Skip to main content
sharethis

ในบทความบทความ เรื่อง "สังคมสมานฉันท์" ในแบบเรียน ผู้เขียนพยายามชี้ให้เห็นว่า เรื่อง "ความสมานฉันท์" เป็นเรื่องของ "มโนทัศน์" และ "มโนทัศน์ที่ว่าสังคมไทยมีความแตกต่างหลากหลาย แต่อยู่ร่วมกันได้เพราะมีเอกลักษณ์ร่วมกันคือ พระมหากษัตริย์ ภาษาไทย และวัฒนธรรมไทย" ที่ "ถูกส่งต่อและผลิตซ้ำ...มากว่า 2 ทศวรรษ และยังคงผลิตซ้ำต่อไปในหนังสือสาระการเรียนรู้พื้นฐาน ในกลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม" กำลังถูกท้าทายด้วยเหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้


 


จนเป็นเหตุให้เราควรกลับมาทบทวนว่า "มโนทัศน์ร่วมสมัย" (ตามคำนิยามของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์) แบบที่ "ละเลยกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีการวิเคราะห์และสังเคราะห์จากสภาพความเป็นจริงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป" ยังคงเหมาะสมหรือไม่ในสังคมไทยปัจจุบัน แล้วมันจะนำพาไปสู่ความสมานฉันท์ได้จริงหรือเปล่า


 


ผู้เขียนอธิบายว่า แม้ว่าสังคมไทยจะ "ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี" และเห็นความสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา ตั้งแต่ในช่วงต้นทศวรรษที่ 2540 แต่ " "การศึกษา" ในทัศนะของรัฐยังคงเป็นเพียงการศึกษาในระบบหรือในกรอบที่อยู่ในกำกับของระบบราชการ" ด้วยเหตุนี้ทางภาครัฐจึงยังมุ่งไปที่ "การปฏิรูปกลไกของระบบราชการในกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพในการบริหารการศึกษา นำไปสู่การพัฒนาบุคลากรครู อาจารย์ ผู้บริหารการศึกษา โดยคาดหวังว่าเมื่อกลไกเหล่านี้มีประสิทธิภาพแล้วจะก่อให้เกิดการปฏิรูปการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้"


 


แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาทางกระทรวงศึกษาจะพยายามให้แต่ละสถานศึกษาจัดทำแผนการเรียนการสอน และจัดพิมพ์หลักสูตรการศึกษาเอง เพื่อให้ "เหมาะสมสอดคล้องกับ วิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมาย และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน" แต่ในความเป็นจริง ด้วย "ความสับสน ยุ่งยาก และความไม่เข้าใจระหว่างหน่วยงาน...ประกอบกับ...ระบบการวัดและประเมินผลการสอบเข้ามหาวิทยาลัย" ทำให้ "หลักสูตรของสถานศึกษามีเนื้อหาสาระใกล้เคียงกันมาก มิได้มีความหลากหลายดังที่คิดกันไว้"


 


แม้แต่หนังสือเรียนตามสำนักพิมพ์ก็ "มีความสอดคล้องกันในการนำเสนอ "มโนทัศน์ร่วมสมัย" ประเภทที่ว่า เอกลักษณ์ร่วมกันในสังคมไทย คือ พระมหากษัตริย์ ภาษาไทย และวัฒนธรรมไทย


 


กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม


ด้วยหลักสูตรสังคมศึกษาที่ "ตอกย้ำมโนทัศน์ที่ว่า สังคมไทยมีเอกภาพ มีเอกลักษณ์ถาวรที่ต่อเนื่องยาวนาน มีตัวแสดงหลักคือ สถาบันพระมหากษัตริย์และระบบราชการที่ดำรงรักษาประเทศชาติไว้ตลอดมาก ประวัติศาสตร์ไทยจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่หยุดนิ่ง ขาดพลวัตของการเปลี่ยนแปลงที่มีมิติทางสังคมเศรษฐกิจ หากเป็นเพียงการลำดับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์"


 


"จากกรอบมโนทัศน์ว่าด้วยความสมานฉันท์ของรัฐไทยที่ได้ศึกษามาตั้งแต่ต้น ผู้เขียนมิได้ประหลาดใจเลยที่ไม่พบฉากของความขัดแย้งทั้งในด้านอุดมการณ์ หรือผลประโยชน์ใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าว (3 จังหวัดภาคใต้) โดยที่มโนทัศน์หลักซึ่งแบบเรียนประวัติศาสตร์สร้างจินตนาการให้กับผู้เรียน คือพื้นที่ในสามจังหวัดภาคใต้เป็นเพียงประเทศราชที่จำต้องอ่อนน้อมต่อราชอาณาจักรของคนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น"


 


"จากการศึกษาโดยสังเขปนี้ ผู้เขียนได้พยายามสะท้อนว่า มโนทัศน์ที่แบบเรียนประวัติศาสตร์มุ่งสร้างจินตนาการให้กับผู้เรียนนั้นคับแคบ และอาจไม่เหมาะสมกับสังคมยุคปัจจุบันแล้ว เอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ความเป็นไทยที่แบบเรียนพยายามสร้างมโนทัศน์นั้น เป็นเพียงอัตลักษณ์ของกลุ่มคนไทยในภาคกลาง แต่หากเราทบทวนประวัติศาสตร์ของดินแดนในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งประกอบกันอยู่ภายใต้ราชอาณาจักรไทยในปัจจุบันแล้วจะพบอัตลักษณ์ของกลุ่มชนที่หลากหลาย


 


เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้น่าจะกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องขยายอัตลักษณ์ไทยให้ครอบคลุมความหลากหลายนนั้นอย่างแท้จริง เพื่อให้สังคมไทยมีพลังที่จะต่อรองหรืออยู่ในโลกยุคปัจจุบันได้อย่างมั่นคงและมีความสงบสันติยิ่งขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุด เพื่อบรรเทาความบาดหมางและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่กำลังเป็นวิกฤตทางสังคมอยู่ในขณะนี้"


 


ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายว่า "ผู้เรียนจะต้องวิเคราะห์และแยกแยะระหว่างสังคมใน "อุดมคติ" ที่ควรจะเป็น ดังที่แบบเรียนได้พยายามสร้างมโนทัศน์ให้กับผู้เรียน ซึ่งบรรลุได้ง่ายๆ เพียงแค่การให้ผู้เรียนในฐานะปัจเจกบุคคลปฏิบัติตนเป็นคนดีตามบทบาทหน้าที่และสถานภาพของตน กับโลกของความเป็นจริง โลกที่สังคมแห่งความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้ด้วยความรู้ ความเข้าใจถึงสาเหตุและปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สลับซับซ้อนให้ได้ เพื่อที่ผู้เรียนในฐานะพลเมือง (มิใช่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน) จักได้กำหนดแนวทางประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสม"


 


……………………………………..


หมายเหตุ บทความนี้ จัดทำโดย นายวิวัฒน์ คติธรรมนิตย์ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์


เป็นส่วนหนึ่งของชุดเอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2548 ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  ซึ่งมี มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงแรงงาน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นองค์กรร่วมจัด เมื่อวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2548 ณ โรงเรียนแอมบาสเดอร์ พัทยา


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net