Skip to main content
sharethis

 



คำแถลงก่อนการเลือกสรร


โดยปกติแล้วในวาระสิ้นปี สำนักข่าวต่างๆ จะทำการเลือกบุคคลแห่งปีขึ้นมา ทางหนึ่งเพื่อสรุปความเป็นไปของสังคมไทย แต่มีไม่มากนักที่จะมีกระบวนการคัดเลือก ถกเถียง วิเคราะห์วิจารณ์ ค้นคว้ากันอย่างจริงจัง


 


ก่อนอื่นเราใช้คำว่า The Visible Man เพราะเราจงใจหลีกเลี่ยงการให้น้ำหนักกับตัวบุคคลนั้นว่า ดี หรือ เลว เพราะคนที่ส่งผลต่อสังคมอาจไม่จำเป็นต้องดีหรือไม่ดี คำว่าบุคคลแห่งปีนั้น เราเกรงว่าจะมีนัยของการเชิดชู ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ของเรา และต้องขออนุญาตใช้คำว่า Man ที่สื่อความหมายว่ามนุษย์ที่ไม่ระบุเพศ


 


เจตนาของการหาข้อสรุปว่า ในรอบปี 2548 ที่ผ่านมา "เรา" ซึ่งหมายถึง "ประชาไท" เห็นใครในปีที่ผ่านมา และนำมาถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปเพียงหนึ่งเดียว ทางหนึ่งก็เพื่อเป็นสีสัน ทางหนึ่งก็เพื่อบอกกับสังคมว่า ใครกันที่โลดแล่นและสร้างผลกระทบให้กับสังคม


 


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราหวังนอกจากนั้น ก็คือความต้องการสื่อสารกับผู้อ่านในความเป็นเรา ซึ่งจะสะท้อนออกมาจาก วิธีคิดของเราแต่ละคน แต่ละสายงาน สะท้อนออกมาจากวิธีการทำงานของเรา และวิธีเลือกของเรา ซึ่งเราเชื่อว่า ความเป็นเราแบบนี้มันจะทำให้เราใกล้ชิดกับผู้อ่านมากขึ้น ส่วนจะเหมาะจะควรหรือไม่ น่าเชื่อถือหรือไม่ เราเองคงไม่ได้หวังให้เราเป็นสถาบันในเวลาอันรวดเร็ว เพราะสิ่งที่เราคิดเราเลือกมันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเรา แต่เราก็เชื่อว่ามันจะสามารถเป็นประโยชน์กับผู้อ่านได้ นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการนี้


 


0 0 0


 


คำแถลงจากผู้ดำเนินการอภิปราย : รุจน์ โกมลบุตร


เป็นเรื่องน่าหนักใจ ที่จะต้องมาเป็นผู้ดำเนินรายการเพื่อหาข้อสรุปว่าใครคือ The Visible Man ของ "ประชาไท" ในฐานะที่เป็นองค์กรสื่อที่ครอบคลุมประเด็นการเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพราะแต่ละบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อมา แทบจะเรียกได้ว่า ส่งผลกระทบกับสังคมไทยในทุกด้าน และอาจจะเรียกได้ว่าคนละสายคนละเรื่องเดียวกันเลยทีเดียว


 


แน่นอนเราจะใช้หลักฉันทามติในการเลือก ซึ่งจะไม่มีการโหวตลงคะแนน แต่ต้องมาจากการถกเถียงให้ "แล้วใจ" แล้วออกมาเป็นเอกฉันท์ จึงต้องขอทบทวนหลักเกณฑ์ หลักการคร่าวๆ ที่จะใช้ในการเลือก ซึ่งก็สังเคราะห์มาจากสิ่งที่เราได้พูดคุยและอภิปราย เจตนา รวมถึงจุดประสงค์ของโครงการนี้ ซึ่งจากการอภิปรายในเบื้องต้น ผมขอสรุปหลักเกณฑ์ในการพิจารณา เพื่อช่วยผู้อ่านทำความเข้าใจเหตุผล และบุคคลที่ประชาไทเลือก ดังนี้ 1.เป็นคนน่าสนใจ 2.มีผลกระทบ 3.ขำๆ ซึ่งหมายถึงมีประเด็นหรือจะเรียกว่ามีมุข และ 4.สะท้อนความเป็น "ประชาไท"


 


……………………………………………………………………..


 


แหม่ม - แคทลียา


ของ ประชาไทหมายเลข 1


"ปีที่ผ่านมา เป็นอีกปีที่สังคมไทยตอกย้ำว่า ผู้หญิงเป็นข่าวได้แค่ แม่และเมีย เป็นผู้หญิงที่อยู่ในกรอบดีงาม สื่อเองมองผู้หญิงได้แค่นี้ และผู้หญิงเองก็มองตัวเองได้แค่นี้ มองในแง่นี้ แหม่ม-แคทลียา ที่ตกเป็นข่าวโด่งดังถึงขนาดทำให้เวบผู้จัดการออนไลน์ล่มไปชั่วขณะ ในฐานะผู้เป็นเหยื่อวาทกรรม "แบบอย่างที่ไม่ดีของเยาวชน" จึงน่าจะเป็นบุคคลที่เราหยิบยกขึ้นเป็นสัญลักษณ์"


 


"การท้องก่อนแต่ง ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่เราพบเห็นได้ทั่วไป แต่การที่เรื่องนี้ถูกพูดถึงอีกครั้งเป็นเพราะว่า เธอเป็น "บุคคลสาธารณะ" การท้องก่อนแต่งจึงกลายเป็นเซ็กส์ที่เลวชัดเจนเกินกว่าที่คนจะรับได้ แน่นอนการเป็นบุคคลสาธารณะนั้นทำให้เกิดความคาดหวังแบบหนึ่ง แต่ความคาดหวังมันมากขึ้นเพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิง เราคาดหวังว่า เธอจะต้องเป็นผู้หญิงที่ดี จะต้องไม่มีความต้องการทางเพศ ถ้าจะมีเซ็กส์ก็ต้องขออนุญาตรัฐด้วยการจดทะเบียนเสียก่อน ในแง่หนึ่งการให้ฉายา "เจ้าหญิง" แก่แหม่มที่ดูเป็นคำชื่นชม ขณะเดียวกันมันเป็นการจองจำให้คนๆ นั้นเหลือเพียงมิติเดียว"


 


ข้อคิดเห็นจากเวที


แหม่มเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่รู้จักกลัว หรือบางครั้งจำเป็นต้องโกหกเหมือนคนทั่วๆ ไปที่โกหก มีสิทธิที่จะท้อง การท้องก่อนแต่ง ในช่วงหลังๆ กลายเป็นเรื่องไม่ค่อยแปลก ความเข้มข้นที่มองเป็นเรื่องผิดร้ายมันเจือจางลงไป แต่การเกิดกรณีแหม่ม มันเป็นหมุดหมายบอกว่าสังคมไทยยังโหยหาเรื่องแบบนี้อยู่อีก ยังต้องการอะไรบริสุทธิ์ผุดผ่อง ทั้งๆ ที่อะไรๆ มันเปลี่ยนแปลงไปไกลหรือเกินกว่าจะมาบอกว่า ความดีมันต้องดีในแบบอุดมคติอย่างนั้น ขณะเดียวกันกรณีนี้ก็ยังบอกว่าสังคมไทยยังคงหาเส้นแบ่งไม่ได้ ในเรื่องพื้นที่ส่วนตัวหรือสาธารณะ


 


ประเด็นนี้เป็นประเด็นนี้คงค้างอยู่ในสังคมไทยนานมาก ความเป็นเมียและแม่มันกลายมาเป็นโครงสร้างหลักให้กับวัฒนธรรมไทยมานานมาก มันตอบโจทย์ให้กับคนที่ค่อนข้างจะอนุรักษ์นิยม หรือผู้ที่ไม่อยากให้สังคมมันเปลี่ยนได้ ถ้าเราคิดว่ากรณีนี้เป็นกรณีที่ส่งผลสะเทือนต่อสังคมไทย เราคิดว่า กรณีนี้ก็ไม่ใช่กรณีที่ทำให้สังคมไทยคืบหน้าหรือหลุดออกจากบ่วง หรืออย่างน้อยทำให้สังคมไทยเห็นว่าตกอยู่ในบ่วง ว่าไปแล้วเป็นประเด็นที่มีก่อนนมนาน อย่างหนังที่เราดูเรื่อง อำแดงเหมือน "ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน"


 


เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่สังคมไม่ฉกฉวยโอกาสนี้มาอธิบาย แทนที่สื่อไทยจะใช้จังหวะนี้ในการนำเสนออะไรที่ไปให้พ้นจากกระแส แต่กลายเป็นว่าโหนไปกับกระแสและหากินกับกระแสไปเลยทีเดียว ซึ่งเราก็อ่านกันอย่างใกล้ชิด กรณีนี้จึงสะท้อนสังคมแต่ไม่ทันได้ส่งให้สังคมสะเทือนอะไร


 


0 0 0


 


จาตุรนต์ ฉายแสง


ของ ประชาไทหมายเลข 2


"ปี 2548 เราเห็นจาตุรนต์ถูกซ่อนอยู่ จาตุรนต์ยังคงมีบทบาทในการสร้างความยอมรับในความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนใน 3 จังหวัดภาคใต้ สิ่งที่จาตุรนต์ทำไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ น่าสนใจก็คือ เขาเป็นบุคคลไม่กี่คนในศูนย์กลางอำนาจที่คิดและทำเรื่องนี้ ซึ่งถ้ามองยาวๆ ประเด็นที่จาตุรนต์ทำจะออกดอกออกผลและทำให้เกิดความสงบยั่งยืนขึ้นได้ใน 3 จังหวัดใต้ ซึ่งนี่คือความสำคัญของที่เราไม่อาจมองข้าม"


 


"เราคิดว่าหน้าที่หนึ่งของจาตุรนต์คือการเป็นข้อต่อในเรื่องราวเหล่านี้ให้รัฐบาลเข้าใจ ทั้งก่อนและหลังการมี กอส. แม้จะเปลี่ยนวิธีคิดของสังคมไม่ได้ แต่จาตุรนต์ทำให้แรงเสียดทานของกลุ่มต่อต้านความรุนแรงที่มีต่อรัฐบาลลดลงด้วย อาจจะมองว่าเป็นผู้รักษาภาพพจน์ให้รัฐบาลก็ได้"


 


ข้อคิดเห็นจากเวที


จริงอยู่ที่ว่าไม่มีข้อสงสัยในจุดยืนของจาตุรนต์ที่มีต่อปัญหาไฟใต้ ก็จริงอีกที่จาตุรนต์ในตำแหน่งรัฐมนตรีศึกษาเข้าไปขยับและเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาในสามจังหวัดภาคใต้ แต่จะมีนัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสังคมในวันข้างหน้าหรือไม่ อันนี้ไม่แน่ใจ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ นพ.ประเวศ วะสี หรือ อานันท์ ปันยารชุน บางทีบทบาทของสองผู้เฒ่าอาจจะทำอะไรได้มากกว่า หรืออย่างชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เองบุคคลเหล่านี้ต่างหากที่น่าจะมีบทบาทเด่นในฐานะคนขับเคลื่อนให้สังคมยอมรับในความหลากหลาย อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยว่าความน่าสนใจของ จาตุรนต์ก็คือการเป็นข้อต่อ เป็นนกพิราบท่ามกลางฝูงเหยื่ยว แต่หากไม่มีจาตุรนต์ก็อาจจะมีข้อต่ออื่นได้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นข้อคลางแคลงใจอยู่เหมือนกันว่า จาตุรนต์ดำรงอยู่ในรัฐบาลชุดนี้ได้อย่างไร


 


0 0 0


 


คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา


ของ ประชาไทหมายเลข 3


"คุณหญิงจารุวรรณเป็นชนวนที่นำไปสู่การถกเถียงในประเด็นต่างๆ ของสังคม ตั้งแต่เรื่ององค์กรอิสระ รัฐธรรมนูญ และ "พระราชอำนาจ" ของพระมหากษัตริย์ไทย เป็นครั้งแรกๆ ของคนในวัยอายุประมาณหนึ่งที่เรื่องแบบนี้นำมาพูดกันในที่เปิดเผย"


 


"คุณหญิงจารุวรรณถูกสังคมไทยนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้กับคอรัปชั่น ซึ่งคงเป็นเรื่องแปลกหากกรณีคุณหญิงจารุวรรณจะเงียบหายไป จารุวรรณจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือ คุณต้องไม่คอรัปชั่น คุณต้องรักสถาบัน กรณีจารุวรรณคือการปรากฏตัวชัดเจนขึ้นของคลื่นใต้น้ำที่ก่อตัวมาตลอดอย่างน้อยก็ข่าวลือที่เกี่ยวกับทักษิณกับสถาบัน และที่สุดนำไปสู่ม็อบสนธิ กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง"


 


ข้อคิดเห็นจากเวที


กรณีคุณหญิงจารุวรรณยังตอกย้ำอีกครั้งว่า สังคมไทยเอาคน ไม่เอาระบบ เพราะแม้ว่า กระบวนการแต่งตั้งจะมีปัญหาอย่างไร พอเป็นคุณหญิงซึ่งเป็นตัวบุคคลที่ดี คนไทยก็เลือกที่ตัวบุคคล จริงอยู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะมีปัญหา แต่นั่นก็คือระบบที่สร้างขึ้นมา ซึ่งก็เป็นปัญหาเรื่องวัฒนธรรมการใช้กฎหมายที่ไม่มีทางลงตัวและสมบูรณ์ได้เพียงช่วงเวลา 8 ปีที่ใช้รัฐธรรมนูญมา


 


อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องบุคคลหรือระบบ ก็อาจจะมองได้ด้วยว่า การที่ระบบไปมีผลกีดกันคนดี อันนั้นก็เป็นปัญหาของระบบด้วย มันมีวาทกรรมแบบ "ระบบที่ดี ต้องทำให้คนดีปกครองบ้านเมือง กีดกันคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ" กำกับอยู่ด้วยเหมือนกัน ปัญหาคือความดีของคุณหญิงจารุวรรณเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความดีของคุณหญิงที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งแล้ว อันนี้ก็เป็นปัญหาระบบด้วยเหมือนกัน


 


0 0 0


 


จ๋ามตอง


ของ ประชาไทหมายเลข 4


 


"เมื่อปี 2546 เธอได้รับคัดเลือกจากนิตยสาร Marie Claire ให้เป็น 1 ใน 10 ของผู้หญิงทั่วโลกที่ทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น และเมื่อต้นปี 2548 ที่ผ่านมา เธอได้รับรางวัล Reebok Human Rights Award ในฐานะตัวแทนคนหนุ่มสาวที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่อายุ 17 ปี


 


"ล่าสุด เธอยังได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ในผู้หญิง 1,000 คน ที่ควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปีนี้ อีกทั้งเธอยังเป็นหญิงไทยใหญ่คนเดียวที่ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้เชิญเธอเข้าพบที่ทำเนียบขาว เพื่อสอบถามในเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในพม่า และมีส่วนทำให้สหรัฐเพิ่มแรงกดดันรัฐบาลทหารพม่าในเวทีโลกมากขึ้น"


 


ข้อคิดเห็นจากเวที


ผลงานของ จ๋ามตอง และเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทยใหญ่ (Shan Women's Action Network - SWAN) ซึ่งร่วมกับมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ จัดทำ "รายงานใบอนุญาตข่มขืน" ที่กลายเป็นรายงานชิ้นที่ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจชะตากรรมของไทยใหญ่ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผลอย่างสำคัญต่อภูมิภาคนี้ แต่ดูเหมือนว่าในสังคมไทยเอง จ๋ามตอง จะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและออกจะยากเอาการหากจะเชื่อมโยงผลกระทบกับสังคมไทยให้คนไทยได้รับรู้ แม้จะจริงอยู่ว่า เธอเป็นบุคคลที่เราเห็นในปีที่ผ่านมาจากยอดผู้อ่านบทสัมภาษณ์ของเธอที่ลงในประชาไทหลังเดินทางกลับจากการพบบุชก็ตาม


 


0 0 0


 


แดจังกึม


ของ ประชาไทหมายเลข 5


"แดจังกึม เป็นตัวบุคคลในละครชุดเกาหลี ชาติเอเชียที่ฝ่าข้ามกำแพงวัฒนธรรมเข้าไปในหลายประเทศได้อย่างไม่น่าเชื่อ บุคคลในรัฐบาลหลายประเทศให้คำชื่นชมกับตัวละครตัวนี้ สำคัญก็คือ แดจังกึมทำให้เห็นว่า มีวิธีการมากมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างที่เกาหลีใช้มิติทางวัฒนธรรมเป็นตัวรุกสู่โลก แดจังกึมเป็นนโยบายที่เปิดเผยของรัฐบาลเกาหลีในฐานะอาวุธทางวัฒนธรรมทะลวงประเทศอื่น เหมือนที่อเมริกาทำสำเร็จมาตลอดหลายทศวรรษ"


 


"แดจังกึมทำให้วัฒนธรรมเกาหลีปรากฏและแยกออกจากวัฒนธรรมจีนอย่างชัดเจนในความรับรู้ของสังคมไทย ความน่าสนใจยังอยู่ตรงที่เป็นการรุกของวัฒนธรรมเอเชียอีกขั้ว นอกจาก จีน ญี่ปุ่น ยังเพิ่มเกาหลีเข้ามา นอกจากนี้เรายังเห็นความพยายามในการพัฒนาวิทยาการด้านอื่น ๆ ของเกาหลีด้วย เช่นอาวุธนิวเคลียร์ และเทคโนโลยีตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการรุกอย่างเป็นระบบของรัฐบาลเกาหลี"


 


ข้อคิดเห็นจากเวที


การเข้ามาของวัฒนธรรมเกาหลีปรากฏชัดเจนขึ้น ทั้งจากก่อนหน้านี้และมาถึงแดจังกึมที่ลงสู่กลุ่มที่กว้างขึ้น แต่ไม่ได้ต่างจากฟุตบอลที่เป็นอาวุธทางวัฒนธรรมของยุโรปที่เข้ามาในบ้านเรา ไม่ต่างจากภาพยนตร์ที่เป็นอาวุธของอเมริกา ซึ่งทั้งสองส่วนมีสินค้าและเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น มองในแง่นี้อาหารไทยได้รุกเข้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมานานแล้วเช่นกัน เพียงแต่นั่นคือขายตรง ไม่เนียนเท่ากับที่อเมริกาใช้ภาพยนตร์ ยุโรปใช้ฟุตบอล หรือเกาหลีใช้แดจังกึม และเป็นระบบซึ่งต่างจากนโยบายครัวโลกของไทย


 


สาระของเรื่องแดจังกึม อาจจะไม่ได้มีผลกระทบกับสังคมไทยมากไปกว่าวัฒนธรรมอื่นๆ แม้จะมีร้านอาหารเกาหลีมากขึ้น มีโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีมากขึ้นก็ตาม เหมือนที่จุง โคชิกะของญี่ปุ่น เคยทำให้วัยรุ่นไทยคลั่งวอลเลย์บอล คำว่าอารีดังเป็นคำยอดฮิตที่เรียกเกาหลีแล้วก็มลายไป อย่างไรก็ตามน่าจะได้มาตั้งคำถามกับสังคมไทยได้เหมือนกันว่า วัฒนธรรมของเราอ่อนมากจนรับวัฒนธรรมใครก็ได้ทั้งนั้น หรือการรับเอามาได้ทั้งนั้นนั่นเองที่เป็นวัฒนธรรมของเรา


 


0 0 0


 


ดร.วิษณุ เครืองาม


ของ ประชาไทหมายเลข 6


"แต่เดิมข้างกายของผู้มีอำนาจคือเทคโนแครท ด้านเศรษฐศาสตร์ พอถึงรัฐบาลทักษิณ สังคมเริ่มรับรู้แล้วว่า ข้างกายของผู้มีอำนาจเป็นเทคโนแครททางกฎหมาย และวิษณุคือหัวหอกที่ตอบสนองความต้องการหรือเป้าต่างๆ ของรัฐบาลที่ถูกข้อจำกัดทางกฎหมายกำกับไว้"


 


"เราไม่เคยเห็นนักกฎหมายชุดไหนที่ตอบสนองผู้มีอำนาจได้เท่าทีมที่อยู่กับทักษิณ นำโดยวิษณุ ซึ่งตอบสนองได้พลิ้วมาก เช่น พอคนบอกไม่เอากฎอัยการศึก แกก็ไม่เอา แต่ทำให้แย่กว่ากฎอัยการศึกเข้าไปอีก เวลาที่วิษณุออกมาอธิบายจะฟังได้อย่างสมเหตุสมผล และกลายเป็นโจทย์ที่ยากมากของนักกฎหมายที่จะไปคัดง้างกับวิษณุ"


 


"คุณูปการของวิษณุก็คือ ทำให้นักกฎหมายต้องดึงจิตวิญญาณดึงจิตสำนึกตัวเองกลับมาครั้งใหญ่ ทำให้นักกฎหมายต้องลับสมองประลองปัญญาอย่างมาก จะมาตอบง่ายๆ แบบที่คิดว่ารู้ไม่ได้อีกแล้ว เพราะนักกฎหมายที่ชื่อวิษณุจะสามารถตอบแบบอิงหลักการได้อย่างสบาย นักกฎหมายที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลจึงต้องมีความรู้เพื่อจะยันเขากลับให้ได้ เพราะบัดนี้กฎหมายได้กลายเป็นกิจการและเครื่องมือของรัฐอย่างจริงจังแล้ว"


 


ข้อคิดเห็นจากเวที


ค่อนข้างจะเห็นด้วย อย่างการรื้อกฎหมาย 373 ฉบับนั้นบางทีอาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงมากเสียยิ่งกว่าการรื้อกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียอีก แต่ภายใต้การใช้กฎหมายของวิษณุ ก็อาจจะทำให้กฎหมายคลายความศักดิ์สิทธิ์ลงไปด้วยเพราะมันกลายเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐซึ่งอาจมีแนวโน้มจะทำให้เกิดการดื้อแพ่งมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงเพราะมันไม่ใช่กติการ่วมแต่มันกลายเป็นพันธนาการ คือเมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยจะทำอะไรๆ ก็อยู่ที่กฎหมายเสียแล้ว ใครจะเอาวิษณุและทีมซึ่งเป็นตำราเล่มใหญ่ของนักกฎหมายอยู่


 


0 0 0


 


สนธิ ลิ้มทองกุล


ของ ประชาไทหมายเลข 7


 


"สนธิ ลิ้มทองกุล สร้าง "ผู้จัดการ" ให้กลายเป็นสถาบันได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ยกระดับวิชาชีพของสื่อมวลชนทั้งวงการขึ้นมาด้วยค่าตอบแทนทัดเทียมกับอาชีพอื่นๆ ผู้จัดการกลายเป็นตักศิลาที่ผลิตคนในแวดวงที่มีคุณภาพในช่วงเวลาหนึ่ง และกระจายไปอยู่ในที่ต่างๆ ภายหลังการล้มจากวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีบทบาทอย่างสูงในการไล่สุจินดา คราประยูร ในปี 2535"


 


"การสร้างม็อบของสนธิ แม้จะเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลัง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หน้าฉากของมันส่งผลเป็นคุณูปการของสังคมไทยอยู่มากมายและมีผลกระทบต่อการเมืองอย่างกว้างใหญ่ทั้งๆ ที่เห็นและไม่เห็นอยู่ในขณะนี้ หนึ่งคือ การปักหลักในเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อที่ไม่อาจจะคุกคามได้ง่ายๆ อย่างไม่ได้รับบทเรียนกลับไป สอง คือสิ่งที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ได้วิจารณ์อย่างแหลมคมว่า ความบ้าของสนธิมันปลดปล่อยคนให้ออกพ้นจากบรรยากาศแห่งความกลัวอำนาจอันล้นฟ้าของทักษิณ ซึ่งจะก่อให้เกิดการท้าทายตรวจสอบ ทำให้องค์กรอิสระที่เคยถูกแทรกแซงได้ทำงานเป็นตัวของตัวเอง และทำให้ทักษิณไม่สามารถทำอะไรง่ายๆ ได้เหมือนเดิม"


 


"นอกจากนี้ สนธิ ในปี 48 ยังกลายมาเป็นผู้กำหนดวาระของการเมืองไทยในปี 49 นั่นคือ วาระที่ว่าด้วยการปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในอนาคตก็เป็นได้"


 


ข้อคิดเห็นจากเวที


จริงส่วนหนึ่งที่สนธิได้ถอดสลักความกลัวของสังคมออก แต่เราก็พบว่า ภายใต้สภาพเช่นนี้ได้ผลักเราให้ไปอยู่ในความกลัวอีกแบบหนึ่ง เช่นการผลักให้เข้าไปสู่การปฏิรูปการเมืองแบบคืนอำนาจให้สถาบันกษัตริย์ ซึ่งบางทีนั่นอาจจะเป็นความน่ากลัวมากกว่าระบอบทักษิณเสียอีก อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งปรามาสทักษิณ ความอ่อนแรงของทักษิณในช่วงปลาย หรือการปฏิรูปการเมืองอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ น่าสนใจที่ว่าหากการปฏิรูปเป็นไปได้ตามแรงผลักดันของสนธิจะเป็นการปฏิรูปที่มาจากแรงของฝ่ายไหน ขวาหรือซ้าย ซึ่งบางทีอาจจะเป็นขวาเสรีนิยม แต่คนละกลุ่ม พูดง่ายๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องการต่อสู้ในแบบอุดมการณ์อะไรเลย แต่เป็นเรื่องของกลุ่มทุนกลุ่มไหนมากกว่า


 


0 0 0


 


สรยุทธ สุทัศนะจินดา


ของ ประชาไทหมายเลข 8


"สรยุทธ ได้รับการโหวตว่าเป็นพิธีกรชายที่เซ็กซี่ที่สุดจากเว็บไซต์ ยูฮู ดอทคอม ส่วนผลจากเอแบคโพลล์เขาได้ตำแหน่งสื่อมวลชนที่ชี้นำความคิดของคนในสังคมอันดับหนึ่ง และครองอันดับ 5 ในฐานะบุคคลแห่งปี จากการติดตามผลงานของสรยุทธ ต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนที่ทำให้คนหลายคนสนใจติดตามข่าวการเมือง แต่เราจะพบว่าหลายครั้งการวิเคราะห์ของสรยุทธ การแจกแจงของเขาไม่ได้ก่อให้เกิดการคิดใหม่หรือได้คิดขึ้นมามากนัก"


 


"ความน่าสนใจของสรยุทธ ยังต้องนับเริ่มต้นจากการหลุดจากแวดวงข่าวเข้ามาสู่แวดวงบันเทิง แต่สรยุทธวางตัวเองคาบเกี่ยวด้วยการทำข่าวให้เป็นเรื่องบันเทิง เราอาจจะเห็นได้ไม่ยากว่า สรยุทธมิได้นำประเด็นข่าวว่าอะไรคือสิ่งที่สังคมควรจะรับรู้เป็นตัวตั้ง แต่เลือกที่จะนำสิ่งที่สังคมอยากรู้เป็นตัวตั้ง เพราะมันขายได้ เราอาจจะเห็นได้ว่า เขาฉลาดที่จะวางตัว ในแบบไม่เลือกยืนตรงข้ามกับรัฐบาล จึงมักจะได้เข้าถึงแหล่งข่าวแบบเอ็กซ์คลูซีพ และกลายเป็นรายการที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถปฏิเสธที่จะไม่ออกรายการได้ หลายครั้งเราเห็นคำถามในเชิงตรวจสอบ แต่หากเราไม่ดูถูกสรยุทธ เราจะพบว่าคำถามของเขาไม่มีนัยสำคัญอะไรในการที่จะผ่าหรือเจาะลงไปให้ได้ประเด็นที่ประชาชนจะเห็นถึงปัญหากลไกเชิงโครงสร้างเลย"  


 


"สรยุทธเป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนสังคม แต่อาจจะเป็นกระจกที่ลวงตาทำให้คนรู้สึกว่าเรามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในการที่จะบอกถึงความแตกต่าง สรยุทธเป็นสื่อในความหมายของกระจก แต่ไม่ใช่สื่อในความหมายของ ตะเกียง"


 


ความคิดเห็นจากเวที


สรยุทธทำให้คนสนใจข่าวมากขึ้น แต่ก็เหมือนกับที่โน้ส - อุดม แต้พานิชทำ คือทำให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น แต่แค่นั้นจริงๆ ต่อจากนั้นจะพัฒนาไปสู่อะไรหรือไม่ ไม่รู้ได้ สรยุทธ คือภาพสะท้อนของสังคมไทยได้เหมือนกัน และการเบื่อสรยุทธอาจจะไม่เกิดขึ้นได้ง่ายนัก เพราะจนบัดนี้ละครน้ำเน่าก็ยังขายดิบขายดี หรืออาจเป็นไปได้ว่า คนเบื่อละครน้ำเน่าก็มาดูสรยุทธ พอเบื่อสรยุทธก็หันกลับไปดูละครน้ำเน่า ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือถูกหรือจะไปดูถูกดูแคลนกันได้


 


กรณียายใฮ สรยุทธตั้งใจมองในเชิงปัจเจก ในระดับเดียวกับเรื่องราวของ "ชีวิตต้องสู้" หรือ "ฝันที่เป็นจริง"คนหนึ่ง สรยุทธตั้งใจที่จะหลบหลีกไม่พูดถึงยายใฮในฐานะที่เป็นปัญหาของบุคคลอันเกิดจากปัญหาที่มาจากโครงสร้างหรือเป็นเพราะนโยบายรัฐ ทำไมจึงตัดสินเช่นนั้น เพราะการต่อสู้ของยายใฮไม่สามารถแยกออกได้จากการต่อสู้ของสมัชชาชาคนจน ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายที่เคลื่อนไหวกดดันรัฐเชิงโครงสร้าง แต่ตลอดการนำเสนอประวัติอันยาวนานของยายใฮ หลากฉากหลายตอน แทบไม่มีคำว่าสมัชชาคนจนหลุดออกมาจากการถามไถ่ของสรยุทธเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่สรยุทธจะไม่รู้ว่ายายไฮเกี่ยวข้องกับสมัชชาคนจนอย่างไร แต่นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ยายใฮได้ที่ดินคืนก็ได้ แน่นอนนั่นเป็นเรื่องดีแน่ แต่จะดีกว่านี้ถ้าทำให้ผู้คนรับรู้ด้วยว่า ยังมีอีกหลาย "ยายใฮ" ที่ยังต้องพ่ายแพ้ไม่มีที่ทำกินอยู่


 


.........................................................................


บทสรุป


The Visible Man ของ "ประชาไท"


ปี 2548


 


 


ด้วยระยะเวลาการนำเสนอและถกเถียงต่อเนื่องนานกว่า 4 ชั่วโมง ไม่นับเวลาของการจัดทำรายชื่อบุคคลที่จะนำเสนอ โดยการดำเนินการอภิปรายอย่างเหนื่อยยากของ อ.รุจน์ โกมลบุตร คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่ามกลางบรรยากาศจริงจังทว่าสรวลเสเฮฮา เวทีเฉพาะกิจโครงการ The Visible Man เห็นร่วมกันว่า ให้ใช้วิธีคัดเลือกด้วยการตัดออก โดยอาศัยหลักเกณฑ์ 4 ประการที่ได้วางร่วมกันไว้เป็นตัวตั้ง ได้แก่ 1.เป็นคนน่าสนใจ 2.มีผลกระทบ 3.ขำๆ ซึ่งหมายถึงมีประเด็นหรือจะเรียกว่ามีมุข และ 4.การเลือกนั้นต้องสะท้อนความเป็น "ประชาไท" ซึ่งพยายามจะเห็นหรือสะกิดในสิ่งที่คนไม่เห็น


 


ในรอบแรก วงอภิปรายเห็นควรให้ถอนชื่อ จ๋ามตอง จาตุรนต์ แดจังกึม และแหม่ม-แคทลียา ออก


 


ด้านคุณหญิงจารุวรรณ และ ดร.วิษณุ แม้เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับสนธิในด้านผลกระทบ เราพบว่า สนธินั้นขยายภาพไปได้หลายมิติและเราเห็นสนธิในหลายมิติมากกว่า ที่สำคัญ ไม่ว่าจะสนธิหรือคุณหญิงจารุวรรณ หรือแม้แต่วิษณุ ที่สุดแล้วเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ในสายตาของผู้คนในสังคมให้ได้ชัดอยู่แล้ว ซึ่งหากเราใช้หลักเกณฑ์ว่า บุคคลที่เราเลือกในนาม "ประชาไท" จะต้องสะท้อนความเป็น "เรา" ที่มุ่งจะเป็นผู้เสนอข่าวที่สำคัญแต่มักไม่ค่อยเป็นข่าว แม้ว่าบุคคลทั้ง 4 ที่เหลือจะเป็นบุคคลที่มีผลกระทบกว้างไกล มีความน่าสนใจ และมีประเด็นที่บอกนัยของสังคม แต่บุคคลไหนละที่เราอยากจะเน้นหรือชูให้สังคมได้เห็น ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความหมายว่าดีหรือไม่ดี


 


หลังผ่านการถกเถียงวงประชุม ที่ประชุมเห็นเป็นเอกฉันท์ว่า


 


สรยุทธ สุทัศนะจินดา คือ The Visible Man แห่งปีของ "ประชาไท" ในฐานะผู้เลือกที่จะเป็นกระจกให้สังคม มากกว่าตะเกียงส่องทางให้สังคม


 


เราเลือกเขาผู้เป็นชายที่อยู่ท่ามกลางแสงไฟ แต่เราได้ยินแต่เสียง


 


และเราเลือกเขาในฐานะที่เราและสังคมของเรามักจะ "ส่อง" กระจก แต่ "ไม่เห็น" หรืออาจ "ไม่พิจารณา" บานกระจก ทั้งๆ ที่มีหน้าที่สำคัญในการส่องเราและสังคมของเรา


 


0 0 0


 


สรยุทธ สุทัศนะจินดา


The Visible Man 2548


 


"เราส่องกระจก แต่ไม่เห็นกระจก"


 


 


 กลับหน้าแรกประชาไท 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net