สหรัฐทุบโต๊ะสิทธิบัตรยา ขอผูกขาดไกลถึงวิธีการรักษาโรค!

 

ประชาไท—13 ม.ค. 2549 เว็บไซต์ผู้จัดการรายงานว่า ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงการเจรจาการค้าเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐอเมริกา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาว่า เมื่อวันที่ 11 ม.ค.สหรัฐได้ยื่นขอเสนอให้ไทยคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามากกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPs) นั่นคือ สหรัฐฯ ต้องการในแบบของ TRIPs Plus ซึ่งส่วนที่เกี่ยวข้องกับยาและเวชภัณฑ์ มี 2 ส่วน คือ สิทธิบัตรยา และการคุ้มครองข้อมูลยา (Data Protection)

 

 อย่างไรก็ตาม ทางคณะทำงานด้านยาจะยึดให้เจรจาตามความตกลงทริปส์ และหากขอให้คุ้มครองการให้สิทธิ์ผูกขาดในข้อมูลการทดสอบยาและผลิตภัณฑ์เคมี (Data Exclusivity) นั้น ไทยให้ไม่ได้ แต่ให้ได้เพียงความคุ้มครองข้อมูล (Data Protection) เท่านั้น รวมทั้งจะไม่ยอมรับข้อเสนอที่ทำให้ไทยเสียหายอย่างเด็ดขาด

 

"ข้อเสนอของทางสหรัฐฯ ที่ให้มาเข้าใจยาก ดังนั้น เราจึงต้องใช้เวลาในการตีความว่า ที่สหรัฐฯ เสนอมาหมายความว่าอย่างไร เพราะการยื่นครั้งนี้เป็นครั้งแรก เราจึงไม่มีโอกาสในการได้พิจารณาล่วงหน้าเลย และสหรัฐฯ ก็แสดงความเข้าใจว่าเราต้องใช้เวลาในการพิจารณาก่อนที่แสดงท่าทีว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนเนื้อหาที่สหรัฐเสนอนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าสหรัฐฯ เสนออะไรมาบ้าง เพราะเป็นความลับของทีมเจรจา"ศ.ดร.ภักดี กล่าว

        

ศ.ดร.ภักดี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วข้อเสนอที่สหรัฐฯ เสนอมานั้น ไม่แตกต่างจากที่สหรัฐเคยทำข้อตกลงเอฟทีเอกับสิงคโปร์เท่าไรนัก ในส่วนของสิทธิบัตรได้ระบุแต่เพียงว่าให้ยืดระยะเวลาการคุ้มครองสิทธบัตรออกไปจากความตกลงทริปส์ ที่ระบุว่า ให้คุ้มครอง 20 ปี แต่ไม่ได้ระบุว่าจะยืดเวลาออกไปอีกกี่ปี

 

อย่างไรก็ตาม หากมีการยืดระยะเวลาออกไปจะส่งผลกับราคายา และการเข้าถึงยาของคนไทย แม้ว่าหลังการลงนามเอฟทีเอราคายาจะไม่ได้แพงขึ้นไปโดยอัตโนมัติ แต่หากไทยผลิตยาสามัญ (Generic Drugs) ได้ช้าลงจะทำให้เกิดการผูกขาดยาที่มีสิทธิบัตรในตลาด ทำให้ราคายาแพง ซึ่งกระทบกับผู้มีรายได้น้อย และสิทธิประโยชน์ของประชาชนตามโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

ศ.ดร.ภักดีกล่าวด้วยว่า หากมีการยืดระยะเวลาการคุ้มครองออกไปจริงๆ จะมีผลกับราคายา เช่น ยาต้านไวรัส (ARV) ที่ใช้ในการักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งปัจจุบันใช้ยาจีพีโอเวียร์ ค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน แต่หากดื้อยา ซึ่งปกติจะมีการดื้อยาประมาณ 15-20% ของผู้ใช้อยู่แล้วจะต้องเปลี่ยนยาใหม่ ซึ่งยาที่จะใช้ส่วนใหญ่มีสิทธิบัตร ราคาจะแพงขึ้น 5-10 เท่าตัว หรือประมาณ 10,000 บาทต่อคนต่อเดือน หากต้องให้ยาต้านไวรัสครอบคลุมผู้ติดเชื้อ 50,000 คน รัฐจะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อปี

 

นอกจากนี้มีแหล่งข่าวจากจากคณะผู้แทนเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ฝ่ายไทย เปิดเผยว่า นอกเหนือจากเรื่องทริปส์ผนวก(Trips Plus) แล้ว ยังมีเรื่องที่สหรัฐเสนอต่อไทยเพิ่มเติมจากกรอบข้อตกลงที่สหรัฐเคยทำกับประเทศสิงค์โปร์และบาห์เรนเป็นกรณีพิเศษสำหรับประเทศไทย กล่าวคือการเสนอให้ไทยแก้ไขกฎหมายกฎหมายสิทธิบัตรของไทยให้คุ้มครองสิทธิบัตรวิธีการรักษาด้วย

         

ทั้งนี้ เดิมกฎหมายสิทธิบัตรของไทยกำหนดว่าห้ามมีการให้สิทธิบัตรวิธีการรักษา เนื่องจากเป็นห่วงว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจน หากมีการจดสิทธิบัตรวิธีการรักษาดังกล่าวแล้วจะมีผลทำให้การรักษาพยาบาลแพงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้

         

นอกจากนี้ ในวงเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ กรณีสิทธิบัตรนั้นปรากฏว่ามีตัวแทนของสมาคมผู้ผลิตและวิจัยผลิตภัณฑ์ยา(PReMA)ซึ่งเป็นสมาคมผู้นำเข้ายาจากต่างประเทศ ถือเป็นสาขาของสหพันธ์อุตสาหกรรมยา(PhRMA)ของสหรัฐ ที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลกลางสหรัฐในการผลักดันเรื่องสิทธิบัตรยาให้อยู่ในเอฟทีเอไทย-สหรัฐนี้ด้วย

 

ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ข้อเสนอของสหรัฐที่ให้ไทยเพิ่มการคุ้มครองสิทธิบัตรในวิธีการรักษาและการวินิจฉัยทางการแพทย์ จากการศึกษาข้อเสนอเรื่องสิทธิบัตรยาที่สหรัฐได้ยื่นข้อเสนอและลงนามกับประเทศต่างๆที่ผ่านมา เช่น สิงคโปร์ บาร์เรน ฯลฯ ไม่เคยปรากฏหัวข้อนี้มาก่อน ยิ่งเป็นการตอกย้ำความพยายามผูกขาดตลาดยาให้ชัดเจนขึ้นไปอีก

 

นพ.พงษ์เทพ วงศ์วชิระไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า หากไทยยอมรับเรื่องสิทธิบัตรในวิธีการรักษา และวิธีวินิจฉัยโรคตามข้อเสนอของสหรัฐจริง จะส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบสาธารณสุขของไทยในปัจจุบัน เพราะวิธีการรักษาทุกขั้นตอนอิงตามแบบตะวันตก และยังไม่การผลิตความรู้ทางการแพทย์ใดๆ ภายในประเทศเลย อาจารย์หมอทุกคนก็จบมาจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับตำราเรียนที่มีการแปลมาทั้งนั้น

         

"สาธารณสุขเป็นเรื่องของมนุษยธรรม และไม่ควรถูกจัดให้เป็นเรื่องทางการค้า ข้อเสนอนี้มากเกินไป และไม่แพทย์คนไหนในโลกที่คิดอย่างนั้น ทุกคนล้วนต้องการเผยแพร่ความรู้ ต้องการให้เกิดความดีงาม ทุกวันนี้หากมีวิธีการรักษาใหม่ๆ ตีพิมพ์ลงวารสารในเมืองนอก วันพรุ่งนี้ก็นำมาใช้ได้ แต่ถ้าหากมีการเรียกเก็บค่าต๋ง เราก็ต้องร่วมกันคัดค้าน" นพ.พงษ์เทพ กล่าว

 

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้ประสานงานมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เราวิตกและท้วงติงเรื่องนี้กับรัฐบาลมาตั้งแต่ต้นเพราะถือเป็นปัญหาใหญ่ ขณะที่ที่ผ่านมารัฐบาลเองก็บอกว่ายังไม่รู้ว่ากรอบการเจรจาจะเป็นอย่างไรและบอกว่าพวกเราวิตกไปเอง แต่ถึงวันนี้ทุกอย่างก็เป็นไปตามที่เราวิตกและท้วงติงแล้ว ดังนั้นถึงตอนนี้รัฐบาลต้องตอบแล้วว่าจะเอาอย่างไร จะมีจุดยืนอย่างไร และประเด็นทรัพย์สินทางปัญญานั้นรูปธรรมคืออะไร

 

นายนิมิตร์กล่าวต่อว่า หากผลการเจรจาที่ออกมานั้นประเด็นใดที่จะส่งผลต่อการแก้ไขกฎหมายของไทย เช่น กรณีสิทธิบัตรวิธีการรักษาพยาบาลที่ต้องแก้ไขพ.ร.บ.สิทธิบัตรให้มาอยู่ภายใต้กรองเอฟทีเอ จะถือว่าผิดรัฐธรรมนูญแน่นอน

 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เคยให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้แม้จะยังไม่มีการลงนามในเอฟทีเอไทย-สหรัฐ แต่มีการยกร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร เรียบร้อยแล้วโดยที่สอดคล้องกับเอฟทีเอ เหมือนกรณีสหรัฐ-สิงคโปร์ อาทิ กรณีของลิขสิทธิ์มีการระบุให้การละเมิดลิขสิทธิ์เป็นอาญาแผ่นดิน ทำให้รัฐยอมความไม่ได้ การระบุให้การทำซ้ำชั่วคราวเป็นความผิด

 

 

 

       

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท