อนาคตประเทศไทยภายใต้ FTA ไทย-สหรัฐ

โดย คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา

 

ในช่วงระหว่างวันที่ 9-13 มกราคม 2549 นี้ จะเป็นช่วงสัปดาห์สำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทย เนื่องจากจะมีการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาในรอบที่ 6 ณ จังหวัดเชียงใหม่

 

จนถึงวันนี้ ประชาชนไทยคงได้รับรู้กันมากขึ้นแล้วว่า การทำ FTA กับสหรัฐ ไม่ได้เป็นเพียงการลดภาษีสินค้าหรือการเปิดตลาดสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีหัวข้อการเจรจาครอบคลุมประเด็นต่างๆ รวมทั้งหมด 23 หัวข้อ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะมีผลต่อการเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืชและภูมิปัญญาท้องถิ่น, เรื่องการเปิดเสรีการลงทุน เรื่องการเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งจะมีผลต่อการเข้ามาใช้ฐานทรัพยากรในประเทศไทยเพื่อการผลิต ผลต่อเรื่องการจัดบริการการศึกษา ภาคการเงินการธนาคาร บริการสาธารณสุข การใช้กระบวนการยุติข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับรัฐบาลไทยแบบพิเศษแทนการใช้กระบวนการศาลยุติธรรม ฯลฯ เรียกได้ว่าเนื้อหาใน FTA เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ตรงนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมการเจรจา FTA กับสหรัฐจึงเป็นที่จับตามองจากทุกฝ่าย มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการเจรจา ทำให้การเจรจาเป็นไปอย่างโปร่งใส สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด

           

การทำ FTA กับสหรัฐ : ความเสียเปรียบและความไม่เป็นธรรมของไทย

นอกเหนือจากความเสียเปรียบในแง่อำนาจการต่อรองระหว่างไทยกับสหรัฐ อันเป็นผลมาจากความแตกต่างกันอย่างมากของอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจแล้ว สหรัฐยังมีกฎหมายฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า Trade Promotion Authority (TPA) มีผลบังคับใช้ในปี 2545 เป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการขั้นตอนการเจรจา กรอบและเป้าหมายการเจรจาด้านการค้าของสหรัฐไว้อย่างละเอียด รวมทั้งหมด 17 หัวข้อ ในการเจรจากับประเทศใดๆ ตามกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) ต้องยื่นเสนอกรอบและเป้าหมายการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนการเจรจา และเมื่อเจรจาเสร็จแล้วต้องนำผลการเจรจามายื่นขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกครั้ง โดยรัฐสภาจะพิจารณาว่าผลการเจรจาเป็นไปตามเป้าหมายที่เคยเสนอไว้ก่อนการเจรจาหรือไม่ รัฐสภามีอำนาจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้ลงนาม แต่ไม่มีอำนาจแก้ไขรายละเอียดในความตกลง FTA

 

จากการเจรจา 5 รอบที่ผ่านมา เมื่อฝ่ายไทยเจรจาไม่รับข้อเรียกร้องในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่อยู่ในกรอบกฎหมาย TPA เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา คำตอบที่ได้จากฝ่ายสหรัฐคือ ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเป็นหัวข้อที่อยู่ในกฎหมาย TPA ของสหรัฐ มิฉะนั้นเมื่อนำผลการเจรจาไปเสนอรัฐสภาเมื่อการเจรจาเสร็จสิ้น รัฐสภาสหรัฐจะไม่อนุมัติให้ลงนาม

 

ถ้าไทยยอมรับเหตุผลตามที่ฝ่ายสหรัฐกล่าวอ้างข้างต้นนั้น การทำ FTA กับสหรัฐไม่ควรถูกเรียกว่าเป็นการเจรจา เนื่องจากฝ่ายไทยไม่มีสิทธิในการต่อรองเจรจา แต่ต้องยอมจำนนต่อเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย TPA ของสหรัฐ เปรียบเสมือนว่าประเทศไทยยอมรับเอากฎหมายของสหรัฐมาบังคับใช้ ไม่ต่างกับการตกเป็น "อาณานิคมของสหรัฐ"

 

 

ประโยชน์ที่จะได้รับจาก FTA ไทย-สหรัฐ : ความคาดหวังที่เกินจริง

เหตุผลที่รัฐบาลหยิบยกอธิบายมาโดยตลอดถึงความจำเป็นที่ต้องทำ FTA กับสหรัฐ คือ เพื่อขยายตลาดการค้าของไทย ไทยจะส่งสินค้าเกษตรไปยังสหรัฐได้มากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น ฯลฯ

 

เนื้อหาใน FTA ที่สหรัฐกำหนดไว้ 23 หัวข้อนั้น ทุกหัวข้อมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน หากแยกพิจารณาออกเป็นรายหัวข้อจะไม่เห็นความสัมพันธ์เป็นภาพรวม และเข้าใจผิดไปว่าไทยจะได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากการทำ FTA กับสหรัฐ ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องการค้าสินค้าเกษตรซึ่งรัฐบาลและหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย มักจะนำมาประชาสัมพันธ์ในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ

 

ถ้าพิจารณาเฉพาะในหัวข้อการค้าสินค้าเกษตร ซึ่งมีเนื้อหาหลักเกี่ยวกับการลดภาษีศุลกากร การทำความตกลงเกี่ยวกับมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ดูเหมือนว่าฝ่ายไทยจะสามารถส่งสินค้าเกษตรไปยังสหรัฐได้มากขึ้น

 

ตรงนั้นเป็นความจริงเพียงส่วนเดียว โดยไม่ได้คิดถึงข้อผูกพันในหัวข้ออื่นๆ ที่สหรัฐเรียกร้องและมีความเกี่ยวโยงกับเรื่องการเกษตร ทั้งในเรื่องการขยายการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการเปิดเสรีการค้าสินค้า GMOs  เรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน และเรื่องสิ่งแวดล้อม

 

เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา : สหรัฐเรียกร้องให้ไทยขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตทุกประเภท ถ้าไทยต้องยอมรับนำระบบสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์มาใช้ ต้นทุนพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ในการผลิตจะสูงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว เป็นภาระต้นทุนของเกษตรกรที่ต้องแบกรับ

 

เรื่องการเปิดเสรีการค้าสินค้า GMOs : แม้ไม่ได้มีหัวข้อนี้เป็นการเฉพาะ แต่ผลจากการที่สหรัฐเรียกร้องให้ใช้ความตกลง SPS อย่างเคร่งครัด จะมีผลทำให้ประเทศไทยไม่สามารถใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในการจำกัดการนำเข้าสินค้า GMOs จากสหรัฐได้ ยกเว้นถ้ามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ที่ชัดเจน ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในด้านวิทยาศาสตร์ ผลจากการที่ต้องเปิดรับสินค้า GMOs จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในตลาดการค้าสินค้าเกษตรของไทยในประเทศอื่นๆ ที่ไม่ยอมรับสินค้า GMOs เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อการส่งสินค้าเกษตรไทยไปยังสหภาพยุโรปอย่างมาก

 

เรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน : สหรัฐเรียกร้องให้ไทยเปิดเสรีการลงทุนและบริการในเกือบทุกประเภท เพิ่มมากกว่าที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาทางไมตรีระหว่างไทยกับสหรัฐ ซึ่งได้มีข้อยกเว้นไว้ 7 สาขา รวมทั้งเรื่องการแสวงหาประโยชน์จากที่ดิน เรื่องการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และเรื่องการค้าภายในเกี่ยวกับผลผลิตทางเกษตรพื้นเมือง ผลกระทบจากข้อเรียกร้องในเรื่องนี้จะทำให้ นักลงทุนจากสหรัฐเข้ามาทำธุรกิจด้านการเกษตรในประเทศไทยแข่งขันกับผู้ประกอบการไทย โดยที่ได้รับการคุ้มครองการลงทุนไว้สูงมาก นอกจากนี้ ผลจากการเข้ามาประกอบกิจการด้านการจัดหาจัดส่งน้ำในภาคเกษตรกรรมจากการเปิดเสรีการค้าบริการ อาจมีผลทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรสูงขึ้นเนื่องจากต้องจ่ายต้นทุนค่าน้ำ

 

เรื่องสิ่งแวดล้อม : สหรัฐมีข้อเรียกร้องกำหนดให้ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด ซึ่งจะทำให้สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพดีขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรต่างๆ สูงขึ้นด้วย เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้การผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะถูกสหรัฐใช้เหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมกีดกันการนำเข้าไปยังสหรัฐได้อย่างถูกกฎหมาย

 

จะเห็นได้ว่า ผลจากข้อเรียกร้องของสหรัฐในบทต่างๆ ข้างต้น จะทำให้ต้นทุนภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างมาก และมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับการที่สหรัฐลดภาษีนำเข้าสินค้าเกษตร ต้นทุนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในผลการศึกษาที่รัฐบาลใช้เป็นข้อมูลอ้างอิง ถ้ารวมต้นทุนเหล่านี้เข้าไปด้วย จะได้ภาพที่เป็นจริงว่าภาคการเกษตรไทยได้ประโยชน์น้อยมากและได้ไม่คุ้มเสีย

 

เรื่องการเปิดเสรีภาคเกษตรที่กล่าวถึงนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างความคาดหวังของรัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลบอกกับประชาชน กับความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นจาก FTA ไทยสหรัฐ

 

ข้อเสนอต่อการเจรจา

เพื่อให้การเจรจาเป็นไปอย่างโปร่งใส เสมอภาค และเกิดประโยชน์โดยประเทศชาติโดยส่วนรวม คณะกรรมาธิการต่างประเทศขอเสนอและเรียกร้องให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้

 

- ให้ยกเลิกข้อตกลงรักษาความลับในการเจรจา และนำข้อมูลข้อเรียกร้องทั้งหมดของสหรัฐและของไทยมาเปิดเผยแก่ประชาชน

 

- ให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำ FTA ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจา ทั้งในเรื่องการรับรู้ข้อมูลอย่างครบถ้วน เรื่องการแสดงความคิดเห็น เรื่องการร่วมกำหนดจุดยืนท่าทีการเจรจา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมตัดสินใจลงนามความตกลง FTA โดยการออกเสียงประชามติตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 214

 

- ให้นำหัวข้อการเจรจาที่ขัดแย้งกับการค้าเสรีและเป็นธรรมออกจากหัวข้อการเจรจา เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากเป็นการให้สิทธิผูกขาด ขัดแย้งกับหลักการค้าเสรี นอกจากนี้ ในองค์การการค้าโลกได้มีความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการเฉพาะและประเทศไทยได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดไว้อยู่แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท