Skip to main content
sharethis

สมชาย นีละไพจิตร       


ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ที่ถูกอุ้มหายไปกับอำนาจมืด


"เหนือกฎหมาย ยังมีกฎแห่งกรรม"


สมชาย นีละไพจิตร ชื่อมุสลิม คือ อบูบักร เกิดเมื่อปี พ.ศ.2494 ที่ ต.กระทุ่มราย เขต. หนองจอก กรุงเทพฯ ภรรยาชื่อ นางอังคนา นีละไพจิต มีบุตรทั้งหมด 5 คน เขายึดอาชีพทนายความ มานานกว่า 20 ปี โดยมีสถานที่ทำงาน คือ สำนักงาน "สมชาย นีละไพจิตร ทนายความ" 24/157 ซอยรัชดาภิเษก 32 (ซอยอาภาภิรม) ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพ ฯ

เมื่อดูประวัติของ สมชาย นีละไพจิตร จะรู้ว่าเขามีกิจกรรมทางสังคมมากมาย ตั้งแต่อดีตนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ย.ม.ท.) ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และเป็นคณะกรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายสภาทนายความ


 


ลองย้อนฟังความคิดเห็นและอุดมการณ์ในการประกอบอาชีพของเขา "ทนายสมชาย นีละไพจิตร" ว่าเขายึดมั่นต่อวิชาชีพและยึดมั่นในหลักคำสั่งสอนของศาสนาเพียงใด


"ผมมีความสำนึกในการดำเนินชีวิตมาตลอดว่า ต้องเป็นทนายความมุสลิมที่ดีให้ได้ แต่ผมไม่เคยได้เห็นรูปแบบหรือบุคคลที่ประกอบอาชีพนี้เป็นแบบอย่างให้เห็นเลย โดยเฉพาะคนที่เป็นมุสลิมที่ประกอบอาชีพนี้ มุสลิมที่ประกอบอาชีพทนายความในอดีตตลอดมานั้น มีแต่ข้อบกพร่องและรอยด่างกันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัวหรือหลักการของศาสนา ซึ่งเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ให้ความเคารพนับถือและขาดความไว้วางใจ


 


"ผมจึงทึกทักคิดเองถึงรูปแบบในใจของผม ว่าต้องปฏิบัติตนอยู่ในหนทางของอิสลามโดยเคร่งครัดไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ก็ต้องได้รับความสำเร็จ และในการดำเนินชีวิตในวิชาชีพทางกฎหมายนั้น ส่วนหนึ่งต้องทำเพื่อตนเองและครอบครัว อีกส่วนหนึ่งต้องทำเพื่อเอื้อเฟื้อต่อสังคมมุสลิม


 


"นับแต่ผมได้เริ่มต้นประกอบอาชีพทนายความ ก็ได้พยายามปฏิบัติตนตามที่ได้ตั้งใจไว้ทีละเล็กละน้อยตลอดมา แม้จะมีอุปสรรคหลายอย่างที่คอยขัดขวางหรือเกิดความท้อใจ แต่ก็ต้องพยายามอดทนและระลึกเสมอว่า สิ่งที่เราได้ช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น เราหวังในความโปรดปรานจากพระองค์อัลลอฮ์ จะประทานรางวัลแก่เราและเราจะได้รับความช่วยเหลือจากพระองค์เสมออัลฮัมดุลิลละฮ์


 


"ผมได้รับความโปรดปรานจากพระองค์อย่างชนิดที่ไม่มีมนุษย์คนใดที่จะช่วยได้ ถ้าหากท่านไม่เชื่อ ก็ขอแนะนำให้ปฏิบัติดูก็แล้วกัน แล้วท่านจะไม่ผิดหวังอย่างแน่นอน แต่ที่สำคัญท่านต้องอดทน และอยู่ในแนวทางของพระองค์ให้ได้ ซึ่งมันก็ไม่ต่างกับคนที่กระทำชั่ว มีชีวิตอยู่นอกลู่นอกทางก็จะประสพแต่ภัยพิบัติตลอดชีวิตเช่นกัน"

แล้วทำไมทนายสมชายถึงถูกอุ้ม!? และหายไปไหน? คนในสังคมไทยได้ตั้งข้อสงสัยกันทั่วประเทศ


 


"มุสลิมรอบโลก" รายงานว่า ทนายสมชายขาดการติดต่อไปตั้งแต่เวลา 20.30 น. ของวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม 2547 หลังจากขับรถออกจากโรงแรมชารีน่า ในซอยมหาดไทย ย่านรามคำแหง และมุ่งหน้าไปที่หลังหมู่บ้านสวนสน ซึ่งเป็นบ้านพักของน้อยชายทนายวรรณชัย ปานพภา ที่ทนายสมชายมานอนพักค้างคืนตั้งแต่คืนวันพุธ


 


ขณะที่มีผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า เห็นรถกระบะโฟวิลสีดำ ขับรถพุ่งชนรถของทนายสมชายบริเวณหน้าร้านแม่ลาปลาเผา ติดกับอาคารเอฟบีที และเยื้องกับสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก โดยผู้เห็นเหตุการณ์เล่าต่อว่า เห็นชายฉกรรจ์ 4 คนแต่งชุดสีเข้มคล้ายเจ้าหน้าที่ ลงจากรถกระบะโฟวิลสีดำ และได้ตรงเข้าล็อคตัวทนายสมชาย ขึ้นรถโฟวิลสีดำ โดยมีชายฉกรรจ์อีกขึ้นไปขับรถยนต์ฮอนด้า ซีวิค สีเขียวของทนายสมชาย ตามกันออกไป นับเป็นการกระทำที่อุกอาจมากในการลักพาตัวบุคคลหน้าสถานีตำรวจ และยังเป็นย่านที่มีการจราจร และผู้คนอาศัยอยู่อย่างคับคั่ง


 


ความรู้สึกเศร้า เสียใจ และคับแค้นใจได้เข้าเกาะกุมเหนือชาวมุสลิมและผู้รักความเป็นธรรมทุกคน ที่ได้รับทราบข่าวดังกล่าว จนมีหลายคนกล่าวว่า รัฐบาลยุคของนายกทักษิณ นับว่าเป็นรัฐบาลที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุดไม่แพ้รัฐบาลของเผด็จการในยุคก่อนๆ ที่ผ่านมา


 


นับจากวันที่ 12 มีนาคม 2547 จนถึงบัดนี้ สังคมไทยก็ยังไม่รับรู้ ยังไม่ได้รับความกระจ่างแจ้งเลยว่า ทนายสมชาย นั้นเป็นเช่นไร


 


"เหนือกฎหมาย ยังมีกฎแห่งกรรม ใครทำอะไรไว้ต้องได้รับผลแห่งการกระทำนั้น..." เป็นวลีอันบาดลึกที่กลั่นจากความรู้สึกของ อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของ ทนายสมชาย นีละไพจิตร ขณะเล่าถึงการต่อสู้คดีที่แทบจะสิ้นหวังภายหลังการหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยเกือบ 2 ปีของสามี


 


ขณะเดียวกันก็เสมือนเป็นการปลอบใจทั้งตัวเธอเอง และกลุ่มสตรีมุสลิมผู้ร่วมชะตากรรมแห่งความสูญเสียจากเหตุการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในวงเสวนาที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อค่ำวันที่ 17 ธันวาคม ที่ผ่านมา 


 


ทั้งนี้ วงเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นโดยสำนักส่งเสริมและการศึกษาต่อเนื่อง มอ.ปัตตานี ร่วมกับกลุ่มเพื่อนหญิงไทยมุสลิม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้กำลังใจกลุ่มสตรีที่ต้องสูญเสียบิดา สามี และลูกชาย ในเหตุการณ์รุนแรงอย่างกรือเซะ และตากใบ รวมทั้งภรรยาที่ต้องพรากจากหัวหน้าครอบครัว เนื่องจากถูกคุมขังอย่างไร้ความหวังอยู่ในเรือนจำประเทศกัมพูชา


 


อังคณา เล่าประสบการณ์การต่อสู้ของเธอให้ฟังว่า หลังจากสามีหายตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 เธอใช้เวลานานนับเดือนในการทำความเข้าใจกับลูกๆ ก่อนจะตัดสินใจต่อสู้ แม้คู่ต่อสู้ที่เธอต้องเผชิญคือ "อำนาจรัฐ" ก็ตาม


 


"แน่นอนว่าเมื่อต้องเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ สิ่งหนึ่งที่ต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การถูกคุกคาม ซึ่งญาติๆ ก็ถามกันทุกคนว่า แน่ใจแล้วหรือที่จะมีเรื่องกับตำรวจซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ดิฉันก็ตอบไปว่า เราไม่ได้ไปหาเรื่องใคร เป็นแค่ชาวบ้านคนหนึ่งที่อยากต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม"


 


เธอบอกว่า เมื่อสามีหายตัวไป ก็มีขบวนการใส่ร้ายป้ายสีว่าทนายสมชายเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งการถูกกระทำดังกล่าว เป็นแรงผลักดันให้เธอและครอบครัวต้องต่อสู้


 


"คงไม่มีใครรู้จักคุณสมชายดีเท่ากับครอบครัวของเขาเอง ดิฉันและลูกๆ จึงต้องต่อสู้เพื่อให้สังคมยอมรับว่าเกิดอะไรขึ้น และเมื่อถึงวันที่สังคมยอมรับ ก็จะรู้ว่าคุณสมชายเป็นคนอย่างไร มีอุดมการณ์อย่างไร และเขาต่อสู้เพื่ออะไร"


 


อังคณา ยอมรับว่า ตลอดเส้นทางการต่อสู้ เธอมีความกลัวอยู่ไม่น้อย เพราะคู่ต่อสู้คือรัฐ แต่เธอก็ต้องพยายามสลัดความกลัวออกไป เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่า นั่นคือความเป็นธรรม


 


"ดิฉันเคยพบกับท่านนายกฯเป็นการส่วนตัว ดิฉันบอกกับท่านว่า ไม่รู้ว่าทำไมทุกวันนี้สังคมไทยจึงอยู่กับความกลัว ไม่รู้ใครเป็นคนสร้างให้ความกลัวเกิดขึ้น แต่ความกลัวนี่เองที่ทำให้เราเห็นแก่ตัว ไม่สนใจเพื่อนบ้าน ไม่สนใจสังคมว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง"


 


"ดิฉันบอกกับนายกฯว่า จะไม่มีวันยอมให้สังคมเป็นอย่างนี้ และจะไม่มีวันยอมให้คุณสมชายหายตัวไปเฉยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย" ภรรยาของอดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม กล่าว


 


และ อังคณา บอกด้วยว่า การทำให้คนๆ หนึ่งหายไป มันเป็นการกระทำที่เหิมเกริมมากเกินไป และส่วนใหญ่จะไม่มีหลักฐานมัดตัวได้ จึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ฉะนั้นเธอจะสู้คดีนี้ให้ถึงที่สุด เพื่อให้สังคมได้รับรู้ และช่วยกันหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก อย่างน้อยก็ให้คนที่กระทำการรุนแรงได้ฉุกคิดว่าจะทำต่อไปอีกหรือไม่ และบางครั้งการต่อสู้ของคนเล็กๆ คนหนึ่ง อาจจะให้บทเรียนกับผู้มีอำนาจก็ได้


 


"เหนือกฎหมาย ยังมีกฎแห่งกรรม ใครทำอะไรไว้ต้องได้รับผลแห่งการกระทำนั้น" เธอกล่าวทิ้งท้าย


 


นี่เป็นบางส่วนของรายงานพิเศษ ที่ "ปกรณ์ พึ่งเนตร" จากศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้บันทึกเอาไว้เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


และเป็นเพียงอีกหนึ่งกรณีตัวอย่าง ที่นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง ที่ได้สละชีวิตเพื่อพิทักษ์สิทธิของความเป็นมนุษย์ ท่ามกลางกระแสของกลุ่มผู้มีอิทธิพลและอำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ ได้ใช้อำนาจอันป่าเถื่อนเข้าไปทำลายชีวิตของผู้คน


 


ในห้วงขณะที่นโยบายรัฐและกระบวนการยุติธรรมของไทยที่อ่อนเปลี้ยเสียขาลงไปทุกชั่วขณะ ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net