Skip to main content
sharethis

ประชาไท—10 ม.ค. 2549 องค์กรพัฒนาเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศเฉียดหมื่นคน รวมตัวกันเรียกร้องให้ชะลอการเจรจาออกไปและไม่เจรจาเนื้อหาข้อตกลงที่เกินไปกว่าข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา หรือ TRIPs+ การเจรจานอกรอบ เอฟทีเอไทย-สหรัฐ ครั้งที่ 6 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประณามสหรัฐ ไม่ต่างจากอาชญากร


 


เอ็นจีโอไทยและพันธมิตรสากลเรียกร้องให้ชะลอการเจรจาการค้า ซึ่งจะจำกัดสิทธิตามกฎหมายของประเทศไทยในการผลิต นำเข้า/ส่งออกและวางตลาดยาสามัญที่จำเป็นต่อชีวิต ที่จังหวัดเชียงใหม่ในวันนี้ คณะผู้แทนจากสหรัฐฯ และไทยมีกำหนดการเจรจาเป็นรอบที่ 6 เกี่ยวกับข้อตกลงการค้าเสรี และนับเป็นครั้งแรกที่จะมีการเจรจาเกี่ยวกับข้อเสนอของสหรัฐฯ เพื่อให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มมากขึ้น ในเวลาเดียวกัน นักกิจกรรมเรือนหมื่นคน ซึ่งมีอยู่ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีกำลังประท้วง และเรียกร้องให้ล้มเลิกการเจรจา โดยจะมีการชุมนุมค้างคืนหน้าที่ประชุมเป็นเวลา 3 วัน เพื่อขัดขวางการเจรจา


 


ทั้งนี้ เครือข่ายเอ็นจีโอที่ทำการคัดค้านการเจรจานอกรอบในครั้งนี้ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สหรัฐชะลอการเจรจาครั้งนี้ และเปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนไทยทราบเนื้อหาของการเจรจา อีกทั้งเรียกร้องให้นี้ยกเลิกการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญาทุกด้านที่จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงเวชภัณฑ์ โดยเฉพาะข้อตกลงที่เกินไปกว่าข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาในองค์การการค้าโลก หรือ ทริปส์ผนวก (TRIPs+) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนไทย รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อการผลิตยาของไทยเนื่องจากสหรัฐมีโอกาสที่จะผูกขาดยาและข้อมูลเกี่ยวกับยามากไปกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก


 


โดยเนื้อหาของแถลงการณ์ได้ประณามสหรัฐด้วยว่าแทนที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถใช้ข้อยืดหยุ่นทางกฎหมาย เพื่อให้คนเข้าถึงยาได้มากขึ้นภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายนานาชาติ ตามที่สนับสนุนโดยแถลงการณ์รัฐมนตรีที่การประชุมองค์การการค้าโลกที่กรุงโดฮาว่าด้วยข้อตกลงทริปส์และสาธารณสุข และตามความเห็นของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ กลับพยายามกำหนดให้มีการคุ้มครองสิทธิบัตรและผูกขาดข้อมูลอย่างเข้มงวด โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรไปมากกว่า 20 ปี เพื่อชดเชยกับความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรและเพื่อเปิดทางให้มีการจดสิทธิบัตรต่อสูตรยาและวิธีใช้ยาใหม่มากขึ้น เท่ากับทำให้สหรัฐฯ ผูกขาดการกำหนดราคายาได้มากขึ้น


 


และการจำกัดสิทธิในการนำเข้ายาราคาถูก ด้วยการเปลี่ยนเงื่อนไขเพื่อให้ผู้ทรงสิทธิสามารถจำกัดการนำเข้า/ส่งออกเวชภัณฑ์ที่เคยซื้อหาได้ ทำให้โอกาสที่จะใช้เงื่อนไขการบังคับใช้สิทธิมีน้อยลง การปฏิเสธไม่ให้นำเข้าสินค้ามาในตลาดของตน โดยอ้างว่าประเทศผู้ส่งออกต้องให้ความคุ้มครองผูกขาดข้อมูลอย่างเบ็ดเสร็จเป็นเวลา


5-10 ปี ทำให้ไม่สามารถใช้เงื่อนไขเกี่ยวกับการทดลองยาเพื่อพิจารณาการอนุญาตให้นำเข้ายาสามัญมาในตลาด เป็นการจำกัดโอกาสที่จะใช้เงื่อนไขการบังคับใช้สิทธิ เท่ากับเป็นการดำเนินการกับบริษัทที่จงใจละเมิดสิทธิบัตร หรือละเมิดโดยทางอ้อม เป็นเหมือนกับอาชญากร


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net