Skip to main content
sharethis


ภาพจาก www.tjanews.org


 


วันพุธที่ 4 มกราคม 2006 19:00น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


เหตุการณ์คนร้ายบุกปล้นปืนภายในกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ผ่านไปครบ 2 ปี แม้รัฐบาลไทยจะระบุอย่างชัดเจนว่า กลุ่มผู้ก่อเหตุเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน โดยมีการออกหมายจับสมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดน 5 คนซึ่งเป็นแกนนำก่อเหตุดังกล่าว รวมทั้งมีการฟ้องร้องดำเนินคดี อดีตส.ส.ในสังกัดพรรครัฐบาล ถึงที่สุดแล้วศาลพิจารณายกฟ้อง แต่ปมสาเหตุยังเป็นปริศนาคาใจของใครอีกหลายคน ที่ไม่เชื่อตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาล รวมทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งคิดว่ามีต้นตอสาเหตุอันซับซ้อนกว่านี้ เพียงแต่ พวกเขาไม่กล้าที่จะพูดออกมา


 


กองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายนราธิวาสราชนครินทร์ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ในช่วงเช้าวันที่ 4 มกราคม 2548 ผ่านไปสองปีเต็มกับเหตุการณ์กลุ่มคนร้ายบุกเข้าปล้นอาวุธปืนสงคราม สังหารทหารภายในค่าย ซึ่งหลายคนถือว่านี่คือปฐมเหตุของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2 ปี


 


เช้าวันนี้พ.อ.ชัยยศ จินดาวงษ์ เสนาธิการกองพลพัฒนาที่ 4 มาเป็นประธาน ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ เริ่มจากการสักการะศาลพระภูมิด้านหน้าค่าย จากนั้นเป็นพิธีถวายภัตตาหารเพล แก่พระภิกษุสงฆ์ การละหมาดฮายัดและการทำอัรวะฮ์ หรือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ โดยกลุ่มชาวบ้านมุสลิมในละแวกใกล้เคียงที่ตั้งค่ายประมาณ 30 คน ซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นเป็นการภายใน ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมแต่อย่างใด


 


"เราไม่อยากให้มองว่านี่เป็นการทำบุญในโอกาสครบรอบเหตุการณ์วันที่ 4 มกราคม เพราะเดิมทีเรามีพิธีทำบุญของหน่วยมาเป็นประจำทุกปี แต่ก็ไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน มาในช่วงสองปีนี้เองที่เรามาทำในวันที่ 4 มกราคม เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปทั้งหมด ไม่เฉพาะแต่ที่เกิดเหตุในค่ายเท่านั้น" นายทหารยศพันตรีคนหนึ่งอธิบายการประกอบพิธีทำบุญดังกล่าวให้ทราบ


 


สำหรับชาวบ้านปิเหล็งใต้ หมู่ 6 ต.มะรือโบออก ละแวกใกล้เคียงค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อถามย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกลางดึกเมื่อ 2 ปีก่อน ในครั้งแรกที่ทราบว่ามีการปล้นปืนนั้นพวกเขาแทบจะไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง


 


"ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ก็ตกใจ แต่ทีแรกคิดว่าเป็นการฝึกของทหาร เพราะเคยมีการฝึกยิงปืนอยู่เป็นระยะๆ คืนนั้นชาวบ้านบางคนไม่คิดว่าเป็นการบุกปล้นค่าย พอได้ยินเสียงปืนก็เกรงว่าวัวที่ล่ามไว้จะตกใจหนีไปออกไปจูงวัวก็มี" ผู้เฒ่าคนหนึ่งเล่าย้อนเหตุการณ์ให้ฟัง


 


สำหรับตัวผู้เฒ่าเองนั้น พอเสียงปืนเงียบสงบลง และเวลาล่วงผ่านไปถึงตีสาม แกจึงออกไปรับจ้างกรีดยางตามปกติ มาทราบเรื่องการปล้นปืนเอาในช่วงเช้าด้วยซ้ำ


 


สำหรับชาวบ้านที่นี่ ดูเหมือนพวกเขาไม่อยากเอ่ยถึงเหตุการณ์นี้อีก ทุกคำถามที่เราพยายามค้นหาคำตอบจากพวกเขาว่า ใครหรือคิดว่าใครเป็นคนทำจึงไม่มีคำตอบที่ชัดเจน


 


คำเดียวที่พวกเขาบอกต่อเราก็คือ "ไม่รู้"


 


"เราไม่รู้ว่าใครทำ เป็นฝีมือใคร มันไม่รู้ว่าเชื้อคืออะไร เหมือนต้นไม้พอดูรู้ว่าเป็นต้นอะไรก็พูดได้ คุยกันได้ แต่นี่ไม่รู้เลยว่าเรื่องเกิดจากอะไร ตามร้านน้ำชาก็ไม่คุยกันถึงเรื่องนี้ เราคุยกันแต่เรื่องการทำมาหากิน ชาวบ้านอย่างเราไม่รู้อะไรเลย"


 


ดูเหมือนพวกเขากริ่งเกรงต่อการบอกเล่าข้อมูล ความคิด และความเชื่อของตัวเอง


 


"ยอมรับว่ากลัว อยู่แต่ในบ้านไม่ค่อยจะออกไปไหน แต่ก็บอกไม่ถูกว่าเรากลัวอะไร สำหรับทหารนั้นเราไม่กลัว ก่อนนี้ทหารในค่ายก็มานั่งกินน้ำชาด้วยกัน แต่ช่วงหลังพวกที่เคยอยู่ก็ย้ายไป พวกใหม่ก็มา เลยไม่ค่อยสนิทกัน ไม่ค่อยมีทหารมากินน้ำชากับชาวบ้านเหมือนก่อน"


 


เหตุการณ์ที่ปิเหล็ง เสมือนปฐมบทความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมา และนี่คือจุดเริ่มต้นของความหวาดระแวง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนไทยพุทธและไทยมุสลิม สายสัมพันธ์ ความเอื้ออารี เสมือนญาติพี่น้องที่ดำรงอยู่มานานนม ค่อยกร่อนหายไปกับสถานการณ์ความรุนแรง ที่ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดยุติ


 


"ก่อนนี้ก็ไปทำงานรับจ้างกรีดยางในหมู่บ้านไทยพุทธ มีความสัมพันธ์ดีต่อกัน ไปมาหาสู่นั่งกินน้ำชาด้วยกัน คนมุสลิมไม่มีสวนยาง แต่คนไทยพุทธมี เราก็ไปรับจ้างกรีดยางให้เขาแต่ตอนนี้ไม่กล้าไปแล้ว กลัว คนไทยพุทธเองก็กลัวเหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้ว่ากลัวอะไร"


 


ขณะที่มะยาลี มะเซ็ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 บอกว่า ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่าใครทำ ขณะนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ต่างลืมเหตุการณ์ร้ายนี้ไปแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแล ร่วมมือ ร่วมใจกันทำให้บรรยากาศและอะไรต่างๆ ดีขึ้น ทหารในค่ายก็มากินน้ำชาคุยกัน รู้ว่าชาวบ้านเดือนร้อนเรื่องอะไร ก็เข้ามาช่วยเหลือ ค่ายแห่งนี้ตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2512 ทหารที่มาอยู่ในค่ายสร้างความดี ช่วยพัฒนาทุกอย่าง


 


"พวกชาวบ้านตั้งสติได้ ใจของเราบริสุทธิ์ ถ้าเราทำเรากลัว แต่เราไม่ได้ทำ"


 


ในความเห็นของมะยาลีนั้นเขาเองก็คิดว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังสับสน ไม่รู้จะเชื่อใคร แม้แต่ข้อมูลจากฝ่ายรัฐก็ไม่รู้ว่าจริงหรือควรเชื่อหรือไม่


 


อนุสรณ์แห่งความสูญเสียจากเหตุการณ์เมื่อสองปีก่อน ดูเหมือนจะถูกลบหายไปจากชุมชนแห่งนี้จนหมดสิ้น เหลือไว้แต่ความทรงจำของผู้คน บ้านเล็กๆ หลังหนึ่งห่างจากค่ายฯ ไม่มากนัก เดิมเจ้าของบ้านหลังนี้คือจ.ส.อ.จำแลง พูนสวัสดิ์ หนึ่งในผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ขณะนี้ผู้ที่เข้ามาเป็นเจ้าของคือนายฤทธิ์ รัตนเกษร เพื่อนบ้านใกล้เคียง เนื่องจากภรรยาของจ่าจำแลง ขายบ้านหลังนี้และพาลูกๆ อีก สองคนไปอยู่กับญาติที่จ.สงขลา


 


"แกคงไม่อยากอยู่ ตัวแกกับลูกไม่อยู่นานแล้ว แต่บ้านนี่เพิ่งจะขายให้ผมเมื่อ 4 เดือนก่อนในราคาสามแสนบาท"


 


ในมุมมองของชาวบ้านไทยพุทธ ลุงฤทธิ์บอกว่า พวกเขาเกือบ 100 % เชื่ออย่างยิ่งว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฝีมือขบวนการก่อความไม่สงบที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน


 


"มีการพูดกันไปในสองแง่สองมุม อีกมุมหนึ่งก็บอกเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่กันเองค่ายทหารกองร้อยกองพันใครจะกล้ามาทำ แม้แต่ทหารเองก็พูดแบบนี้ แต่เป็นทหารคนละหน่วย คนละสังกัดกับทหารในค่ายฯ"


 


เหตุผลที่ลุงฤทธิ์เชื่อว่าเป็นฝีมือของขบวนการแบ่งแยกดินแดนก็คือ แกเองรู้ว่ามีขบวนการเหล่านี้มานานแล้ว จากการที่อยู่ในชุมชนมากว่า 25 ปี แกเห็นกลุ่มวันรุ่นเยาวชนที่ว่างงาน ติดยาเสพติด พอมีใครมาจ้างให้ทำอะไร แค่สองสามร้อยบาทก็ยอมทำเรื่องร้ายแรง


 


"โจรมันอยู่ในทุกหมู่บ้าน เผายาง โรยเรือใบคนในหมู่บ้านต้องรู้ จะบอกว่าไม้รู้ไม่ได้ ในหมู่บ้านตัวเองทำไมจะไม่รู้"


 


แม้จะหวาดกลัวต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ลุงฤทธิ์ก็ยังหวลเสียดายความสัมพันธ์อันดีกับมุสลิมเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่เคยเดินกอดคอ นั่งกินน้ำชามาด้วยกันตั้งแต่วัยหนุ่ม


 


"ผมอยากให้ย้อนกลับไปเหมือนเมื่อก่อน ที่เราอยู่ร่วมกันเหมือนญาติพี่น้อง แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป มองหน้ากันก็ระแวงกัน เราไทยพุทธมองมุสลิมก็คิดว่าฝีมือพวกมึงนั่นแหละ เป็นการเหมารวมกันไป"


 


เช่นเดียวกับพระปรีชา จิระสุโภ เจ้าอาวาสวัดปิเหล็ง ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวสายสัมพันธ์ ก่อนเหตุการณ์วันที่ 4 มกราคมเมื่อสองปีก่อน จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความหวาดระแวงต่อกันระหว่างพี่น้องไทยพุทธและมุสลิม


 


"ฉันเดินอยู่ คนมุสลิมขี่รถเครื่องผ่านมาก็บอกว่านิมนต์หลวงพ่อขึ้นรถ เขาก็ไปส่ง ฉันเองยังเคยไปนั่งคุยกินน้ำชาในร้านของพวกเขา คนไทยพุทธและมุสลิมยังอยู่กันได้ แต่งงานด้วยกันก็มาก แต่ความเข้าใจต่อกันพูดยาก แม้แต่ฉันเองก็ยังกลัว พวกที่ก่อเหตุกำลังจับตามองอยู่ มุสลิมก็ไม่กล้ามาคุยกับพระกับทหาร คนไทยพุทธก็ไม่กล้าไปคุยกับมุสลิม ยิ่งมีทหารมาอยู่มากคนไทยพุทธเองก็ยิ่งแย่กว่าเก่า มันจะทำทุกอย่างเพื่อยั่วยุทหาร"


 


เจ้าอาวาสวัดปิเหล็งบอกว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลในขณะนี้เหมือนไล่จับหิ่งห้อยในความมืด เห็นสว่างแวบชั่วครู่แล้วหายไป แยกไม่ออกว่าใครเป็นใคร


 


ความคลุมเครือสงสัยว่าใคร ? คือผู้ลงมือก่อเหตุบุกปล้นปืน ยังเป็นปริศนาที่คนส่วนใหญ่คลางแคลงใจ และกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาต่อการแก้ปัญหาของภาครัฐเป็นอย่างยิ่ง


 


อับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด หนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) อดีตประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส บอกเล่าถึงสิ่งที่เขาได้รับฟังมาจากชาวบ้านว่า ชาวบ้านสงสัยว่าใครเป็นคนทำและไม่เชื่อว่าเป็นฝีมือของขบวนการตามที่รัฐกล่าวอ้าง


 


"อย่าลืมว่าข่าวในร้านน้ำชายังมีอิทธิพลอยู่มาก ไม่ใช่ว่าชาวบ้านจะเชื่อข่าวลือ แต่ข่าวพวกนี้เขาได้ยินมาจากญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง แม้จะมีการปล่อยข่าวแต่ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ เขาพิสูจน์ได้ว่า ข่าวที่ได้รับทราบนั้นจริงหรือเท็จ"


 


ไม่เพียงแต่เรื่องเหตุการณ์ปล้นปืนที่ชาวบ้านยังคลุมเครือต่อกลุ่มผู้กระทำรวมถึงสาเหตุ อดีตประธานอิสลามจ.นราธิวาส ได้ยกตัวอย่าง สิ่งที่ชาวบ้านปฏิเสธที่จะเชื่อข้อมูลของฝ่ายรัฐ


 


"การมอบตัวเป็นประเด็นใหญ่ ญาติพี่น้องของเขาบอกว่า เจ้าหน้าที่มาชวนให้ไปเข้าอบรม ก็ไป แต่พอไปถึงกลายเป็นการแถลงข่าวว่านี่คือการมอบตัว รายงานตัวของกลุ่มแนวร่วม แล้วจะให้ชาวบ้านเชื่อใคร ระหว่างสิ่งที่รัฐบอก กับสิ่งที่ญาติพี่น้องเขาบอก สื่อเองเมื่อเสนอแต่ข้อมูลของฝ่ายรัฐ และเป็นข้อมูลที่เขาเห็นว่าผิดพลาด เขาก็ไม่เชื่อสื่อไปด้วย"


 


ในความเห็นของเขา เขาคิดว่า รัฐต้องหาทฤษฎี แนวทางใหม่ๆ ในการเข้าถึง เข้าใจชาวบ้าน และเป็นแนวทางใหม่เพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจรัฐเช่นกัน


 


เป็นเสียงสะท้อนแง่มุมความคิด ความเชื่อของผู้คนหลากหลายในพื้นที่ ซึ่งรัฐต้องตระหนัก อย่าปล่อยให้ความคลุมเครือสงสัยครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ จนชาวบ้านปฏิเสธที่จะให้ความเชื่อถือต่อสิ่งที่รัฐพยายามบอกกล่าวทำความเข้าใจ


 


เพราะเมื่อใดที่เกิดภาวะเช่นนี้ นั่นหมายถึงรัฐหมดอำนาจในพื้นที่นั้นไปแล้วอย่างสิ้นเชิง !!


กลับหน้าแรกประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net