Skip to main content
sharethis

 


คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี  ที่  14/2549   เรื่อง  แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีองค์ประกอบ  อำนาจหน้าที่ และวิธีดำเนินการ  ดังนี้


 


1. องค์ประกอบ


 


ให้มีคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้  เรียกโดยย่อว่า "กอยส."  เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า   "The Independent Commission on  Justice and Civil  Liberties for the Southern Boarder Provinces"   เรียกโดยย่อว่า  "ICJC" 


 


ประกอบด้วยบุคคลต่อไปนี้  ศาสตราจารย์ อุกฤษ  มงคลนาวิน  เป็นประธานกรรมการ  พลตำรวจเอก ชิดชัย  วรรณสถิตย์   รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม   เป็นรองประธานกรรมการ คนที่ 1   ศาสตราจารย์ วิษณุ   เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี  เป็นรองประธานกรรมการ คนที่  2   นายอารีย์  วงศ์อารยะ  เป็นรองประธานกรรมการ  คนที่  3


 


กรรมการประกอบด้วย    ผู้แทนมหาเถรสมาคม  ผู้แทนสำนักจุฬาราชมนตรี    อัยการสูงสุด  เลขาธิการคณะรัฐมนตรี  เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ   ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์    ปลัดกระทรวงมหาดไทย   ปลัดกระทรวงยุติธรรม   ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ   ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ  ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ผู้อำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้   อธิบดีกรมการศาสนา  อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ   อธิบดีกรมประชา-สัมพันธ์   อธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย   นายกสภาทนายความ  ประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย   ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส   ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี  ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา  


 


รองศาสตราจารย์  กำชัย  จงจักรพันธ์   ศาสตราจารย์  จรัญ  ภักดีธนากุล    นายชัยเกษม  นิติสิริ   ศาสตราจารย์  ไชยยศ  เหมะรัชตะ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ธิติพันธุ์   เชื้อบุญชัย   รองศาสตราจารย์  ธงทอง         จันทรางศุ   นายนัทธี   จิตสว่าง  ศาสตราจารย์  ประสิทธิ์  โฆวิไลกูล  ศาสตราจารย์  วิทิต  มันตาภรณ์   นายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์   นายแพทย์เสรี   ตู้จินดา   โดยมีนายกิตติพงษ์  กิตยารักษ์    เป็นกรรมการและเลขานุการ  นางสาวรื่นวดี   สุวรรณมงคล  และนายฐิติพัฒน์   ชยาพัฒน์  เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ 


 


2. อำนาจหน้าที่


 


ให้คณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้    มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องที่เกี่ยวกับจังหวัดยะลา   จังหวัดปัตตานี   จังหวัดนราธิวาส  และจังหวัดอื่นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาในสามจังหวัดข้างต้นดังต่อไปนี้


 


2.1 หน้าที่  


2.1.1 ให้ข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี  หรือคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการใช้บังคับกฎหมาย  และการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  รวดเร็ว  โปร่งใส  เป็นธรรม  และสอดคล้องกับหลักนิติธรรมตามลักษณะพิเศษทางสังคม  วัฒนธรรม   ศาสนาและภาษาของพื้นที่  ตลอดจนข้อเสนอแนะอื่นใดเกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิ  เสรีภาพ  ความเสมอภาค  การศึกษา  สวัสดิภาพ  และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


2.1.2 ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐในฝ่ายบริหาร  ภาคเอกชน  และประชาชน  เคารพ         ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ความเสมอภาค  สิทธิและเสรีภาพ  ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่พลเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่ง           ราชอาณาจักรไทย  โดยสอดคล้องกับลักษณะพิเศษทางสังคม  วัฒนธรรม  ศาสนา  และภาษาของพื้นที่


 


2.1.3 ส่งเสริมการศึกษา   สวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่  ตลอดจน        ดูแลให้มีการเยียวยาและการปฏิบัติต่อเหยื่อความรุนแรงทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมในฐานะเป็นพลเมืองไทย


 


2.1.4 เสนอรายงานของคณะกรรมการต่อนายกรัฐมนตรีปีละ 1  ครั้ง  รายงานดังกล่าวเมื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว  ให้เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ทันที


 


2.1.5 ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐมนตรี  หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย 


 


2.2 อำนาจ 


2.2.1 รับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่ของคณะกรรมการ  โดยให้รวมถึงการใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักนิติธรรม  การก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและ          การทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ    ซึ่งก่อให้เกิดความเดือดร้อนไม่เป็นธรรม


 


2.2.2 ไต่สวน  หรือสอบสวนเรื่องใด ๆ ในอำนาจหน้าที่แล้วสรุปข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป


 


2.2.3 ขอให้ส่วนราชการ  รัฐวิสาหกิจ  องค์การมหาชน  หน่วยงานอื่นของรัฐในฝ่ายบริหาร   ข้าราชการ  พนักงานหรือลูกจ้างหน่วยงานดังกล่าวมาให้ถ้อยคำ  ความเห็น  หรือส่งเอกสาร  หรือพยานหลักฐานอื่นใดให้คณะกรรมการ  คณะอนุกรรมการหรือบุคคลที่คณะกรรมการมอบหมายให้กระทำการแทน 


 


2.2.4 จัดให้มีการศึกษาวิจัย  หรือแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ 


 


2.2.5 ดำเนินการหรือขอให้ส่วนราชการ  รัฐวิสาหกิจ  องค์การมหาชน  หน่วยงานอื่นของรัฐในฝ่ายบริหาร   และภาคเอกชน  ดำเนินการใด ๆ  อันเป็นการพัฒนาการศึกษา  การส่งเสริมสวัสดิภาพและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ให้อยู่ในฐานะที่เหมาะสมตามลักษณะพิเศษของพื้นที่  เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันกับ          ประชาชนในพื้นที่อื่นของประเทศ


 


2.2.6 ดำเนินการหรือขอให้ส่วนราชการ  รัฐวิสาหกิจ  องค์การมหาชน  หน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐในฝ่ายบริหาร   และภาคเอกชน    ดำเนินการเยียวยาและดูแลให้มีการปฏิบัติต่อเหยื่อของความรุนแรง  ไม่ว่าจะเป็นประชาชน  เจ้าหน้าที่ของรัฐ  หรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นอย่างเหมาะสมในฐานะพลเมืองไทย


 


2.2.7 เผยแพร่การเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ความเสมอภาค  สิทธิ  เสรีภาพ  และหน้าที่พลเมือง  ตลอดจนการเคารพความหลากหลายทางสังคม  วัฒนธรรม  ศาสนาและภาษาต่อสาธารณชน  โดยให้สื่อสารมวลชนภาครัฐให้ความร่วมมือในการดำเนินการ


 


2.2.8 ในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน  ให้เสนอมาตรการการระงับ  ยับยั้งการกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม   ละเมิดศักดิ์ศรี   ความเป็นมนุษย์   ความเสมอภาค  สิทธิ  เสรีภาพของประชาชน  โดยรายงานให้รัฐมนตรีผู้บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานและมีอำนาจตามกฎหมายซึ่งกระทำหรือ    งดเว้นการกระทำนั้น  และให้รายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยพลัน 


 


2.2.9 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ  คณะทำงาน  หรือบุคคลเพื่อมอบหมายให้ดำเนินการใด   หรือกระทำการแทนคณะกรรมการ  ทั้งนี้  ตามที่คณะกรรมการกำหนด


 


3. วิธีดำเนินการ


 


3.1 เพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการได้โดยอิสระ  ให้ประธานกรรมการ  รองประธานกรรมการ  กรรมการ  อนุกรรมการ  ผู้ทำงาน หรือบุคคลที่คณะกรรมการแต่งตั้งไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือไม่ก็ตาม  แสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระปราศจากอาณัติผูกพันของหน่วยงานที่สังกัด 


 


3.2 ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเสนอความเห็น  หรือข้อเสนอแนะใด ๆ ต่อนายกรัฐมนตรี  หรือคณะรัฐมนตรีก่อนการเสนอรายงานตามข้อ  2.1.3  หรือก่อนการรายงานอื่นตามคำสั่งนี้  ให้กรรมการและเลขานุการ     นำเรื่องดังกล่าวรายงานนายกรัฐมนตรีทราบในชั้นต้นก่อน


 


3.3 องค์ประชุมของคณะกรรมการ  และคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด  แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกรรมการที่มีอยู่


 


3.4 ให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม   ทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ  พร้อมทั้งจัดสถานที่และบุคลากรที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาให้คณะกรรมการตามความจำเป็นและเหมาะสม


 


3.5 เบี้ยประชุม  ค่าตอบแทน  และสิทธิประโยชน์อื่นของประธานกรรมการ  รองประธานกรรมการ   กรรมการ  กรรมการและเลขานุการ  กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ  ประธานอนุกรรมการ  อนุกรรมการ  อนุกรรมการและเลขานุการ  อนุกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ  คณะทำงานและบุคคลที่คณะกรรมการแต่งตั้งให้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกับกระทรวงการคลัง  ทั้งนี้  โดยให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ พ.. 2547  และระเบียบราชการอื่นที่เกี่ยวข้องเท่าที่เป็นไปได้


 


3.6 ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปให้พอเพียงกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ  


 


ทั้งนี้  ตั้งแต่วันที่  16  มกราคม  2549  เป็นต้นไป 


                                   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net