Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




หากลองย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ในช่วงเวลาที่ประชาชนในสังคมไทย กำลังเกิดอาการอ่อนล้าและเอือมระอาต่อการบริโภคสื่อประเภทละครน้ำเน่าบนจอโทรทัศน์ วันนั้นดูเหมือนว่า เคเบิลทีวีหรือจานดาวเทียม ได้กลายเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้คนที่ยังต้องทนเสพข้อมูลจากสิ่งที่เราเรียกว่าทีวี


 


แต่เมื่อมาถึงในวันนี้ วันที่สื่อประเภทโทรทัศน์ กลับมีเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ไม่ชอบมาพากล แม้แต่เครื่องมืออย่างเคเบิลที่เคยเป็นทางเลือกหนึ่งก็ยังมิอาจหลุดพ้นจากการแทรกแซง เทคโนโลยีอย่างอินเตอร์เน็ตจึงกลายเป็นทางออกสำหรับใครต่อใครอีกหลายคน ในการนำเสนอข้อมูลที่สังคมเคยถูกทำให้หลงลืม


 


กันยายน 2548 ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศยังคงถูกกล่อมให้หลับใหลด้วยข้อมูลที่ผู้มีอำนาจหยิบยื่นให้ แต่ใครบางคนกำลังเริ่มต้นทำในสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจำเป็นสำหรับสังคมไทย ที่เราเรียกกันว่า "สื่อทางเลือก" และ People Channel สถานีโทรทัศน์ทางอินเตอร์เน็ต ที่นำเสนอประเด็นสำคัญๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเอดส์ เรื่องเอฟทีเอ สิทธิบัตรยา หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก็ถือกำเนิดขึ้นมาในครานั้น


 


ขวัญชัย หมั่นยิ่ง ผู้ร่วมก่อตั้ง People Channel ที่มีเว็บทางการคือ www.peoplechannel.org บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา และแนวทางของสถานีโทรทัศน์ทางอินเตอร์เน็ต ที่หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของประชาชนที่ไม่ยอมปิดหูปิดตา


 


ความเป็นมาของ People"s  Channel


"People Channel เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนสองกลุ่ม คือกลุ่มคนที่ทำงานด้านอินเตอร์เน็ต กับกลุ่มคนที่ทำงานด้านวีดีโอโปรดักชั่น เมื่อมาเจอกันเราก็ตั้งคำถามว่า เราจะทำอย่างไรที่จะสามารถสร้างสื่อเพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับประชาชน โดยเน้นเนื้อหาเรื่องการพัฒนา เมื่อเราเห็นว่าปัจจุบันเทคโนโลยีทางอินเตอร์เน็ตก้าวหน้าไปมาก เราเลยคิดกันว่าเราน่าจะสร้างสถานีโทรทัศน์ทางอินเตอร์เน็ต เพื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ของประชาชนทุกคน"


 


สื่อทางเลือกในมือของคนรุ่นใหม่


"เรื่องทีมงานของ People Channel ครึ่งหนึ่งเป็นคนที่ทำงานในภาคประชาชน อีกครึ่งหนึ่งเป็นนักศึกษาที่ต้องการพัฒนาฝีมือ และสร้างแนวทางการทำงานใหม่ๆ ปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมงานมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราเปิดโอกาสให้กับทุกคน ไม่มีการปิดกั้น เด็กที่เขามาเขาก็ได้ทักษะในเรื่องการทำงาน เรื่องของวีดีโอโปรดักชั่น


 


"ส่วนใหญ่เวลาเราไปถ่ายทำงาน น้องๆ ที่เป็นนักศึกษาเขาก็สนใจ เขาเห็นว่าสนุกที่จะได้ทำงานเป็นทีม เพราะฉะนั้น People"s Channelจึงเกิดขึ้นมาจากคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของการทำงานเป็นทีม"


 


People Channel กับผลงานที่เป็นบทพิสูจน์


"ผลงานที่ผ่านมาของ People Channel งานแรกเป็นการถ่ายทอดสดข้อตกลงการค้าเสรี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 9-11 กันยายน (2548) เรียกว่าเป็นงานแรกจริงๆที่เราทำ


 


"งานที่สอง เป็นงานถ่ายทอดสดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเราจับมือกับคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ทำเรื่องนี้ ประมาณเดือนตุลาคม 2548 งานที่สามเป็นงานเกี่ยวกับสิทธิบัตรยาที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


"งานที่สี่ เป็นงานครบรอบ 72 ปี ส.ศิวรักษ์ ส่วนงานที่ห้าก็คืองานเอฟทีเอ (ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2549)"


 


ขวัญชัย บอกเล่าถึงความคาดหวังต่อสถานีโทรทัศน์ ที่เขามุ่งหวังให้เป็นสื่อของประชาชนว่า "เรื่องความคาดหวัง เราให้ความสำคัญเรื่องตัวเนื้องาน เท่ากับการสร้างคนให้มีความชำนาญ เราคิดว่าที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จเกือบทุกงาน เพราะทุกงานมันได้ถ่ายทอดเนื้อหาของงานออกไปสู่สายตาผู้ชม อันนี้บรรลุวัตถุประสงค์อยู่แล้ว จึงถือว่าประสบความสำเร็จ"


 


กลุ่มเป้าหมาย กับข้อจำกัดบางประการ


"คนที่เข้ามาดูส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง ซึ่งใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้ อาจเป็นเพราะว่าสื่ออินเตอร์เน็ตอย่าง People Channel มันอาจจะเข้าถึงกลุ่มคนในระดับล่างได้ไม่มากเท่าไหร่ ปัจจุบันเป้าหมายหลักของเราจึงเป็นคนชั้นกลาง ส่วนเป้าหมายต่อไปเราก็คงต้องใช้วิธีจัดการให้คนที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตสามารถดูได้"


 


"ส่วนปัญหาที่ People Channel ประสบ ประการแรกคือ เราไม่มีงบประมาณ ซึ่งเราก็ไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญเท่าไหร่นัก อย่างเวลาไม่มีเงินในเรื่องการถ่ายทอดสด เราก็ใช้วิธีไปขอร้องเขา แล้วก็เข้าไปร่วมกับผู้สนับสนุนในฐานะของคนทำงาน


 


"ปัญหาประการที่สอง คือปัญหาเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพราะเกือบทุกงาน มีคนเข้ามาดูเพียงแค่ 4-5 คน ซึ่งมันเป็นข้อผิดพลาดที่เรากำหนดภารกิจกันไม่ถูกว่าก่อนที่จะมีการถ่ายทอดสด เราต้องมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า พอไม่มีการประชาสัมพันธ์  คนที่สนใจเขาก็ไม่รู้ว่ามีถ่ายทอดสด เขาก็ไม่สามารถชมการถ่ายทอดสดคราวนั้นได้


 


"ปัญหาประการที่สาม น่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับเนื้องานที่เราทำ บางงานที่เราไปทำมันยังขาดทักษะ ขาดการเชื่อมต่อข้อมูลกับคนที่ทำงาน เช่น ตากล้องบางทีเขาก็ไม่รู้ว่าคนที่เขากำลังถ่ายอยู่มีความสำคัญอย่างไร เขาไม่รู้จะใช้วิธีการนำเสนออย่างไร อันนี้ถือว่าเป็นปัญหาเล็กน้อย แต่ที่ผ่านมายังทำได้ไม่ดีพอ"


 


ความแตกต่างของ People Channel กับสื่อกระแสหลัก


"ความแตกต่างของ People Channel กับสื่อประเภทโทรทัศน์ วิทยุ อยู่ตรงที่ People" Channel คอนเซ็ปต์ค่อนข้างชัดว่า เป็นลักษณะของการลงขัน ทั้งวิธีการทำงาน และความคิด ทุกครั้งที่เราไปทำงานก็จะมีพี่น้องลงขันในเรื่องของการให้เงินให้งบประมาณ และการระดมความคิด ซึ่งต่างจากสื่อกระแสหลักที่มีเงินเป็นก้อนแล้วทุ่มลงมาทำ


 


"ประการต่อมา People Channel ให้ความสำคัญกับการแสดงความคิดเห็น ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของ People Channel สามารถร่วมบริจาค ร่วมส่งกำลังใจ ทุกครั้งที่เราถ่ายทอดสด เราจะให้ความสำคัญกับการแสดงความคิดเห็นของผู้ชมที่อยู่ทางบ้าน เวลาเราถ่ายทอดสดจะมีตัววิ่งแสดงความคิดเห็นของผู้ชมทางบ้าน คนที่ดูสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ตรงนี้สำคัญ


 


"อย่างงานเอฟทีเองานแรกที่เราทำมันเป็นการสื่อสาร 2 ทาง ระหว่างคนที่ดูอยู่ทางบ้านกับอยู่ในเวทีประชุม ทุกข้อความที่โพสต์ผ่านอินเตอร์เน็ต เวลาคนบรรยายพูด คนทางบ้านได้ฟัง แล้วสามารถแสดงความเห็นผ่านหน้าจออินเตอร์เน็ตได้ทันที จากนั้นข้อความก็จะถูกส่งไปยังผู้ที่อยู่ในห้องประชุม โดยฉายผ่านจอโปรเจ็คเตอร์


 


"อย่างเช่น ถ้าเขาโพสต์ข้อความถามว่า เอฟทีเอไม่ดีกับเกษตรกรยังไง คนที่พูดอยู่ก็สามารถตอบคำถามได้ในขณะนั้น นั่นหมายความว่ามันสามารถมี อินเตอร์แอคทีฟไปทุกที่ทุกมุมโลก


 


"ตามธรรมดาวิทยุโทรทัศน์เขาก็ทำกันอยู่ อย่างการส่ง sms ผ่านโทรศัพท์เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในรายการ แต่ของเราต่างตรงที่ว่าคุณไม่ต้องเสียเงินเลยสักบาท"


 


อนาคตของ People"s Channel


"แนวทางการทำงานของ People Channel ที่เป็นภาระกิจหลัก คือ ประการแรกที่เราทดลองทำกันแล้วประสบความสำเร็จก็คือการถ่ายทอดสด อย่างที่สองคือการทำฐานข้อมูลที่เรียกว่า video on demand อาจจะเป็นห้องสมุดข้อมูล มีการจัดแบ่งข้อมูลเป็นหมวดต่างๆ เช่น ประเด็นเรื่องการเมือง การเกษตร สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ให้ได้ประมาณ 30 ประเด็น ซึ่งตัวข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ เป็นข้อมูลที่มีอยู่แล้วในองค์กรภาคประชาชน เช่น ข้อมูลเรื่องแรงงาน เราก็จะนำมาจัดเก็บเข้าหมวดหมู่ ซึ่งฐานข้อมูลเหล่านี้ถือว่าจำเป็นมาก


 


"นอกจากการถ่ายทอดสด และการทำฐานข้อมูลแล้ว อันที่สามก็คือ เรามีการออกแบบผังการจัดรายการประจำวันตามแบบรายการโทรทัศน์ทั่วไป โดยผังรายการที่เราวางไว้จะแบ่งเป็นสามส่วน


 


"ส่วนแรกเป็นรายการวิเคราะห์วิพากษ์ทางสังคม อย่างประเด็นเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน เราก็จะนำคนที่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชนมาให้สัมภาษณ์ในเวที คล้ายๆ กับรายการถึงลูกถึงคนของคุณสรยุทธ์ (สุทัศนจินดา) แต่คงจะไม่เหมือนกันซะทีเดียว


 


"ส่วนที่สองจะเป็นการลงพื้นที่ไปเยี่ยมพี่น้องในพื้นที่ต่างๆ เพื่อติดตามสภาพเป็นอยู่ของพวกเขา แล้วนำมาออกอากาศ อย่างเรื่องเหมืองแร่โปรแตส ที่อุดรธานี หรืออย่างเหมืองถ่านหินที่เวียงแหง ลักษณะคือการไปเยี่ยมและนำข้อมูลจากในพื้นที่ ที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของผู้คนระดับรากหญ้ามาถ่ายทอดให้ผู้ชมได้ดู


 


"ส่วนที่สาม คือ การเป็นสำนักข่าว โดยการนำข่าวที่สื่อกระแสหลักไม่ได้จับมานำเสนอ คล้ายกับประชาไท คือเอาข่าวที่คนไม่ค่อยทราบมาเล่า ก็จะนำข่าวจากสื่อทางเลือกมาเล่า มาช่วยกันวิเคราะห์ หลักๆ ก็มีอยู่สามส่วนในเรื่องผังรายการ"


 


Backstage Show "The Prime Minister" ในมุมมอง People"s Channel


ขวัญชัย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง เรียลลิตี้โชว์ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในการลงพื้นที่ อำเภออาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ระหว่างวันที่ 16-21 มกราคม 2549 ว่า


 


"ผมมองว่าคุณทักษิณ เขาพยายามจะใช้สื่อเพื่อดึงฐานเสียง อย่างกรณีของคุณสนธิ ลิ้มทองกุลก็เช่นกัน เป็นการใช้สื่อเพื่อที่จะทำอะไรบางอย่าง ทุกคนต่างมีเป้าหมายในการใช้สื่อเป็นเครื่องมือสร้างพลัง สร้างอำนาจ แต่ People Channel อยากให้คนที่อยู่ อยู่ในพื้นที่เป็นคนที่แสดงออกเองมากกว่า ว่าพวกเขาได้รับผลกระทบอย่างไรจากนโยบายของรัฐ" ขวัญชัย กล่าวทิ้งท้าย


 


น่าจับตามองว่าอนาคตของสื่อทางเลือกในมือของกลุ่มคนรุ่นใหม่จะเป็นเช่นไร และไม่แน่เหมือนกันว่า ในช่วงเวลาที่ท่านผู้นำของเรากำลังงัดของเด็ดออกมาโชว์บนหน้าจอ สื่อทางเลือกอย่าง People Channel อาจจะมีไม้เด็ดที่จะนำมาตีกับของดีจากท่านผู้นำ ตามสไตล์ "เล็กแต่ลึก" แบบสื่อทางเลือก ที่มีไว้เพื่อประชาชน ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่คงต้องติดตามกันต่อไป









ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net