Skip to main content
sharethis

ประชาไท—12 ม.ค. 2549 ชาวบ้านสึนามิโวยแหลก "อธิบดีกรมที่ดิน" เบี้ยว ไม่ยอมแก้ปัญหาพิพาทที่ดินกับนายทุน "กระทรวงมหาดไทย" ให้ลงมา แก้ปัญหาพิพาท กลับทำตัวเป็นนายหน้าบีบชาวบ้านให้ยอมกลุ่มทุน "รองอธิบดีกรมการปกครอง" โดนด้วย ลงพื้นที่เบี้ยวมติช่วยคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติหน้าตาเฉย "คงศักดิ์" ร้อนใจ บินด่วนลงดูพื้นที่เอง


 


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 มกราคม 2549 ที่อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา นางราตรี คงวัดใหม่ ตัวแทนชุมชนบ้านแหลมป้อม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า นายพันธ์ หาญทะเล ตัวแทนชุมชนทับตะวัน บ้านบางสัก ตำบลบางสัก อำเภอตะกั่วป่า นายส้าหาด สีระยา ตัวแทนชุมชนบ้านในไร่ ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา นายสุทิน กิ่งแก้ว ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติ จังหวัดระนอง ในฐานะคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบพิบัติภัย ร่วมกันแถลงข่าวผลการเดินทางลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติ ของนายพีระพล ไตรทศาวิทย์ อธิบดีกรมที่ดิน พร้อมคณะ และนายพลวัต ชยานุวัชร รองอธิบดีกรมการปกครอง พร้อมคณะ ระหว่างวันที่ 8 - 9 มกราคม 2549 ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ ที่มีพล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549


 


โวยอธิบดีกรมที่ดินเบี้ยวชาวบ้านสึนามิ


นางราตรี แถลงว่า ข้อเสนอของนายพีระพลต่อชาวบ้านทั้ง 3 ชุมชน ไม่ตรงกับมติที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ มอบหมายให้นายพีระพลลงมาตรวจสอบกรณีพิพาทที่ดิน 3 ชุมชน คือ ชุมชนแหลมป้อม ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ชุมชนบ้านทับตะวัน บ้านบางสัก ตำบลบางม่วง ชุมชนบ้านในไร่ ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา หากตรวจสอบพบว่า เป็นที่ดินที่ได้เอกสารสิทธิ์มาโดยมิชอบ ให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ แล้วกันแนวเขตให้ชาวบ้านอยู่อาศัย พร้อมกับออกเอกสารสิทธิ์ให้คนในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยจะไม่ให้เอกสารสิทธิ์เป็นรายบุคคล แต่นายพีระพลกลับลงมาดำเนินการตรงกันข้ามกับมติในทุกประเด็น


 


นางราตรี กล่าวว่า บทบาทของอธิบดีกรมที่ดินเหมือนกับได้รับมอบหมายจากบริษัทฟาร์อีสต์ เทรดดิ้ง คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งมีกรณีพิพาทอยู่กับชาวบ้าน มายื่นข้อเสนอเจรจาไกล่เกลี่ยแทนบริษัทฯ ขอให้ชาวบ้านยอมถอยให้นายทุน โดยเสนอให้ลดพื้นที่ชุมชนจาก 82 ไร่ ลงมาให้มากที่สุด ข้อเสนอของอธิบดีกรมที่ดินต่อทั้ง 3 ชุมชน ล้วนเป็นข้อเสนอเดิมที่คู่กรณีพิพาท เคยเสนอขอเจรจากับชาวบ้านมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ชุมชนแหลมป้อม ชุมชุมทับตะวัน และชุมชนบ้านในไร่ ทำให้ทั้ง 3 ชุมชน ไม่ไว้วางใจการทำงานของอธิบดีกรมที่ดิน


"เราไม่ต้องการให้อธิบดีกรมที่ดินลำเอียงเข้าข้างชาวบ้าน แต่ต้องการให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการตามมติของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ เราต้องการให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการให้กฎหมายเป็นกฎหมาย ไม่ใช่มาไกล่เกลี่ยให้ชาวบ้านยินยอมกลุ่มอิทธิพล ทั้งที่คนทั้งสังคมไทยเชื่อว่า คนกลุ่มนี้ใช้อิทธิพลเป็นใบเบิกทาง จนได้เอกสารสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้มาโดยมิชอบ ถึงแม้การแก้ไขปัญหายังไม่คืบหน้า แต่พวกเราทั้ง 3 ชุมชน ยังคงเดินหน้าฟื้นฟูชุมชนต่อไป" นางราตรี กล่าว


 


มอแกนก็โดนเบี้ยว


นายพันธ์ กล่าวว่า ชาวมอแกนชุมชนทับตะวัน ให้จัดทีมแผนที่พิสูจน์ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อตรวจสอบว่าชาวมอแกนได้ครอบครองที่ดินในชุมชนทับตะวันมานาน 100 กว่าปี จริงหรือไม่ รวมทั้งตรวจพิสูจน์ภาพถ่ายทางอากาศตรงที่ขุมเขียว ซึ่งเป็นขุมเหมืองเก่าว่า เป็นป่าชายเลนหรือไม่ ถ้าสำรวจแล้วพบว่า ชาวมอแกนอาศัยอยู่ในที่ดินบริเวณชุมชนทับตะวันมาก่อน และพื้นที่ขุมเขียวเป็นป่าชายเลน ก็ขอให้รัฐเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกให้นายทุนโดยมิชอบ แล้วออกเอกสารสิทธิ์ชุมชนรวม หรือโฉนดชุมชน ให้ชาวมอแกนได้มีที่อยู่ที่ทำกินไปตลอดชั่วลูกชั่วหลาน


 


"ผมไปประชุมที่กรุงเทพฯ เขาบอกให้อธิบกรมที่ดินลงมาพิสูจน์เอกสารสิทธิ์ แต่พอลงมาถึงพื้นที่ อธิบดีกรมที่ดินกลับมาบอกให้พวกเราชาวมอแกนทับตะวัน ลดพื้นที่จาก 24 ไร่ ให้เหลือ 7 ไร่ ถ้าไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ ให้ชาวมอแกนไปสู้คดีเองในศาล ข้อเสนอของอธิบดีกรมที่ดิน เหมือนกับข้อเสนอของนายทุน ที่เคยมาบอกเราหลังเกิดสึนามิว่า จะยกที่ดินให้พวกเราอยู่ 6 ไร่" นายพันธ์ กล่าว


นายพันธ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากไม่ยอมแก้ปัญหากรณีพิพาทที่ดินให้แล้ว อธิบดีกรมที่ดินยังไม่ยอมแก้ปัญหากรณีพิพาททางเดินไปยังขุมเขียว ซึ่งชาวมอแกนใช้เป็นที่จอดเรือประมง และไม่สนใจแก้ปัญหาพิพาทที่ดินขุมเขียว ที่ผู้ถือเอกสารสิทธิ์พยายามผลักดันไม่ให้ชาวมอแกนเข้าไปจอดเรือ ถ้าจะแก้ปัญหาต้องแก้ทั้งหมด ไม่ใช่มาเลือกแก้เฉพาะที่อยู่อาศัย หรือเฉพาะที่ทำกิน หรือเฉพาะเรื่องคดี อย่างกรณีชุมชนทับตะวัน อธิบดีกรมที่ดินลงมาแก้กรณีพิพาทที่ดินที่อยู่อาศัยเท่านั้น ส่วนกรณีการออกเอกสารสิทธิ์ครอบขุมเขียว ทั้งที่เป็นป่าชายเลน และการปิดกั้นทางเดินดั้งเดิม กลับโยนไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ 6 จังหวัด ที่มีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน


นายส้าหาด กล่าวว่า ตนไม่เข้าใจว่า ทำไมอธิบดีกรมที่ดินจึงไม่ทำตามมติที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549 อธิบดีกรมที่ดินต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า นายทุนได้เอกสารสิทธิ์มาถูกต้องหรือไม่ ถ้าได้มาไม่ถูกต้อง ต้องยึดกลับมาเป็นของรัฐ แล้วจัดให้ประชาชนเข้าไปทำประโยชน์


 


คนไทยพลัดถิ่นอดได้สัญชาติ


นายสุทิน กล่าวว่า ตนผิดหวังกรมการปกครองเป็นอย่างมาก เพราะพอลงมาในพื้นที่ทางรองอธิบดีกรมการปกครอง กลับตัดประเด็นการให้สัญชาติไทยกับคนคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติออกไปเลย พูดถึงเฉพาะเรื่องสัญชาติของมอแกน ใน 3 ชุมชน ที่มีกรณีพิพาทที่ดินเท่านั้น ทั้งๆ ที่วันประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ ที่กระทรวงมหาดไทย ที่ประชุมมีมติให้แก้ปัญหาไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติ โดยแยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คนไทยพลัดถิ่นที่เกิดในประเทศไทย 2. คนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 10 ปี 3. คนที่เพิ่งข้ามมาจากฝั่งพม่า โดยจะพิจารณาจากหลักฐานต่างๆ เช่น บ้านเลขที่ พยานบุคคล ฯลฯ ถ้าใครมีหลักฐานชัดเจน จะให้สัญชาติไทยทันที โดยคนที่เกิดในประเทศไทย มีบ้านอยู่เมืองไทยแน่นอน จะให้สัญชาติทั้งหมด สำหรับคนที่อยู่มานานและเพิ่งเข้ามาให้ดำเนินการตามขั้นตอน แต่พอลงพื้นที่ รองอธิบดีกรมการปกครองกลับบอกว่า ไม่มีคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติ มีแต่พม่าพลัดถิ่น


"ถึงอย่างไร เราก็จะยังคงจัดงานรับขวัญคนไทยได้สัญชาติไทย ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2549 ตามที่เตรียมกันไว้แล้วต่อไป" นายสุทิน กล่าว


 


"คงศักดิ์"ร้อนใจบินลงพื้นที่เอง


รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า ในวันที่ 12 มกราคม 2549 พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะ จะเดินทางลงพื้นที่ชุมชนแหลมป้อม ชุมชนทับตะวัน และชุมชนบ้านในไร่ จังหวัดพังงาอีกครั้ง หลังจากส่งอธิบดีกรมที่ดินลงมาให้แก้ไขปัญหากรณีพิพาทที่ดิน และรองอธิบดีกรมการปกครองลงมาแก้ไขปัญหาสัญชาติให้กับคนไทยพลัดถิ่นไร้สัญชาติแล้ว ไม่มีความคืบหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net