บทความ: ความก้าวหน้าของสิทธิมนุษยชนไทย เปรียบเทียบกับอินโดนีเซีย




แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ถือว่ามีการพัฒนาที่ค่อนข้างดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านก็ตาม การก่อตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น เมื่อปี ๒๕๔๔ ก็ดี หรือ การจัดตั้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในกระทรวงยุติธรรม ในปี ๒๕๔๕ ก็ดี  ถือว่าเป็นกลไกที่สำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

 

แต่ในอีกด้านหนึ่งภาคประชาชนยังไม่เข้มแข็งพอที่จะตรวจสอบการกระทำที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือ การกระทำโดยภาคธุรกิจเอกชน เราจึงยังคงเห็นความรุนแรงเกิดขึ้นต่อเด็กและสตรี ทั้งในครอบครัวและในสังคม การพัฒนาโครงการของรัฐที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม เช่นโครงการโรงไฟฟ้า ที่ย้ายจากบ้านกรูด บ่อนอก ไปแก่งคอย การซ้อมทรมานผู้ต้องหา และการไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างง่าย การหายสาบสูญและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ หรือ การสังหารประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในชุมชนของตน และอีกหลายๆกรณี ล้วนเป็นพยานได้เป็นอย่างดีว่า สังคมไทยยังห่างไกลต่อวิถีและวัฒนธรรมของการเคารพสิทธิมนุษยชน

 

เมื่อหันมามองดูบทบาทของไทยในเวทีโลกด้านสิทธิมนุษยชน ก็พอมองเห็นภาพรวมว่ารัฐบาลในอดีต  ได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้ว อย่างน้อย ๕ ฉบับ ในจำนวน ๗ ฉบับที่สำคัญซึ่งถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง 

 

ในขณะที่พันธกรณีของรัฐบาลต่อสนธิสัญญาเหล่านี้ ยังคงมีปัญหาที่ต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถรายงานสถานการณ์และความก้าวหน้าด้านนโยบายและกฎหมายเพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามหลักการสากลตามที่บัญญัติไว้ในสนธิสัญญาเหล่านั้น ซึ่งในปีนี้เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ส่งรายงานและเข้าไปชี้แจงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง เป็นครั้งแรกในรอบ ๗ ปี นับแต่การเข้าเป็นภาคี

 

การทำรายงานชี้แจงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและบทบาทของรัฐบาลในการดำเนินนโยบาย และการสร้างหลักประกันอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เป็นส่วนสำคัญที่ต้องจัดทำและส่งให้คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้น ตามสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนที่รัฐ ได้ให้การรับรอง ซึ่งแม้ว่าในครั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จะมีคำถามมากมายต่อรายงานของรัฐบาล ทั้งกรณีปัญหาในภาคใต้ กรณีสงครามปราบปรามยาเสพติดที่มีผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อของการสังหาร นอกกระบวนการยุติธรรมฯลฯ

 

แต่ก็ถือได้ว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญในเวทีโลก เพราะการจัดทำรายงานดังกล่าว ใช่ว่าจะสอบถามตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้นว่ามีกฎหมายอะไรที่ได้รับการพัฒนาแล้ว แต่ควรหมายถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่สามารถเข้าร่วมจัดทำรายงาน ในรูปของคณะกรรมการ เหมือนกับการจัดทำรายงานต่อคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ และคณะกรรมการสิทธิเด็ก ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ฝ่ายไทยมีภาคองค์กรพัฒนาเอกชนและภาคประชาชนและนักวิชาการเข้าร่วมในการจัดทำรายงานตามอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยได้รับการชื่นชมว่ามีพัฒนาการในด้านการคุ้มครองเด็กและสตรีที่ดีขึ้น โดยลำดับ

 

ต้องบันทึกต่อไปด้วยว่า ขณะนี้หลายภาคส่วนทั้งรัฐและองค์กรเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิสตรี กำลังร่วมกันผลักดันให้มีพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ไขการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๓ ในเรื่องให้รัฐเข้ามาจัดการคุ้มครองบุคคลในครอบครัวให้ได้รับความเป็นธรรมและปลอดจากการใช้ความรุนแรง

 

ประเด็นสำคัญในร่างพรบ.ฉบับนี้ ก็คือ นิยามของบุคคลในครอบครัว ว่ามิได้หมายถึงลูกหลานของหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น แต่รวมถึงบุคคลที่ทำงานในครอบครัวนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนรับใช้ในบ้าน หรือคนที่มาทำงานในบ้าน ซึ่งเป็นไปตามหลักการสากล

 

ประเด็นต่อมาที่ประเทศไทยมีความก้าวหน้า ก็คือ การที่รัฐบาลกำลังเสนอเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการลงโทษที่โหดร้ายหรือการกระทำเสมือนมิใช่มนุษย์ ซึ่งควรจะได้มีการเข้าเป็นภาคีมานานแล้ว เพราะมีการซ้อมทรมานผู้ต้องหา การปฏิบัติต่อผู้ต้องโทษในเรือนจำอย่างไม่เหมาะสมแก่ความเป็นมนุษย์ มานานแล้ว สนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอีกฉบับหนึ่ง ที่ยังรอการเข้าเป็นภาคีของไทย คือ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว คงต้องติดตามความก้าวหน้าในด้านนี้ต่อไป

 

หันมามองดูอินโดนีเซียบ้าง ในประวัติศาสตร์ของไทยนั้น เรารู้จักอินโดนีเซียน้อยมาก แม้ว่าบางส่วนในวัฒนธรรมเราจะรับมาจากอินโดนีเซีย ในชื่อ "ชวา"เช่น ปี่ชวา วรรณคดีเรื่อง อิเหนา อังกะลุง หรือแม้แต่ ผักตบชวา เป็นต้น ความจริงอินโดนีเซียมิได้มีแต่เกาะ ชวา เท่านั้น ตามบันทึกของรัฐอินโดนีเซียมีเกาะต่างๆมากมายกว่า หมื่นสามพันเกาะ แต่มีเกาะที่มีคนอาศัยอยู่ประมาณ สามพันเกาะ อินโดนีเซียมีความหลากหลายทางภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมสูง เราจึงมักได้ยินเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างศาสนา และชาติพันธุ์ ตลอดเวลา และติดอันดับโลก

 

ความหลากหลายทางภาษา ศาสนาและวัฒนธรรมประกอบกับมีภูมิประเทศเป็นเกาะแก่ง ทำให้การเมืองการปกครองในอินโดนีเซียค่อนข้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก จำนวนประชากรที่มีมากกว่า ๒๐๐ ล้านคน ก็เป็นปัญหา ในเรื่องการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง แต่ใช่ว่าอินโดนีเซียจะไม่ยอมรับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล

 

ในหลักการปกครองของรัฐนั้น ได้ยึดถือแนวทาง "ปัญจศิลา" ได้แก่ ความเป็นรัฐเดียว นับถือพระเจ้าองค์เดียว ประชาธิปไตยจากผู้แทนของกลุ่มที่หลากหลาย รัฐและประชาชนอยู่ด้วยกันบนพื้นฐานของความดีงาม และความเป็นธรรมเพื่อสังคมโดยรวม แต่ในความเป็นรัฐอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก อินโดนีเซียภายใต้การปกครองของ ซูฮาร์โต ที่ยึดหลัก "อำนาจรัฐคือคำสั่ง" กลับต้องฟังเสียงของนานาชาติ ภายหลังจากการล้อมปราบประชาชนที่ชุมนุมกันอย่างสงบ ในติมอร์ตะวันออก เมื่อปี ๒๕๓๔ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้น ในปี ๒๕๓๖

 

จวบจนปัจจุบันที่มีรัฐบาลประชาธิปไตย ภายใต้คำขวัญ เพื่อ "การปฏิรูปรัฐใหม่" ออกจากระบอบเดิม รัฐบาลพลเอกซูซิลโล บัมบัง ยุทโธโยโน ได้เสนอกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ๒ ฉบับ และบังคับใช้แล้ว นั่น คือ กฎหมายว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Regislation No. 39/1999 Concern Human Rights)ที่บัญญัติให้สิทธิมนุษยชน ได้รับการรับรองตามหลักสากล รัฐธรรมนูญของชาติ และหลัก ปัญจศิลา และประกาศรับรองอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ขจัดข้อครหาของสังคมโลกว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไม่เป็นอิสระ เพราะจัดตั้งขึ้นโดยคำสั่งประธานาธิบดี ในสมัย ซูฮาร์โต* และกฎหมายอีกฉบับ คือ การจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน (Regislation No.39/2000 Concerning Human Rights Courts)

 

นอกจากนี้อินโดนีเซียยังมีสถาบันระดับชาติและหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในด้านสิทธิมนุษยชนอีก หลายหน่วยงาน เช่น คณะการการสิทธิเด็กแห่งชาติ คณะกรรมการสิทธิสตรีแห่งชาติ กระทรวงกฎหมายและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

 

ใช่ว่าเมื่อมีคณะกรรมการระดับชาติหลายหน่วยงานแล้ว อินโดนีเซียจะมีความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน เพราะความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ในอดีต จึงทำให้ปัญหาค่อนข้างรุนแรงกว่าในสังคมไทย ความรุนแรงในครอบครัวยังมีอยู่ การขาดการมีส่วนร่วมทางการเมือง และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงสิทธิในการพัฒนาที่คล้ายคลึงกับของไทย ต่างกันเล็กน้อย ในเรื่องที่อินโดนีเซียมีศาลสิทธิมนุษยชน ของไทยยังไม่มี และอินโดนีเซีย เป็นภาคีสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ๔ ฉบับ คือ อนุสัญญาด้านเด็ก และสตรี อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และกำลังพิจารณาเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติกาว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม

 

เราควรได้มีโอกาสในการเรียนรู้เพื่อนบ้านให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะในหมู่เพื่อนบ้านของไทยนั้น ประเทศไทยถือว่ามีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองดีกว่าทุกชาติก็ว่าได้ เรามักเห็นหลายชาติพยายามแข่งขันกับเพื่อนบ้านในด้านการพัฒนา เศรษฐกิจ หรือสังคม แต่สิ่งที่ไม่เคยได้รับการบรรจุไว้ในแข่งขัน นั่นคือ การแข่งกันเพื่อการพัฒนาและยกระดับของความเป็นมนุษย์ หรือ สิทธิมนุษยชน ในประเทศให้มีความเสมอภาคกับสากล เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหนือสิ่งอื่นใด การที่ประชาชนในประเทศมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการศึกษาสูงขึ้น มีงานทำมากขึ้น ล้วนเป็นสิทธิที่พึงมีพึงได้ของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ในเมืองไทย ในพม่า  ลาว กัมพูชา หรืออินโดนีเซีย

 

เมื่อมนุษย์ในแต่ละชาติมีความเป็นอยู่ที่ดี ตามสิทธิที่ควรได้รับในฐานะมนุษย์ ย่อมทำให้มีโอกาสในการพัฒนาความเป็นไปของเพื่อนบ้าน และของประชาคมโลกในที่สุด

 

 

 

หมายเหตุจากผู้เขียน*

 

ขอความกรุณา บก.ช่วย แจ้งผู้อ่านได้ทราบว่ามีข้อมูลผิดพลาดเล็กน้อย ดังนี้ กฎหมายฉบับที่  39/1999 เป็นกฎหมายที่ออกในสมัยประธานาธิบดี บาฮาราอุดดิน ยูซุบ ฮาบีบี ส่วนกฎหมายฉบับที่ 26/2000ว่าด้วยศาลสิทธิมนุษยชน ประกาศใช้ในสมัยประธานาธิบดี อับดุลเราะห์มาน วาฮิด  ไม่ได้ออกในสมัย ประธานาธิบดี ซูซิลโล บัมบัง ยุทโธโยโน ครับ ในฐานะผู้เขียนจึงขออภัยผู้อ่านด้วย 

 

ขอบคุณครับ

ศราวุฒิ ประทุมราช


20 มกราคม 2549

 




* ศราวุฒิ ประทุมราช  นักกฎหมาย/นักสิทธิมนุษยชน ได้รับทุนปัญญาชนสาธารณะ (API Fellowships) กำลังศึกษาวิจัยด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศอินโดนีเซีย email:tuactive@yahoo.com





 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท