รัฐธรรมนูญ ตอนที่ 5 : สิทธิเสรีภาพ ถ้อยคำสวยหรูที่ไม่เคยมีผลบังคับใช้


 

รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

ในรอบหลายวันที่ผ่านมาหรือในช่วงที่ผ่านมา มีประเด็นในการพูดเรื่องรัฐธรรมนูญมาก ถ้าผมจะแยกสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญแยกออกเป็น 2 ส่วนเท่านั้นครับ ส่วนแรกคือ เรื่องสิทธิเสรีภาพ ส่วนที่ 2 คือ เรื่องของการจัดองค์กรของรัฐ เรื่องการจัดองค์กรของรัฐเป็นประเด็นปัญหามากนะครับว่าจะแก้นู้นแก้นี้ แต่ว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพมีประเด็นน้อยมากว่าจะแก้อะไรหรือไม่

 

สิทธิเสรีภาพตาม รธน. ปัญหาอยู่ที่คนเอาไปใช้

เรื่องสิทธิเสรีภาพนั้น ผมคิดว่าประเด็นใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การแก้ตัวบทกฎหมาย แต่ประเด็นใหญ่อยู่ที่การเอาไปใช้ และความเข้าใจขององค์กรที่ใช้และตีความสิทธิเสรีภาพ นี่คือประเด็นปัญหาใหญ่ในส่วนของสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามันต่างจากเรื่องการจัดองค์กรของรัฐ

 

เมื่อปัญหาในส่วนสิทธิเสรีภาพมันเป็นปัญหาขององค์กรผู้ใช้มันเป็นปัญหาใหญ่ เกิดปัญหาของการใช้การตีความ เกิดปัญหาความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการใช้การตีความกฎหมายค่อนข้างมาก

 

3 มิติแห่งสิทธิเสรีภาพ- เพื่อปัจเจกบุคคล, เพื่อกลุ่มบุคคล, เพื่อประโยชน์สาธารณะ

แต่ก่อนที่ผมจะเข้าไปสู่ปัญหาผมอยากจะแยกให้เห็นสิทธิเสรีภาพก่อนครับ มันแยกได้หลายมิติ แต่ถ้าผมจะแยกในแง่มิติของการใช้มันแยกได้ 3 มิติ มิติแรก สิทธิเสรีภาพมันใช้เพื่อปัจเจกบุคคล อันที่ 2 เป็นสิทธิเสรีภาพที่มันใช้เพื่อชุมชน เพื่อกลุ่มบุคคลอะไรต่างๆ อันที่ 3 สิทธิเสรีภาพที่มันใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ

 

เสรีภาพของ ส.ส.ถูกทำหมันโดยรัฐธรรมนูญ

ผมเริ่มจากสิทธิที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะก่อนนะครับ เพราะเป็นกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุด ผมยกตัวอย่าง สิทธิของผู้แทนที่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ถ้าจำไม่ผิดในรัฐธรรมนูญมาตรา 149 ระบุว่า สส.เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย อันนี้เป็นสิทธิของ สส.ที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ใช้เพื่อตรวจสอบรัฐบาล เพื่ออะไรต่างๆ แต่สิทธิเสรีภาพนี้ถูกทำหมันโดยรัฐธรรมนูญครับ ถูกทำหมันยังไง มันต้องเขียนต่อให้สมบูรณ์ว่า คุณเป็นผู้แทนชาวไทยคุณมีสิทธิจริงแต่ภายใต้มติพรรค ใครฝืนมติพรรคโดนไล่ออก โดนไล่ออกเป็นไงครับ ขาดสมาชิกภาพ นี่คือสิทธิที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ แล้วท้ายสุดมันถูกทำหมัน ใช้ไม่ได้ใครจะกล้าฝืนมติพรรค

 

สิทธิของสื่อมวลชน คนพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะถูกฟ้องกระเจิง

สิทธิของสื่อมวลชน ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะในการควบคุมตรวจสอบการทำงานขอองรัฐบาล วันนี้ก็ฟ้องร้องกันกระเจิงแม้ว่าจะถอนฟ้องกันไปบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าการใช้สิทธิเพื่อประโยชน์สาธารณะ ท้ายที่สุดมันมีความสุ่มเสี่ยง เพราะมันไปกระทบอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะในมิติใดก็ตาม

 

ประโยชน์สาธารณะมีน้ำหนักกว่าสิทธิของปัจเจกบุคคล (เช่น นายกรัฐมนตรี เป็นต้น)

หากสิทธิที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะไปกระทบปัจเจกบุคคล โดยหลักแล้วต้องถือว่าสิทธิที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะอยู่ในสถานะที่มีความสำคัญมากกว่า เช่นสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมี 2 สถานะ คือสถานะที่เป็นบุคคลธรรมดากับสถานะที่เป็นผู้นำของรัฐบาล ตรงนี้เองที่ความเป็นส่วนบุคคลก็ต้องถูกบีบเข้ามาลีบเข้ามาเล็กเข้ามา เพื่อให้มีพื้นที่ของส่วนบุคคลแคบลงเพราะเขาเป็นบุคคลของสาธารณะที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ นี่คือสิทธิที่ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ท้ายที่สุดสิทธิกลุ่มนี้จะถูกทำหมัน จะถูกจำกัด จะถูกโต้แย้ง

 

ยกตัวอย่างกรณีการฟ้องคุณสุภิญญา กลางณรงค์ ถ้าเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเพื่อประโยชน์สาธารณะอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ไปละเมิดมาตรา 420 (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) เพราะว่าเขาใช้เสรีภาพในมาตรา 39 เป็นการใช้เสรีภาพอยู่ในขอบเขต จะไปละเมิดได้อย่างไร นั่นคือการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

 

ถ้าเขาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ คุณต้องยอมรับ

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับกฎหมายลำดับรองนำไปสู่ประเด็นว่าท้ายที่สุดปัจเจกบุคคลก็ถูกผูกพันกับสิทธิเสรีภาพ หมายความว่าจริงๆ แล้วสิทธิเสรีภาพมันผูกพันอำนาจรัฐครับ ผูกพันอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่โดยผลของการใช้ตีความกฎหมายอย่างนี้นี่เอง มันผูกพันกับปัจเจกบุคคลด้วย หมายความว่า ถ้าเขาใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแล้วไปกระทบคุณ คุณต้องยอมรับนะครับ เขาใช้เสรีภาพสื่อในการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำรัฐบาล มันไปกระทบท่าน ท่านต้องยอมรับ ตรงนี้นี่เองที่ว่าสิทธิเสรีภาพมันไปผูกพันกับปัจเจกบุคคลด้วยในทางอ้อม คุณจ้องยอมรับว่าเขาใช้สิทธิเสรีภาพในกรอบที่มันกระทบคุณ คุณต้องยอมรับว่านี่คือการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

 

สิทธิชุมชน - จะสงสัยทำไมเมื่อมันมีอยู่จริง

ในระดับชุมชนนั้น เราจะเห็นได้ว่ามันมีปัญหาในการใช้สิทธิในระดับชุมชนค่อนข้างมาก คำถามแรกที่เกิดตั้งคำถามขึ้นว่า ชุมชนในรัฐธรรมนูญมันมีหรือไม่ หลายเสียงบอกว่ามันมีแต่เฉพาะบุคคลที่รวมกันในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม บ้างก็ถามว่ามันมีจริงหรือไม่ชุมชน แต่มันจะมีหรือไม่ก็ตามในวิถีชีวิตจริงมันมีอยู่ ในความเป็นจริงมันมีอยู่ เพราะฉะนั้นตรงนี้การใช้สิทธิในระดับชุมชน มันไม่ใช่ใช้สิทธิเพื่อตอบสนองสิทธิของปัจเจกบุคคล แต่มันใช้เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะในระดับชุมชน การใช้สิทธิในกลุ่มนี้มันมีความสุ่มเสี่ยงอยู่เหมือนกันในการที่จะไปโต้แย้งกับกลุ่มผู้มีอิทธิพล รวมไปถึงอำนาจรัฐ ท้ายที่สุดนำไปสู่การสูญเสียอะไรต่างๆ มากมาย แต่ของระดับผู้นำชุมชน ผมคิดว่า 2 ระดับนี้นะครับ ผมคิดว่าเป็นส่วนที่มีปัญหาในแง่ของการใช้สิทธิและนำไปสู่การขัดแย้งกับไม่ว่าอำนาจรัฐ หรืออำนาจท้องถิ่น หรืออิทธิพลผลประโยชน์อะไรก็ตามแต่

 

สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล การตีความอันหลากหลาย =  ยังไม่มีหลักประกันที่แน่นอน

การใช้สิทธิของปัจเจกบุคคล ผมคิดว่ามีปัญหาในแง่ของการใช้การตีความ ผมยกตัวอย่างคดีหนึ่ง ท่านคงเคยได้ยินคดีที่ทนายความที่แกเป็นโปลิโอ แล้วแกใช้สิทธิไปสมัครสอบเป็นผู้พิพากษา และสอบอัยการ คดีเรื่องนี้ทนายความที่เป็นโปลิโอสู้กันหนักครับ

 

ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่า ศาลที่ตีความเรื่องนี้ 3 ศาลตีความไปคนละทิศคนละทางเลยครับ เรื่องนี้มันมีการโต้แย้งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ากฎหมายระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการที่เขียนว่า ผู้ที่จะสมัครต้องมีคุณสมบัติดังนี้ ในวงเล็บ ประมาณวงเล็บ 10 ของมาตรา 26 บอกว่ามีร่างกายที่เหมาะสม เขาก็โต้แย้งว่าการเขียนอย่างนี้มันขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 34 คือขัดกับหลักความเสมอภาค ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่ามันไม่ขัดหรอกครับ เขียนอย่างนี้ไม่ขัด

 

ไม่เป็นไรนะครับตีความแค่นั้นไม่เป็นไร แต่ท่านเดินต่อว่าการที่ ก.ต. (คณะกรรมการตุลาการ) มีมติปฏิเสธไม่ให้ทนายความที่เป็นโปลิโอไปสอบ เป็นการกระทำที่ทำได้เพราะว่าตำแหน่งผู้พิพากษาเป็นตำแหน่งที่ทำในพระปรมาภิไธย มีสถานะพิเศษจึงใช้กระบวนการพิเศษในการคัดเลือกคนได้

 

หลักเกณฑ์เยอะนะครับ ผมสรุปสิ่งสำคัญที่ใช้เป็นเกณฑ์ในเรื่องนี้ก็คือว่า บุคคลที่มีสถานะเหมือนกัน มีสาระสำคัญเหมือนกันควรจะได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน นี้คือหลักความเสมอภาค ตรงนี้ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะบอกว่า ตำแหน่งผู้พิพากษานั้นมีสถานะพิเศษ เพราะฉะนั้นเขาสามารถที่จะเลือกปฏิบัติได้ เพราะมันเป็นตำแหน่งพิเศษที่ทำในพระปรมาภิไธย

 

ศาลรัฐธรรมนูญกำลังบอกว่าตำแหน่งนี้พิเศษ เพราะฉะนั้นเลือกแตกต่างจากคนอื่นได้ ถามว่าอาชีพอื่นตำแหน่งอื่นปฏิเสธเรื่องความพิการไม่ได้หรือครับ ผมยกตัวอย่าง ผมจะจ้างเจ้าหน้าที่พิมพ์ดีดซักคน คนมาสมัครแขนขาดไป 2 ข้าง ผมปฏิเสธได้ไหม ปฏิเสธได้ทุกอาชีพปฏิเสธเพราะความพิการได้ ไม่ใช่เฉพาะผู้พิพากษาแต่เกณฑ์มันอยู่ตรงไหน

 

ทนายที่เป็นโปลิโอก็ไปสมัครเป็นอัยการ กอ. (คณะกรรมการอัยการ) ก็ปฏิเสธเหมือนกัน บอกมีร่างกายไม่เหมาะสมเหมือนกัน เขาก็ฟ้องไปที่ศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองชั้นต้นบอกอย่างนี้ครับ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการแล้ว จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันในสาระสำคัญระหว่างคนพิการกับคนไม่พิการ เพราะฉะนั้นมติ กอ.ที่ปฏิเสธจึงชอบแล้ว เกณฑ์ของศาลปกครองกลางเลยนะครับ เอาคนพิการมาเปรียบเทียบกับคนไม่พิการ แล้วบอกว่ามันแตกต่างกัน ดังนั้นมติที่ปฏิเสธจึงชอบ ท่านเห็นเกณฑ์ไหมครับ ของศาลรัฐธรรมนูญนั่นเกณฑ์หนึ่ง ของศาลปกครองกลางอีกเกณฑ์หนึ่ง

 

ทนายคนดังกล่าวอุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุด ศาลปกครองสูงสุดวางเกณฑ์ว่าต้องเอาภาระงานตั้งก่อน อัยการทำอะไรบ้าง เมื่อเอาภาระงานตั้ง เอาความสามารถของบุคคลนั้นมาทาบดู ว่าความสามารถของเขานั้นเมื่อเอาทาบกับภาระงานแล้วมันทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้แล้วไปปฏิเสธเขาถือว่ามตินั้นไม่ชอบ ทีนี้พอศาลปกครองสูงสุดวางเกณฑ์อย่างนี้ ภาระงานของอัยการเป็นอย่างไร แล้วก็เอาความสามารถของทนายความคนนี้ ซึ่งเขาประกอบอาชีพทนายมาเป็น 10 กว่าปีแล้ว ถามว่าภาระงานของอัยการกับทนายความมีความต่างกันมากไหม แทบไม่ต่างกัน เมื่อเขาประกอบอาชีพทนายความได้ ไฉนเขาจะประกอบอาชีพเป็นอัยการไม่ได้ แต่ว่าปรากฏว่าไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในตรงนี้ ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาว่ามติของ กอ.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ผมยกตัวนี้เพื่อชี้ให้เห็นประเด็นเดียวว่า ไทยเรามีปัญหาในเรื่องของการใช้การตีความสิทธิเสรีภาพค่อนข้างมาก เนื่องจากกลไกเรื่องสิทธิเสรีภาพ ฟันเฟืองอันนี้มันไม่เคยขยับ มันไม่เคยหมุน เรื่องหลักความเสมอภาคแทบไม่ค่อยมีประเด็นขึ้นไปที่ศาล พอขึ้นไปเราหาเกณฑ์ไม่ได้จะเอาเกณฑ์อะไรมาวัดมาทาบว่ามันเลือกปฏิบัติหรือไม่ ตรงนี้เองเมื่อไม่มีเกณฑ์มาทาบจึงอาศัยทัศนคติเดิมๆ ในการมอง แต่ไม่ได้มองเกณฑ์ในทางกฎหมายที่มันให้ความยุติธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเป็นปัญหาในการใช้การตีความเรื่องสิทธิเสรีภาพค่อนข้างมาก เราจะเห็นได้ว่าเรื่องของการใช้การตีความสิทธิเสรีภาพมันเป็นประเด็นปัญหาเรื่องนี้มาก

 

สิทธิเสรีภาพ ถ้อยคำสวยหรู แต่ไม่เคยมีผลบังคับใช้

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะยก ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ เวลาเราพูดถึงสิทธิเสรีภาพรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนในมาตรา 27 เลยครับว่า อำนาจรัฐทั้งหลายผูกพันต่อสิทธิเสรีภาพ ถามว่าทำไมรัฐธรรมนูญต้องเขียนไว้อย่างนี้ เพราะอะไรครับ...เพราะตั้งแต่เรามีรัฐธรรมนูญ 2475 มาจนถึง 2539 การใช้การตีความหมวดสิทธิเสรีภาพเรามองว่ามันเป็นเพียงถ้อยคำที่สวยหรูที่ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่มันไม่มีค่าบังคับเลย มันเป็นเพียงสายลมแสงแดดเท่านั้นเอง

 

เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญ 2540 จึงต้องไปบังคับบอกว่ามันผูกพันโดยตรง ทีนี้เมื่อมันผูกพันโดยตรงถามว่ามันผูกพันอะไร

 

ถ้าท่านไปดูในรัฐธรรมนูญในหมวดสิทธิเสรีภาพแต่ละมาตรามันจะมีขอบเขตแห่งสิทธิเสรีภาพอยู่ มันมีวัตถุที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองอยู่ ส่วนนั้นละครับคือส่วนที่ผูกพันการใช้อำนาจรัฐ ส่วนนั้นนั่นเองคือส่วนผูกพันอำนาจรัฐทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มาตราที่สะท้อนให้เห็นว่ามันผูกพันคือมาตรา 29 แสดงว่าวัตถุแห่งสิทธิเสรีภาพนี้มีอยู่ ถ้าคุณตรากฎหมายไปกระทบกับตรงนี้ ไอ้กฎหมายนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ แสดงว่ามันมีขอบเขตมันมีวัตถุแห่งการคุ้มครองอยู่ ถ้าเขาใช้ขอบเขตของสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญย่อมไม่เป็นการไปผิดกฎหมายอื่น อันนี้เป็นปัญหามากครับในการตีความ

 

สิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเมื่อใช้แล้วไปกระทบบุคคลอื่นแล้วบอกว่าเป็นการละเมิด เรียกค่าเสียหายมากมายมหาศาล มันเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญกับการตีความกฎหมายที่ต่ำกว่า ผมยกตัวอย่างเขาใช้เสรีภาพตามมาตรา 44 คือเสรีภาพในการชุมนุม บอกว่าบุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและโดยปราศจากอาวุธ มาตรา 44 มันไปสัมพันธ์กับความผิดในทางกฎหมายอาญา บุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อให้เกิดความจลาจลในบ้านเมืองมีความผิดตามกฎหมายอาญา ถามว่าจุดแบ่งในการชุมนุมตามมาตรา 44 กับอาญามันอยู่ตรงไหน ท่านเห็นไหมครับว่า ถ้าเราใช้เสรีภาพไปโดยปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตีความขาข้างหนึ่งเราอยู่ในตะรางครับ จุดแบ่งมันอยู่ตรงไหนในการที่จะแยกว่านี่คือการใช้เสรีภาพในการชุมนุม หรือการก่อให้เกิดการจลาจลวุ่นวายในบ้านเมือง เฉกเช่นเดียวกันกับการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในมาตรา 39 มันมีกฎหมายแพ่งเรืองละเมิด จุดแบ่งมันอยู่ตรงไหนในการตีความกฎหมาย 2 เรื่องนี้ คุณใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นแต่ด้านหนึ่งไปละเมิดเขา ไปหมิ่นประมาทเขา จุดแบ่งของ 2 อันนี้อยู่ตรงไหน นี่คือความสัมพันธ์ของกฎหมายสูงกับกฎหมายล่าง

 

"ที่ผ่านมา ศาลแทบไม่เอารัฐธรรมนูญมาใช้เลย"

ที่ผ่านมานั้น การใช้กฎหมายของศาลแทบไม่เอารัฐธรรมนูญมาใช้เลย เราจะดูว่าการชุมนุมกันเกิน 10 คน ผิดกฎหมายอาญามาตรา 216 หรือไม่ เราจะดูว่าผิดละเมิด 420 หรือไม่ ตรงนี้คือจุดที่ใช้การตีความรัฐธรรมนูญจากกฎหมายที่ต่ำกว่า แล้วเราไม่เคยไปดูกฎหมายที่สูงกว่า ตรงนี้ละครับที่เขาเขียนว่าสิทธิเสรีภาพมันผูกพัน หมายความว่าอะไร หมายความว่าคุณต้องใช้จากกฎหมายที่สูงกว่า เมื่อใดก็ตามที่เขาใช้เสรีภาพชุมนุมอยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญมาตรา 44 คุณเลิกพูดเลยครับว่าจะผิดอาญา เพราะกฎหมาย 2 ส่วนจะต้องไม่ขัดแย้งกัน

การใช้เสรีภาพในการชุมนุมย่อมจะไม่ขัดแย้ง ถ้าเขาใช้ในกรอบย่อมไม่มีทางจะเขาจะไปผิดอาญาเรื่องกระทำการจลาจลได้ เพราะเขาใช้เสรีภาพอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกันถ้าเขาใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นในกรอบของรัฐธรรมนูญ มันไม่เป็นการละเมิดเพราะเขาใช้เสรีภาพอยู่ในกรอบยึด ถ้าเราตีความอย่างนี้แสดงว่า เราตีความว่ามันมีขอบเขตที่รัฐธรรมนูญมันคุ้มครองอยู่ ถ้ามันใช้ในขอบเขตตรงนี้ เลิกไม่ต้องดูอาญามาตรา 216 ครับ ไม่ต้องไปดูลักษณะละมิดมาตรา 420

 

แต่ที่ผ่านมาเราไปดูกฎหมายอาญา 216 ก่อน แล้วไปละเลยรัฐธรรมนูญมาตรา 44 ดูกฎหมายแพ่ง ความผิดลักษณะละเมิดมาตรา 420 แล้วไปละเลยรัฐธรรมนูญมาตรา 39 ตรงนี้แหละครับที่เป็นปัญหาในการใช้ในการตีความกฎหมายของไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราละเลยไม่เคยดูสิ่งที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่ามันมีขอบเขตคุ้มครองไว้แค่ไหนเพียงใด แล้วไปใช้กฎหมายระดับล่างตีความ

 

การที่ทำให้กฎหมายที่ต่ำกว่าไปลบล้างกฎหมายที่มันสูงกว่า ทำให้เสรีภาพซึ่งมันมีขอบเขตที่กฎหมายคุ้มครองอยู่ถูกลบออกจากรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างคดีโรงไฟฟ้าที่แก่งคอย ที่เขาใช้เสรีภาพในการที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้า เขาก็ทำข้อมูลออกมา มีการอาศัย พรบ.คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ถ้าผมจำไม่ผิดมาตรา 101 บอกว่าการเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบกิจการ ซึ่งมันมีความผิดทางอาญาอยู่ มาตรานี้ มันไปกระทบกับมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญ ถ้าไปบอกว่าการที่คุณใช้เสรีภาพแสดงข้อมูลอย่างนี้ผิดอาญา เท่ากับไม่ตีความรัฐธรรมนูญ 39 ท้ายที่สุด มาตรา 101 ของสิ่งแวดล้อมมันก็จะไปลบล้างรัฐธรรมนูญมาตรา 39

 

รัฐธรรมนูญคือร่ม กฎหมายอื่นต้องอยู่ใต้ร่ม

ลำดับชั้นของการตีความกฎหมายต้องตีความจากกฎหมายลำดับสูงมาก่อน ไม่ใช่คุณมาตีความกฎหมายอาญาที่มันมีความผิดแล้วไปลบล้างสิทธิเสรีภาพนั้น ถ้าเรายังใช้อย่างนั้น การกระทำผิดตามกฎหมายอาญาก็ไปลบล้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญหมดเลยครับ

 

สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเปรียบเสมือนร่ม ซึ่งกฎหมายอื่นๆ นั้นอยู่ที่ต่ำกว่ามันอยู่ภายใต้ร่ม พยายามจะตีต้องตีภายใต้ร่มนะ ไม่ใช่เอากฎหมายต่ำกว่าเป็นร่มแล้วไปคลุมสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

 

ฝ่ายนิติบัญญัติเขียนกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญต้องถูกตรวจสอบได้

ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดตรงนี้ก็คือว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 27 ที่ระบุว่าอำนาจรัฐผูกพันต่อสิทธิเสรีภาพ เราจะต้องตีความเสมอนะครับว่า คำว่าผูกพันนั้นมันหมายความว่าคุณต้องถูกตรวจสอบได้เสมอ

 

ผมยกตัวอย่าง ฝ่ายนิติบัญญัติไปตรากฎหมายฉบับหนึ่งคือ ร่าง พรบ.ทางหลวง กฎหมายฉบับนี้บอกว่าถ้าจะมีการชุมนุมในเขตทางหลวง แล้วก็มีการนิยามว่าเขตทางหลวงหมายความว่าอะไรบ้างมี 7 ประเภท สรุปก็คือว่าทางสาธารณะทั้งหลายเป็นทางหลวง กฎหมายฉบับนี้บอกว่าถ้าจะชุมนุมในเขตทางหลวงต้องขออนุญาตจากผู้อำนวยการเขตทางหลวงก่อน

 

ถามว่ากฎหมายอย่างนี้ไปขัดกับเสรีภาพมาตรา 44 ไหมครับ คือแต่เดิมประชาชนมีเสรีภาพในการชุมนุมภายใต้กรอบคือ สงบและปราศจากอาวุธ แต่พอกฎหมายนี้ออกมาแสดงว่าคุณจะชุมนุมคุณต้องไปขออนุญาตก่อน มันไปกระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิไหมครับ มันเป็นการไปจำกัดสิทธิเท่าที่จำเป็นไหมครับ ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าอำนาจนิติบัญญัติอาจจะไปกระทำการขัดกับสิทธิเสรีภาพได้ เขาต้องถูกตรวจสอบไปที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ (ศาลรัฐธรรมนูญจะดีไม่ดีอีกเรื่องหนึ่งนะครับ) ในเชิงหลักการก็คือว่า อำนาจทุกอำนาจมันอาจถูกควบคุมตรวจสอบได้ แสดงว่ากรณีนี้คุณไปออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินกว่าที่จำเป็นหรือไปกระทบสาระสำคัญแห่งสิทธิ คุณถูกควบคุมตรวจสอบได้ นี่ประการที่ 1 หลักควบคุมตรวจสอบ หลักผูกพันมันต้องควบคุมตรวจสอบได้

 

ฝ่ายบริหารขัดรัฐธรรมนูญต้องถูกตรวจสอบได้

สำหรับอำนาจบริหาร ตัวนโยบายอาจจะถูกควบคุมตรวจสอบโดยศาลโดยตรงไม่ได้ แต่อาจจะถูกควบคุมตรวจสอบในทางการเมืองหรืออะไรก็ดี แต่ในทันทีที่เราแปลงนโยบายมาสู่การกระทำ เช่นมีนโยบายที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จากตัวนโยบายมาสู่การกระทำออกมาเป็นพระราชกฤษฎีกา ตัวพระราชกฤษฎีกาถูกควบคุมตรวจสอบโดยศาลปกครองได้ ท้ายที่สุดตัวนโยบายมันไม่มีผลโดยตรง มันต้องผ่านการกระทำของเจ้าหน้าที่ อาจจะเป็นพระราชกฤษฎีกา อาจจะเป็นการกระทำทางปกครอง เหล่านี้จะถูกควบคุมตรวจสอบได้ เ

 

ปัญหาคือองค์กรตุลาการขัดรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบอย่างไร

ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ถูกควบคุมตรวจสอบได้ 2 องค์กรนี้ไม่มีปัญหา ที่เป็นปัญหาคือองค์กรตุลาการ ถามว่าถ้าองค์กรตุลาการใช้สิทธิเสรีภาพใช้อำนาจในการตีความกฎหมายขัดต่อสิทธิเสรีภาพ ใครควบคุมตรวจสอบอันนี้คือปัญหา ถ้าศาลชั้นต้นใช้อำนาจขัดกับสิทธิเสรีภาพ องค์ที่ตรวจสอบสูงขึ้นไปคือ ศาลอุธรณ์ ศาลสูงขึ้นไป ศาลอุทธรณ์ใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาตรวจสอบ ถ้าศาลสูงสุดขัดรัฐธรรมนูญล่ะใครตรวจสอบ

 

นี่คือปัญหา การใช้อำนาจองค์กรตุลาการบ้านเราไม่ค่อยมีการพูด องค์กรตุลาการใช้อำนาจขัดกับสิทธิเสรีภาพได้ไหมครับ ละเมิดสิทธิเสรีภาพได้ไหมครับ....บ้านเราไม่ค่อยมีการพูดนะครับ แต่ผมยืนยันว่าการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการเป็นการใช้อำนาจมหาชนอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจจะไปขัดต่อสิทธิเสรีภาพก็ได้ ไม่ว่าจะละเมิดในแง่ของหลักวิธีการพื้นฐาน หรือตีความสิทธิเสรีภาพไปในทิศทางที่ไม่ถูกต้อง

 

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดระบบตรวจสอบของไทยไม่มีจุดที่จะนำไปสู่การให้ศาลใดศาลหนึ่งมาตัดสิน แต่ต้องเรียนตรงๆ ว่าของไทยในสภาพการณ์อย่างนี้ก็ไม่น่าไว้วางใจที่จะให้ไปศาลรัฐธรรมนูญหรอกครับ เพราะว่าถ้าไปให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดก็อาจจะหนักกว่า แต่ว่ามองในเชิงหลักการก่อนว่า อำนาจตุลาการย่อมกระทบต่อสิทธิเสรีภาพได้ใน 2 นัย คือ 1) ไปละเมิดหลักการวิธีพื้นฐาน 2) ตีความสิทธิพื้นฐานไม่ถูกต้องทำให้ขอบเขตสิทธิเสรีภาพแคบลง จำกัดลงหรือใช้ไม่ได้ ซึ่งการตีความเช่นนั้นก็เป็นการใช้อำนาจมหาชนไปกระทบสิทธิเสรีภาพรัฐธรรมนูญ

 

เพราะฉะนั้นประเด็นของคุณจินตนา (แก้วขาว) ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าการใช้การตีความของศาลถูกต้องหรือไม่ในแง่ของหลักพื้นฐานในวิธีพิจารณา ถ้าไม่ถูกต้องมันก็คือการใช้อำนาจที่ไปกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานได้ เพราะฉะนั้นผมจึงยกประเด็น 2-3 ประเด็นนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่าสิทธิเสรีภาพของไทยในแง่ของหลักกฎหมายที่มันเขียนอยู่ มันค่อนข้างที่จะสมบูรณ์ถูกต้อง แต่มันมีปัญหาใน เรื่องของการใช้การตีความ รวมไปถึงองค์กรที่จะมา ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง

 

ตราบเท่าที่มีกฎหมาย สิทธิที่ถูกก่อตั้งตามรัฐธรรมนูญนั้น ต้องมีขอบเขตของมันก่อน แล้วตัวขอบเขตนี่เองที่จะผูกพัน แม้จะไม่มีกฎหมายบัญญัติตามมาแต่สิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้นเขียนไว้ชัดเจนว่ามันผูกพันโดยตรง แสดงว่ามีผลมาจากรัฐธรรมนูญโดยตรงแล้ว

 

ถ้าเราบอกว่าสิทธิเสรีภาพจะมีผลต่อเมื่อมีตรากฎหมาย แสดงว่าเรากำลังให้องค์กรนิติบัญญัติที่รับเอาอำนาจไปจากรัฐธรรมนูญมีอำนาจเหนือตัวรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นแล้วท้ายที่สุดสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่องค์กรรัฐธรรมนูญบัญญัติขึ้นจะไม่มีผล

 

เมื่อไม่มีการตรากฎหมายขึ้นมารองรับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญจะใช้สิทธิอย่างไร

ถ้ายังไม่มีกฎหมายมาบัญญัติ ก็ใช้ตามตามกระบวนตามปรกติครับ ยกตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญบอกว่าประชาชน 50,000 คนมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนนักการเมืองทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ถามว่าถ้าไม่มีกฎหมายบัญญัติประชาชนไม่มีสิทธิเข้าชื่อใช่ไหมครับ ไม่ใช่ ! ประชาชนต้องมีสิทธิเข้าชื่อเพียงแต่ว่าจะเข้าชื่ออย่างไร จะตรวจสอบอย่างไรก็เป็นไปตามกระบวนการปรกติครับ ก็คือว่า เข้าชื่อให้ได้ 50,000 คนแล้วตรวจสอบว่าเข้าชื่อจริงหรือไม่ ก็เท่านั้นครับ ต้องตีความว่าสิทธิมันมีก่อตั้งขึ้นแล้ว แต่จะใช้อย่างไรเท่านั้นเอง

 

รัฐธรรมนูญของไทยมาตรา 27, 28, 29 เราเอามาจากรัฐธรรมนูญเยอรมันถอดแบบมาเลย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเรื่องสิทธิเสรีภาพเกิดในรัฐธรรมนูญเยอรมัน เขาใช้รัฐธรรมนูญ 1969 ปัญหาของเยอรมันเหมือนกับของไทยก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญปี 40 ก็คือสิทธิเสรีภาพเป็นเพียงถ้อยคำที่สวยหรูที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ พอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เยอรมันเอาเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มาเป็นมาตราแรกเลย เพราะฮิตเลอร์ได้ไปทำลายล้างคนยิว 6 ล้านคน เขาต้องการเขียนว่าอำนาจรัฐของเยอรมันต่อไปนี้เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และในมาตรา 3 รัฐธรรมนูญมาตรา 27 ของไทยเขาเขียนขึ้นมาเลยครับว่าเพื่อให้มันผูกพันโดยตรงครับ เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์ไทยประวัติศาสตร์เยอรมันเรื่องสิทธิเสรีภาพเหมือนกันครับ มาตรา 27 ของเราก็คือมาตรา 1 วงเล็บ 3 ของเยอรมัน บัญญัติขึ้นเพื่อต้องการให้สิทธิเสรีภาพมีผลโดยตรง นี่คือประวัติความเป็นมา

 

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพว่า สิทธิเสรีภาพนั้นเป็นเพียงปัจจัยแรกที่เราประสบผลสำเร็จในเชิงของตัวบทกฎหมาย แต่ทั้งหลายทั้งปวงมันจะประสบผลสำเร็จมันมีอีก 2 ปัจจัยครับ ปัจจัยที่ 2 คือเรื่องทัศนคติของผู้ใช้กฎหมาย ปัจจัยที่ 3 คือวัฒนธรรมในการใช้กฎหมาย

 

ขณะนี้ เรามีตัวบทกฎหมายขึ้นมา แต่เรายังต้องสู้ต่อไปในแง่ของการสร้างทัศนคติเรื่องสิทธิเสรีภาพและวัฒนธรรมในทางกฎหมายซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการที่ต้องสร้างขึ้น และพี่น้องประชาชนนั่นเองมีส่วนในการที่จะสร้างวัฒนธรรมกฎหมายเรื่องสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้มันขึ้นไปสู่องค์กรที่เขาใช้กฎหมายให้มีทัศนคติมุมมองเรื่องสิทธิเสรีภาพ ผมจึงคิดว่าเรามี เรามีตัวบทกฎหมายเรื่องเสรีภาพที่ดีแล้ว แต่เราต้องสร้างปัจจัยที่ 2 และ3 ซึ่งจะใช้เวลานานแค่ไหนนั้น ผมคิดว่าทุกคนมีส่วนในการที่จะสร้างให้เกิดทัศนคติและวัฒนธรรมในทางกฎหมาย

 

ในเรื่องนี้ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการซึ่งทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะ ก็อยากให้เกิดวัฒนธรรมทางกฎหมาย ผมว่าสิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา เพีงแต่ผมไม่แน่ใจว่านอกเหนือจากเวลาแล้วอาจจะชีวิตของผู้คนอีกมากมายแค่ไหน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท