Skip to main content
sharethis

วันที่ 29 ธันวาคม 2548) เวลา 10.00 น. นายไพฑูรย์ อุ้ยมาก ผู้พิพากษาศาลจังหวัดลำพูน ออกนั่งบัลลังค์ที่ 3 เพื่ออ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 1129 - 1146/2545 ความอาญา ระหว่าง พนักงานอัยการจังหวัดลำพูน โจทก์ นางอุษา แซ่เตี๋ยว ที่ 1, บริษัท อินทนนท์การเกษตร จำกัด ที่ 2 โจทก์ร่วม นายสุแก้ว ฟุงฟู ที่1,
จำเลยและพวกรวม 7 คน กรณีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันบุกรุกที่ดินของโจทก์ร่วมทั้งสอง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2540 ถึงประมาณเดือนพฤษภาคม 2541 โดยร่วมกันบุกรุกที่ดินทั้งหมด 18 ครั้งๆละ 1 แปลง
และขอให้ศาลพิพากษาลงโทษด้วยการนับโทษจำเลยต่อเนื่องกัน

ศาลได้อ่านคำพิพากษามีใจความว่า เดิมนางอุษา แซ่เตี๋ยว และบริษัท อินทนนท์การเกษตร จำกัด โจทก์ร่วมทั้งสอง ได้ร่วมกับ นายยุทธนา แซ่เตี๋ยว นางสาวนพรัตน์ แซ่เตี๋ยว และ นายสราวุฒิ แซ่เตี๋ยว รวม 5 คน ได้ร่วมกันฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดรวมทั้งนายวัลลภ ไววาง, นายวัลลภ ยาวิละ และนางบัวไล ซางเล็ง รวม 10 คน ว่า บุคคลทั้งสิบร่วมกันบุกรุกที่ดินของโจทก์ทั้งห้า เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1294/2540 ของศาลจังหวัดลำพูน ซึ่งศาลได้มีคำสั่งว่าคดีดังกล่าวไม่เป็นผู้เสียหายร่วมกันเนื่องจากเป็นเจ้าของที่ดินคนละแปลง จึงไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา


ต่อมาบุคคลทั้งห้าจึงได้ต่างแยกกันยื่นฟ้องต่อศาลรวมเป็น 5 คดี โดยทุกคดีฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบได้ร่วมกันบุกรุกที่ดินของบุคคลทั้งห้าในวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 โดยคดีที่นางอุษาโจทก์ร่วมที่ 1 ในคดีนี้ได้ยื่นฟ้องนั้น ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าไม่มีมูลพอที่จะรับฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1353/2540 ส่วนคดีที่บริษัท อินทนนท์การเกษตร จำกัด โจทก์ร่วมที่ 2 ในคดีนี้ได้ยื่นฟ้องนั้น ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16
ธันวาคม 2548 ว่าจำเลยทั้งสิบกระทำผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี โดยที่ดินทั้งสองคดีนั้นเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินทั้ง 18 แปลงในคดีนี้

เห็นว่า การบรรยายฟ้องของคดีทั้งห้าโดยเฉพาะคดีที่โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นโจทก์ฟ้องเองนั้น บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ดกับพวกอีก 3 คน ร่วมกันบุกรุกที่ดินเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 แต่ในคดีนี้บรรยายฟ้องว่าหลังจากนั้นจำเลยทั้งเจ็ดกับพวกอีก 3 คน ได้ร่วมกันบุกรุกที่ดินในช่วงเดือนธันวาคม 2540 ถึงประมาณเดือนพฤษภาคม 2541 แต่โจทก์ไม่อาจนำสืบได้ว่ามีการบุกรุกที่ดินเพิ่มอย่างไร เนื่องจากผู้ดูแลที่ดินของโจทก์ร่วมไม่อาจเข้าไปในที่ดินได้หลังจากที่มีการบุกรุกเมืองวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 จึงไม่เชื่อว่าการร้องทุกข์กล่าวโทษในคดีนี้ของโจทก์ร่วมจะเป็นเพราะทราบว่ามีการบุกรุกเพิ่มเติมในภายหลัง


และพันตำรวจโทสำนวน พยานโจทก์ได้ทำบันทึกเอกสารหมาย จ.75 - จ.79 ระบุว่าพบต้นลำไยอายุประมาณ 1 ปี อยู่ในที่ดินพิพาท จึงน่าจะมีการบุกรุกมา 1 ปี พยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังได้ว่า มีการบุกรุกที่ดินเพิ่มดังที่กล่าวอ้าง นอกจากนี้ คดีเดิมบรรยายฟ้องว่าในวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นมาจนถึงวันฟ้อง จำเลยทั้งเจ็ดกับพวกอีก 3 คนได้ร่วมกันบุกรุกที่ดินทั้ง 18 แปลง ตลอดทั้งแปลง อันเป็นการบรรยายว่าบุกรุกที่ดินทั้งแปลงมาตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2540

ดังนั้นจึงถือว่ามีการบุกรุกที่ดินทั้งแปลงรวม 18 แปลง มาตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2540 จึงเป็นความผิดที่กระทำในคราวเดียวกันต่อเนื่องกันมา เมื่อโจทก์ร่วมได้ดำเนินการฟ้องคดีเองและคดีมีคำพิพากษาไปแล้วทั้งสองคดี กรณีจึงเป็นการนำเอาคดีอาญาที่ได้มีการฟ้องและมีคำพิพากษาแล้วมาฟ้องเพื่ออีก ซึ่งไม่อาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 อนุ 4 จึงพิพากษายกฟ้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net