Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นักวิทยาศาสตร์แห่งกรมทรัพยากรธรณี  ได้ออกมาเปิดเผยเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้ถึงการค้นพบฟอสซิลสัตว์กินเนื้อที่เหมืองถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ  ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ 10 ล้านปีก่อน


            โดยสัตว์กินเนื้อดังกล่าว  มีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างหมาและหมี  เป็นพวกแอมฟิซิโอนิดส์ (Amphicyonids)  หรือ  หมาหมี (Bear-Dogs)  อยู่ในตระกูลแอมฟิซิโอนิดี (Amphicyonidae)  ฟอสซิลที่ค้นพบเป็นส่วนของฟันกรามล่างจำนวน 4 ซี่  มีอายุกว่า 13 ล้านปี


            ฟอสซิลดังกล่าวถูกค้นพบตั้งแต่ปี 2543  ในเหมืองถ่านหินลิกไนต์แม่เมาะ  ภายใต้โครงการวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  ในความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศฝรั่งเศส  โดย  ดร.เยาวลักษณ์  ชัยมณี  นักธรณีวิทยาแห่งกรมทรัพยากรธรณี  ได้ตรวจสอบฟอสซิลนี้ร่วมกับ  ดร.สเตฟาน  พิกเน  และ  .จอง  จาริก  เอเกอร์  นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมองเปลีเอร์ที่สอง (Montpellier  University)  ประเทศฝรั่งเศส  และใช้เวลานานกว่า 5 ปีจนได้ข้อสรุปออกมาในที่สุด  ว่าเป็นฟอสซิลของสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ในตระกูลแอมฟิซิโอนิดี


            สัตว์ในตระกูลนี้อาจเรียกว่า  หมาหมี  หรือ  หมีหมา  ก็ได้  เนื่องจากมีหน้าตาคล้ายหมาและมีรูปร่างคล้ายหมี  บางชนิดอาจคล้ายแพนด้า  หมาหมีเป็นสัตว์นักล่าที่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว  มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ช่วงต้นของสมัยไมโอซีน (Miocene  period)  ราว 25-30 ล้านปีก่อน  จนถึงช่วงปลายสมัยไมโอซีนเมื่อประมาณ 10 ล้านปีก่อน  สายพันธ์หมาหมีได้สูญพันธุ์ไปจากโลก  โดยไม่มีวิวัฒนาการสืบทอดมาเป็นสัตว์กินเนื้อชนิดใดในปัจจุบัน


            อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับสัตว์ในปัจจุบัน  น่าจะมีความคล้ายคลึงกับหมีหมา  แต่ไม่สามารถยืน 2 ขาได้  ลักษณะพิเศษที่ฟันของหมาหมีคือมีทั้งฟันบดเคี้ยวแบบหมี  และฟันฉีกแบบหมา  ส่วนสูงประมาณ 1 เมตร  น้ำหนักประมาณ 40-50 .. 


            แม้จะมีการขุดพบซากฟอสซิลหมาหมีมาแล้วจำนวนไม่น้อยในยุโรปและอเมริกา  เนื่องจากเป็นพื้นที่ต้นกำเนิดของสายพันธุ์ดังกล่าว  แต่เป็นคนละชนิดกันกับหมาหมีที่ขุดพบในประเทศไทย  และหมายความว่าเป็นหมาหมีชนิดใหม่ของโลกที่ถูกค้นพบ  โดยมีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แล้ว  คือ  "แม่เมาะซิออน  โพธิสัตย์ติ"  (Maemohcyon  potisati  Pigne  et  al.,2006)  เป็นฟอสซิลหมาหมีที่สมบูรณ์ที่สุดในเอเชีย  โดยตั้งชื่อตามสถานที่ค้นพบ  และตามนามสกุลของนายสมศักดิ์  โพธิสัตย์  อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีคนปัจจุบัน


            ดร.เยาวลักษณ์  เปิดเผยว่า  การตรวจสอบที่ใช้เวลานานถึง 5 ปีนั้นคือการนำฟอสซิลที่ได้ไปเปรียบกับฟอสซิลหมาหมีที่มีการขุดพบทั่วโลก  ส่วนมากเป็นที่ยุโรปและอเมริกา  และพบว่าฟอสซิลฟันหมาหมีที่ขุดได้จากเหมืองแม่เมาะ  มีความแตกต่างจากที่ขุดได้จากส่วนอื่นของโลกทั้งขนาดและรูปร่าง  โดยจะมีขนาดเล็กกว่าที่พบในยุโรปและอเมริกา  สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษของหมาหมีอาจอพยพจากทางยุโรปเข้ามาในพื้นที่แถบนี้  และมีวิวัฒนาการเฉพาะตัวจนมีความแตกต่างออกไป ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นการค้นพบหมาหมีชนิดใหม่ของโลก โดยฟอสซิลที่พบที่ลำปางเป็นฟอสซิลของสัตว์สายพันธุ์ดังกล่าวที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่มีการขุดพบในเอเชีย  โดยก่อนหน้านี้มีการขุดพบในประเทศจีนและปากีสถาน  แต่ก็ไม่มีความสมบูรณ์เท่านี้


            แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแม่เมาะ  เปิดเผยว่าในเหมืองถ่านหินแม่เมาะมีการขุดพบซากฟอสซิลอยู่เป็นระยะ  เป็นเรื่องปกติ  อย่างกรณีล่าสุดที่ขุดพบคือสุสานหอยล้านปี  ซึ่งมีขนาดใหญ่  เมื่อขุดพบจะแจ้งไปยังกรมทรัพยากรธรณี  และระงับการขุดไว้ก่อน  เพื่อให้นักธรณีวิทยาเข้ามาตรวจสอบ  ต่อเมื่อมีการยืนยันจากกรมทรัพย์แล้วจึงจะมีการขุดต่อไป  เท่าที่ผ่านมาซากฟอสซิลซึ่งขุดพบในเหมืองแม่เมาะจะมีอายุไม่เกิน 13 ล้านปี  ในกรณีของฟอสซิลหมาหมีนั้นขุดพบตั้งแต่ปี 2543  แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นฟอสซิลของอะไร  จนล่าสุดได้ทราบข่าวจากเว็บไซต์ของกรมทรัพย์ว่าเป็นฟอสซิลของหมาหมีดังกล่าว 


            อย่างไรก็ตามฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ  ได้ยืนยันว่ากลางปีนี้ประมาณเดือนกรกฎาคม  โรงไฟฟ้าแม่เมาะจะเปิดพิพิธภัณฑ์โลกล้านปี  โดยมีการจัดแสดงฟอสซิลจำนวน 10 กว่าชิ้นที่ขุดพบในเหมืองแม่เมาะเป็นไฮไลท์สำคัญของพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว  และเปิดให้ผู้สนใจทั่วไปได้เข้าชมเพื่อศึกษาหาความรู้ต่อไป.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net