WTO - FTA : ลัทธิเสรีนิยมใหม่ ที่ครอบงำมนุษยชาติอย่างเบ็ดเสร็จ

 

ภัควดี วีระภาศพงษ์ นักคิด นักแปลอิสระผู้เฝ้าติดตามการรุกคืบของ "ลัทธิเสรีนิยมใหม่" ทั่วโลก กล่าวในเวทีเสวนา "จาก WSF ถึง WTO : มาร่วมกันทายท้าเสรีนิยมใหม่" ที่ห้องประชุม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา "ประชาไท" เรียบเรียงเพื่อต้อนรับวาระการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐ รอบที่ 6 ที่กำลังจะมีขึ้นที่เชียงใหม่ระหว่างวันที่ 9-13 มกราคมนี้

 

0 0 0

 

ความจริง การค้าในโลกเกิดมานานแล้ว ระบบตลาดของมนุษย์มันมีอยู่มานมนาน แต่มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นตลาดเสรี แล้วตลาดเสรีมันไม่ได้สร้างความมั่นคั่งให้โลกได้จริง มีแต่ว่าความพยายามที่เปิดเสรี ครั้งหนึ่งเมื่อมีการยกเลิกมาตรฐานทองคำในประมาณต้นทศตวรรษที่ 20 สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ การเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นความพยายามตอบโต้การเปิดเสรีของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการตอบโต้เชิงนโยบาย คนที่ศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ เขาจะบอกว่า การค้าเสรีเมื่อเปิดแล้วสิ่งที่ตามมามักเป็นหายนะเสมอ

 

ในขณะที่ความมั่นคงในโลกส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น ถ้าดูจากประวัติศาสตร์แล้วจะเกิดมาจากการวางแผนและการสนับสนุนของรัฐบาล มีการศึกษาว่าภาคเศรษบกิจไหนมีศักยภาพที่จะเติบโต เพื่อที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไปในทิศทางไหน ฉะนั้นการวางแผนและการปกป้องต่างหาก ที่ทำให้เกิดความมั่นคั่งขึ้นมาในสังคมของประเทศแต่ละประเทศ การค้าเสรียังไม่เคยพิสูจน์ได้เลยว่าสร้างความมั่นคงได้จริง

 

"การค้าเสรี" คือการครอบงำวิธีคิดของมนุษย์ในปัจจุบันเกือบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และคำว่าการค้าเสรีปัจจุบันที่พูดๆ กันประเด็นหนึ่งก็อยู่ในการพูดเรื่อง "ทริปส์" นี้ คืออยากให้เห็นว่า มันมีความขัดแย้งในตัวเองสูงมาก เพราะถ้าเสรีจริง ทำไมต้องจดสิทธิบัตร ถ้ามันเสรีและดีจริง ทำไมไม่เปิดไปเลย? ทำไมจะต้องการปกปิดเอาไว้แบบนี้

 

ประการที่สอง ก็คือ การค้าเสรีในปัจจุบันอาศัย WTO กับ FTA เป็นตัวที่กระตุ้นเพื่อที่จะบังคับให้มีการเปิดเสรีขึ้นมา คนที่ได้ผลประโยชน์เกี่ยวกับการค้าเสรี มันจึงไม่ใช่ประเทศพัฒนา ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศร่ำรวย ยากจน แต่การค้าเสรีมันจะให้ประโยชน์เฉพาะชนชั้นทางเศรษฐกิจระดับสูงเท่านั้น ในขณะที่ประชาชนในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนมาก ก็ได้รับผลกระทบจากการค้าเสรีได้เหมือนกัน อย่างเช่น ในอเมริกาตอนนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า มีโลกที่ 3 ทับซ้อนอยู่ในโลกที่ 1 มีคนจนอยู่ในประเทศที่ร่ำรวยมหาศาลจากสหรัฐฯ ในยุโรปก็เหมือนกัน ตอนนี้ยุโรปตะวันออกกำลังจะถูกทำให้กลายเป็นโลกที่ 3 เพื่อป้อนวัตถุดิบ สินค้าราคาถูก และแรงงานราคาถูกให้แก่โลกที่ 1 ทางยุโรปตะวันตก

 

ลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาไม่นาน และมันมีความแตกต่างจากระบบเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างไร ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ระบบเสรีนิยมใหม่นี้ แตกต่างจากโลกในที่อื่นๆ ก็คือ ในสมัยก่อน ระบบเศรษฐกิจเกือบทุกประเภทในโลก มันเป็นระบบเศรษฐกิจที่ถูกฝังในระบบสังคม คือมันมีการจำกัดดูแล ทั้งหมดถูกฝังอยู่ในระบบสังคมที่ประกอบกับวัฒนธรรม ศาสนา ระบบการปกครองก็แล้วแต่ สถาบันทางสังคมเข้ามากำกับดูแลเสมอ

 

ลัทธิเสรีนิยมใหม่ น่าจะเป็นแนวคิดหรือลัทธิทางเศรษฐกิจอันแรกของโลกเลยที่ต้องการแยกระบบเศรษฐกิจออกมาจากระบบสังคม คือแยกออกจากการมีการกำกับดูแล และไม่ยอมให้สถาบันทางสังคมใดๆ เข้ามาแทรกแซงด้วย

 

และเมื่อระบบตลาดที่ไม่มีการกำกับดูแลขยายตัวจนถึงระดับสูงสุดแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ มันจะดูดซึมเอาระบบสังคมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน

 

ในการดูดกลืนนั้นมี 4 ขั้นตอน อันแรกก็คือ แรงงาน เพราะมนุษย์ไม่ควรเป็นสินค้า เพราะมนุษย์เป็นระบบกายภาพที่รองรับตลาด หมายความว่า ตลาดต้องรับใช้มนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์รับใช้ตลาด แต่การที่มนุษย์กลายเป็นแรงงาน ก็หมายความว่า มนุษย์เป็นสินค้าในตลาด มนุษย์ถูกทำลายคุณค่า การที่มนุษย์ถูกทำลายก็เท่ากับตลาดกำลังถูกทำลายลงเช่นกัน

 

ประการที่สองก็คือ ที่ดิน ที่ไม่ควรเป็นสินค้า เพราะที่ดินมันคือธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นระบบกายภาพที่ต้องรองรับทั้งมนุษย์และสัตว์เอาไว้ แต่เมื่อถูกดูดเข้าไปอยู่ในระบบตลาด มันก็กลายเป็นสินค้าที่ถูกนำมาใช้อย่างหมดไปได้ ซึ่งเท่ากับว่า ในด้านของความขัดแย้งของระบบตลาดเอง มันกำลังทำลายตัวเองลงไปทุกวัน

           

ประการที่สาม คือ เงิน เพราะเงินนั้นเป็นสิ่งสมมุติ มันเป็นเพียงแค่ส่วนกลางของการแลกเปลี่ยน สมมุติเงินกลายเป็นสินค้าแล้ว มันจะทำระบบการตลาดปัจจุบัน มันไม่เอื้อให้เกิดการหยิบกิน เพราะว่าทุนในโลกตอนนี้ มันทุ่มเทไปอยู่ในการจัดหาทุน มันไม่ได้สร้างเพียงการผลิตขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจ ทรัพยากรปัจจัยทุนทั้งหมดในโลกมันไปอยู่ที่ตลาดหุ้น คือตลาดหุ้นที่เป็นตลาดของเงิน มันใหญ่จนกระทั่งตอนนี้ภาคการผลิตมันไม่ได้เติบโตแล้ว เพราะว่ามันได้กำไรตรงนั้นมากกว่า

           

ประการที่สี่ ผลตามมาก็คือว่า สัทธิเสรีนิยมใหม่ก็จะทำให้กิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ที่ไม่เคยเป็นสินค้า และไม่ควรเป็นสินค้าต้องกลายเป็นสินค้า เช่นการศึกษา สาธารณะสุข สวัสดิการ วิทยาศาสตร์ สุขภาพอนามัย วัฒนธรรม

 

พอมาถึงที่ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้าไปแล้ว ลัทธิเสรีนิยมใหม่ก็จะทำให้กาละเทศะกลายเป็นสินค้า กาลเวลาที่กลายเป็นสินค้าก็คือ การเก็งกำไร ให้การอำนวยในการซื้อสินค้าล่วงหน้า พันธบัตร การประกันราคา

           

ประการสุดท้ายคือ การกำหนดนโยบายในทุกสังคม หมายความว่า ทุกประเทศจะต้องยอมรับโครงสร้างของตลาดในระบบทุนนิยม และในขณะเดียวกัน ตัวเองก็จะต้องปรับรื้อสถาบัน องค์กรเดิมของตนเองจะต้องถูกครอบครองความเป็นใหญ่ในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับสากล จะต้องปรับรื้อตัวเองให้สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของตลาดทุนนิยม หรือเสรีนิยมใหม่ด้วย

 

หมายความว่า เสรีนิยมใหม่ จะเข้าไปครอบงำขบวนการที่เป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์โลกทั้งหมด เราจะเห็นว่า ปัจจุบันนี้ เรามักจะมองทุกอย่างโดยตัดสินจากแง่คิดมุมมองทางเศรษฐกิจทั้งนั้น เช่นวัฒนธรรม ซึ่งมีคุณค่า มีความหมาย อย่างกรณี การเอาวัดไปเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งมันไม่ได้เป็นแค่การท่องเที่ยว แม้แต่เรื่องข้าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต วัฒนธรรม แต่กลับนำไปผูกติดกับเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว อย่างนี้เป็นต้น

 

ขอย้อนกลับไปพูดถึงเรื่อง WTO และ FTA ลัทธิเสรีนิยมใหม่ทำให้เกิด FTA หรือ WTO ขึ้นมา WTO นี้ส่งผลกระทบมากมาย แต่การเกิดของ WTO ก็มีปัญหาในตัวเอง สิ่งหนึ่งที่เรามักมองข้ามไปก็คือ WTO นั้น ถ้าในแง่ของนักกฎหมายระหว่างประเทศ WTO เป็นองค์การที่ผิดกฎหมาย มันเกิดขึ้นอย่างผิดกฎหมาย

 

WTO เกิดขึ้นในปี 1994 เกิดขึ้นหลังจากการลงนามในข้อตกลงทางเทคนิค โดยที่การเจรจาทั้งหมดเป็นการประชุมลับ แม้แต่หัวหน้าคณะตัวแทนของประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการตกลงครั้งนั้น ก็ยังไม่รู้เลยว่า กฎข้อบังคับทั้งหมดของ WTO จะมีอะไรบ้าง แต่ว่าไปเซ็นสัญญาทำให้ถูกมัดตนเองไปแล้ว แต่ยังไม่เคยรู้เลยว่าเนื้อหาของสัญญานั้นมีอะไร

 

ทีนี้เมื่อตั้ง WTO ขึ้นมาแล้ว WTO ไม่เคยผ่านการรับรอง คือส่วนใหญ่ไม่เคยผ่านการรับรองจากประชาชน ส่วนใหญ่ไม่เคยผ่านแม้กระทั่งสภาผู้แทนราษฏรของประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิก คือไม่เคยนำเอาข้อตกลง WTO ทั้งหมดนี้มาเปิดให้มีการทำประชามติ แล้วหลายๆ ประเทศที่เป็นสมาชิกก็ไม่เคยผ่านรัฐสภาในประเทศของตัวเองด้วย

 

ถ้าเอาเนื้อหาคือเอาข้อตกลง WTO มาผ่านการลงประชามติ คือผ่านผู้แทนราษฎร เป็นไปได้ที่ WTO จะไม่ผ่านประเทศไหนในโลก ซึ่งนั่นหมายความว่า เป็นองค์กรผลักดันที่ก่อตั้งมาโดยที่ไม่เคยมีประชาชนที่ไหนในโลกยอมรับ

 

ดังนั้น WTO ปัจจุบันจึงเป็นองค์การอิสระ ที่มีฐานะนิติบุคคลที่ไปเกี่ยวพันกับสหประชาชาติ แต่ในขณะเดียวกัน มันแตกต่างจากองค์การอื่นๆ เช่นองค์กรการหน่วยงานระหว่างประเทศตรงที่ว่า WTO นี้ มีอำนาจบังคับกฎทางการค้าของตนด้วย คืออยู่ดีๆ ก็ได้อำนาจมาสามารถบังคับกฎทางการค้าของตนเองได้ นอกจากนี้แล้ว ก็ยังมีความสามารถ มีอำนาจที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศใดๆ ก็ได้ด้วย

 

WTO จึงเป็นองค์กรที่มีลักษณะเผด็จการมากที่สุดองค์กรหนึ่งในโลก สรุปก็คือว่า กรรมการพวกนี้ เขาจะเลือกเฉพาะกรรมการที่มีผลประโยชน์สำคัญต่อการค้าเสรีอย่างเช่นปัจจุบัน และในขณะเดียวกันจะมีแต่ผู้เชี่ยวชาญทางการค้าเท่านั้น มันจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านสาธารณะสุข สิ่งแวดล้อม หรืออื่นๆ เข้ามาเป็นกรรมการตัดสินคดีพิพาททางการค้าเลย คณะกรรมการตัดสินข้อพิพาทของ WTO นี้ ไม่มีข้อบังคับให้กรรมการพวกนี้หาข้อมูล หรือคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญภายนอก และไม่รับฟังความคิดเห็นของฝ่ายที่ฉลาดเช่น องค์กรประชาชนด้วย

 

ยกตัวอย่างเช่น ในขณะที่ศาลโลก จะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่ WTO จะไม่รับฟังเลย เพราะเมื่อพิจารณาคดีออกมาแล้ว มันจะมีการอุทธรณ์ได้ 1 ครั้ง เมื่ออุทธรณ์แล้วแพ้หรือชนะถือว่าเด็ดขาด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก และหลังจากนั้นประเทศคู่กรณีก็จะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในประเทศของตัวเองให้สอดคล้องกับการตัดสินข้อพิพาท

 

วิธีการของ WTO จึงเป็นการเข้าไปทำลายอำนาจอธิปไตยของประเทศต่างๆ คือ เราไม่มีสิทธิที่จะกำหนดนโยบาย หรือชะตากรรมของตนเอง คำถามต่อมาคือ ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วจะมีรัฐบาลไปทำไม? คือเราไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลอะไรก็ได้

 

สรุปแล้วก็คือ WTO หรือ FTA ผู้ที่จะได้รับผลกระทบนั้นไม่ใช่เพียงแค่เกษตรกรเท่านั้น แต่จะรวมไปถึงชนชั้นกลางและคนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ เพราะจะกระทบต่อทุกๆ ด้าน ทุกภาคส่วนของสังคม ไม่ว่าด้านการศึกษา ที่จะถูกต่างชาติเข้ามาจัดการระบบการศึกษา ตั้งสถานศึกษากันเองได้ แม้กระทั่งด้านพันธุ์พืช ที่จะถูกต่างชาติเข้ามาแปรรูปเป็นของตัวเอง แม้กระทั่งการเข้ามาจัดการป่า เพื่อจะทำเป็นวนอุทยาน เป็นสถานที่ท่องเที่ยว รวมการแปรรูปน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะที่โบลิเวียก็เกิดปัญหาผลกระทบในเรื่องนี้กันแล้ว จนถึงขั้นว่า น้ำฝน ชาวบ้านก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปใช้ นายทุนสั่งให้รื้อหลังคารองรับน้ำฝน เนื่องจากว่า น้ำฝน กลายเป็นทรัพย์สินของบริษัทไปแล้ว

           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท