Skip to main content
sharethis

อัจฉรา รักยุติธรรม : สำนักข่าวประชาธรรม


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 


ถ้าติดตามข่าวสารเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติในห้วงเวลาที่ผ่านมา จะพอสังเกตได้ว่ายุคนี้เขาพูด เรื่อง "พื้นที่พิเศษ" กันอย่างมาก ทั้งที่ระบุกันชัดๆ ไปเลยอย่าง "เขตป่าอนุรักษ์พิเศษ" "เขตเศรษฐกิจพิเศษ" หรือแบบที่ไม่ได้ระบุคำนี้ลงไปในชื่อโครงการอย่าง โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ และไนท์ซาฟารี แต่ความหมายของพื้นที่ในโครงการเหล่านี้ก็มิอาจเป็นอื่นไปได้นอกจากพื้นที่ที่มีความ "พิเศษ"


 


แม้จะยังไม่ได้เปิดพจนานุกรมตรวจเช็ค แต่ก็เชื่อว่าคำว่า "พิเศษ" นั้น เป็นคนละความหมายกับคำว่า "วิเศษ" แต่ "พื้นที่พิเศษ" ที่ว่านี้กลับเป็น "พื้นที่วิเศษ" ไปในตัว ยิ่งไปกว่านั้น บ่อยครั้งคำว่า "พิเศษ" ยังถูกใช้ให้ไปคล้ายกับคำว่า "พิสดาร" เอาเสียด้วย


 


เขตป่าอนุรักษ์พิเศษ


ประเด็นที่กำนันอนันต์ ดวงแก้วเรือน จากเครือข่ายป่าชุมชน ถกเถียงกับท่านยงยุทธ ติยะไพรัช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งนอกจอ และในจอ (รายการถึงลูกถึงคน) ก็คือ เหตุใดรัฐจึงยังต้องการหวงกัน "เขตป่าอนุรักษ์พิเศษ" ไว้ในการดูแลของตนเพียงลำพัง ทั้งๆ ที่ท่านรัฐมนตรีก็ยอมรับว่า "การมีส่วนร่วม" จัดการทรัพยากรธรรมชาตินั้นเป็นแนวทางที่ดีที่สุด


 


ท่านรัฐมนตรีอ้างละเอียดลงไปถึงความอ่อนไหวและเปราะบางของแบคทีเรีย จุลินทรีย์ต่างๆ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์พิเศษว่าจะต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของบรรดาด๊อกเตอร์ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษา ซึ่งทางฝ่ายชาวบ้านเองก็ไม่ได้ขัดเรื่องความรู้ระดับด๊อกเตอร์ แต่สงสัยว่าเหตุไฉนจะต้องแยกพื้นที่เหล่านั้นออกไปให้มัน "พิเศษ" ทำไมจึงไม่ใช้หลักการมีส่วนร่วม


 


ท่านรัฐมนตรีตอบว่าก็ "มีส่วนร่วม" ทำไมจะไม่มีส่วนร่วม แต่เป็นการมีส่วนร่วมระหว่างท่านด๊อกเตอร์ทั้งหลายที่รัฐจัดหามา กับเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น


 


ฝ่ายชาวบ้านจึงสงสัยว่า…ก็หากจะให้บรรดาด๊อกเตอร์เหล่านั้นมาร่วมกับคณะกรรมการชาวบ้าน และคณะกรรมการร่วมหลายฝ่าย (ชาวบ้าน นักวิชาการ รัฐ และประชาสังคม) ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับชาติที่ระบุไว้แล้วในร่างกฎหมายป่าชุมชน (ฉบับประชาชน) จะเป็นไรไป ไม่เห็นจะต้องแยกพื้นที่ตรงนั้นออกไปให้มัน "พิเศษ" ไปกว่าพื้นที่อื่นๆ เลย ถูกไล่ต้อนมาถึงตรงนี้ท่านรัฐมนตรีก็กล่าวถึงความอ่อนไหวของจุลินทรีย์ และแบคทีเรียวนไปวนมาอยู่อย่างนั้น


 


สารพัดความวิเศษ


กล่าวถึงกรณีโครงการสวนสัตว์กลางคืน หรือไนท์ซาฟารีที่โด่งดังอยู่ในขณะนี้ ความ "พิเศษ" ของมันอยู่ที่ความ "วิเศษ" ของโครงการที่ราวกับเหาะเหินเดินอากาศมา เพราะเรียกว่าเป็นเม็กกะโปรเจ็ค ที่ใช้งบประมาณบานตะไทนับพันล้านบาท แต่อนุมัติโครงการได้ภายในเวลาไม่กี่วัน ตัดสินใจกันเพียงคนไม่กี่คน ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย ซึ่งเป็นเขตป่าอนุรักษ์ที่หวงกันนักกันหนาจนถึงกลับพยายามที่ไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แต่ในที่สุดพื้นที่ป่ากลับถูกไถจนเลี่ยนเตียนโล่งเพื่อสร้างกรงขังสัตว์ นี่ยังไม่นับรวมแนวคิดเมนูเปิบพิสดารอาหารสัตว์ป่าที่สวนกระแสการอนุรักษ์อย่างสุดโต่งจนต้องเบรกเสียจนตัวโก่ง


 


ส่วนพื้นที่พิเศษอื่นๆ ก็ล้วนเกิดขึ้นแบบเหนือเมฆไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งเตรียมจะผ่านกฎหมายเพื่อจะทำให้คนไม่กี่คนมีอำนาจเนรมิตสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่พิเศษนั้นได้ทุกตารางนิ้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎหมายอื่นๆ ที่มีอยู่เหนือพื้นที่นั้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การปกครองท้องถิ่น หรืออื่นๆ ทั้งนี้ โดยใช้ข้ออ้างอย่างเดียว คือการพัฒนาเศรษฐกิจ


 


โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่เอง ก็มีมีมติคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินโครงการไปแล้วในพื้นที่นับพันชุมชนทั่วประเทศ มีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาโครงการโดยเฉพาะ เพื่อที่จะจำกัดสิทธิ และควบคุมประชากรที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้นเป็นพิเศษ เพราะเห็นว่าพวกเขาจะเป็นตัวการบ่อนทำลายทรัพยากรธรรมชาติ นี่ยังไม่นับรวมการสอดแทรกแผนการพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น


 


พื้นที่พิเศษ ...พื้นที่ของใคร?


ความพิเศษของพื้นที่พิเศษเหล่านี้อยู่ตรงไหน มันแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในแผ่นดินนี้อย่างไร? คำถามนี้คงตอบได้ไม่ยาก หากต้องอาศัยสมการหลายชั้นสักหน่อย


 


หากถามเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างเช่น ท่านรัฐมนตรียงยุทธ ติยะไพรัช ท่านปลอดประสพ สุรัสวดี หรือท่านอื่นๆ ก็คงตอบไม่แตกต่างกันว่า พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ "ของส่วนรวม" ที่จะต้องได้รับการดูแลรักษา หรือพัฒนาเป็นพิเศษ เพราะมีความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ หรืออะไรก็ว่ากันไป


 


แต่คงต้องถามกันต่อว่า "ส่วนรวม" นั้นหมายถึงใคร?


 


การดำเนินงานของรัฐโดยทั่วไปก็มักอ้างว่าเป็นการดำเนินงานเพื่อส่วนรวม เพื่อประชาชน ประชาชนส่วนรวมในที่นี้ จะหมายรวมถึงคนในเขตป่าที่เสียสิทธิการใช้ประโยชน์จากป่าและถูกขับไล่ออกจากป่าหรือไม่ …หมายรวมถึงชาวบ้านแม่เหียะและหางดงที่จะต้องถูกโครงการไนท์ซาฟารีแย่งใช้น้ำหรือเปล่า …หมายถึงตาสีตาสาที่ถูกบังคับให้ขายที่ดิน หรือจำยอมต้องเสพมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อชุมชนตกอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยใช่ไหม


 


หรือหมายถึงแรงงานในเมืองใหญ่ที่ไม่เคยมีปัญญาเก็บเงินไปเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ หรือสวนสัตว์พิสดารอะไรนั่นเลย …หมายถึงคนเชียงใหม่ที่จะต้องทุกข์ระทมอยู่กับความแออัดยัดเยียดที่เพิ่มขึ้นจากโครงการเม็กกะโปรเจ็คที่ถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง…หมายถึงมนุษย์เงินเดือนที่ถูกหลอกไปวันๆ ว่าคุณภาพชีวิตของตนจะดีขึ้นหากเศรษฐกิจของประเทศก้าวหน้าจากการท่องเที่ยว และการพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งๆ ที่ค่าน้ำมัน ค่าไฟ ค่าน้ำ และมลพิษต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน


 


เอากันแน่ๆ ตอบกันให้ชัดๆ ว่าใครคือ "ประชาชนส่วนรวม" ที่ว่า


 


ถ้าพื้นที่พิเศษเหล่านี้เป็นพื้นที่เพื่อประชาชนจริงๆ เหตุใดประชาชนส่วนรวม จึงถูกกีดกันออกจากการมี "ส่วนร่วม" ในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้รายละเอียดโครงการ หรือการร่วมตัดสินใจว่าควรจะมีโครงการนั้นๆ หรือไม่ และเหตุใดชุมชนในเขตป่า และประชาสังคม จึงถูกกกันออกจากการมีส่วนร่วมจัดการเขตป่าอนุรักษ์พิเศษ


 


ผนวกรวม หรือกีดกัน


สำหรับผู้ที่ไม่ได้ติดตามรายละเอียดอย่างใกล้ชิด อาจเข้าใจผิดว่า การอนุญาตให้จัดตั้งป่าชุมชน ก็คือการมอบพื้นที่พิเศษให้แก่ชุมชนในป่า ไม่ต่างอะไรกับการที่รัฐจัดตั้งพื้นที่พิเศษทั้งหลาย


 


ขอบอกเน้นๆ กันตรงนี้เลยว่า "ต่าง" และต่างอย่างมากเสียด้วย เนื่องจากพื้นที่ป่าชุมชนนั้น ใช้หลักของการผนวกรวม ไม่ใช่หลักของการกีดกันแบบพื้นที่พิเศษของรัฐ และชุมชนในป่าก็มิได้มีสิทธิพิเศษเหนือกว่าประชาชนทั่วไป


 


ผนวกรวมอย่างไร ? ผนวกรวมให้คนที่อยู่ในป่าและคนที่อยู่นอกป่า (ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาสังคมต่างๆ) มาร่วมมือกันจัดการป่า เพื่อให้ป่านั้นมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน และเป็นหลักประกันว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ร่วมกันต่อไป โดยไม่มีใครถูกกีดกันจากสิทธิประโยชน์นี้ คนในเมืองก็จะมีแหล่งต้นน้ำลำธาร คนที่อยู่ในป่าก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุขโดยไม่ต้องถูกไล่ออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด


 


ที่บอกว่าไม่มีสิทธิพิเศษ ก็เพราะว่าชุมชนในเขตป่าไม่มีสิทธิหรืออำนาจใดๆ ที่จะทำลายป่า ไม่มีสิทธิสร้างรีสอร์ท ทำถนน สร้างบ้านพักตากอากาศ ตัดไม้แปรรูปขาย หรือเปิดสวนสัตว์ในพื้นที่ป่าชุมชนจะมีก็แต่เพียงสิทธิในการเก็บผัก หาฟืน เก็บเห็ดจากผืนป่าใกล้หมู่บ้าน ซึ่งก็เป็นการทำมาหากินตามปกติของมนุษย์ธรรมดาเท่านั้นเอง หากประชาชนในพื้นที่อื่นที่อยู่แสนไกลอยากจะเข้าไปทำมาหากินอย่างพวกเขาบ้างก็คงไม่มีใครว่ากัน แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่ทำลายป่าให้เสียหาย เคารพกฎเกณฑ์ของชุมชน และทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าด้วย       


 


แต่สำหรับพื้นที่พิเศษของรัฐทุกแห่ง ล้วนเป็นพื้นที่ที่ "กีดกัน" ประชาชนจากการมีส่วนร่วมและเข้าถึง เพราะผู้มีอำนาจสิทธิขาดล้วนแต่เป็นหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลายก็มีอำนาจที่จะทำอะไรแปลกๆ ได้เสียด้วย แม้ว่ามันจะเป็นการทำลายป่าก็ตาม อย่างเช่น การถางไถพื้นที่ป่าเพื่อสร้างกรงแล้วจับสัตว์ป่ามาใส่ไว้ หรือการสร้างสำนักงานป่าไม้และบ้านพักในพื้นที่ป่า เอาไว้คอยรับรองญาติมิตรที่มาพักผ่อนตากอากาศกันในวันหยุด


 


ไปอ่านกฎหมายดูเถิด ไม๋ว่าพระราชบัญญัติ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่งฉบับใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับ "พื้นที่พิเศษ" เหล่านี้ก็ล้วนแต่ผูกขาดอำนาจการบริหารจัดการทั้งหมดอยู่ที่รัฐเพียงฝ่ายเดียว หรือบางครั้งก็เพียงคนเดียว


 


ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่า ประชาชนทั่วไปจะมีสิทธิเข้าถึงพื้นที่พิเศษอย่างเท่าเทียม กับเจ้าหน้าที่รัฐ และพวกพ้องของเขา หรือประชาชนอีกบางส่วนที่อาจจะมีเงินมีทอง มีอำนาจบารมีจนทำให้กลายเป็นคนพิเศษไปด้วย


 


ดังนั้น อย่าได้มาอ้างถึงประชาชนส่วนรวมที่ไม่มีตัวตน


 


สำหรับประชาชนธรรมดาจริงๆ แล้วไม่มีวันที่จะมีสิทธิในพื้นที่ "พิเศษ" ที่ "วิเศษ" เหล่านี้ได้หรอก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net