Skip to main content
sharethis


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทันทีที่ "โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย" เดินหน้าได้ ความเคลื่อนไหวของโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย (Indonesia - Malaysia - Thailand Growth Triangle : IMT - GT) ที่ค่อนข้างซบเซามานานปี ก็พลันกลับมาคึกคักอีกครั้ง


 


เริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ "สภาธุรกิจชายแดนภาคใต้" ซึ่งเป็นกลไกภาคเอกชนในการผลักดันการค้า - การลงทุน ภายใต้ความร่วมมือ 3 ฝ่าย อินโดนีเซีย - มาเลเซีย และไทย ที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ IMT - GT ให้เป็นจริง


 


จากเดิมที่การบริหารจัดการองค์กรนี้ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่กับหอการค้า 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ก็ถูกปรับเปลี่ยนมาอยู่ในกำมือของ 3 สถาบันธุรกิจในส่วนกลาง


 


นั่นคือ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม และสมาคมธนาคารไทย


 


ทั้ง 3 สถาบัน ส่งคนเข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ใน "สภาธุรกิจชายแดนภาคใต้" ชนิดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ภายใต้การนำของ "สมเกียรติ อนุราษฎร์" ที่สภาหอการค้าไทย ส่งมานั่งเป็นหัวขบวน ดำรงตำแหน่งเป็น "ประธานสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้"


 


ในเบื้องต้นที่ยังไม่สามารถดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดยักษ์ได้ ด้วยมีหลายสาเหตุหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2547 จนถึงปัจจุบัน และเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ช่วงปลายปี 2547 เป็นต้น


 


"สภาธุรกิจชายแดนภาคใต้" ภายใต้การนำของคนในวงการธุรกิจจากส่วนกลาง จึงหันไปดูแลผลักดันให้มีการแก้ไขกฎระเบียบการค้า การลงทุน การขนส่งชายแดน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน


 


ตามมาด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างช่องทางใหม่ๆ ในการดึงดูดนักลงทุน และเปิดช่องทางทางการค้า ทั้งในพื้นที่ IMT - GT ที่บัดนี้ขยายออกไปเป็น 8 จังหวัด ด้วยการเพิ่มพัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช และกำลังดำเนินการจะขยายพื้นที่ให้ครอบคุลมภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด และนอกพื้นที่ในกรอบความร่วมมือ 3 ฝ่าย


 


ถึงกระนั้น แผนงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลายก็ยังคงเดินหน้าอย่างไม่อึกทึกครึกโครมมากนัก


 


อันเห็นได้ชัดจากการประชุมสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 7/2548 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2548 ที่โรงแรมพินนาเคิล วังใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสูตล มีผู้เข้าร่วมประชุม 30 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการสภาธุรกิจชายแดนภาคใต้ ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการใน 8 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง มีนายสมเกียรติ อนุราษฎร์ เป็นประธาน


 


แผนงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปรากฏในวาระแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสตูล และความสอดคล้องกับกรอบการพัฒนาในพื้นที่ IMT - GT


 


คราวนั้น "มานิตย์ วัฒนเสน" ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ได้นำเสนอความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูลว่า อยู่ระหว่างการออกแบบก่อสร้าง โดยกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กระทรวงคมนาคม ได้ว่าจ้างบริษัท เอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท แปซิฟิค คอนซัลแตนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้สำรวจออกแบบท่าเรือน้ำลึกปากบารา และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม วงเงินงบประมาณ 43,000,000 บาท ใช้เวลาออกแบบ 1 ปี กำหนดการดำเนินงาน เริ่มตั้งแต่วันที่ 4  กรกฎาคม 2548 สิ้นสุดวันที่ 3 กรกฎาคม 2549


 


ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง อยู่ตรงที่ "มานิตย์ วัฒนเสน" บอกกับที่ประชุมว่า ขณะนี้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ได้จัดงบประมาณจำนวนหนึ่ง เพื่อนำไปจ่ายค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สินบริเวณชายฝั่งปากบารา ระยะทาง 600 เมตร เพื่อใช้ก่อสร้างถนนเข้าท่าเรือน้ำลึก โดยจะไม่ใช้กระบวนการเวนคืนที่ดิน เพราะเกรงว่าจะล่าช้า


 


ตอนนี้ อยู่ในขั้นเปิดเจรจากับเจ้าของที่ดินและทรัพย์สิน


 


"งบประมาณก้อนนี้ กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งใช้ที่ปากบารา อีกส่วนเตรียมนำไปใช้ในการเตรียมการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งใหม่ ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา" เป็นคำบอกเล่าตรงไปตรงมาของ "มานิตย์ วัฒนเสน"


 


อันเป็นข้อมูลที่สอดคล้องอย่างยิ่งกับคำบอกเล่าของผู้คนในภาครัฐ ที่ดาหน้าออกมาระบุว่า จะไม่มีการขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลา ตรงปากทะเลสาบสงขลาอีกต่อไป เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลสาบ และชายฝั่งทะเลสงขลาชนิดหนักหนาสาหัส


 


ข้อมูลที่หล่นออกมาจากปากของ "มานิตย์ วัฒนเสน" อีกประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง นั่นคือ ความเคลื่อนไหวของมาเลเซียที่ร่วมกับบริษัทจากอังกฤษ เข้ามาศึกษาแนววางท่อน้ำมัน จากบริเวณท่าเรือปากบาราไปยังท่าเรือสงขลา โดยจะแยกท่อส่งน้ำมันเข้าโรงกลั่นน้ำมันที่ "นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้" ที่คนท้องถิ่นคุ้นเคยในชื่อนิคมอุตสาหกรรมฉลุง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


 


ข้อน่าสังเกตอยู่ตรงที่ความพยายามอย่างไม่ลดละของมาเลเซีย ที่เดินหน้าผลักดันให้เกิดการขนส่งน้ำมันทางท่อเชื่อมทะเลตะวันตกกับอ่าวไทย ที่นับถึงวันนี้ 10 ปีเศษแล้ว


 


นับตั้งแต่ผลักดัน "โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจปีนัง - สงขลา" เมื่อปลายปี 2538 พร้อมข้อเสนอพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 4 องค์ประกอบ คือ ท่อน้ำมัน ท่อก๊าซ ถนน ทางรถไฟ ซึ่งไทยขอสงวนเรื่องท่อน้ำมันมาตลอด เพราะเกรงจะกระทบต่อท่อน้ำมัน ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์พลังงานทับละมุ จังหวัดพังา - สิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ในพื้นที่โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้


 


ถึงกระนั้น มาเลเซียก็ยังไม่ลดละความพยายาม เมื่อรัฐบาลมาเลเซียอนุมัติให้ East West Bridge Corporation Sdh Bhd / Consortiam ดำเนินโครงการท่อน้ำมัน จากเมือง Yan รัฐ Kedah มายังอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ต่อมา รัฐบาลไทยรับทราบ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2541 แน่นอน รัฐบาลไทยต้องขอสงวนอีกรอบ


 


เป็นการขอสงวน ในขณะที่มาเลซียได้จัดตั้งธุรกิจนำร่องขึ้นมาดำเนินโครงการร่วมทุนระหว่างมาเลเซียกับญี่ปุ่น โดยบริษัทเปโตรนาส ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ทุนดำเนินการมาจากกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น (OECF) และแหล่งเงินทุนต่างๆ


 


ขณะที่บริษัทสุโขทัยปิโตรเลียม จำกัด ก็เร่ขายไอเดียท่อน้ำมัน จากจังหวัดสตูลมาลงที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โดยอ้างว่ามีนักลงทุนจากจีนให้ความสนใจที่จะเข้ามาร่วมทุนกับคนไทย


 


ยังมีอีกประเด็น ที่ "มานิตย์ วัฒนเสน" บอกกับที่ประชุม เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2548 ที่น่าสนใจ นั่นคือ โครงข่ายถนนที่มีอยู่ ไม่สามารถรองรับการขนส่งสินค้าเข้า - ออกท่าเรือน้ำลึกปากบาราได้ การรถไฟแห่งประเทศไทย เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ใช้ระบบรางเชื่อมทางรถไฟจากอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา มายังท่าเรือปากบารา เพราะใกล้ที่สุด แต่อาจจะติดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะแนวนี้จะตัดผ่านพื้นที่ป่าต้นน้ำ


 


อันตามมาด้วยข้อเสนอเพิ่มเติม จาก "กิตติพล โชติพิมาย" นักวิชาการ 8 ว จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่บอกกับที่ประชุมว่า การสร้างระบบรางเข้าท่าเรือน้ำลึก ควรคำนึงถึงการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องด้วย จึงจะสอดคล้องกับสาขาการพัฒนาพื้นที่ต่อเนื่องแนวพื้นที่สะพานเศรษฐกิจและการค้าภายใน จึงเสนอให้เชื่อมระบบรางจากจังหวัดตรังเข้ามายังท่าเรือน้ำลึกปากบารา ต่อไปยังจังหวัดสงขลา น่าจะเหมาะสมกว่า


 


แน่นอน ข้อเสนอที่ฟังดูดีเช่นนี้ ย่อมได้รับการขานรับ จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านจะลงมติเห็นชอบกับโครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา และโครงการเชื่อมระบบราง


 


นี่คือ ตัวอย่างความคืบหน้า หลังจาก "โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย - มาเลเซีย" เดินหน้าได้สำเร็จ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net