Skip to main content
sharethis


ภาพนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่เห็นจนเป็นที่ชินดา


 


 


โดย สุทธิดา มะลิแก้ว


 


1


หลวงพระบาง, สปป. ลาว


ดวงสะหวัน บุบผา วัย 60 ต้นๆ เป็นคนหลวงพระบางโดยกำเนิด ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิมที่มีอายุนานถึง 72 ปีแล้ว เป็นบ้านที่ตกทอดกันมาจากครอบครัวตั้งแต่รุ่นคุณตาคุณยาย ทุกๆ เช้าป้าดวงสะหวัน ยังคงตื่นขึ้นมาแต่เช้าตรู่ใส่บาตรตามทำธรรมเนียมชาวพุทธและตามประเพณีที่ดีงามของชาวหลวงพระบางที่มีมาตั้งแต่แต่เดิม และด้วยว่าหลวงพระบางนั้นเป็นเมืองที่ยังคงไว้ในเรื่องของความงามทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะ และจารีตประเพณี นั่นเองหลวงพระบางจึงได้เป็นเมืองที่ทรงคุณค่าและที่สนใจของผู้คน และในที่สุด UNESCO ได้ประกาศให้กลายเป็นเมืองมรดกโลกในปี 1995


 


นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชื่อของหลวงพระบางยิ่งเป็นที่สนใจของโลกมากขึ้น จนถนนหลายหลักที่ป้าดวงสะหวันใส่บาตรอยู่ทุกวันนั้น เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตก


 


ป้าดวงสะหวันบอกว่า ใส่บาตรมาตั้งแต่ยังเล็กๆ และในอดีตนั้นมักจะใส่พร้อมๆ กับยายและแม่ ถึงวันนี้กิจกรรมนี้ก็ยังคงทำอยู่เป็นประจำมิได้ขาด และเนื่องจากหลวงพระบางนั้นเป็นเมืองที่อุดมไปด้วยวัด เอาเฉพาะถนนสายหลักที่บ้านของป้าดวงสะหวันตั้งอยู่ซึ่ง ซึ่งมีความยาวประมาณไม่ถึง 2 กิโลเมตร ปรากฎว่ามีวัดถึง 11 วัด ดังนั้น ทุกๆ วันจะมีพระและสามเณรถึงกว่า 200 รูปมาบิณฑบาตอยู่หน้าบ้าน ภาพพระสงฆ์ในจีวรเหลืองนับร้อยเดินเรียงแถวกันมาบิณฑบาตในยามเช้านั่นเองที่สะดุดตานักท่องเที่ยวยิ่ง


 


วันนี้ก็เป็นเช่นทุกวัน ตอน 6 โมงเช้า ป้าดวงสะหวันเตรียมปูเสื่อและวางกระติ๊บข้าวเหนียวไว้ข้างตัว รอที่จะใส่บาตรเช่นเดิม แต่ว่าวันนี้ มีสิ่งหนึ่งที่เพิ่มเติมมาก็คือ การใส่บาตรในแต่ละเช้าจะมีนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปเธอเอาไว้ด้วย แต่โดยลักษณะทั้งส่วนตัวและวิถีชีวิตโดยรวมของชาวหลวงพระบางที่มีลักษณะเรียบง่ายมาโดยตลอดแล้ว เธอไม่คิดว่านี่จะเป็นปัญหา พร้อมพูดอย่างใจเย็นและเข้าใจได้ว่า "พวกเขาชื่นชมในวัฒนธรรม"


 


ถึงแม้ป้าดวงสะหวันจะไม่คิดว่ามีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงมาก แต่เธอก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากเมืองมรดกโลก เพระทุกวันนี้บ้านของเธอก็ได้กลายเป็นเกสต์เฮาส์ไปแล้ว แต่ก็ยังดีที่เธอเองยังอยู่ที่บ้านหลังเดิม ผิดกับเจ้าของบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้ย้ายออกจากเมืองไป จนเริ่มเป็นที่กังวลว่า ที่สุดแล้วชีวิตจริงๆ ของเมืองนี้จะอยู่ที่ไหน


 


เรื่องดังกล่าวนี้ก็ได้มีการกล่าวถึงไว้ในอารัมภบทของรายงานแผนการติดตามดูแลและทำให้มีคุณค่า (Plan de Sauvegarde et de Mise en Valeur) ของสำนักงานมรดกโลก หลวงพระบางก็ระบุไว้เช่นกันว่า "ปัจจุบันตัวเมืองมีการพัฒนาเศรษฐกิจท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ในพื้นที่เขตตัวเมืองเกือบถูกเปลี่ยนให้เป็นเขตปลูกสร้างโรงแรม และประชาชนก็โยกย้ายออกไปทีละน้อย ซึ่งตรงกันข้ามกับความมุ่งหวังของโครงการ"


 


อ้วน สิริสัก ผู้อำนวยการสำนักงานมรดกโลกก็เห็นเช่นเดียวกัน "ผลกระทบส่วนหนึ่งที่มีต่อวิถีชีวิตของประชาชนก็คือ หลายๆ คนได้เอาบ้านให้คนอื่นเช่าและต้องย้ายออกไปอยู่นอกเมือง"


 


แน่นอนชาวหลวงพระบางเองนั้น อาจมองไม่เห็นสิ่งเป็นกระทบในทางลบ เนื่องจากยินดีกับความเจริญและโอกาสของการทำรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น แต่ผู้ที่เฝ้าจับตามองอยู่หลายๆ ส่วนมองว่า มีบางอย่างกำลังสั่นคลอนวัฒนธรรมหลวงพระบางอยู่


 


บุนเที่ยง สุลีวัน รองผู้อำนวยการอินเตอร์-ลาว ทัวริซึ่ม ประจำหลวงพระบางซึ่งคลุกคลีกับวงการการท่องเที่ยวมากว่า 20 ปี กล่าวว่า หากจะถามว่าวัฒนธรรมของชาวหลวงพระบางสูญหายไปแล้วหรือยังก็ตอบได้ว่า ยัง แต่แน่นอนว่า กำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างช้าๆ เรื่องนี้คงไม่ใช่เป็นเพราะเรื่องที่นักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนที่อยู่ในเขตเมืองกำลังค่อยๆ ย้ายกันออกไปอยู่ข้างนอก ดังนั้นภาพของวิถีชีวิตแบบเดิมๆ จึงค่อยๆ หายไป


 


"คนพื้นที่นั้นเนื่องจากในอดีตอาจจะไม่เคยทำรายได้มากนัก และเมื่อมีคนมาติดต่อเช่าที่หรือเช่าบ้านทำธุรกิจก็เลยให้เช่าแล้วก็ย้ายออกไปอยู่ที่อื่น" บุนเที่ยงกล่าวเห็นพ้องกับสิ่งที่อ้วนเองก็เห็น


 


ดวงเดือน บุนยาวง นักวิชาการ นักเขียนและนักคิดทางวัฒนธรรมจากเวียงจันทน์ก็เฝ้าจับตามองความเปลี่ยนแปลงของหลวงพระบางมาโดยตลอดตั้งข้อสังเกตว่า ไม่รู้ว่าประชาชนเข้าใจในเรื่องของความเป็นมรดกโลกมากน้อยแค่ไหน


 


"ประชาชนไม่ได้ทำอะไรนอกจากรอรับแขกจากต่างประเทศ ตัวเมืองเองก็เห็นมีแต่ร้านอาหาร ร้านอินเตอร์เน็ต การประดับประดาหน้าร้านก็เป็นตะวันตกไปหมด แถมมีป้ายโฆษณาเต็มไปหมดจนบดบังสถาปัตยกรรมที่คนควรจะไปเห็น" ดวงเดือนกล่าว


 


ไม่เพียงภาพของนักท่องเที่ยวที่รอถ่ายรูปพระสงฆ์ออกบิณฑบาตในยามเช้า แต่การทะลักเข้าของนักท่องเที่ยวก็ทำให้เกิดอาชีพขายของใส่บาตรในยามเช้าขึ้นด้วย เพราะมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่อยากจะมีประสบการณ์นี้ รวมทั้งต้องการเก็บภาพขบวนพระสงฆ์ในจีวรเหลืองอร่ามเป็นทิวแถวตามท้องถนน โดยที่แม้ว่าจะไม่ได้นับถือศาสนาพุทธก็ตาม


 


ภาพการหาบของและเดินเร่ตามนักท่องเที่ยวให้นำของไปใส่บาตรนั้น ดูแล้วเป็นที่ขัดตาของชาวหลวงพระบางอย่างมาก เพราะขัดกับความเชื่อที่ของการที่คนจะต้องมีจิตศรัทธา และเชื่อมั่นในพุทธศาสนาจึงมีการใส่บาตรเพื่อถวายเป็นภัตตาหารแด่พระสงฆ์ จากการพูดคุยชาวเมืองหลวงพระบางแท้ๆ จำนวนหนึ่ง บอกว่า "คนที่ขายของนั้นเป็นคนที่มาจากชนบท ข้ามมาจากอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำ และการกระทำแบบนั้นเป็นการไม่มีมารยาท" บางคนถึงกับบอกว่า "บ่มีศักดิ์ศรี" หลายคนก็เกรงว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจผิดในเรื่องของวัฒนธรรมได้ว่าเป็นยัดเยียดให้คนใส่บาตร


 


ไม่ว่าจะจริงตามที่ชาวบ้านกังวลกันหรือไม่ก็ตาม ทว่าข้อมูลที่นักท่องเที่ยวแบบประหยัดหรือที่เรียกว่า "backpacker" ได้เขียนแนะนำเรืองหลวงพระบางลงไปในเว็บไซด์ต่างๆ นั้น มีหลายๆ คน แนะนำเพื่อนนักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ว่าหนึ่งในกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดคือ Wake up early and watch the monk "rice-parade" ซึ่งในภาษาที่ใช้นั้นคล้ายกับว่านี่เป็นหนึ่งในการแสดงโชว์ทางด้านวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ไม่ได้คิดถึงความเคารพที่มีอยู่ในการใส่บาตรนั้นด้วย


 


ธารา กูจาเดอ (Tara Gujadhur) จาก SNV Netherlands Development Organization ซึ่งมาทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวหลวงพระบางในฐานะของที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมาเป็นเวลา 2 ปีนั้นเห็นว่า แม้ว่าเรื่องการปฎิบัติของชาวบ้านยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมาก และวัฒนธรรมก็ยังไม่หายไป แต่ว่าการใส่บาตรก็ดูจะไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว


 


"การตักบาตรดูเหมือนจะกลายเป็นโชว์มากขึ้น" ธารากล่าว และเพิ่มเติมอีกว่า เนื่องจากความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมหลายๆ ครั้งนักท่องเที่ยวก็ปฎิบัติเป็นที่รบกวนพิธีกรรม อย่างเช่น การถ่ายรูปและ Close-up ไปยังใบหน้าของพระ หรือการใช้แฟลช รวมทั้งบางครั้งก็มีรถท่องเที่ยวมาจอดให้ดูพระ โดยนักท่องเที่ยวนั่งอยู่ในรถซึ่งเท่ากับนั่งสูงกว่าพระ อันเป็นเรื่องที่ขัดประเพณีและไม่ใช้ความเคารพ


 


เช่นกันกับคนอื่นๆ ธาราเองก็ได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในระยะ 2 ปี ในทางรูปธรรมว่า มีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากการพัฒนาการท่องเที่ยว สิ่งที่เห็นอย่างหนึ่งก็คือ มีคนเข้ามาในเมืองหลวงพระบางมากขึ้น มีการค้าขายมากขึ้น มีร้านค้า ร้านอาหาร และ เกสท์เฮาส์มากขึ้น แต่ก็ทำให้โอกาสของการมีงานทำของคนเพิ่มขึ้น



ที่หลวงพระบางก็มีโคมไฟขายแต่คนละสไตล์กับฮอย อาน


 


กระนั้นก็ยังมีอีกภาพหนึ่งที่เรียกได้ว่าใหม่สำหรับวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง นั่นคือภาพเด็กน้อยที่เดินขายของที่ระลึกให้กับชาวต่างชาติ เหมือนดังที่เห็นได้ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในเอเชีย มีสิ่งที่น่าสนใจก็คือ เด็กๆ พูดภาษาอังกฤษกันได้อย่างแคล่วคล่อง แต่ก็น่ากังวลว่านี่เองจะทำให้เสน่ห์การท่องเที่ยวหลวงพระบางลดลง


 


 "แน่นอน การกลายเป็นเมืองมรดกโลกทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ แต่มีเรื่องที่เป็นข้อด้อยของการพัฒนา ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้และรัฐบาลอาจจะยังไม่ได้คิดมากถึงผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว" ธารากล่าว


 


ดวงเดือนก็ได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้เช่นกัน "แน่นอนว่าผลดีที่เกิดขึ้นก็คือ พวกขายของ แต่ พวกงานฝีมือทั้งหลายที่ เขาขายได้มากขึ้นนั้น กลายเป็นว่าเขาต้องทำในปริมาณมากๆ แล้วลดคุณภาพ ลวดลายก็ทำง่ายๆ เพื่อจะทำได้เร็วๆ ปริมาณมากๆ อย่างนี้จะเป็นการไปทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นไปหรือไม่" ดวงเดือนตั้งข้อสังเกต


 


ดวงเดือนยังกล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ช่วงบุญสงกรานต์ (ปีใหม่ลาว) นั้น แทนที่จะเป็นไปตามประเพณี ก็กลายเป็นการรับใช้การค้าไป กลายเป็นการประกวดเด็กสวยงาม และทำให้เด็กสาวตั้งแต่มัธยมต้นไปจนถึงมัธยมปลายเสียเวลาเรียนไปมากเพื่อเตรียมประกวดเป็นนางสงกรานต์


 



โปสเตอร์รณรงคืทำความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวเรื่องตักบาตร


 


"การที่มัวแต่รับใช้การท่องเที่ยว ที่สุดแล้วชาวหลวงพระบางก็จะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป" ดวงเดือนกล่าว


 


ฟรองซิส อองเจลมานน์ (Francis Engelmann) ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานมรดกโลก และที่ปรึกษาโครงการ "Quiet in the land" ก็มองเห็นเช่นกันว่า ไม่ใช่แต่ชีวิตของคนเท่านั้นที่เปลี่ยนไป ภายหลังจากจากเป็นเมืองมรดกโลก ปัญหาอีกส่วนหนึ่งในส่วนของวิถีชีวิตที่เห็นได้ชัดคือ ชีวิตทางศาสนา


 


"การศึกษาของพระสงฆ์และการปฎิบัติกิจของสงฆ์ค่อนข้างถูกรบกวน อย่างที่เราเห็นกันในเรื่องของการตักบาตรที่เริ่มเป็นประเด็น และพระหลายองค์เริ่มรู้สึกอึดอัดกับการฎิบัติของนักท่องเที่ยว ผมจะถอดความที่พระพูดกับผม เขาบอกว่า - เราคิดว่าเขาปฎิบัติกับเราเหมือนทำกับลิงในสวนสัตว์- ."


 


นอกจากนั้น อองเจลมานน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนั้นแล้ว เป็นส่วนของการศึกษาของหลวงพระบางที่เด็กหนุ่มๆ ที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงเข้ามาบวชเพื่อมาศึกษาในวัดซึ่งก็เป็นไปตามประเพณีเดิม แต่เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามา สามเณรเหล่านั้นก็ใช้เวลาไปไม่น้อยในการไปพูดคุยกับนักท่องเที่ยว เพราะว่าพวกเขาอยากฝึกภาษาอังกฤษ


 



ฟรองซิส อองเจลมานน์ โชว์หนังสือที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ทำงานร่วมกับช่างภาพชื่อ ฮันส์ เบอร์เกอร์


 


เรื่องนี้ยืนยันได้จากภาพที่เห็นค่อนข้างจะชินตาในปัจจุบัน รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวประเภทราคาประหยัดได้ไปเขียนลงไปในเว็บไซด์ในการแนะนำเคล็ดลับการท่องเที่ยวในหลวงพระบางว่า "หากไม่รู้ทางหรือไม่อยากเดินทางคนเดียว ก็ให้เอาหนังสือท่องเที่ยวให้พระที่อยากรู้อยากเห็นดู (show your guidebook to curious monk)" ซึ่งหมายถึงว่าแล้วพระเหล่านี้ก็จะช่วยเอง


 


อองเกลมานน์ยังกล่าวต่อด้วยว่า ตอนนี้เข้าใจว่าในเมืองคงจะไม่ค่อยเหมาะเสียแล้วสำหรับพระสงฆ์ที่จะศึกษาธรรมะ และมีแนวโน้มว่าอาจจะต้องย้ายสถานที่เรียนธรรมะออกไปนอกเมือง และเมื่อรู้พระธรรมดีแล้วจึงค่อยมาจำวัดในเมือง


 


พระคุณเจ้าคำจันทร์ วีระจิตตะเถระ วัย 86 รองประธานสงฆ์ของลาว เจ้าอาวาแสนสุขาราม แม้ให้ความเห็นว่าชีวิตของสงฆ์ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก แต่ยอมรับว่ากังวลอยู่ไม่น้อยว่า จะมีการนอกรีตกนอกรอยของพระลูกวัด ดังนั้นในยามเย็น หากมีเวลาก็จะอบรมวินัยของพระอยู่เสมอๆ


 


(อ่านต่อตอนหน้า : ฮอย อาน, เวียดนาม)


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net