Skip to main content
sharethis



 



สมชาย ปรีชาศิลปกุล


ในรายการ "มองคนละมุม" สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "สมชาย ปรีชาศิลปกุล" อาจารย์ประจำโครงการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้ให้สัมภาษณ์ย้ำว่า หากจะแก้หรือปรับรัฐธรรมนูญ ก็ต้องรณรงค์ทางสังคม เพราะนี่คือการเพิ่มปัญญาให้สังคม เพราะฐานรัฐธรรมนูญอยู่ที่สังคม ฐานรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ที่นักกฎหมายมหาชนเพียงไม่กี่คน



 


ทำไมหลายฝ่ายจึงออกมาเรียกร้องให้คืนพระราชอำนาจ หรือให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หรือให้ทำการปฏิรูปรัฐธรรมนูญกันใหม่?


ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  เริ่มมีการพูดถึงและพยายามที่จะเสนอให้มีการปฏิรูปการเมืองรอบ 2 ก็คือว่า หลังจากที่เราทำปฏิรูปการเมืองมา และเราก็มีรัฐธรรมนูญฉบับที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนออกมาครั้งหนึ่งเมื่อ 8 ปีที่แล้ว พอมาถึงวันนี้ ก็คงเป็นที่ยอมรับว่าการตีความจากตัวบทในรัฐธรรมนูญเมื่อนำมาใช้จริงแล้ว เราประสบปัญหาหลายเรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของสิทธิเสรีภาพประชาชน อันนี้เป็นปัญหาหลักด้านหนึ่ง


 


แต่ถ้าเกิดเรามองจากสถานการณ์ทางการเมือง ที่ทำให้คนตระหนักว่า  ถึงเวลาต้องแก้รัฐธรรมนูญ  มันไม่ใช่ปัญหาจากเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน มันเป็นด้านอื่นมากกว่า  อย่างเช่น  ด้านหนึ่งคือ ด้านของการที่อำนาจในทางการเมืองมันรวมศูนย์กันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดกระแสว่า  เราต้องปฏิรูปกันอีกในสองสามประเด็นนี้เป็นด้านหลัก คือ การเมืองปัจจุบันนั้นถูกรวบอำนาจไปอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว พรรคการเมืองพรรคเดียว แล้วคนกลุ่มนี้ก็อาศัยอำนาจทางการเมือง ในแง่ของการวางนโยบาย หรือออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเอง ซึ่งอันนี้เป็นปัจจัยด้านหลัก


 


เพราะถ้าดูข้อเสนอของคนที่ต้องการจะปฏิรูปการเมืองรอบ 2 ประเด็นที่เห็นก็คือ ประเด็นความพยายามจะเข้าไปลดทอนอำนาจของรัฐบาล เช่น จะให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางในรัฐบาลได้ง่ายขึ้น ทำให้ ส.ส. ไม่ต้องสังกัดพรรค นี่เป็นด้านหนึ่ง แต่อีกด้านอื่นๆ มักไม่ค่อยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นมากนัก เช่น รัฐธรรมนูญปัจจุบันรับรองสิทธิเสรีภาพประชาชนมากมาย แต่ปรากฏว่าได้ถูกละเมิด เช่น เรื่องสิทธิชุมชน   ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ได้รับรองไว้อยู่แล้ว แต่ผลปรากฏว่าไม่มีการปฏิบัติตาม


 


รัฐบาลทักษิณ ไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ?


รัฐบาลชุดนี้เคยประกาศความพยายามที่จะผลักดันก่อนการเลือกตั้ง เมื่อปี พ.ศ.2544 มีการประกาศอย่างชัดเจนว่า จะมีการสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ชุดนี้ แต่ปรากฏว่าพอผ่านไป  รัฐบาล สภาสมาชิกผู้แทนราษฎรหมดวาระลง ก็ยังไม่ได้คืบหน้าไปถึงไหน จนกระทั่งตอนนี้ ปี 2549 ผลก็คือ  รัฐบาลไม่ได้ให้การสนับสนุนเรื่องนี้เท่าที่ควร นอกจากปัญหารัฐบาลรวมศูนย์ ปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพประชาชน ไม่ได้รับการเคารพ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง และเรื่องนี้มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเป็นรั้วอำนาจรวมศูนย์ของรัฐด้วยซ้ำ


 


เพราะการไม่ตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้นี้ ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลอย่างเดียว เจ้าหน้าที่รัฐหลายๆ ส่วนก็ไม่ได้สนใจ กรณีเช่น ชาวบ้านใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ผลปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐหลายฝ่ายยังยึดถือกฎหมายป่าไม้เดิมที่มีอยู่ โดยไม่สนใจว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญมันเป็นอย่างไร แต่ไปใช้กฎหมายป่าไม้มากกว่า มากไปกว่านั้น  ในกระบวนการยุติธรรมเอง  ก็ไม่ได้รับรองสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ คือการปฏิเสธสิทธิเสรีภาพประชาชนมันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐ


 


เพราะฉะนั้น  นี่เป็นปัญหาอีกด้านหนึ่งซึ่งเราอาจต้องให้ความสำคัญ และต้องตระหนักถึงไม่น้อยไปกว่าเรื่องการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองเหมือในตอนนี้


เหมือนกับว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ยังไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องแก้?


กรณีรัฐธรรมนูญนั้น เราต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ดี 100 % แต่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีอะไรหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสิ่งที่น่าจะทำก็คือว่า เราลองพิจารณาได้ไหมว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้รัฐธรรมนูญในปัจจุบันนี้ มันหยุดอยู่กับที่ มันไม่ขยับไป ซึ่งมันเป็นประเด็นสำคัญที่เราจะต้องติดตามดูว่า ที่มันหยุดชะงักอยู่แบบนี้ มันเป็นเพราะว่าปัจจัยไหน เป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่สนใจ หรือเป็นเพราะชาวบ้านเองอ่อนแอในการเรียกร้องหรือไม่


 


ทั้งหมดนี้  อย่างน้อยเราก็รู้  ถ้าจะจัดการในเรื่องนี้ ควรจะทำอย่างไร  เพราะโดยส่วนมาก ไปแก้ที่รัฐธรรมนูญ ถ้าเกิดตัวรัฐธรรมนูญปัจจุบันเขียนไม่ดี แทนที่จะต้องไปแก้ตรงจุดนั้น ผมว่า เราหันมาสร้างอำนาจของชาวบ้านของประชาชน เท่าที่จะทำให้รัฐปรับตัวยอมรับเรื่อง สิทธิประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ และต้องทำให้รัฐธรรมนูญถูกใช้ได้จริง เพราะถ้าเกิดเราไม่ทำแบบนี้ หรือให้ไปแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร เรื่องมันยากที่จะเกิดผลขึ้น ผมไม่ปฏิเสธว่า บางเรื่องต้องแก้รัฐธรรมนูญ แต่ในหลายๆ ด้าน ไม่จำเป็นต้องแก้ เช่น ในด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นต้น


การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ยังมีความจำเป็นต้องนำกฎหมายรัฐธรรมนูญมาใช้เพื่อเรียกร้องสิทธิอยู่ใช่ไหม?


มีหลายๆเรื่องที่ชาวบ้านหยิบกฎหมายรัฐธรรมนูญมาเป็นข้อสนับสนุนในการเคลื่อนไหว และหลายๆเรื่องมันได้ทำให้กลายเป็นเหตุผลอันชอบธรรม  ในการที่ชาวบ้านจะบอกว่ามีสิทธิที่จะพูด เช่น เรื่องสิทธิในการจัดการทรัพยากร ซึ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญก็เขียนไว้ในสิทธิชุมชนท้องถิ่น กฎหมายอื่นๆ ไม่เขียนไม่เป็นไร  เพราะเวลานี้ การพูดถึงสิทธิของท้องถิ่นของชุมชนในการจัดการทรัพยากร เป็นเหตุผลที่ชอบธรรม  ที่ชาวบ้านได้หยิบยกขึ้นมา ซึ่งเราก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบ้างหลังจากการปฏิรูปมาได้ 8 ปีที่ผ่านมา


 


หรืออีกอย่าง  อย่างน้อยๆ องค์กรอิสระบางองค์กรได้ทำงานอย่างพอจะเชื่อถือได้ ฐานที่สำคัญ คือ ต้องอยู่ที่ความเข้มแข็งของประชาชนด้วย เช่น กรณีศาลปกครองตัดสินระงับการซื้อหุ้น กฟผ. ไว้ก่อน ซึ่งทั้งหมดจะเดินได้ก็อยู่ที่ฐานประชาชน


 


แม้กระทั่งกรณีศาลปกครอง กฟผ.ได้ทำให้เห็นแนวโน้มใหม่ว่า ในกรณีที่เป็นกิจกรรมสาธารณะ องค์การเอกชนสามารถเป็นผู้เสียหายได้ เป็นผู้เสียหายที่จะริเริ่มดำเนินคดี ฟ้องคดี ซึ่งก่อนหน้านี้มันไม่ชัดเจน ว่าองค์กรเอกชนควรจะสามารถเป็นผู้เสียหายที่ยื่นคำร้องต่อศาลได้หรือเปล่า แต่กรณีนี้ ผมคิดว่า  อย่างน้อยก็เป็นบรรทัดฐาน ว่าองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ พอจะเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลได้ ผมคิดว่ามันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้


 


นี่ถือว่าเป็นข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้?


ผมคิดว่ามันก็เป็นข้อดีส่วนหนึ่ง คือ ข้อดีของรัฐธรรมนูญชุดนี้  อย่างน้อยก็คือ ได้เห็นอดีตรัฐมนตรีเข้าคุกได้ ซึ่งก่อนหน้านี้  ถามว่าโอกาสที่คณะรัฐมนตรีจะเข้าคุกนี้ มีความเป็นไปได้ยากมาก นี่เป็นส่วนหนึ่งของผลดีของรัฐธรรมนูญอย่างน้อยยังได้ให้ความหวังแก่เราได้บ้าง


รัฐธรรมนูญจะสมบูรณ์ได้  อย่างน้อยเราจำเป็นต้องออกแรง อย่างเช่น กรณีหลายๆ เรื่อง ก็ได้รับการตอบรับจากสังคมที่ดี เช่น กรณีเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค รัฐธรรมนูญก็กำหนดไว้ว่า จะต้องได้มีองค์การอิสระทางด้านผู้บริโภคเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเลย กล่าวอย่างถึงที่สุด รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย ทางด้านองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค อาจจะต้องลองยื่นกฎหมาย หรือล่ารายชื่อโดยอาศัยสิทธิ 50,000 ชื่อ ผมคิดว่ามันก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจจะต้องลองดู ซึ่งอาจไม่ประสบผลเสมอไป แต่ในบางประเด็นที่มันมีฐานในการสนับสนุนที่กว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการคุ้มครองผู้บริโภค อันนี้น่าจะมีฐานการสนับสนุนจากผู้คนที่กว้างขวาง อาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรที่มากขึ้นกว่านี้ก็ได้


 


เพราะทุกวันนี้  ผู้บริโภคถูกละเมิดเยอะ กรณี คุณรัตนา สัจจเทพ ที่เรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีบ้านสีดำ เห็นได้ชัดว่า ถูกละเมิดมากขนาดไหน ถ้าเกิดมีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มันอาจจะทำให้การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมันเกิดยากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ มันเกิดขึ้นง่ายมาก การสร้างภาพพจน์จากโฆษณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรของรัฐ หรือองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ กรณีเช่นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่ทุกวันนี้  เมื่อเกิดข้อพิพาท มีการตั้งข้อกล่าวหา มีการตั้งข้อสงสัยการแปรรูป กฟผ.


 


สมมุติมีการตั้งข้อสงสัยการแปรรูป กฟผ.ว่า สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ สิ่งอันหนึ่งที่เราเห็นก็คือว่า จะมีการใช้โฆษณาออกมาทางโทรทัศน์ ซึ่งโฆษณาทางโทรทัศน์อันนี้ ผมคิดว่ามันเป็นปัญหามากพอสมควร มันเป็นการฉายภาพด้านเดียว ซึ่งอาจหมายความว่า เสนอข้อมูลที่ไม่เป็นจริงทั้งหมดก็ได้ หรืออาจจะละลายข้อมูลบางด้าน นี่เป็นคำถามเลยก็ได้


 


เพราะฉะนั้น องค์กรขนาดใหญ่พวกนี้ เป็นการโฆษณาโดยที่ไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งเป็นปัญหา เพราะว่าในบางครั้ง ท่ามกลางข้อขัดแย้ง ผลปรากฏว่า หน่วยงานบางหน่วยกลับใช้โอกาสแบบนี้ อาจทำให้สังคมทั้งหมดเชื่อก็ได้ อย่างน้อยๆ เห็นได้ชัดว่า มันเป็นการให้คนบางกลุ่มมีโอกาสพูดในสังคมมากกว่า ซึ่งอันนี้มันเป็นผลเสียต่อสังคมเพราะว่า สังคมกำลังถูกหลอกหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ในการคุ้มครองมันไม่เกิดขึ้น เพราะว่าองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมันไม่เกิด ถ้ามันเกิด ผมคิดว่า การที่จะโน้มน้าว หรือการใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จนี้ มันอาจจะเกิดขึ้นได้ยาก


ตัวคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ หรือ กสช. ผมคิดว่าเป็นองค์กรมีความสำคัญมาก คือพร้อมมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ระบบสื่อมวลชนบ้านเราอยู่ในมือของระบบข้าราชการเป็นหลัก คำถามก็คือว่า แล้วหน่วยงานราชการเหล่านี้ กล้าจะเสนอข่าวที่แย้งกับ นโยบายรัฐบาลหรือไม่ อันนี้เป็นข้อขัดแย้งที่ผมคิดว่ามันเลยทำให้สู่การเกิด กสช. ขึ้น


 


คือทำอย่างไรจะให้สื่อเหล่านี้เป็นอิสระ และสามารถถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่ตรงไปตรงมาได้หรือไม่ อันนี้เป็นหัวใจสำคัญ ตรงนี้หัวใจของมันก็คือว่า ทำอย่างไร เราจะทำให้เกิดกระบวนการสรรหา ซึ่งสังคมควรจะจับตามอง เพราะเรื่องนี้คณะกรรมการชุดนี้ จะเป็นคณะกรรมการที่มาจัดแล้วก็แบ่งเพื่อให้เกิด คือการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ โทรทัศน์ที่มันเป็นธรรมมากที่สุด


 


เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าสังคมต้องเข้ามาจับตามองว่า ที่ผ่านมามันมีปัญหาแน่ๆ ไม่งั้นศาลไม่เพิกถอน ในทัศนะส่วนตัว คณะกรรมการสรรหาชุดนี้ หากผมเป็นคณะกรรมการชุดนี้ ผมไม่อาจแบกหน้าอยู่ต่อไปได้แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าถ้าเกิดกรณี กสช. ที่มันล่าช้า และก่อให้เกิดผลเสียหาย วิทยุชุมชนเกิดไม่ได้ อย่างนี้ใครเป็นผู้รับผิดชอบอันดับแรก ผมคิดว่าคณะกรรมการสรรหา กสช.ต้องรับผิดชอบ เพราะการสรรหาโดยผิดพลาดมาโดยตลอดจะไม่รับผิดชอบเลยหรือ นี่ผมคิดว่า ผมยกเข้าเป็นองค์กรที่ต้องรับผิดชอบ



ยังคิดว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงใช้ได้อยู่ ใช่หรือไม่?


ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญนี้ มันจะสถิตสถาพรตั้งมั่นอยู่ได้ คิดว่าส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการเขียนกฎ เขียนกติกามี แต่อีกส่วนหนึ่ง ที่ผมคิดว่าจำเป็นมากคือ การที่คนในสังคมได้ใช้และทำหน้าที่ตามสิทธิรัฐธรรมนูญให้มันเกิดขึ้นจริง คือถ้าไทยอยากแก้รัฐธรรมนูญ ผมว่าสิ่งที่จะแก้รัฐธรรมนูญต้องทำ คือ ต้องมารณรงค์ทางสังคมให้เห็นว่า ประเด็นที่คุณเสนอนี้ มันมีข้อผิดพลาด หรือมีปัญหาอย่างไร แล้วก็รณรงค์ทางสังคม อันนี้คือหัวใจใหญ่ เพื่อให้สังคมรู้ว่าที่ผ่านมามันมีข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดอยู่ตรงไหน คือการสร้างความรู้ให้สังคม เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ หรือปรับรัฐธรรมนูญ ก็ต้องรณรงค์ทางสังคม เพราะนี่คือ การเพิ่มปัญญาให้สังคม เพราะฐานรัฐธรรมนูญอยู่ที่สังคม ฐานรัฐธรรมนูญไม่ได้อยู่ที่นักกฎหมายมหาชนเพียงไม่กี่คน


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net