วนหนึ่งทุกฝ่ายที่อยู่ในกระบวนการนี้ หรือมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนที่จะต้องมีการจับตาอยู่ด้วย จะมีส่วนผลักดันได้อย่างมาก ผมก็ยกตัวอย่างจากประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นในการพยายามผลักดันที่จะให้มีคำพิพากษา หรือบรรทัดฐานที่ดีในทางกฎหมาย ขอบคุณครับ

 

.................................................

โปรดติดตาม พิพากษาจินตนา พิพากษารัฐธรรมนูญ : ทัศนะจาก สมชาย ปรีชาศิลปกุล พรุ่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท