รายงานพิเศษ : "บุ่งทาม" พอเขื่อนมาพื้นที่ชุ่มน้ำก็นองน้ำตา

ขยี้ชีวิตด้วยอำมหิตจริงๆ กับการพัฒนาของรัฐ ด้วย "เขื่อน" บ้านเรือนที่เคยเนา นาที่อยู่กับควาย ป่าที่เคยพึ่งพิง ชีวิตอีกหลายสิบหลายร้อยชีวิตจะจมหายและตายไปอยู่ใต้น้ำ

 

น้ำที่รัฐบอกว่าเก็บไว้เพื่อการเกษตร เพื่อกันน้ำท่วม เพื่อผลิตไฟฟ้า เพื่อ จุด จุด จุด อีกสาระพัด สาระเพ

 

อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ มีเขื่อน "ราษีไศล" ที่ไร้ราศี ชาวบ้านบอกว่าไม่ได้ใช้ทำเกษตร ไม่ได้ใช้ผลิตไฟฟ้า ไม่ได้กันน้ำท่วม แต่มีไว้กร่อนชีวิตของชาวบ้านอย่างช้าๆ ช้าๆและช้าๆ ด้วยการทำลาย "ป่าบุ่งป่าทาม" หรือบุ่งทาม แห่งลุ่มน้ำมูน พื้นที่ชุ่มน้ำที่อุดมด้วยสรรพชีวิตและการให้ชีวิต

 

.. 2532 มีการเสนอโครงการ "ฝายยางราษีไศล" ของรัฐบาลท่ามกลางความยินดีของชาวบ้านในลุ่มน้ำมูล เพราะหวังว่าโครงการนี้จะช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการทำการเกษตรยามแล้ง

                    

เอาเข้าจริงฝายยางดังกล่าวกลับกลายร่างเป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ในโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ของภาคอิสานที่มีชื่อว่า "โครงการโขง ชี มูล" ที่มีเป้าหมายในสร้างเขื่อนปิดลำน้ำมูล ชี และสาขากว่า 20 แห่ง

 

.. 2536 "บุ่งทาม" ก็จมลงใต้น้ำ "ตู้กับข้าว" ของชาวบ้านจึงหายไปด้วย ผ่านมาถึงวันนี้เป็นเวลา 12 ปี แล้ว ชาวบ้านไม่ได้มีชีวิตที่ดีขึ้นแต่อย่างใด การขาด "บุ่งทาม" คือการทำให้ ทุนสำรองของชีวิตพวกเขาหายไป

 

"บุ่งทาม" ชุ่มด้วยน้ำหลากด้วยชีวิต

บุ่งทาม ที่ลำน้ำมูน เป็นคำเรียกพื้นที่ชุ่มน้ำลักษณะหนึ่งด้วยภาษาพื้นถิ่น ซึ่งพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้มีความสำคัญระดับชาติ ตามอนุสัญญาแรมซาร์ และการรับรองขององค์กรยูเนสโก ซึ่งประเทศไทยลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญานี้ตั้งแต่ พ.. 2541 ต่อมาในวันที่  1 สิงหาคม พ..2543 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติและระดับชาติ

 

หาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาและอนุกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำ กล่าวว่า ในอดีตพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาดังกล่าวนี้มีความสำคัญในแง่การอนุรักษ์นกน้ำเป็นหลัก  โดยตีความหมายพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ในลักษณะที่ครอบคลุ่มที่ชื้นแฉะทั้งหมด ทั้งที่ราบลุ่มชื้น พรุ แหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นหนองคลอง บึง บาง บุ่ง ทาม ฯลฯ ไม่ว่าเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือมนุษย์สร้างขึ้น ทั้งที่มีน้ำท่วมขังถาวร หรือชั่วคราว น้ำไหลหรือน้ำนิ่ง น้ำจืดน้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม รวมไปถึงที่ชายฝั่งทะเลและที่ในบริเวณทะเลซึ่งเมื่อน้ำลดลงต่ำสุดมีระดับความลึกของน้ำไม่เกิน 6 เมตร

 

ภายหลังมาประชาคมโลกตระหนักถึงคุณค่าและเห็นความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำในมิติที่ลึกขึ้น เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นระบบนิเวศที่มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาสมดุลตามธรรมชาติและต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั่วโลก อนุสัญญาแรมซาร์จึงมีบทบาทในการหาพิทักษ์คุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย เพียงแต่มาตรการตามอนุสัญญาแรมซาร์เหล่านั้นยังเป็นแค่ข้อตกลงเพื่อสร้างเครดิตของรัฐนั้นต่อประชาคมโลกเท่านั้นไม่ใช่ข้อบังคับแต่อย่างใด

 

"เดิมสโลแกนของพื้นที่ชุ่มน้ำเขียนไว้ว่า No Wetland No Water ไม่มีพื้นที่ชุ่มน้ำไม่มีน้ำ แต่สโลแกนประจำปี 2548 เขียนว่า พื้นที่ชุ่มน้ำให้อาชีพที่ยั่งยืนและแก้ไขปัญหาความยากจน แต่ถ้าเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ก็เสียระบบนิเวศหมด เมนหลักคือการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและยั่งยืน ถ้าคิดว่าฉลาดก็ถมไป" หาญณรงค์ กล่าวอย่างเสียดสี

 

แต่ก็น่าคิดตามได้ว่าหรือ "บุ่งทาม" ตามความสำคัญของ "แรมซาร์" ในสายตาของรัฐไทยจะเป็นเรื่องในกระดาษที่รัฐไทยไปเซ็นไว้เก๋ๆ เท่านั้น

 

ผา กองพัน นักวิจัยชาวบ้าน เล่าย้อนกลับไปในช่วงก่อนสร้างเขื่อนว่า ชาวบ้านไม่คาดคิดมาก่อนว่าการปิดเขื่อนจะกระทบป่าทาม เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้บอกอะไร บอกว่าสร้างฝายยางเก็บน้ำแค่ 114 เมตร แต่เอาเข้าจริงกลับกลายเป็นเขื่อนคอนกรีตขนาดใหญ่ เขาเปลี่ยนแปลงโครงการกันภายหลังใน พ.. 2535 พอ พ.. 2536 เริ่มปิดเขื่อนเพื่อเก็บน้ำก็เก็บถึง 119 เมตร น้ำก็ท่วมป่าทาม

 

ชาวบ้านจึงเริ่มมาวิเคราะห์กันว่า สิ่งที่ต้องสูญเสียไปคือ นาในทามของชาวบ้าน พื้นที่เลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะ "ควายทาม" และการต้มเกลือ น้ำทำให้การเกิดเกลือหายไป เหล่านี้ล้วนเป็นวิถีชีวิตที่สำคัญของชาวบ้าน

 

"จนถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว คลองส่งน้ำก็ยังไม่เสร็จ น้ำในเขื่อนยังไม่ได้ใช้ทำอะไรเลยเพราะส่งน้ำไปยังปลายน้ำเพื่อทำการเกษตรในยามแล้งไม่ได้ ผู้ใหญ่มาดูก็ไม่ได้แก้อะไร"

 

จากนั้นมาชาวบ้านก็เริ่มรวมตัวต่อต้าน จนใน พ..2543 สมัยรัฐบาลชวนอนุมัติให้ปล่อยน้ำและศึกษาผลกระทบทางสังคมให้เสร็จก่อน จากนั้นมาป่าทามก็กลับมามีลมหายใจและกำลังเริ่มฟื้นตัวใหม่อีกครั้ง

 

แต่เหมือนสายฟ้าฟาดลงมากลางใจชาวบ้าน เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.2548 คณะรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลทักษิณ มีมติให้ปิดประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำอีกครั้ง ป่าทามที่กำลงฟื้นกำลังจะตายใต้น้ำด้วยความที่รัฐไม่เคยเข้าใจชาวบ้าน

 

ฝันร้ายในความทรงจำของชาวทามมูน

ประดิษฐ์ โกศล ชาวบ้านเคยผู้เดือดร้อนจากการปิดเขื่อนคราวก่อนเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ตอนที่น้ำเริ่มท่วมป่าทาม ชาวบ้านก็ขาดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ขาดแหล่งอาหารตามฤดูกาล เช่น เห็ดต่างๆ สถานการณ์บ้านแตกเริ่มตามมา ชาวบ้านต้องขายวัว ขายควาย หลายครอบครัวย้ายออกไป บางครอบครัวแยกกันไปหางานทำในกรุงเทพฯ เกิดเป็นคนเร่ร่อน คนแออัด จนกลายเป็นปัญหาสังคมทั้งในพื้นที่และพื้นที่อื่นๆ

 

ส่วนชาวบ้านอีกคนกล่าวถึงเบื้องหลังในการปิดเขื่อนครั้งนี้ว่า "มันมีประเด็นการเมืองซ่อนอยู่ ตอนนี้มีกลุ่มทุนธุรกิจดูดทรายอยู่ในพื้นที่เขื่อน 5 แห่ง พวกนี้ล่ารายชื่อนอกพื้นที่ขอให้ปิดกั้นน้ำไม่งั้นต้องลงทุนสูง กลุ่มทุนนี้ก็เกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่น

 

"พอน้ำท่วมหลังเขื่อนและเข้าพื้นที่นา ชาวบ้านต้องสูบน้ำออกเพื่อทำนา ก็ขาดทุน ส่วนป่าทามเป็นที่ที่ชาวบ้านโดยรอบใช้ประโยชน์  100 เปอร์เซ็นต์ ปกติก็ปล่อยควายไว้เลี้ยงได้ เรียก "ควายทาม" ซึ่งซ่อนนัยถึงควายที่อุดมสมบูรณ์ เพราะพืชในป่าทามมีหลายชนิดควายกินได้สะดวกและมีสรรพคุณทางยา ควายจะไม่อ่อนแอและไม่เป็นโรคง่าย

 

"พอน้ำจากเขื่อนท่วมก็ต้องเอาควายไปไว้ตามสวนตามไร่ ก็อาจไปทำลายสวนและพืชผักอื่นๆ หรือถ้าทำโรงเลี้ยงควายก็จะไม่แข็งแรงและชาวบ้านต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อฟางหญ้า น้ำจากเขื่อนทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไปหมด

 

"รัฐเริ่มปิดเขื่อนเมื่อเดือนตุลาคมชาวบ้านก็เริ่มกังวล จริงอยู่ว่าชาวบ้านต้องการน้ำแต่ไม่ใช่เก็บเยอะแบบเขื่อนใหญ่ๆ ขนาดนี้ มีการพูดกันว่าการกักเก็บน้ำน่าจะให้ชาวบ้านเข้าร่วมกำหนดด้วย แต่ละพื้นที่มีปัญหาต่างกันชาวบ้านต้องการน้ำมากน้อยต่างกัน แต่คุยกันได้ อยากให้ฟังคนข้างล่างเพื่อหาทางจัดการร่วมกันมากกว่า"

 

จากการศึกษาวิจัยของ ร..ประสิทธิ์ คุณุรักษ์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลนั้นเป็นพื้นที่ป่าบุ่งทามที่สมบูรณ์ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นที่ราบลุ่ม มีหนองน้ำ ร่องน้ำ กุด (ร่องรอยลำน้ำที่เปลี่ยนทางเดินไปแล้ว) มากมายจนส่งผลให้เกิดสังคมพืชสัตว์อันหลากหลาย ชุมชนรอบๆ ปริเวณมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งการทำประมง การทำนาปลูกพืชไร่และพืชสวนครัว การเลี้ยงวัวควายและเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่าเช่น ฟืน เห็ด หน่อไม้ ไม้ใช้สอย พืชสมุนไพร

 

ทั้งนี้ การทำนาในทามจะเป็นเศรษฐกิจหลักของชุมชน ครัวเรือนกว่า 88.6 มีนาในทาม ถือสิทธิ์เป็นที่ยอมรับกันภายในชุมชนตามจารีตประเพณี ได้ผลผลิตค่อนข้างสูงคือ 684.6 กิโลกรัมต่อไร่เพราะความสมบูรณ์ของตะกอนแม่น้ำ (ค่าเฉลี่ยผลผลิตข้าวทั่วไปภาคอีสานประมาณ 350 กิโลกรัม)

 

เราคงจำชีวิตของ "ยายไฮ ขันจันทา" ได้ว่าคุณยายประสบเคราะห์กรรมจากน้ำท่วมที่นาอย่างไร ต้องสู้ชีวิตอย่างไร ชีวิตของคุณยายทำให้คนแทบทั้งประเทศจดจำและเรียกร้องความเป็นธรรมให้ รัฐจึงจัดการแก้ปัญหาให้ คุณยายคนเดียว!

 

แต่ชีวิตของคุณยายคงไม่ได้แตกต่างจากคนในพื้นที่ป่าบุ่งทามและพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาจากเขื่อนในโครงการ "โขง ชี มูล" ปัญหาของคุณยายแก้ไขได้เพียงเพราะมีโอกาสได้ออกรายการโทรทัศน์ที่มีคนดูเยอะเท่านั้นหรือ แล้วอีกหลายร้อยหลายพันชีวิตที่ไม่ได้ออกรายการโทรทัศน์เช่นนั้นแต่กำลังจะตายเพราะเขื่อนเหมือนกันล่ะ

 

หรือว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาให้กับเฉพาะคนได้ออกโทรทัศน์เท่านั้น?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท