ชาวบ้านขยับฟ้องศาลปกครองแก้ปัญหาที่สึนามิ

 


ประชาไท - 19 ม.ค. 2549 เจรจาแก้ปัญหาที่ดินสึนามิ "แหลมป้อม - ทับตะวัน" เหลว เจ้าของเอกสารสิทธิ์ - ชาวบ้าน ถือข้อมูลคนละชุดเข้าเจรจา "กรรมการแก้ไขปัญหาฯ" มึน ต้องตั้งคณะทำงานอีกชุด สะสางข้อมูลใหม่ "อธิบดีกรมที่ดิน" รับสภาพเสร็จไม่ทัน 30 วัน ตามบัญชานายกฯ ชาวบ้านเตรียมยื่นหนังสือ "คงศักดิ์" ให้ตรวจสอบที่มาเอกสารสิทธิ์ พร้อมปรึกษาทนายฟ้องศาลปกครอง "กรมที่ดิน" ออกเอกสารสิทธิ์ให้กลุ่มทุนโดยมิชอบ

 

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 18 มกราคม 2549 ที่ห้องประชุม ที่ว่าการอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินและสัญชาติในพื้นที่ประสบภัยธรณีพิบัติ ได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทที่ดินบ้านแหลมป้อม และบ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่ามีนายพีระพล ไตรทศาวิทย์ อธิบดีกรมที่ดิน เป็นประธาน

 

การเจรจาเริ่มด้วยการเชิญนายวรสิทธิ์ เอียดเอื้อ ตัวแทนบริษัท ฟาร์อีสต์ เทรดดิ้ง คอนสตรัคชั่น จำกัด เจ้าของเอกสารสิทธิ์ที่ดินแหลมป้อมมาพูดคุย โดยนายวรสิทธิ์เสนอให้ชาวบ้านแหลมป้อมที่พร้อมจะเจรจาทั้ง 17 ครอบครัว ซึ่งทั้งหมดอยู่ในที่ดินแปลงที่ 921 ให้ย้ายไปอยู่ในแปลงที่ 920

 

ต่อมา ทางคณะกรรมการฯ ได้เชิญตัวแทนชาวบ้านแหลมป้อมเข้าไปพิจารณาข้อเสนอของบริษัทฟาร์อีสต์ เทรดดิ้ง คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งทางตัวแทนชาวบ้านไม่รับข้อเสนอ ยังคงยืนยันอยู่ในที่ดินที่อยู่อาศัยปัจจุบัน โดยยินยอมลดจำนวนเนื้อที่ลงเหลือ 48 ไร่ โดยทางฝ่ายชาวบ้านให้เหตุผลว่า ขณะนี้ที่ดินแปลง 920 มีผู้อยู่อาศัยเต็มพื้นที่ และเป็นที่ดินพิพาทที่อยู่ในระหว่างการฟ้องร้องต่อศาล ถ้าชาวบ้านจากแปลงที่ 921 ย้ายเข้าไป ก็จะไปอยู่บนที่ดินที่มีผู้ครอบครองอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ความขัดแย้งบานปลายยิ่งขึ้นไปอีก

 

ในที่สุด ที่ประชุมจึงมีมติให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อมูล 1 ชุด ประกอบด้วย ตัวแทนชาวบ้าน ตัวแทนบริษัทฟาร์อีสต์ เทรดดิ้ง คอนสตรัคชั่น จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบข้อมูลการครอบครองและเนื้อที่ใช้ประโยชน์ ทั้งที่ดินแปลงที่ 920 และ 921 เพื่อปรับข้อมูลของบริษัทฯ กับชาวบ้านให้ตรงกัน โดยทางชาวบ้านยืนยันว่า การตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จากนั้น ทางคณะกรรมการฯ ได้เชิญนายกัณฐัศ กุลวานิช ตัวแทนเจ้าของเอกสารสิทธิ์ ที่ดินชุมชนทับตะวัน บ้านบางสัก ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า เข้ามาเจรจา โดยนายกัณฐัศยืนยันในสิทธิ์ตามกรรมสิทธิ์ที่มีอยู่ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในที่ดินไม่ใช่ชาวมอแกนทั้งหมด แต่มีชาวไทยพุทธ และบรรดามูลนิธิต่างๆ เข้ามาครอบครองที่ดินแปลงนี้ด้วย ซึ่งที่ประชุมได้ชี้แจงให้เข้าใจว่า มูลนิธิที่เข้ามาไม่ได้ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของที่ดิน แต่เข้ามาฟื้นฟูชุมชนหลังประสบภัยสึนามิ หลังเสร็จสิ้นภารกิจก็จะออกจากพื้นที่ แต่นายกัณฐัศก็ยังไม่มีท่าทีผ่อนปรน

 

หลังจากคณะกรรมการฯ เจรจากับนายกัณฐัศแล้วเสร็จ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ออกจากห้องประชุมมาพูดคุยกับนายกัณฐัศ พร้อมกับเสนอว่า เพื่อให้เรื่องต่างๆ จบลงโดยเร็ว เจ้าของเอกสารสิทธิ์ควรบริจาคที่ดินบางส่วนให้กับชาวบ้านบ้าง นายกัณฐัศ จึงเสนอแบ่งที่ดินให้ชาวมอแกน 4 ไร่ สร้างเป็นอาคารชุดให้ชาวมอแกนอยู่อาศัยเพื่อประหยัดพื้นที่ ซึ่งได้รับการท้วงติงจากนายชาญเชาวน์ว่า การแก้ไขปัญหาต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนด้วย ไม่เช่นนั้นจะแก้ปัญหาไม่ได้

ต่อมา คณะกรรมการฯ ได้เชิญตัวแทนชาวมอแกนทับตะวันมาเจรจาต่อ พร้อมกับเสนอว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่ชาวบ้านทับตะวันจะลดพื้นที่อยู่อาศัยและทำกินลงจากเดิม 24 ไร่ เหลือเพียง 8 ไร่โดยประมาณ ตัวแทนชาวบ้านยืนยันว่า จะขอใช้ประโยชน์ในที่ดิน 24 ไร่ ตามที่ครอบครองมานานกว่า 100 ปี ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ ยินดีที่จะต่อสู้ในชั้นศาล

 

นายพีระพล ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ เนื่องจากข้อมูลของทั้ง 2 ฝ่าย ที่นำเข้ามาเจรจาไม่ตรงกัน จึงต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อศึกษาข้อมูลรายละเอียดของพื้นที่ครอบครองและการใช้ประโยชน์จริง โดยในช่วง 30 วันแรกนี้ จะจัดทำข้อมูลให้แล้วเสร็จ จากนั้นจะขอขยายเวลาต่อไปอีก 30 วัน เพื่อเจรจากับคู่พิพาท

 

ตอนบ่ายวันเดียวกัน มีการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนชุมชนบ้านแหลมป้อม และตัวแทนชุมชนทับตะวัน มีความเห็นร่วมกันว่า การเจรจาในลักษณะที่ดำเนินอยู่ ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้ คาดว่าคณะกรรมการฯ จะขยายระยะเวลาการดำเนินงานต่อไปอีก 1 - 2 เดือน และคงไม่เป็นผลดีกับชาวบ้าน พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า คณะกรรมการฯ พยายามไม่พูดถึงการตรวจสอบที่มาของเอกสารสิทธิ์ว่า ได้มาโดยชอบหรือไม่

 

ในที่สุด ตัวแทนชาวบ้านจาก 2 ชุมชน จึงตกลงที่จะทำหนังสือถึงพล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ การครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ทั้งในส่วนของชาวบ้านและเจ้าของเอกสารสิทธิ์โดยด่วน รวมทั้งจะปรึกษาทนายความเพื่อฟ้องศาลปกครองในประเด็นกรมที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ ในที่ดินพิพาทชุมชนบ้านแหลมป้อม ชุมชนทับตะวัน รวมทั้งชุมชนบ้านในไร่ ตำบลนาเตย อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ให้กับกลุ่มทุนโดยมิชอบ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท