Skip to main content
sharethis


วันพุธที่ 18 มกราคม 2006 17:45น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


วิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างยั่งยืน เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายกำลังเฝ้ารอจากคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ด้วยความหวังว่า อาจเป็นแนวทางที่นำไปสู่การระงับความรุนแรงของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ร่างข้อเสนอของกอส.ฉบับที่ 1 ได้กล่าวถึงแนวทางสมานฉันท์ที่ยั่งยืนไว้คร่าวๆ เป็นเพียงหลักการแนวคิด แต่สำหรับร่างข้อเสนอฉบับที่ 2 กอส.ได้เสนอรูปธรรมที่เด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะการเสนอให้ออกพระราชบัญญัติเสริมสร้างสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


เนื้อหาเด่นในร่างข้อเสนอฉบับที่ 2 ของกอส.คือส่วนที่ 5 "วิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรงอย่างยั่งยืน : ข้อเสนอสมานฉันท์สำหรับสังคมไทย"


 


อย่างไรก็ตาม ร่างฉบับนี้มิใช่ข้อยุติที่จะนำไปสู่การสรุปและนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่อต่อรัฐบาล ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายที่สำคัญยิ่งของกอส. แต่ระหว่างนี้ยังต้องผ่านการะบวนการประชุมหารือในกอส.เอง


 


ศูนย์ข่าวอิศราเห็นว่าสังคมไทยควรมีส่วนร่วมในการศึกษา วิเคราะห์ ร่างข้อเสนอในประเด็นดังกล่าว จึงนำเสนอโดยละเอียด


 


แก้ปัญหาความรุนแรงที่ชั้นกลุ่มบุคคล


 


1. สานเสวนากับกลุ่มเสี่ยง


ฝ่ายราชการล้วนรายงานตรงกันว่า กลุ่มเสี่ยงที่อาจโน้มเอียงไปใช้ความรุ่นแรงมีจำนวนไม่มากนักวิดำเนินเพื่อลดความเสี่ยงนั้นและผลักดันให้คนเหล่านี้มาใช้ชีวิตอย่างปกติมักวางอยู่บนฐานคิดสองข้อนี้


 


๐ ข้อแรกการลงทะเบียนบุคคลเหล่านี้ทำให้ราชการตรวจสอบชีวิตของพวกเขาที่อยู่ในสายตา ของฝ่ายรัฐได้ง่ายขึ้นดังจึงจะลดโอกาสที่คนเหล่านี้จะหันไปใช้ความรุ่นแรงลงได้


 


๐ ข้อสองรัฐพยายาม อบรม พวกเขาให้หันมายอมรับอุดมการณ์หลักของรัฐ


 


แต่ข้อเสนอของกอส.วางอยู่บนฐานคิดที่ว่า จำเป็นต้องสนทนาแลกความคิดเห็นอย่างเสรีกับคนที่อาจถืออุดมการณ์ชนิดอื่นที่ต่างจากรัฐและเห็นว่าความรุ่นแรงเป็นทางออกแห่งอุดมการณ์เหล่านั้น ทั้งนี้บนฐานคิดสองประการนี้คือ


 


ประการแรก ความรุนแรงเป็นม่านบดบังทำให้ทุกฝ่ายมองไม่เห็นทางเลือกทางการเมือง จึงจำเป็นจ้องยุติการใช้ความรุนแรง หากประสงค์จะเสนอทางเลือกทางการเมืองที่แท้จริง


 


ประการที่สอง สังคมการเมืองไทยมีที่ยืนสำหรับทุกคนที่ไม่อาศัยความรุนแรง หรือตัดสินใจยุติการใช้ความรุนแรงเป็นหนทางบรรลุเป้าประสงค์ทางการเมืองของตน


 


2. กองทัพไม่ติดอาวุธ (สยามสันติเสนา)


การเผชิญหน้ากับความรุ่นแรงเพื่อยุติความรุ่นแรงด้วยชัยชนะทางการเมืองในแนวทางสมานฉันท์ ต้องอาศัยการพร้อมรับความเสี่ยง กองทัพไม่ติดอาวุธเป็นนวัตกรรมการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งต้องพร้อมรับความเสี่ยง ในสถานการณ์อันตรายเพราะ เป็นการเสนอแนะให้กองทัพตั้งกองกำลังพิเศษไม่ติดอาวุธเพื่อเข้าแทรกแซงในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐซึ่งดูจะมีมากขึ้นในระยะหลัง โดยเฉพาะโศกนาฏกรรมที่ตากใบ


 


กองทัพไม่ติดอาวุธจะมีหน้าที่เฉพาะคือป้องกันมิให้ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้วลุกลามกลายเป็นความรุนแรง เพราะการที่ภาครัฐจัดการผิดพลาดในบางกรณีเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้นแล้ว สายสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนก็อ่อนแอเสียหายเช่นที่เคยเกิดขึ้นในกรณีตากใบกองทัพไม่ติดอาวุธจะมีองค์ประกอบและได้รับการฝึกฝนเป็นพิเศษในเรื่องสำคัญ3เรื่องคือ


 


๐ ได้รับการฝึกอบรมเป็นพิเศษในด้านจัดการแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งด้วยสันติวิธี


 


๐ มีศาสนาจารย์ทั้งที่เป็นพุทธและมุสลิมผู้มีความรู้ทางศาสนาวัฒนธรรมประจำอยู่ในกลุ่มเรื่องนี้มีประโยชน์ในตัวเองอย่างน้อย 3 อย่าง คือ


 


- เป็นการพยายามแก้ไขแปลงเปลี่ยนความขัดแย้งโดยอาศัยภูมิปัญญาทางศาสนาที่ดำรงในทองถิ่นนั้นเอง


 


- เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้มีความรู้ทางศาสนาในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการปัญหาความรุนแรงและเสริมสร้างความพันธ์ระหว่างศาสนาอย่างเป็นรูปธรรมในกรอบของทัพไทย


 


- เป็นหน่วยงานที่มีสัญลักษณ์เฉพาะแสดงชัดว่าเป็นกองกำลังพิเศษที่ไม่ใช้อาวุธ อันเป็นการเสดงชัดถึงเจตน์จำนงของกองทัพที่จะคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนด้วยความกล้าหาญวางใจในประชาชนโดยการใช้สันติวิธี


 


แก้ปัญหาความรุนแรงที่ปัญหาโครงสร้าง


 


1 พระราชบัญญัติเสริมสร้างสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้


กอส. เสนอให้รัฐสภาพิจารณาตราพระราชบัญญัติเสริมสร้างสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาความรุ่นแรงและเสริมสร้างสันติสุขและสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน พระราชบัญญัตินี้ควรมุ่งทำสามสิ่งคือ


 


๐ กำหนดให้รัฐบาลแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่กลายเป็นความรุนแรงในอนาคตด้วยการใช้มาตรการทางการเมืองแนวสันติวิธเป็นยุทธศาสตร์หลักนำหนักหน้าการทหารเพราะปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเนื้อหาเป็นปัญหาการเมือง-วัฒนธรรม-ประวัติศาสตร์ การใช้มาตรการทางการเมืองแนวสันติวิธีลักษณะเฉพาะดังต่อไปนี้


 


- การเสริสร้างสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องใช้ยุทศาสตร์การรุกทางการเมืองซึ่งได้แก่การปฏิบัติทั้งสิ้นที่ส่งผลให้ประชาชนสำนึกว่าแผนดินนี้เป็นของตนที่จะปกป้องรักษา ประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของปกครองและได้ผลประโยชน์งานการทหารจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้บรรลุภารกิจงานการเมืองเป็นสำคัญ


 


- ขจัดเหตุแห่งความไม่เป็นธรรมในสังคมทุกระดับตั้งแต่ท้องถิ่นถึงระดับชาติป้องกันและปราบปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอย่างเฉียบขาดทำลายการกดขี่ขูดรีดทั้งสิ้นสร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้สภาวะความเป็นอยู่และรายได้ประชากรสูงขึ้นและแตกต่างน้อยที่สุด


 


- กำหนดวิธีการให้ได้รับรู้ปัญหาของประชาชนให้ถือความต้องการของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น


 


- ปฏิบัติผู้ก่อความไม่สงบที่เข้ามอบตัวหรือที่จับไก้ด้วยน้ำมิตรไมตรีในฐานะเพื่อนร่วมชาติ และช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม


 


๐ เปิดพื้นที่ทางสังคมให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายความมั่งคงในพื้นที่อย่างมีศักดิ์ศรีร่วมกัน เพราะความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เป็นความเป็นจริงของสังคมไทย โดยเงื่อนไขหลักของการสร้างความมั่งคงในพื้นที่คือ การถือว่าทุกคนเป็นพลเมืองของสังคม การเมืองไทยเสมอกันไม่ว่าจะมาจากเชื้อสายเผ่าพันธุ์ใด หรือ นับถือศาสนาใดเป็นสมาชิกในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วยกัน สามารถมีส่วนร่วมกำหนดชะตากรรมทางความมั่งคงบนพื้นฐานทางอัตลักษณ์ที่ต่างกันได้


 


๐ จัดตั้งองค์กรพิเศษปกครองพื้นที่ฝ่ายพลเรือนที่มีทหารและตำรวจเป็นฝ่ายสนับสนุนเพื่อรับผิดชอบและมีอำนาจเต็มในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งทางด้านการเมืองเศรษฐกิจ บริหาร วัฒนธรรมการส่งเสริมเยาวชนในพื้นที่ ตลอดจนประสานงานกับกระทรวงทบวงกรมภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเกี่ยวข้อง


 


๐ ให้มีบทเฉพาะการกำหนดให้มีองค์กรของรัฐทำหน้าที่เป็นที่พึ่งของประชาชนในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน ในกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นอย่างเป็นธรรมมีประสิทธิภาพและรวดเร็วและสร้างเงื่อนไขให้เกิดความไว้ว่างใจระหว่างประชาชนกับรัฐอย่างเร็วที่สุด


 


๐ การเสริมสร้างสันติสมานฉันท์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นภารกิจที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติจึงเป็นหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดของรัฐบาลให้กระทรวง ทบวง กรม และองค์กรต่างๆกำหนดแผนโครงการและปฏิบัติทั้งสิ้นให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัตินี้อย่างเร่งด่วน


 


2 ออกกฎหมายนิรโทกรรมแก่ผู้กระทำผิดทุกฝ่ายและส่งเสริมอภัยวิถีในสังคมไทย


 


3 ออกกฎหมายให้สิทธิชุมชนจัดการทรัพย์ยากร บนฐานความเชื่อทางศาสนา


 


4 จัดตั้งสภาที่ปรึกษาวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


เพื่อให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐทั้งทางด้านการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งการพัฒนาในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และการสร้างสังคมเข็มแข่งด้วยศาสนธรรม


 


5 คงสภาพความหลากหลายในระบบการศึกษา-เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษาสามัญและให้ความสำคัญกับนักเรียนไทยในต่างประเทศ


รัฐบาลไม่ควรดำเนินการใดๆที่จะทำให้ความหลากหลายในระบบการศึกษาของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นลดลงหรือหมดไป ที่ควรระวัง คือ ป้องกันไม่ให้แตกแยกกันในทางวัฒนธรรมชนิดที่เด็กไทยพุทธและเด็กไทยเชื้อสายมุสลิมเชื้อสายมลายูแยกกันเรียนมากขึ้น ดังนั้นควรส่งเสริมให้โรงเรียนสามัญและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทำงานร่วมกันเพื่อลดความแตกแยกทางวัฒนธรรมอันจะเป็นภัยคุกคามสังคมไทยได้ในอนาคต


 


ควรแก้ไขและปรับปรุงการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา โดยให้ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับนักเรียนชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอนวิชาสามัญ


 


สำหรับนักเรียนไทยที่ไปศึกษาต่อในในโลกมุสลิม ก็ควรส่งเสริมให้มีทางเลือก ไม่จำเป็นจะต้องเรียนวิชาด้านศาสนาเท่านั้น สถานทูตไทยทุกแห่งรวมทั้งในโลกมุสลิมควรเอาใจใส่ดูแลเด็กไทย สร้างความผูกพันช่วยเหลือเขาในฐานะเด็กไทยในต่างแดน เมื่อคนเหล่านี้กลับมาบ้าน ก็เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ทำงานในสังคมไทยอย่างเหมาะสมกับวุฒิของตน


 


6 สร้างประสิทธิภาพการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมด้วยหลักนิติธรรม-และเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมด้วยการให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมรักษาความยุติธรรม


 ต้องเริ่มต้นจากการสลายเงื่อนไขความไม่เป็นธรรมในการดำเนินกระบวนการยุติธรรมเสียก่อน ซึ่งอาจทำได้โดย


 


• สร้างกลไกช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจนเสียเปรียบอยู่แล้ว แสดงให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าประจักษ์ชัดว่า รัฐไม่ควรเลือกปฏิบัติ


 


• ทำความจริงให้ปรากฏในเรื่องที่ชาวบ้านทุกข์ร้อนเช่นเรื่องคนหาย


 


• ใส่ใจกับเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อยเช่น เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาในที่คุมขังปฏิบัติศาสนากิจอย่างเหมาะสม และเร่งคืนของกลางให้เจ้าของเมื่อหมดความสำคัญต่อคดีแล้ว


 


จากนั้นจึงดำเนินการบริการงานยุติธรรมแบบบูรณาการระหว่างท้องถิ่นกับระดับชาติ เพื่อประสานทั้งเรื่องข้อมูลและการเร่งรัดคดีความซึ่งเป็นการประกันสิทธิของผู้เสียหายด้วย เมื่อเชื่อมโยงงานยุติธรรมของประเทศอย่างเป็นเอกภาพแล้วก็เสริมสร้างประสิทธิภาพการดำเนินการกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม โดยอาศัยวิธีนิติวิทยาศาสตร์ในการเก็บพยานหลักฐานเพื่อสถาปนาความจริงของรูปคดีตามหลักวิชา และฟื้นคืนความไว้วางใจของประชาชนต่อกระบวนการสืบสวนสอบสวนของรัฐด้วย นอกจากนั้นต้องเร่งรัดคดีและตรวจสอบความก้าวหน้าของคดีสม่ำเสมอ เพราะสำหรับผู้เสียหายนั้น การรอคอยก็เป็นการลงโทษทั้งเขาและญาติมิตรอย่างยุติธรรมแบบหนึ่ง


 


ในระดับเจ้าหน้าที่ต้องสร้างกระบวนทัศน์ของงานยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ให้เจ้าหน้าที่เข้าใจ ภาคภูมิใจ และพร้อมทำงานด้วยกรอบความคิดใหม่ๆ ขณะเดียวกันคอยระแวดระวังการส่งสัญญาณของผู้บริหารประเทศที่อาจไปขัดกับกระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม


 


วิธีหนึ่งที่จะเสริมสร้างประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ คือ การเสริมสร้างบทบาทของประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม ส่งเสริมกระบวนการชุมชนบำบัด เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงอย่างครบวงจร ส่งเสริมพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลในกระบวนการยุติธรรมโดยให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการให้รางวัลและลงโทษเจ้าหน้าที่ ตั้ง "หน่วยพิทักษ์ยุติธรรม" ให้ทุกฝ่ายในพื้นที่มามีส่วนร่วมเพื่อตรวจสอบ และเสนอแนวทางใหม่ๆต่อกระบวนการยุติธรรม เปิดพื้นที่ให้เยาวชนทุกศาสนาวัฒนธรรมในประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม ในฐานะ "ยุวชนยุติธรรม" แนวทางนี้จะช่วยให้ความรู้ด้านกระบวนยุติธรรมแก่วัยรุ่นซึ่งมักจัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรง ทำให้เขาเห็นว่าพวกตนมีพลังอำนาจที่จะทำประโยชน์เพื่อความเป็นธรรมให้พี่น้องของเขาได้ ช่วยให้สายสัมพันธ์ทั้งระหว่างรัฐประชาชน และระหว่างเยาวชนด้วยกันเองเข้มแข็งขึ้น


 


7 เสริมสร้างให้สันติวิธีเป็นแนวทางหลักในนโยบายแก้ไขปัญหาความรุนแรงจังหวัด ชายแดนภาคใต้


จัดให้มีคณะกรรมการนโยบายสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งประกอบด้วยข้าราชการทั้งฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายพลเรือน ผู้แทนทั้งฝ่ายการเมือง ศาสนา และ ธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


นอกจากนั้นควรดำเนินการเพื่อให้รัฐบาลเร่งตรวจสอบทบทวนขอกฎหมายและระเบียบที่ขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมในการส่งเสริมสันติวิธีของภาคประชาชน รวมทั้งตรากฎหมายประกอบที่จำเป็น


 


8 ลดทอนปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ด้วยการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ


 ความรุนแรงที่เข้มข้นเป็นผลส่วนหนึ่งของการผูกขาดรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองอย่างเข้มข้น จึงควรต้องลดการผูกขาดอำนาจรวมศูนย์ในประเทศ เช่นโดยพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมหรือในทางกลับกันกำลังประสบกับภัยความรุนแรงอยู่ ให้เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ อาศัยวิธีการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญมาผ่อนเบาปัญหาความรุนแรง โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้นๆ


 


 ทั้งนี้โดยให้ความสำคัญกับความเป็นอิสระของท้องถิ่นตาม มาตรา 284 ของรัฐธรรมนูญซึ่งระบุว่า "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลายย่อมมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายการปกครอง กลไกการบริหาร การบริหารงานบุคคล การเงินและการคลัง และมีอำนาจหน้าที่ของตนเองโดยเฉพาะ"


 


แก้ปัญหาความรุนแรงที่ชั้นวัฒนธรรม


 


1. ส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในขอบเขตทั่วประเทศที่มีอยู่ทั่วทุกที่ในสังคมไทย


สังคมไทยมีความหลายหลายทางศาสนาวัฒนธรรมเป็นดังขุมทรัพย์อันมีค่า ปัญหาอยู่ที่ว่า สังคมไทยดูจะติดกับประวัติศาสตร์บางช่วงบางตอนที่เคยถูกระบบเผด็จอำนาจกำหนดว่า "เอกลักษณ์" ความเป็นไทยอยู่ที่ความเหมือนกันเป็นหนึ่งเดียว และพยายามลดทอนทำลายความหลากหลายให้เสื่อมหายไป


 


ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันของคนทั้งชาติว่า ความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นทั้งมรดกทรงค่าจากประวัติศาสตร์ไทยและเป็นความจริงทางสังคม ซึ่งกระทำได้ทั้งด้วยการปรับปรุงปฏิรูปการเรียนการสอน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมและให้การศึกษาสังคมไทยโดยรวมผ่านสื่อสาธารณะเปิดพื้นที่ให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติอย่างภาคภูมิ


 


2. ส่งเสริมให้สันติวิธีเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในการเผชิญกับความขัดแย้งทั้งประเทศ


ต้องทำให้สังคมไทยเผชิญกับความจริงเกี่ยวกับความรุนแรงในสังคมไทย และวัฒนธรรมที่รองรับให้ความชอบธรรมกับความรุนแรงที่เป็นอยู่ในสังคม พร้อมๆกับส่งเสริมทางเลือกสันติวิธีที่ดำรงอยู่ในศาสนธรรมและวัฒนธรรมที่อยู่สังคมไทย ส่งเสริมให้สังคมไทยตระหนักในตัวอย่างผู้คนที่หลากหลายทางวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันได้ด้วยสันติ และผู้คนในสังคมไทยที่เลือกใช้สันติวิธีเผชิญกับปัญหาความขัดแย้ง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย นอกจากนั้นควรให้ความสำคัญกับทุนทางสังคม เช่นคำเทศนาทางพุทธศาสนา และคุตบะห์(บทเทศนาของชาวมุสลิม)วันศุกร์ ในทางที่ลดความชอบธรรมต่อวิธีการรุนแรงในการแก้ปัญหา และให้ความสำคัญกับสันติวิธี ส่งเสริมภาครัฐให้มีความรู้ความเข้าใจในสันติวิธีในการเผชิญกับความขัดแย้งอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันมิให้ความขัดแย้ง การรวมตัวของประชาชน ถูกมองไปในทางลบและเสื่อมลงจนกลายเป็นความรุนแรงดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว


 


3. ประกาศให้ภาษามลายูเป็นภาษาทางการภาษาที่สอง (official language) หรือ เป็น ภาษาทำงาน (working language) เพิ่มเติมในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


4. จัดให้มีศาสนาเสวนาต้านภัยความรุนแรง


โดยอาศัยปณิธานของพุทธทาสภิกขุเป็นแนวทาง ควรจัดให้มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างศาสนิกเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกันเพื่อ


 


• พิเคราะห์ปัญหาอันเนื่องมาแต่ภัยวัตถุนิยมที่ศาสนิกทุกหมู่เหล่าต้องเผชิญอยู่ เพราะภาพสะท้อนศรัทธาในวัตถุนิยมที่ชัดเจนที่สุดภาพหนึ่งคือ การใช้ความรุนแรง ซึ่งวางอยู่บนฐานที่คิดว่า "ฝ่ายศัตรู" เปรียบเสมือนวัตถุควรหาวิธีกำจัดหรือควบคุม โดยมีวัตถุคืออาวุธเป็นเครื่องมือดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว


 


• ส่งเสริมให้ศาสนิกศึกษาศาสนาของตนเองทั้งในทางศาสนศาสตร์และประวัติศาสตร์อย่างเข้มข้นเพื่อให้เข้าถึงแก่นทางธรรมของแต่ละศาสนา การหยั่งลึกถึงแก่นศาสนธรรมและตระหนักในตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์ศาสนาที่แต่ละฝ่ายเป็นอยู่จะช่วยให้เข้าใจทั้งตนเองและปัญหาที่แต่ละศาสนาเผชิญอยู่ได้มากขึ้นอันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการทำงานสานเสวนาทางศาสนา(dialogue)


 


• สร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนิกชนต่างศาสนา บนฐานของความรู้ความเข้าใจภัยวัตถุนิยมที่คุกคามสังคมอยู่ และความเข้าใจแก่นของศาสนาของตนอันเอื้อต่อความสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางศาสนาวัฒนธรรม


 


 กล่าวโดยสรุป ข้อเสนอสมานฉันท์เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในที่นี้ มุ่งจะแก้ปัญหาของพลเมืองไทยโดยรวม มิใช่คนหมู่เหล่าใดเป็นพิเศษ มุ่งจะแก้ปัญหาในระยะยาวที่มีผลต่ออนาคตของคนรุ่นต่อๆไป ดังนั้นจึงมุ่งไปในแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชั้นโครงสร้างและวัฒนธรรมโดยมิได้ละเลยปัญหาที่ชั้นบุคคล ที่สำคัญเป็นการมุ่งหมายแก้ปัญหาบนรากฐานความเป็นจริงคือพลังความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย อาศัยศักยภาพในการทำงานเพื่อความยุติธรรม พลังของชุมชน และสันติวิธีในสังคมไทยเป็นแนวทางสร้างสรรค์สังคมไทยให้เข้มแข็งมั่นคง พร้อมเผชิญกับการท้าทายรูปแบบต่างๆในอนาคต


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net