Skip to main content
sharethis


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น.ของวันที่ 15! มกราคม 2549 ณ บริเวณลานกลางแจ้งบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) และเครือข่ายประชาชนติดตามนโยบายประชานิยมและการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการรวมตัวกันของเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานกว่า 1000 คน ได้แก่ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำพอง เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง-ชี-มูลจ.ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี เครือข่ายปราช์ญชาวบ้านอีสาน เครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เครือข่าวสลัมสีภาค และพันธมิตร กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีและพันธมิตร ได้ร่วมกันแถลงข่าวกิจกรรมเวทีวิพากษ์นโยบายประชานิยม ขึ้น

 


นางสุนทรี หัตถี เซ่นกิ่ง ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนติดตามนโยบายประชานิยมและการแก้ไขปัญหาความยากจน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า เครือข่ายฯได้เดินทางมาเพื่อสะท้อนปัญหาความยากจนอันเกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐในภาคอีสาน และตั้งเป้าหมายจะร่วมกันทำกิจกรรมวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลใช้นโยบายที่สร้างความยากจนให้กับประชาชน และสะท้อนปัญหาการพัฒนาของรัฐที่สร้างปัญหาความยากจนในพื้นที่ภาคอีสานทั่วไปในระหว่างวันที่ 15 - 16 มกราคม 2549 นี้


 


หลังจากแถลงข่าวแล้วก็จะออกเดินรณรงค์ทั่วร้อยเอ็ด เพื่อแจกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้นโยบายประชานิยมและขอให้ประชาชนไทยร่วมกันตรวจสอบการดำเนินนโยบายประชานิยมและการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งไม่ถูกทางแต่เป็นการซ้ำเติมปัญหาให้สังคมอีสาน โดยจะมีกิจกรรมในวันที่ 15 - 16 ม.ค.49 เพื่อรณรงค์ต่อสาธารณชนว่าประชานิยมไม่ใช่ทางออกของปัญหาความยากจน และวันพรุ่งนี้ (16 ม.ค.49) ชาวบ้านจะได้ร่วมกันประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นการปัดเป่าทุกข์เข็ญและสืบชะตาบ้านเมือง โดยต้องการให้มีการตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมและการแก้ไขปัญหาความยากจน และร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ของคนอีสานที่จะร่วมทัพกับภาคีอื่นทั่วประเทศในการรณรงค์ให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองในประเทศไทย และยื่นข้อเรียกร้องในแต่ละพื้นที่ปัญหาให้ชัดเจน


 


นางสุนทรีกล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็ดพระเจ้าอยู่หัวเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" คือหนทางที่สอดคล้องกับหลักการทางพุทธศาสนา ทั้งนี้เครือข่ายมีข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงนโยบายประชานิยมมาใช้หลักการเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ใช่ทำสิ่งที่สวนทางกันเช่นทุกวันนี้


 


ด้านนายสรรสิทธิ์ จันทร์ปุ่ม แกนนำเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง - ชี - มูล กิ่ง อ. ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ตนและเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีที่ได้รับผลกระทบจาก การสร้างเขื่อนร้อยเอ็ด และเขื่อนยโสธร-พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ตามโครงการโขง - ชี - มูล เห็นว่าการที่นายกเลือกมาลงพื้นที่โชว์แก้ปัญหาความยาจนที่ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด โดยเลือกมานอนแก้ปัญหาความยากจนที่จังหวัดร้อยเอ็ดโดย มาแจกวัว ควาย แจกที่ดิน แจกบ้านน๊อกดาวว์ ฯลฯ นั้นเป็นการกระทำที่ไม่เข้าใจต้นเหตุของความยากจน เมื่อยังมีประชาชนนับหมื่นครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการโขง - ชี - มูล ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมซ้ำซากมานานกว่า 5 ปี ชาวบ้านยากจนลงอย่างเห็นได้ชัด ต้องอพยพแรงงานและเป็นหนี้เพิ่มมากขึ้นเมื่อไร่นาไม่สามารถทำกินได้ นายกลืมไปได้อย่างไรว่าโครงการพัฒนาของรัฐบาลได้ทำให้เรายากจนซ้ำซากและจนตรอกอยู่จนทุกวันนี้ ท่านละเลยปัญหาน้ำท่วมจากซ้ำซากจากโขง-ชี-มูล และรัฐบาลยังต้องการพัฒนาโครงการโครงข่ายน้ำแห่งชาติ หนึ่งในเมกกะโปรเจคที่จะผันน้ำโขงมาเติมที่น้ำชีอีกในอนาคต ทั้งที่ปัญหาน้ำท่วมก็รุนแรงอยู่แล้วและเป็นต้นเหตุของความยากจนซ้ำซากมานานกว่า 5 ปีนับแต่มีการสร้างเขื่อน ตนและเครือข่ายชาวบ้าน จึงเข้าร่วมกับเครือข่ายประชาชนตรวจสอบนโยบายประชานิยมฯ ที่กำลังซ้ำเติมความยากจนแก่ชาวบ้าน


 


โดยวันนี้จะมีการเดินรณรงค์และยื่นหนังสือกับนายกรัฐมนตรีโดยมีข้อเรียกร้องคือ ขอให้ยกเลิกหนี้สินที่เกิดจากปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่ 2543-47 และขอให้เปิดประตูเขื่อนร้อยเอ็ด และยโสธรพนมไพรในช่วงเดือน พ.ค. - ต.ค. เพื่อให้น้ำไหลสะดวกให้โดยให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมเข้าไปมีส่วนรับในการจัดการเขื่อนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังขอให้ยกเลิกกรรมการลุ่มน้ำที่แต่งตั้งขึ้นโดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม และขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบผลกระทบจากโครงการเขื่อนจากโครงการโขง - ชี -มูล เพื่อจ่ายค่าชดเชยความเสียหายย้อยหลังตั้งแต่ปี 2543-2547 ไม่เพียงจ่ายค่าตอบแทนความเสียหายจากน้ำท่วมไร่ละ 243 บาทอย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ขอให้สนับสนุนองค์กรชาวบ้าน เพื่อสร้างรายได้หลังน้ำลด เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ซ้ำเติมให้จนซ้ำซาก นายสรรสิทธิ์ กล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net