บทความ: เอาเรื่อง "ยา" ออกจากการเจรจาทางการค้า

 

 "พวกที่มาเรียกร้องเรื่องเอฟทีเอต้องมองไปข้างหน้า ถ้าเราแข่งขันในสหรัฐเรายังทำไม่ได้  เราก็จะขาดดุลการค้า  เงินก็จะไหลออก  สหรัฐฯ  ประเทศเดียวเราได้ดุลการค้ามโหฬาร"   นายกรัฐมนตรี  พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตรพูดถึง กรณีที่เครือข่ายองค์ประชาชนกว่า 10  เครือข่ายร่วมหมื่นคนที่มารวมตัวกันที่จ.เชียงใหม่เพื่อคัดค้านการเจรจาทำเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ  รอบที่ 6

 

คำพูดของนายกฯ ทำให้นึกถึงเมื่อคราวที่ไทยทำเขตการค้าเสรีกับประเทศยักษ์ใหญ่อีกประเทศหนึ่งคือประเทศจีน   โดยครั้งนั้น นายกฯ ก็บอกว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศจีนอย่างมหาศาล   เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่   แต่สุดท้ายผลการศึกษาของกลุ่มภาคประชาชนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมาธิการวุฒิสภาต่างประเทศ   กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-จีน  ล้วนสะท้อนตรงกันว่าไทยขาดดุลการค้ายับเยิน   ปรากฎว่าแอปเปิ้ล  หอมแดง  กระเทียมจากจีนทะลักเข้าไปไทยจนทำให้เกษตรกรบ้านเราต้องสูญเสียอาชีพกันเป็นจำนวนหลายแสนครอบครัว  

 

ฉะนั้นการทำเอฟทีเอกับประเทศใหญ่ที่มีตลาดกว้างขวางจึงมิใช่คำตอบเสมอไปว่าเราจะขายของได้มากขึ้น   ยังมีภาพลวงตาที่เรามองไม่เห็นอีกมากมาย  เช่นการที่จีนให้มาตรการกีดกันสินค้าโดยใช้มาตรการภาษีมูลค่าเพิ่ม  การตรวจเข้มเรื่องสารพิษ  เช่น มีการตีกลับลำไยและทุเรียน  ขณะที่ไทยกัลบปล่อยให้นเข้าโดยเสรี เป็นต้น

 

การที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนร่วม 10 เครือข่ายที่ประกอบด้วยเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก  สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  เครือข่ายป่าไม้ที่ดิน 4 ภาค  สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ  เครือข่ายสลัมสี่ภาค สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย  สมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์  สมัชชาคนจน  และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนคัดค้านการทำเอฟทีเอระหว่างไทย-สหรัฐฯ   มีเหตุผลที่ลึกซึ้งมากไปกว่าแค่ตัวเลขดุลการค้าอีกด้วย  นั่นคือสิ่งที่สหรัฐฯพยายามบีบบังคับไทยมาโดยตลอดให้ยอมตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา  โดยการขยายการคุ้มครองเรื่องสิทธิบัตรยาจาก  20 ปี  เป็น  25 ปี  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการผูกขาดของบรรษัทยาข้ามชาติ  (ส่วนใหญ่ถือสัญชาติสหรัฐฯ)  มากขึ้น  ทำให้ยามีราคาแพงมากขึ้น  ไม่แต่เฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ  แต่จะรวมถึงชาวไทยทั้งประเทศที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่จำต้องได้รับยาที่บ้านเราไม่สามารถทำการผลิตได้ด้วย              

 

รศ.ดร.จิราพร  ลิ้มปานานนท์  คณะเภสัชศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ติดตามเรื่องสิทธิบัตรยามาเป็นเวลากว่า 13  ปีกล่าวว่ายาและการสาธารณสุขเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนพึงจะได้รับ  ดังนั้นการเจรจาเอฟทีจึงต้องคำนึงว่าเอฟทีเอจะส่งผลกระทบต่อการสาธารณสุขและการเข้าถึงยาของประชาชนหรือไม่  โดยไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบผลประโยชน์ทางการค้าได้

 

หากไทยยอมตามสหรัฐฯ  โดยให้สิทธิผูกขาดแก่บริษัทระยะยาว  จะส่งผลกระทบต่อคนไทย  ถ้าหากเทคโนโลยีอยู่ในขั้นสูงและคนไทยกำลังเรียนรู้  แทนที่จะกระตุ้นให้ชาวไทยเริ่มประดิษฐคิดค้นพัฒนายา  กลับขัดขวางและให้ประโยชน์ผูกขาดแก่ต่างชาติ    อุตสาหกรรมยาจะพัฒนาไม่ทัน  จะกระทบต่อผู้ป่วย และผู้บริโภคเข้าไม่ถึงยา

 

นอกจากนี้เหตุผลสำคัญที่ อ.จิราพรเห็นว่าฝ่ายไทยควรจะนำเรื่องสิทธิบัตรยาออกจากการค้า คือ  เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตและวิจัยยาของสหรัฐ  หรือ (PhRMA)  พยายามเคลื่อนไหวกดดันให้ไทยแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรผ่านผู้แทนการค้ามาโดยตลอด   เบื้องหลังการเคลื่อนไหวคือผลประโยชน์จากค้ายามหาศาล   หากไปดูข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์ก็จะพบว่าอุตสาหกรรมยาเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรสูงอยู่ใน 10-20  อันดันแรกของสินค้ามาตลอด 

 

ความจริงแล้วประเทศไทยเองก็เคยมีบทเรียนกรณีสิทธิบัตรมาแล้วเมื่อปี 2532  โดยสหรัฐใช้มาตรการตอบโต้ข่มขู่ว่าจะลงโทษทางการค้าต่อไทย   ตัดสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร (Generalized System of Perference -GSP)  กับสินค้าไทยมูลค่า  165 ล้านดอลล่าร์ หรือ  4,125 ล้านบาท  ในที่สุดไทยก็ต้องยอมแก้ไขกฎหมายสิทธบัตรในปี 2535  โดยขยายการคุ้มครองเพิ่มขึ้นจาก 15  ปี  เป็น  20  ปี                   

 

ถือว่าประเทศไทยต้องคุ้มครองสิทธิบัตรก่อนที่ข้อตกลงทริปส์ใน WTO  จะบังคับล่วงหน้าถึง  8  ปี  เท่ากับว่าประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศไปอย่างน่าเสียดาย   เมื่อเทียบกับประเทศอินเดียที่ไม่ยอมตามสหรัฐ  ปรากฎว่าอุตสาหกรรมยาของอินเดียพัฒนาไปอย่างมากจนถึงขั้นอยู่ในระดับแนวหน้าแล้ว

 

เหตุที่สิทธิบัตรเป็นอุปสรรคต่อการวิจัยและพัฒนายาภายในประเทศนั้น  อ.จิราพรได้ยกกรณีตัวอย่าง ยารักษาโรคเอดส์ในประเทศไทยว่า  บริษัทยาข้ามชาติพยายามนำยาที่เคยจดสิทธิบัตรแล้วมาผสมกัน หรือส่วนผสมทางยาเข้าไปเพื่อให้สามารถจดสิทธิบัตรเพิ่มมากขึ้น  เช่น Zidovudine  กับ Lamivudine  หรือ Ritonavir  กับ Lopinavir   

 

จะเห็นว่าบริษัทยาไม่ได้มีการวิจัยและพัฒนายาขึ้นมาใหม่    เพียงแค่นำยาแต่ละตัวมาผสมกันแล้วก็จดสิทธิบัตรไปเรื่อย ๆ  ระยะเวลาการผูกขาดก็ยาวออกไปเรื่อย ๆ  ทำให้ยากลุ่มนี้ไม่สามารถพัฒนาในประเทศไทยได้เลยเพราะติดสิทธิบัตรนั่นเอง

 

จากข้อมูลทะเบียนสิทธิบัตรในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2543-2546  พบว่าสิทธิบัตรที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยเป็นของต่างชาติถึง  5,148  รายการ  จากจำนวน 8,574  รายการ  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่ยากที่จะคาดเดาว่าใครกันแน่ที่จะได้ประโยชน์จากแก้ไขฎหมายสิทธิบัตรตามแบบสหรัฐ

 

ส่วนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)  ทำการศึกษาผลกระทบของการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ  มีความเห็นต่อกรณีคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาว่าการที่ประเทศต้อง   ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้สูงขึ้นทัดเทียมสหรัฐฯ  จะมีผลทำให้ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสูงเกินกว่าระดับการพัฒนาประเทศ  ผลที่จะตามมาคือประเทศไทยจะขาดความยืดหยุ่นในการกำหนดนโยบายทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ  ทีเกี่ยวข้องกับการศึกษา  เช่นการจัดหาตำราเรียน หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ราคาถูกให้แก่สถาบันการศึกษา  นโยบายสาธารณสุข เช่นการจัดหายาราคาถูกให้แก่ผู้ป่วย  ตลอดจนนโยบายเกษตร เช่นการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์พืชของเกษตรกร เป็นต้น

 

ดังนั้น ทีดีอาร์ไอจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการเจรจากับสหรัฐฯ   เช่น ให้มีการยืดเวลาการปฏิบัติให้ยาวออกไปภายหลังจากทำเอฟทีเอ     ไม่ควรขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิ่งมีชีวิตเกินไปกว่าข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก     ต้องตัดเงื่อนไขที่จะเป็นการจำกัดการเข้าสู่ตลาดยาหรือสารเคมีของผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น กรณีการขยายการคุ้มครอง  การห้ามประกอบการ หรือการห้ามเข้าถึงข้อมูลการทดลองต่าง ๆ  เป็นต้น

 

อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวของเครือข่ายองค์ภาคประชาชนครั้งนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อครั้งสำคัญของประเทศไทย    หากสามารถทำให้ฝ่ายผู้แทนการเจรจาของไทยหันมาฟังเสียงของประชาชนบ้าง  หรือทำให้ไทยไม่ยอมอ่อนข้อต่อสหรัฐฯ  ก็จะเป็นผลดีกับคนไทย  เฉพาะอย่างยิ่งอนาคตของลูกหลานเราเอง.  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท