Skip to main content
sharethis

แม้จะเป็นช่วงปลายๆ จนเกือบท้ายของเทศกาลปีใหม่ไปบ้าง แต่คงไม่สายมากนักที่จะมอบของขวัญปีใหม่ให้กับผู้อ่าน


 


ปีใหม่นี้ไปเข้าวัดเข้าวาเผื่อว่าจิตใจจะแจ่มใสไม่ฟุ้งซ่านเหมือนปีที่ผ่านมา จึงมีโอกาสฟังธรรมที่ไม่ใช่แค่มุมของทางพุทธศาสนา แต่การเข้าวัดครั้งนี้มีแง่คิดทางอิสลามจาก รศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการมุสลิมจากรั้วธรรมศาสตร์ติดมือมาด้วย


 


ที่ไปคือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่ผ่านมา มีการจัดเสวนา "บทบาทศาสนากับการฟื้นฟูและเยียวยาความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย" จัดโดยบัณฑิตวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


 


หวังว่าของขวัญปีใหม่ชิ้นนี้จะมีส่วนสร้างสันติ อันเป็นสุขอันสูงของสังคมที่ทุกชีวิตล้วนปรารถนา


 


000


 


โลกาภิวัตน์ง่ายต่อการนำมาซึ่งความรุนแรง


"พระไพศาลฯ"เตือนให้มีสติก่อนบานปลาย


 


พระไพศาลวิสาโล คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าวภายในเวทีเสวนาว่า โลกาภิวัตน์มีส่วนทำให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงได้ง่ายขึ้น ศาสนาเองก็ต้องระวังเพราะอาจถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความขัดแย้งและรุนแรงได้


 


ทั้งนี้ สังคมโลกาภิวัตน์เปิดโอกาสให้กับผู้มีอำนาจแย่งชิงทรัพยากรจากผู้มีอำนาจน้อย เช่น น้ำ ไฟฟ้า ป่า หรือแม้แต่การที่ไทยจะทำ FTA กับสหรัฐก็ทำให้เกิดการแย่งชิงมากขึ้น การตกลงดังกล่าวจะทำให้มีเงินมากขึ้นจริง แต่ก็ทำให้หนี้สินมากขึ้นเช่นกัน ช่องว่างระหว่างชนชั้นก็จะห่างขึ้นจนอาจกลายเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งและรุนแรง


 


อีกประเด็นที่ศาสนาต้องระวังคือ การต่อสู้กันเรื่องอัตลักษณ์ที่มาจากโลกาภิวัตน์ เพราะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจและผลประโยชน์ หากมีช่องว่างทางเศรษฐกิจมาก ความขัดแย้งก็เกิดขึ้น เรื่องอัตลักษณ์ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ชาติ ศาสนา จะถูกยกมาใช้ในในการปะทะ อย่างที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดภาคใต้ตอนนี้ หรือที่เกิดการจลาจลในฝรั่งเศสเมื่อปีก่อน


 


"การนับถือศาสนา ถ้าไม่ระวังตัวก็ทำให้รุนแรงขึ้นได้ ทำให้เกิดการแบ่งเขา แบ่งเรา เช่น ในลังกา ในไอร์แลนด์เหนือ ศาสนาต้องจับเรื่องการแย่งชิงทรัพยากร และเรื่องอัตลักษณ์ ตรงนี้ต้องทำให้เกิดเป็นนโยบายทั้งด้านเศรษฐกิจการค้า และการศึกษา เพื่อให้สู้กับบริโภคนิยมได้ ยิ่งพัฒนามากความขัดแย้งก็ยิ่งมาก เพราะไม่เข้าใจเศรษฐกิจพอเพียง" พระไพศาลฯกล่าว


 


อย่างไรก็ตามพระไพศาลฯ แนะทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากอัตลักษณ์ไว้ 3 ประการคือ เปิดหน้าต่าง สร้างสะพาน สมานใจ


 


เปิดหน้าต่าง คือทำให้สังคมไทยเข้าใจว่า ความต่างไม่ใช่ศัตรู ต้องทำให้เห็นว่าเป็นมนุษย์เหมือนกัน ตรงนี้มีมาก่อนความเป็นพุทธ หรือมุสลิม ความเป็นพุทธคือสิ่งสมมติ แต่เราไปยึดติดจนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์


 


"สังคมไทยครั้งหนึ่งเคยถูกสอนมาว่า เจ๊กเห็นแก่ตัว ตอนนี้ถูกนำมาสร้างกับแขก ต้องทำให้เห็นว่าเขาก็เป็นมนุษย์ มีดีมีเสียเหมือนเรา เรามีสื่อมากมายก็ควรช่วยทำให้เห็นด้านนี้"


 


สร้างสะพาน คือชักนำให้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะจะทำให้เกิดความรักความสามัคคี โดยไม่ต้องใช้อาวุธหรือกฎหมาย เจ้าหน้าที่ควรทำให้หลายฝ่ายมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ


 


ส่วนสมานใจคือ การเยียวยาและเมตตา แม้แต่กับศัตรูก็ทำได้ แต่เวลานี้เราไปกระตุ้นความโกรธและเกลียดมากกว่า เป็นสัญชาตญาณใฝ่ต่ำ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ความเป็นพุทธด้วยว่าเราควรส่งเสริมอะไร


 


000


 


พระเทพปิฎกแนะข้ามให้พ้นการยึดติดอัตลักษณ์


เพราะเป็นอหังการ์ทิฐิที่นำไปสู่ความแตกแยกร้าวฉาน


 


"ทำไมไม่มองที่อัตลักษณ์ร่วม คือ ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ทำไมจึงไปให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ที่สร้างขึ้น ทำไมไม่ใช้อัตลักษณ์มนุษย์" พระเทพปิฎก พระผู้ศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาคนสำคัญ กล่าว


 


แต่พระเทพปิฎกก็ยอมรับว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่พูดได้ง่ายแต่ทำได้ยากเพราะต้องดับสองสิ่ง


 


สิ่งแรกคืออหังการ์ ในทางพุทธคือความรู้สึกว่าเป็นเราและจะขยายต่อไปเป็นพวกเรา ซึ่งจะทำให้เกิดเขาและพวกเขาตามมา ทำให้เกิดการรบกันเพราะความรู้สึก


 


อีกสิ่งหนึ่งคือ วมังการ คือความเป็นของเรา ส่วนหนึ่งอาจมาจากสำนึกทางประวัติศาสตร์ทำให้แบ่งอีสานเป็นลาว ใต้เป็นแขก คนไทยคือภาคกลาง ในวรรณคดีจะสะท้อนออกมาชัดมาก จนมักพบว่าพระเอกในวรรณคดีมักเป็นคนภาคกลาง ความรู้สึกแบบนี้ลามเข้าวัดด้วย พระภาคใต้กับภาคกลางก็รู้สึกว่าเป็นคนละพวกกัน เป็นต้น


 


"สังคมไทยเป็นแบบนี้แต่ความเป็นพุทธไม่ใช่แบบนี้ ความเป็นพุทธคือความเป็นหนึ่ง แต่เราไม่เข้าถึงความเป็นพุทธโดยเนื้อหา เราเป็นพุทธในเชิงรูปแบบ โดยเนื้อหาคือนับถือสถานภาพระหว่างกันตามโครงสร้างศีลสิกขา คือนับถือในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือสิทธิมนุษยชน คือสิทธิเสรีภาพ คือสิทธิสมภาพ คือภราดรภาพ ศีลเป็นขั้นแรก เพียงแต่เราเขาถึงสารัตถะของศีลสิกขาหรือไม่ แค่ 5 ข้อ ในความเป็นจริงเรารับศีลแต่ไปไม่ถึงขั้นปฏิบัติ"


 


เมื่อมองในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในภาคใต้ พระเทพปิฎกระบุว่าไม่ใช่เรื่องศาสนา และหากปฏิบัติตามแก่นศาสนาทั้งสองจริงก็จะไม่มีความรุนแรง


 


"ศาสนาอิสลามหรือศาสนาพุทธต่างกันเพียงรูปแบบแต่เนื้อหาไม่ต่างกัน เนื้อหาคือสร้างสังคมสันติสุขโดยเอาสันติธรรมเป็นเนื้อหา สันติภาพจึงเกิด


 


"ศาสนาสมบูรณ์แต่ศาสนิกต้องปีนบันไดขึ้นไป สิกขาบทคือขั้นบันได บันไดมันมีขึ้นได้ลงได้ แต่เราไม่ขึ้นไป พุทธในเชิงละเอียด ระดับศีลเป็นอุดมการณ์ที่นำไปสู่สันติธรรม แต่เราไม่สัมผัสลึกให้อยู่ในจิตใจ ทั้งนี้  ศีลข้อ 1 สำคัญมาก เพราะจะทำให้เกิดพัฒนาการก้าวไปข้างหน้าโดยลำดับ ลึกซึ้งโดยลำดับ คนดีในโลกนี้ยกเว้นจากปาณาติบาทไม่พกพาศาสตราวุธเครื่องประหาร มีความระมัดระวังในสิ่งมีชีวิต จากนั้นจะทำให้มีหิริ โอตัปปะทำให้ขึ้นสู่ธรรมะ ไม่ใช่แค่ศีล พอมีหิริโอตัปปะจะถือศีลเป็นร้อยข้อก็ได้ เพราะมันคุ้มครองโลกหมด มันไม่มีความเป็นเราเป็นเขาจนต้องเบียดเบียนกัน มันไม่มีความเป็นของเราของเขาจนต้องยื้อแย่ง สองคำ หิริ โอตัปปะ สลายตรงนี้หมด


 


"โลกทัศน์เป็นเรื่องสำคัญที่สุด โลกทัศน์ในเชิงศีลคือยอมรับในฐานะของกันและกันไม่ละเมิดกันก็คือสิทธิเสรีภาพที่กล่าวไปแล้ว จากนั้นคือเมตตาเอ็นดูในสัตว์ทั้งหลาย ต่อไปคือพื้นจิตคือมีจิตคิดอนุเคราะห์ เรียกว่าโลกานุกรรมปโก คือจิตคิดอนุเคราะห์โลกไม่ใช่แค่ต่อชีวิตใดชีวิตหนึ่ง ดังนั้นศาสนาพุทธในเชิงละเอียดระดับศีล คือเคารพแม้ต่อธรรมชาติ แต่ตรงนี้เคยอยู่ในจิตใจเราหรือไม่ ที่จริงเราสอบไม่ผ่านเรื่องศีล


 


"ศีลข้อที่ 1 สำคัญมาก มองแค่นี้ก็พอแล้ว ถ้าเราเกิดเมตตา คือการมีจิตอนุเคราะห์ ทำได้ ศีลทุกข้อก็มาหมด ถามว่าจิตคิดอนุเคราะห์ เราฆ่าคนอื่นได้หรือไม่ ลักทรัพย์ได้หรือไม่ ล่วงเกินคู่ครองคนอื่นได้หรือไม่ โกหกได้หรือไม่ เสพจำหน่ายยาเสพติดได้หรือไม่ ปัญหาคือเราเข้าไม่ถึง"


 


นอกจากมองในมุมของพุทธแล้ว พระเทพปิฎกได้มองความสอดคล้องด้านเนื้อหากับศาสนาอิสลามหรือศาสนาคริสต์ไว้ด้วยว่า "เขาเชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งดังนั้นจะเบียดเบียนชีวิตกันไม่ได้เพราะเป็นสิ่งที่พระเจ้าสร้าง หมาตัวหนึ่งก็ฆ่าไม่ได้ และเมื่อมองว่าพระเจ้าสร้างสรรพสิ่งก็สร้างชาวพุทธด้วย ดังนั้นก็ฆ่าชาวพุทธไม่ได้เพราะพระเจ้าเป็นผู้สร้าง ซึ่งมองแล้วเนื้อหาก็เหมือนศาสนาพุทธตั้งแต่ศีลข้อแรก เพียงแต่เรื่องแบบนี้คิดได้แต่อย่าพูด เพราะแต่ละฝ่ายก็มีศรัทธาของตัวเอง"


 


000


 


เข้าใจโลก เข้าใจเรา เข้าใจความต่าง


มุมมองของ รศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการมุสลิม


 


รศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการมุสลิม จากคณะรัฐศาสตร์  กล่าวว่ายุคนี้เป็นยุคที่เรามองเห็นคนอื่นเป็นศัตรู เพราะมีอุปสรรคที่ทำให้ศาสนาไม่มีบทบาทในการเข้ามาลดความขัดแย้ง


 


อุปสรรคแรกคือ ศาสนิกไม่เข้าใจ โลกศาสนาเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์โลกให้ดีขึ้น ไม่ใช่หมุนตามโลก พุทธชัดเจนในเรื่องจิตอนุเคราะห์ ส่วนอิสลามเชื่อในเรื่องพระผู้สร้างทุกอย่างศักดิ์สิทธ์ในตัวเองการทำร้ายกันจึงเป็นบาป แต่ทำไมตรงนี้จึงเกิด


 


สิ่งที่ศาสนิกต้องเข้าใจโลก คือต้องรู้ก่อนว่าโลกเป็นอย่างไร การเกิดการทำบาปด้วยการเบียดเบียนชีวิตต้องเข้าใจการทำงานของการก่อการร้ายทั่วโลก


 


"การทำงานของการก่อการร้าย คือการใช้ความรุนแรงเป็นเป้าโดยไม่ต้องอาศัยเหตุผล ปกติการทำร้ายกันต้องมีเหตุ แต่การก่อการร้ายไม่ต้องมี คนไม่เกี่ยวก็โดนทำร้ายได้ ทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะก็กลายเป็นเป้าด้วย จึงเหมือนในสงคราม สงครามอิรักมีทหารอเมริกันตาย 2,000 คน แต่คนอิรักตายเป็นแสน เป็นคนธรรมดาที่ไม่เกี่ยวข้องมากมายเช่นกัน การก่อการร้ายก็มีลักษณะแบบนี้ มีการเปรียบเปรยว่าการก่อการร้ายเป็นสงครามของคนจนที่ไม่มีตังค์ไปทิ้งบอมส์"


 


รศ.ชัยวัฒน์ อธิบายต่อว่า การทำงานของการก่อการร้ายแบบนี้ ทำให้เกิด "ความกลัว" จนมองไม่เห็นความจริงทำให้เห็นคนที่ต่างออกไปเป็นศัตรู สร้างอคติขึ้น


 


"พอกลัวก็ทำให้เรากลายเป็นสิ่งที่คนอื่นทำกับเรา เราจะอยากใช้ความรุนแรงกับคนอื่น เราจะกลายเป็นสิ่งที่เราเกลียดที่สุด ศาสนาจะต้องเข้ามาสู้กับเรื่องนี้"


 


อุปสรรคประการต่อมาของศาสนาที่ทำให้คนทำบาปที่ รศ.ชัยวัฒน์กล่าวถึงคือ เราในแต่ละศาสนาไม่เข้าใจตัวเอง คือต้องเข้าใจว่าแต่ละคนต่างกันเป็นเรื่องธรรมชาติ พอต่างแล้วก็สร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา แต่ละคนสามารถมีอัตลักษณ์ได้หลายชุด ทั้งทางศาสนา ทางสังคมหรืออื่นๆ ในแต่ละชุดมีคุณค่าในตัวของมัน ทำให้เราไม่ต้องการสลัดอัตลักษณ์อันใดออกไป สงครามในปัจจุบันมันเกิดจากเรื่องอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนได้ยากนี้เอง


 


"การแก้อุปสรรคนี้ต้องใช้พุทธิปัญญา คือมองว่าความต่างไม่ใช่ปัญหา แต่การยึดความต่างจนมองไม่เห็นคนอื่นต่างหากที่เป็นปัญหา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ก้าวข้ามให้พ้นได้ยาก"


 


มองในมุมอิสลามต่อเรื่องนี้ที่ก้าวพ้นได้ยากนี้ก็เพราะ " ซาตาน" กำลังทำหน้าที่ของมันได้เป็นอย่างดีในการหลอกให้หลงจนมองความต่างอื่นๆ เป็นวัตถุ


 


"ปิศาจที่มีเขา แบบในภาพจิตรกรรมตะวันตก คงไม่สามารถทำงานในยุคศตวรรษที่ 20 นี้ได้ เพราะน่ากลัว สมัยนี้ซาตานต้องการให้คนเข้าหา ไม่ใช่ถอยห่าง ซาตานในยุคนี้คงสวย สุภาพ พูดเก่งดูมีเหตุผล แบบนี้จะทำงานให้คนหลงได้


 


"อัตลักษณ์ของเรากำลังเผชิญซาตานยุคใหม่แบบนี้ ศาสนามีความสามารถในการเผชิญอย่างไรกับวัตถุนิยมที่กำลังทำหน้าที่ของปิศาจทำให้เราหลง ไม่ว่าจะเป็นรถสวยๆ มือถือดีๆ ยุคนี้ความสุขเป็นแบบนี้ สงครามและความรุนแรงยิ่งเป็นวัตถุนิยมอย่างยิ่ง เพราะต้องทำให้ฝ่ายหนึ่งเห็นอีกฝ่ายเป็นวัตถุไม่ใช่คน


 


"เข้าใจง่ายๆได้ว่า เราเมตตากับหมากับแมวได้ แต่ทำไม่ได้กับปากกา สงครามก็เปลี่ยนคนให้เป็นวัตถุ ที่วัดกันด้วยตัวเลขได้ว่า ฆ่าอีกฝ่ายไปเท่าไหร่แล้ว"


 


อุปสรรคประการสุดท้ายคือ ไม่เข้าใจความต่างอื่นๆ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของอัตลักษณ์ แม้ว่าในทางสังคมการเมืองอัตลักษณ์มีประโยชน์ที่ทำให้คนในกลุ่มอัตลักษณ์เดียวกันรู้สึกอบอุ่น แต่ผลเสียก็คือเป็นกำแพงให้กับกลุ่มอัตลักษณ์อื่นจนทำให้ไม่ไว้ใจกัน ทางแก้ไขก็คือ "เอาใจเขามาใส่ใจเรา"


 


รศ.ชัยวัฒน์ สรุปตอนท้ายว่า อุปสรรคทั้งหมดก้าวพ้นได้ยากเพราะต้องมองตัวเรา มองคนอื่น หากทำไม่ได้ความขัดแย้งและความรุนแรงจะไม่หายไป ตรงนี้ศาสนามีส่วนช่วยได้ เพราะศาสนาต้องเผชิญอุปสรรคทั้งหมดคือ เข้าใจโลก เข้าใจเรา เข้าใจความต่าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net