Skip to main content
sharethis

ชมรมนักศึกษากับการเมืองเพื่อการพัฒนา ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเวทีเสวนาเรื่อง "จาก WSF ถึง WTO 2005 : มาร่วมกันท้าทายเสรีนิยมใหม่" โดยมีนักคิด นักวิชาการ ร่วมกันถกถึงผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรี ไทย-สหรัฐ ที่จะมีการเจรจากันที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 9 - 13 ม.ค.นี้

 

ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชมรมนักศึกษากับการเมืองเพื่อการพัฒนา ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเวทีเสวนา เรื่อง "จาก WSF ถึง WTO 2005 : มาร่วมกันท้าทายเสรีนิยมใหม่" โดยมีนักคิด นักวิชาการ ร่วมกันถกประเด็นผลกระทบจากการเปิดเจรจาการค้าเสรี ไทย-สหรัฐ ที่ตัวแทนการค้าจะมีการเปิดเจรจากันขึ้นที่ จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 9 - 13 ม.ค.นี้

 

กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทน กลุ่ม "FTA Watch" กล่าวว่า การเปิดการเจรจาการค้าเสรี ไทย - สหรัฐ ในวันที่ 9 - 13 ม.ค.นี้ จะมีข้อตกลงสินค้าเกษตร สิทธิบัตรยา การบริการ สิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต รวมไปถึงข้อตกลงเสรีการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

"กรณีข้อตกลงสินค้าเกษตรระหว่างไทย - สหรัฐ ที่เห็นชัดเจนก็คือ มีการลดอัตราภาษีนำเข้า และการเปลี่ยนมาใช้มาตรการโควตาภาษีแทนการจำกัดการนำเข้า ซึ่งจะทำให้มีการกำหนดโควตาการนำเข้าสินค้าเกษตรจำนวน 23 รายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวโพด ข้าว ถั่วเหลือง มันฝรั่ง และอื่นๆ

 

"นอกจากนั้น สหรัฐยังสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในทุกด้าน ผลก็คือ สินค้าเกษตรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยของไทยจะต้องล้มละลาย เพราะจะถูกชักชวนให้ทำการปลูกพืชเพื่อการค้า เพื่อการส่งออก แต่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น และในที่สุดก็จะเจ๊ง จนถึงกับต้องมีการฆ่าตัวตายอย่างแน่นอน"

 

กิ่งกร กล่าวอีกว่า การเปิดเสรีการเกษตรที่ผ่านมา ทำให้สินค้าเกษตรตกต่ำ แต่สินค้าสำเร็จรูปกลับไม่ลดลง ยกตัวอย่างเช่น กาแฟ จากเมื่อก่อนเกษตรกรผลิตกาแฟ ขายได้ 75 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบัน ลดลงเหลือประมาณ 20-25 บาทต่อกิโลกรัม แต่กาแฟสำเร็จรูปกลับมีราคาแพง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า มีบรรษัทข้ามชาติไม่กี่ยี่ห้อที่จับมือกัน ซึ่งเมื่อมองภาพรวมแล้ว จะเห็นว่าประโยชน์ของ FTA จะตกอยู่กับกลุ่ม 50 บรรษัทข้ามชาติที่มีอยู่ในโลก ซึ่งในส่วนของประเทศไทย จะมีกลุ่มซีพี อยู่ในกลุ่มนี้กับเขาด้วย

 

"ในด้านสิทธิบัตรยา สหรัฐพยายามต้องการให้ยาผลิตออกมาช้าลง ซึ่งจะทำให้ไทยต้องเสียผลประโยชน์ประมาณ 30,000 ล้านบาท รวมไปถึงการพยายามเข้ามาผูกขาดการขายยา คือต้องการให้ไทยขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยาออกไปจาก 20 ปีหากเกิดกรณีความล่าช้าของระบบในการจดสิทธิบัตร ซึ่งทำให้ยาที่ติดสิทธิบัตรมีเวลาผูกขาดในตลาดยาวขึ้น

 

"นอกจากนั้น ยังมีข้อตกลงด้านสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิต ยกตัวอย่างเช่น จุลินทรีย์ กฎหมายไทยเราก็ยังไม่มี ซึ่งหากปล่อยให้เขาเข้ามาวิจัยและรับรองสิทธิบัตร ก็จะเป็นเรื่องน่ากลัวในอนาคต รวมไปถึงการเปิดเสรีการลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะอาจถึงขั้นไม่สามารถจะป้องกันประเทศได้เลย หากมีการเปิดเสรีการลงทุนเป็นการให้สิทธิที่มากเกินจนไร้ขีดจำกัด"

 

อุษามาศ เสียมภักดี อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า WTO ได้มีความล้มเหลวมาหลายครั้ง จึงต้องมีการพยายามหาวิธีการใหม่ๆ เข้ามา นั่นคือ FTA ซึ่งเป็นการเปิดช่องเข้ามาเพื่อต้องการแยกสลายกลุ่มประเทศที่คัดค้านไม่เห็นด้วย เป็นการทอนอำนาจในการรวมกลุ่มการเจรจาทางการค้า ซึ่งประเทศไทยเราก็ขยันเหลือเกินที่จะเร่งให้มีการเปิดเจรจาการค้าเสรีกับสารพัดประเทศ ไม่ว่า อินเดีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย หรือ จีน

 

"ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า การเข้าไปมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จะไม่มีการเข้าร่วมเจรจาแต่อย่างใดเลย แต่กลับเปิดช่องให้ตัวแทนการค้าเข้าไปเท่านั้น ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีพลังการต่อรอง เพื่อสะท้อนออกมาว่า มันมีความเป็นธรรมมากน้อยเพียงใด เกษตรกร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ทั่วโลกจะได้อะไร หรือว่าจะตกอยู่แต่ในมือของบรรษัทข้ามชาติเท่านั้น"

 

ด้าน ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระ และคอลัมนิสต์นิตยสารฟ้าเดียวกันบอกว่า จริงๆ แล้ว ไม่ว่า WTO หรือ FTA นั้นไม่แตกต่างกัน ยังคงเป็นแฝดนรก หรือซาตานในลัทธิเสรีนิยมใหม่ที่ต้องการครอบคลุมชีวิตคนทั้งโลก ซึ่งหากมีการเปิดเสรีแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือหายนะ ไม่ใช่ความมั่งคั่ง

 

"ลัทธิเสรีนิยมใหม่ นั้นต้องการแยกระบบออกจากสถาบันทางสังคมและไม่ยอมให้เข้ามาแทรกแซงอีกด้วย เมื่อมันก้าวขึ้นไปถึงจุดสูงสุด มันจะดูดกลืนระบบสังคมทุกอย่าง ดูดกลืนระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงแรงงาน ทำให้มนุษย์กลายเป็นแรงงานสินค้าที่จะถูกทำลายทิ้งได้ นอกจากนั้น มันจะดูดกลืนที่ดิน ซึ่งจะกลายเป็นสินค้าที่จะต้องหมดสิ้นไป แม้กระทั่งเงิน ทั้งที่เป็นเพียงสื่อกลาง แต่ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า ทำให้ระบบไม่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจจริง เพราะเงินไปติดที่ระบบตลาดหุ้น และอยากจะบอกว่า การเปิดเสรีทางการค้า คนที่ได้รับผลประโยชน์ ไม่ใช่ประเทศที่พัฒนา ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศที่ยากจน แต่การเปิดการค้าเสรีนั้นเอื้อผลประโยชน์ให้เฉพาะชนชั้นทางเศรษฐกิจกลุ่มหนึ่งเท่านั้น"

 

ภัควดี ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ตามมา หลังการเปิดข้อตกลงเขตการค้าเสรี จะทำให้ระบบการศึกษา สาธารณสุข วัฒนธรรม เพศสัมพันธ์ พืช พันธุกรรม แม้กระทั่ง น้ำ ไฟฟ้า จะถูกทำให้กลายเป็นสินค้า และในที่สุดก็จะนำไปสู่การทำลายตัวเอง

 

ในขณะที่ สมศักดิ์ โยอินชัย ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าวว่า เมื่อพูดถึงผลกระทบของเกษตรจาก เอฟทีเอ ทุกวันนี้ยังมองไม่เห็นอนาคตของเกษตรกรไทยเลย และยิ่งเมื่อมีการเปิดเสรีการค้า หรือ WTO เข้ามา ก็ยิ่งจะทำให้เกษตรกรแทบจะกลายเป็นสัตว์เลี้ยงที่อยู่ในไร่นา โดยไม่มีการยืนอยู่ได้อย่างแท้จริง

 

"ดูได้จากการเปิดเสรีการค้ากับจีน ตอนแรกทุกคนต่างคิดกันว่า หากผลิตลำไยขายให้กับประเทศจีน เพียงแค่คนจีนกินลำไยคนละหนึ่งลูก ก็รวยกันแล้ว แต่สุดท้ายเห็นได้ชัดว่า ขณะนี้ลำไยกว่า 2,000 ตัน ก็ยังไม่ได้ขาย และยังเหลืออยู่ในโกดังกันอยู่ อีกทั้งผลกระทบหลังจากนั้น เกษตรกรลำไยที่เข้าไปลงทะเบียนที่มีระบบการโกงกันนั้น ส่งผลทำให้เกษตรกรกว่า 1 หมื่นคนต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีกันในขณะนี้ ดังนั้น จึงอยากบอกว่า นโยบายการเปิดเสรีการค้า จึงเป็นเพียงการขายฝันเท่านั้นเอง"

 

สมศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ดับเบิลยู ที โอ หรือ เอฟทีเอ เป็นเครื่องมือของทุนข้ามชาติ ที่สุมหัวกันเพื่อพูดคุยกันว่าจะซื้อขายโลกใบนี้กันอย่างไร เพราะฉะนั้น ถ้าสังคมไทยไม่เข้าใจ ก็คิดว่ายากจะต้านทาน เพราะว่า เอฟทีเอ คือการเปิดเสรีทางการค้า ที่จะขายทุกอย่างที่ขวางหน้า ขายแม้กระทั่งคน แรงงาน รวมไปถึงทรัพยากรดิน น้ำ ป่า พืชพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เกษตรกร แต่มันหมายถึงทุกคนในสังคม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net