Skip to main content
sharethis

ประชาไท—13 ม.ค. 2549 กรมชลประทานอุดรธานีเปิดใจคุยกับชาวบ้านกว่า 200 คนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายห้วยหลวงและฝายกุมภาวปี ยอมรับโครงการมีข้ผิดพลาดมาก เตรียมศึกษาผลกระทบใหม่ พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ


 


ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านกว่า 200 คนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายห้วยหลวง และฝายกุมภาวาปี ได้รวมตัวกันในนาม "กลุ่มคนจนจากโครงการโขง-ชี-มูล" เดินเท้าตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. มาปักหลักอยู่หน้าศาลาว่าการจังหวัดอุดรธานี และได้ชุมนุมยืดเยื้อมาเป็นเวลานานกว่าสัปดาห์ โดยกลุ่มชาวบ้านเรียกร้องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรับฟังปัญหาและพิจารณาเยียวยาความเสียหาย


 


กระทั่งวานนนี้  (12 ม.ค.)  ชลประทานจังหวัดอดรธานี ได้เปิดการประชุมเพื่อรับฟังปัญหาโดยมีหัวหน้าสำนักงานชลประทานจังหวัดอุดรธานี   ตัวแทน อบต.ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝายห้วยหลวง  ในเขต อ.สร้างคอม  อ.บ้านดุง  อ.เพ็ญ  ตัวแทนนายอำเภอทั้งสามอำเภอ  หัวหน้าโครงการฝายหัวยหลวง  และกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ  เข้าร่วมเจรจาเพื่อหาข้อยุติปัญหาตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม 


 


นายสมพร  ดำนุ้ย  ชลประธานจังหวัดอุดรธานี  กล่าวในที่ประชุมว่า   ที่ผ่านมาโครงการฝายห้วยหลวงมีข้อผิดพลาดอยู่มาก  ตนไม่อยากวิจารณ์หน่วยงานราชการด้วยกัน  และการผลักดันให้สร้างโครงการในช่วงนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าโครงการนี้จะคุ้มทุนหรือไม่  แต่ด้วยเหตุผลทางการเมืองทำให้เร่งรัดสร้างโครงการ  จึงต้องมีการศึกษาใหม่  ทั้งนี้ตามที่อธิบดีกรมชลประทานให้ความเห็นว่าโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับมาจากกรมพัฒนาส่งเสริมพลังงาน หรือ  พพ. เดิมนั้นมีความจำเป็นจะต้องศึกษาเรื่องผลกระทบ  และประเมินความคุ้มทุนใหม่แทบทุกโครงการ  จึงจะสามารถตัดสินใจได้ว่าควรดำเนินการต่อไปอย่างไร


 


ในการเจรจาได้มีการทำความตกลงเพื่อแก้ไขปัญหา  เพื่อรายงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี  และดำเนินการต่อไปโดยมีข้อตกลงคือ


1.กรมชลประทานขอศึกษาทบทวนโครงการฝายห้วยหลวง  ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม  สังคม  วัฒนธรรม และประเมินความคุ้มทุนของโครงการก่อนจะตัดสินใจว่าจะมีการพัฒนาต่อไปหรือไม่


2.  โครงการฝายห้วยหลวงมีเป้าหมายจะเก็บกักน้ำที่ระดับเก็บกัก 160 เมตร ลทก.  ซึ่งมีพื้นที่เวนคือ 16,000 ไร่   แต่ที่ผ่านมาเก็บกักได้ที่ระดับ 154 เมตร ลทก. ซึ่งนับเป็นการลิดรอนการทำกินของชาวบ้านมานานกว่า 10 ปี   แต่เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการทำโครงการนั้น  ให้ชาวบ้านที่ครอบครองทำประโยชน์อยู่สามารถเข้าไปทำประโยชน์  หรือดำเนินการขอเอกสารสิทธิได้


3.ให้ดำเนินการศึกษาตรวจสอบผู้เดือดร้อน  และเยียวยาการเสียโอกาส  และความเดือดร้อนของชาวบ้านอย่างเร่งด่วนต่อไป


4. ให้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดแก้ไขผลกระทบจากโครงการห้วยหลวงเพื่อ


                        -  รวบรวมเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับการไขปัญหาที่ผ่านมา  เพื่อทำการรับรองข้อมูล


                        -  ดำเนินการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  สังคมวัฒนธรรม ของโครงการ


                        -  พิจารณาช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ


5. ให้กรมชลประทานเร่งรัดตัดสินใจในการกำหนดระดับการเก็บกักน้ำของฝายห้วยหลวงให้แน่นอนว่าจะเก็บกักที่ระดับใด  เพื่อที่จะได้รู้ขอบเขตของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่แน่นอนและชาวบ้านจะได้ไม่เสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ที่ดิน


 


ด้านนายเหลาไท  นิลนวล   ตัวแทนฝ่ายชาวบ้านที่ร่วมเจรจา กล่าวภายหลังเจรจาว่า  กลุ่มชาวบ้านมีความพอใจกับข้อตกลงเบื้องต้นนี้  เพราะเป็นสัญญาณที่ดีที่ปัญหาได้นำมาพิจารณาใหม่  หลังจากที่ทอดทิ้งผู้เดือดร้อนมานาน   อย่างไรก็ตามกลุ่มชาวบ้านก็ยังจะชุมนุมอยู่ที่หน้าศาลากลางต่อไป   ทั้งนี้จะได้ยื่นหนังสือกับผู้ว่าฯ เพื่อจัดทำแผนการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ  โดยจะนำเสนอแผนการพัฒนาฟื้นฟูวิถีเกษตรกรรมยั่งยืนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้วโดยจะนำเสนอแผนดังกล่าวต่อผู้ว่าฯในสัปดาห์หน้า นายเหลาไทยกล่าว


 


นายพร้อม  ศรีสร้างคอม แกนนำชาวบ้านผู้ชุมนุม  กล่าวว่า  อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังจะชุมนุมต่อไปเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเริ่มขึ้นและจริงจัง  เพราะที่ผ่านมามีความไม่โปร่งใสในเรื่องการแก้ไขปัญหาจนชาวบ้านเดือดร้อนฟรี ๆ  มายาวนานนับแต่มีการสร้างฝายนี้  ส่วนเรื่องฝายกุมภวาปีจะได้มีการเจรจาในวันที่ 20 มกราคม 2549 นี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net