มองข้ามชอร์ต เอฟทีเอ.ไทย-สหรัฐ แง่มุมที่ถูกละเลย ?"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประเด็นร้อนที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของประเทศไทย อย่างการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ เริ่มขยายวงกว้างสู่การรับรู้และลงในรายละเอียดมากขึ้นแล้ว  เวทีราชดำเนินเสวนา "มองข้ามชอร์ต เอฟทีเอ.ไทย-สหรัฐ แง่มุมที่ถูกละเลย ?" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อศุกร์ที่ 13 มกราคม 2549 ผู้ร่วมอภิปรายซึ่งประกอบด้วย  ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ. ) รศ. ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุลคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชานิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เสนอมุมไว้อย่างน่าสนใจ

ทีดีอาร์ไอ.ชี้หวังสูง เอื้อมไม่ถึง
ดร.สมเกียรติ   ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลและคณะผู้เจรจาไทยคาดหวังสูงในการเจรจาครั้งนี้  ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อประเทศไทย แต่ความคาดหวังบางประการอาจประสบ            ความคาดหวังสูงเกินไปนั้นแบ่งเป็น 5 กลุ่มคือ
1.ความคาดหวังที่เป็นไปได้ยากทางการเมือง เช่น การขอเจรจาความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไม่มีอยู่ในกฎหมายสหรัฐ อาทิเรื่องการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งคณะผู้เจรจาสหรัฐไม่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐสภาให้เจรจา
2.ความคาดหวังในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับ FTA โดยตรง หรือเกี่ยวข้องน้อย เช่น เรื่องการขอวีซ่า ซึ่งจะทำได้หรือไม่ได้ไม่ขึ้นอยู่กับการเจรจา
3.ความคาดหวังในประเด็นที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไม่สูง หรืออาจมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูง แต่ยากที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถพัฒนาศักยภาพให้เพียงพอได้ในระยะสั้น-ระยะกลาง เช่น การเข้าสู่ตลาดจัดซื้อจัดจ้างสหรัฐ ซึ่งมีความซับซ้อนมาก หรือคาดหวังว่า คนไทยจะสามารถจดสิทธิบัตรในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากความตกลง PCT
4.ความคาดหวังต่อประเด็นที่ไม่แน่ชัดว่ามีผลผูกพันคู่เจรจาหรือไม่ เช่น ความคาดหวังต่อจดหมายแนบ (side letter) หรือบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการรับประกันการเข้าถึงยาของประชาชน นักกฎหมายระหว่างประเทศหลายคนมีความเห็นว่า เอกสารเหล่านี้มีปัญหาฐานะทางกฎหมาย (legal status) ว่าสามารถผูกพันทางกฎหมาย (legally binding) ได้หรือไม่ แม้อาจจะผูกพันทางการเมือง (politically binding) ก็ตาม
5.ความคาดหวังในประเด็นที่ผูกพันคู่เจรจา แต่น่าจะมีปัญหาในการบังคับใช้ เช่น ความตกลงของสหรัฐในการให้ความช่วยเหลือเพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการค้า (trade capacity building) แก่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งไทยจะไม่สามารถตรวจสอบควบคุมสหรัฐให้ปฏิบัติตามความตกลงอย่างมีคุณภาพตามที่ต้องการได้โดยง่าย
                       ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลไทยและคณะผู้เจรจาควรปรับความคาดหวังดังกล่าวให้เหมาะสม และไม่ละเลยความสนใจไปจากประเด็นที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงจากการเจรจาคือ โอกาสในการเข้าสู่ตลาดของการค้าสินค้า (market access) การเพิ่มความโปร่งใสต่อกฎระเบียบต่างๆ ของรัฐ และการสร้างการแข่งขันที่มีประสิทธิผล (effective competition) ในประเทศของเราเองซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคไทย
                       "คณะเจรจาควรมุ่งมั่นกับการจัดทำตัวบทในความตกลงที่มีความรัดกุม และมีมาตรการป้องกัน (safeguard) ที่เหมาะสมในความตกลงแต่ละด้าน ไม่ให้ขาดสมดุล (เช่น เข้มงวดเกินกว่ากฎหมายภายในสหรัฐ หรือเกินความจำเป็น ซึ่งพบมากในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา) หรือเปิดโอกาสให้นักลงทุนสหรัฐผูกขาดตลาด ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันที่มีประสิทธิผลในประเทศไทย ลำพังความเข้าใจเฉพาะตัวบทของความตกลงที่ผ่านๆ มาไม่น่าจะเพียงพอในการจัดทำบทบัญญัติที่มีความรัดกุม ควรจะต้องมีการทำความเข้าใจถึงกฎหมายภายในและแนวทางการปฏิบัติจริงในสหรัฐ ซึ่งเป็นฐานของความตกลง FTA ด้วย"

ประชาชนไม่มีส่วนร่วมนักวิจัยจากทีดีอาร์ไอ. กล่าวถึง แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนไทยในการกำหนดนโยบายการค้า โดยเฉพาะการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ มีลักษณะที่เรียกในทางวิชาการได้ว่าเป็น "แนวทางแบบสโมสร" (club model) ซึ่งจำกัด "สมาชิก" ไว้แคบมาก โดยผู้ที่มีบทบาทหลักในกระบวนการเจรจาเกือบทั้งหมดคือ ข้าราชการและผู้แทนจากภาคธุรกิจ แม้ว่าจะมีบุคคลนอกภาครัฐและธุรกิจบางส่วนมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลบ้างก็ตาม ส่วนร่วมเหล่านั้นก็อยู่ในวงจำกัดมาก   ประเด็นที่มีการพูดคุยกันส่วนใหญ่ในการเตรียมการเจรจาจึงเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์และผลกระทบที่จะตกอยู่กับภาคธุรกิจ แต่จะไม่สามารถตอบสนองความสงสัยของประชาชน ซึ่งทำให้เกิดการไม่ไว้วางใจคณะเจรจา  เพราะกรอบการเจรจา และแนวทางในการให้ข้อมูลประชาชนนั้นถูกกำกับโดยฝ่ายการเมืองทั้งหมด
             อย่างไรก็ตาม แรงกดดันที่เกิดขึ้นทำให้ฝ่ายการเมืองมีท่าทีที่อ่อนลงและเปิดกว้างขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี รัฐบาลและคณะเจรจาควรถือสิ่งที่เกิดขึ้นในการเจรจาที่ผ่านมาเป็นบทเรียนในการเปิดส่วนร่วมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในวงกว้างขึ้น  กุญแจสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนคือ การเปิดเผยข้อมูลการเจรจา โดยเฉพาะร่างความตกลงของทั้งสองฝ่าย และเปิดเผยกรอบเวลาที่แท้จริงในการเจรจา ซึ่งเป็นประเด็นที่มีความสงสัยกันมาก

บทบาทของรัฐสภา ?
           ประเด็นที่โต้แย้งกันมากคือ การทำความตกลง FTA ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่าฝ่ายรัฐบาลเกือบทั้งหมดอ้างว่าไม่มีความจำเป็น โดยนักการเมืองระดับสูงบางคนอ้างว่าหากต้องมีการแก้ไขกฎหมาย การแก้ไขกฎหมายนั้นก็จะต้องผ่านรัฐสภาอยู่แล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะหากรัฐสภาไม่ผ่านกฎหมายตามความตกลง รัฐบาลไทยย่อมมีความรับผิดชอบต่อประเทศคู่เจรจา
                "การให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบความตกลง FTA เป็นการเพิ่มความชอบธรรมของกระบวนการเจรจาและมีประโยชน์ต่อประเทศไทยและต่อรัฐบาลเอง เนื่องจากรัฐสภาเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความชอบธรรมในการไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีผลประโยชน์ที่หลากหลาย เพราะเป็นที่รวมของผู้แทนปวงชนอย่างน้อยก็ในทางหลักการ   รัฐสภาสามารถช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้คณะเจรจาในการเจรจากับต่างประเทศ และสามารถเป็นหลังพิงในการแก้ไขข้อผิดพลาดที่อาจมีขึ้นจากการเจรจา   รัฐสภาสามารถช่วยแบ่งความรับผิดชอบทางการเมืองให้รัฐบาลในกรณีที่ FTA ส่งผลกระทบในด้านลบต่อประชาชนในลักษณะที่รัฐบาลเองก็คาดไม่ถึง   รัฐบาลจึงมีแต่จะได้ประโยชน์ และไม่มีเหตุที่จะเสียประโยชน์จากการให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบความตกลง คงจะมีแต่รัฐบาลที่โง่เขลาและอหังการเท่านั้นที่พยายามละเลยบทบาทของรัฐสภาด้วยข้ออ้างต่างๆ"
 

การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ
ประเด็นสุดท้าย ดร.สมเกียรติ เสนอว่า หากการทำความตกลง FTA มีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมตามที่เชื่อกัน ก็หมายความว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการทำความตกลง FTA จะเพียงพอในการนำไปชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้านลบจากการทำความตกลง ในหลายประเทศ มีกลไกในการชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้านลบจากการทำความตกลงทางการค้า ในสหรัฐเอง ก็มีกลไกที่เรียกว่า Trade Adjustment Assistance
" ผมขอเสนอให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีจากผู้ส่งออกที่ได้ประโยชน์จากความตกลง FTA แล้วนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อฝึกอาชีพ สนับสนุนการปรับตัว ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบในด้านลบ เช่น แรงงานที่ตกงาน หรือเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้า หรือจัดสรรเป็นตาข่ายทางสังคม (social safety net) ในกรณีที่ปรับตัวไม่ได้ "
การระบุผู้ได้รับประโยชน์จาก FTA ไม่น่าจะยากนัก อย่างน้อยในส่วนของการค้าสินค้า เพราะสามารถระบุได้จากการได้รับใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (certification of origin) เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่วงการวิชาการ และผู้กำหนดนโยบายจะต้องพิจารณาต่อไปก็คือ จะสามารถระบุตัวผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าได้อย่างไร เพราะอาจมีผู้ได้รับผลกระทบจากสาเหตุอื่น เช่น สภาพเศรษฐกิจซบเซา หรือจากความเสี่ยงอื่นโดยธรรมชาติ ในเวลาเดียวกัน ซึ่งแยกออกจากเฉพาะผลกระทบทางการค้าออกมาได้ยาก

ศุกร์ 13 ฝันร้ายเป็นจริง
อาจารย์สมชาย จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่าเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในกระบวนการจัดทำข้อตกลงนี้  รัฐบาลไทยได้กระเหี้ยนกระหือรือที่จะดำเนินการต่อไปโดยไม่รับฟังข้อคิดของประชาชน การดำเนินการที่เกิดขึ้นมีปัญหาที่สำคัญใน 2 ด้าน
ประการแรก ด้านกระบวนการ การเจรจาด้วยท่าทีที่ลุกลี้ลุกลน ขาดความโปร่งใส ไม่มีการให้ข้อมูลต่อสาธารณะ ไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และที่สำคัญเป็นการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ.2540 มาตรา 224 วรรค ซึ่งกำหนดว่าหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลง "เขตอำนาจรัฐ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นการเป็นไปตามสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา"
               บทบัญญัติในมาตรานี้มีจุดมุ่งหมายก็เพื่อทำให้การตัดสินใจในระดับระหว่างประเทศที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางได้รับการพิจารณาและตัดสินจากตัวแทนของประชาชน เพื่อให้เกิดการหาข้อสรุปที่รอบด้านมากที่สุด บทบัญญัตินี้จึงการพยายามแสวงหาความรู้และมุมมองให้ได้มากที่สุดก่อนดำเนินการใดๆ  ซึ่งในการทำ FTA นั้น มีหลายประเด็นหากมีการลงนามในข้อตกลงแล้วต้องมีการเสนอร่างกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมายต่อรัฐสภา เช่น การขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตร แต่รัฐบาลก็ไม่ได้แสดงเจตนาที่จะนำข้อตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาสู่รัฐสภาแต่อย่างใด การกระทำเช่นนี้จึงเป็นการละเมิดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนและจงใจ   และแม้ในบางเรื่องที่แม้จะไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 224 ซึ่งต้องนำมาสู่การพิจารณาของรัฐสภา ดังการลดภาษีทางการค้าระหว่างกัน แต่หากรัฐบาลตระหนักถึงผลกระทบและคำนึงถึงชีวิตของคนยากจนดังที่มักพร่ำบอกอยู่ตลอดเวลา ก็สามารถที่จะใช้กระบวนการทางรัฐสภาและช่องทางอื่นๆ ในการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบแต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลนายทุนนักการเมืองเทวดาแต่อย่างใด
ประการที่สอง ด้านเนื้อหา   หากพิจารณาจากประสบการณ์ที่รัฐบาลไทยได้จัดทำข้อตกลงทางการค้ากับประเทศอื่นๆ มาก่อน เช่น ออสเตรเลีย จีน นิวซีแลนด์ จะพบว่ากลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการทำข้อตกลงจะเป็นกลุ่มทุนธุรกิจขนาดใหญ่ของไทย เช่น กลุ่มผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ กลุ่มธุรกิจดาวเทียมและโทรคมนาคม บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจการเกษตร กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีอำนาจทางการเมืองแทบทั้งสิ้น
 ขณะที่กลุ่มบุคคลที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจะเป็นคนตัวเล็กๆ ของสังคม เช่น เกษตรกรปลูกหอม กระเทียม พืชผักผลไม้เมืองหนาว เกษตรกรที่เลี้ยงโคนม โคเนื้อ เกษตรกรที่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ต่างประเทศ กลุ่มผู้ติดเชื้อ 

            "น่าสังเกตว่าขณะที่เร่งรัดให้มีการเปิดเสรีด้านต่างๆ ในการเจรจากับสหรัฐ ที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง แต่สำหรับธุรกิจโทรคมนาคมกลับไม่มีการกล่าวถึงแต่อย่างใด ทั้งที่สถาบันทางวิชาการหลายแห่งสนับสนุนให้มีการเปิดเสรีขึ้น ก็ชัดเจนว่ามีนักการเมืองคนไหนบ้างจะได้รับผลกระทบ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยแม้แต่น้อยว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีของไทยจึงยืนยันว่าไม่มีการเปิดเสรีธุรกิจด้านนี้ โดยไม่ได้ชี้แจงถึงเหตุผลแม้แต่น้อย   จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดการดำเนินการของรัฐบาลจึงเป็นไปอย่างลับๆ ล่อๆ ไม่กล้าเผชิญหน้ากับคำถามของสาธารณชนราวกับกำลังกระทำความผิด"


จุดกระแส ขบวนการเสรีไทย 2549
อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวด้วยว่า การดำเนินนโยบายที่มุ่งประโยชน์ตนและพวกพ้องเป็นหลัก จึงไม่สามารถยอมรับให้รัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ถือเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของประชาชน  ขบวนการเสรีไทย 2549 คือ ข้อเสนอให้ตัดความสัมพันธ์และไม่ยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลในการแสดงบทบาทเป็นตัวแทนของประชาชน รวมทั้งตอบโต้ต่อกลุ่มนายทุนนักการเมืองที่ใช้ระบบการเมืองแสวงหาประโยชน์ใส่ตัวและพวกพ้อง ด้วยมาตรการดังนี้
หนึ่ง ร่วมกันลงนามเพื่อปฏิเสธสถานะการเป็นตัวแทนที่ชอบธรรมของรัฐบาลไทยในการทำข้อตกลงกับสหรัฐ เช่นเดียวกับที่ขบวนการเสรีไทยเคยปฏิเสธการประกาศสงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตรของรัฐบาลไทยที่นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และหากมีการลงนามเกิดขึ้น ประชาชนไทยก็จะไม่ยอมรับผลผูกพันในข้อตกลงดังกล่าว โดยสามารถเข้าร่วมลงชื่อขบวนการเสรีไทย 2549 ได้ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน www.midnightuniv.org
สอง ตอบโต้กับกลุ่มนายทุนนักการเมืองที่แสวงหาประโยชน์จากการทำข้อตกลง FTA ด้วยการเลิกซื้อหรือใช้บริการของกลุ่มทุน โดยเฉพาะ 4 กลุ่มทุน ดังนี้ กลุ่มทุนโทรศัพท์มือถือดาวเทียม กลุ่มทุนอุตสาหกรรมเกษตร กลุ่มทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ กลุ่มทุนสัมปทานโทรศัพท์

ยาแพงแน่นอน
ดร. จิราพร กล่าวว่า การมองข้ามชอร์ตการเจรจาไทย-สหรัฐ สิ่งที่น่าวิตกคือ ราคายาจะแพงอย่างแน่นอน เพราะอุตสาหกรรมยาจะเป็นการผูกขาดเพียงรายเดียวและเป็นการผูกขาดที่ยาวนานขึ้น ประเด็นที่น่าวิตกยิ่งกว่านั้น คือ จะมีการผูกขาดในรูปแบบ "ข้อมูลทดลองยา" หรือ ดีอี 5 ผลเสียจะรุนแรงมาก เหตุที่สหรัฐฯต้องการผูกขาดในข้อมูล เพราะต้องการผูกขาดตลาดด้วย มีผลให้ยาแพงขึ้น ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ไม่สามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิหรือการนำเข้าซ้อนได้ จากการวิเคราะห์ราคายาที่ติดสิทธิบัตรและยาสามัญมีราคาต่างกันถึง 10 เท่า ระบบทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯที่จะบรรจุในเอฟทีเอเป็นการขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 20 ปี เป็น 25 ปี ทำให้ปิดกั้นการศึกษาวิจัยพัฒนาของอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาสาธารณสุข ทั้งในการจัดหายาใหม่และจัดหายาให้ทั่วถึงด้วย
รศ.ดร.จิราพร กล่าวต่อว่า เนื้อหาการเจรจาที่จะยอมรับไม่ได้ คือ การขยายอายุสิทธิบัตร การผูกขาดข้อมูลการทดลองยา ดังนั้นควรชะลอการเจรจาออกไปจนกว่าจะพร้อม แบบเดียวกับประเทศอินเดีย และน่าสังเกตว่า การทำข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐ เหตุใดจึงไม่ทำเป็น 2 ภาษาคือ ภาษาไทย กับภาษาอังกฤษ เพราะแค่คำว่า SHOULD- SHALL -MAY ก็มีความหมายต่างกันแล้ว นอกจากนี้ เหตุใด ในที่ประชุมสองฝ่าย ฝ่ายสหรัฐ กลับมีตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิตและวิจัยยาเข้าไปร่วมคณะ แต่ทีผู้ป่วยเอซไอวี หรือ สื่อมวลชนไทยกลับไม่ได้รับเชิญอนุญาตให้เข้าไปร่วมประชุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท