ชีวิตในเมืองมรดกโลก (2) ฮอย อาน, เวียดนาม


ลักษณะบ้านแบบโบราณแท้ๆ หลังคาต่อกันเป็นพืด

 

โดย สุทธิดา มะลิแก้ว

 

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

 

2.

ฮอย อาน, เวียดนาม

 

"ทุกวันนี้มีคนเข้ามาที่ฮอย อาน มาก แต่ว่าฉันกลับขายของได้เงินน้อยลง" คิม จี (Kim Chi) วัย 50 ต้นๆ เจ้าของแกลอรี กล่าวอย่างเบื่อๆ

 

แกลอรีของเธอนั้นเปิดมาได้กว่า 12 ปีแล้ว โดยรับช่วงดูแลจากพ่อของเธอ เธอเองก็พอมีความรู้ด้านศิลปะบ้างเล็กๆ น้อยๆ ส่วนงานศิลปะในร้านเธอนั้น ส่วนหนึ่งเป็นภาพวาดโดยน้องชายที่เป็นจิตรกรที่อยู่ในโอจิมินห์ ซิตี และภาพวาดจากจิตรกรจากทั่วประเทศ

 

เธอบอกว่า ตอนที่ ฮอย อาน เพิ่งจะได้รับการประกาศเป็นเมืองมรดกโลกใหม่ๆ นั้นธุรกิจดีมาก เพราะคู่แข่งไม่มากนัก พอถึงตอนนี้ในเมืองเล็กๆ ขนาดนี้ แต่มีแกลอรีเกือบ 200 ร้าน

 


คิม จี กับแกลอรีของเธอ ที่ตอนนี้แกลอรีแบบนี้มีกว่า 200 ร้าน


 

กระนั้นเธอก็ยินดีที่ได้อยู่ในเมืองมรดกโลก เพราะว่าทำให้ความเป็นอยู่ของเธอดีขึ้น เนื่องจากบ้านหลังนี้เป็นของเธอเอง เธอจึงไม่ต้องเดือดร้อนมากที่จะต้องขายให้ได้มากๆ ในแต่ละเดือน ผิดกับบางคนที่เพิ่งเข้ามาเช่าที่ทำธุรกิจ บางคนอาจจะต้องจ่ายเดือนละประมาณ 1 ล้านด่ง (2,500 บาท)

 

ตวน หญิงสาววัย 30 ต้นๆ ที่มีสามีเป็นจิตรกร ก็ได้เปิดแกลอรีของตนเอง แต่ก็เช่นกันกับคิมที่มีการนำภาพจากจิตรกรจากทั่วประเทศมาขาย และเห็นเช่นเดียวกันว่า เมื่อ 3-4 ปีก่อนนั้นธุรกิจดีกว่านี้มากๆ

 

"ตอนนี้มีคนเข้ามาในร้านเยอะขึ้นจริง แต่พวกเขาก็ไม่ซื้อ ไม่รู้ว่าทำไม" เธอกล่าว

 

เช่นกันที่เธอเห็นโอกาสทางธุรกิจ เธอบอกว่าร้านของเธอเปิดทุกวัน ทุกวันนี้เธอกับสามีไม่เคยได้เดินทางด้วยกันอีกเลยเพราะจะต้องมีคนใดคนหนึ่งอยู่เฝ้าร้าน

 

ฮอยอาน ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกไปเมื่อปี 1999 ดูเหมือนการเป็นเมืองมรดกโลกนั้นจะเป็นที่ถูกใจของชาวฮอย อาน เพราะโดยลักษณะของชาวเวียดนามแล้ว เป็นพวกสนใจในเรื่องของการค้าขาย และ ฮอย อาน เองนั้นในอดีตตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 16-17 นั้น เคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่รู้จักในชื่อ ไฟโฟ (Faifo) เป็นศูนย์กลางทางการค้าทางทะเล เป็นที่พกสินค้าที่มาจาก จีน ญี่ปุ่น โปรตุเกส เนเธอแลนด์ และอิตาลี ที่จะเข้ามาค้าขายในเอเชีย อาค์เนย์ ที่ทำให้นอกจากเมืองฮอย อานนั้นนอกจากจะเป็นเมืองที่ผสมผสานกันของหลายวัฒนธรรม อันสะท้อนได้จากสถาปัตยกรรมที่หลงเหลือแล้ว ยังเป็นเมืองค้าขายสำคัญด้วย

 

ดังนั้น การที่ผู้คนกลับเข้าในฮอย อาน มากมายอีกครั้งจึงเป็นที่ถูกกับลักษณะนิสัยของชาวเวียดนามเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นโอกาสทางการค้า มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนจากอาชีพเดิมมาขายของที่ระลึกแทน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่จะเห็น แกลอรี ร้านขายโคมไฟ และกระทั่งร้านขายสูท เต็มไปหมด

 

 


ถนนสายนี้ทั้งสายอุทิศให้แก้ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า สูทอย่างดีราคาถูกรับได้ใน 1 วัน


 

นอกจากการเปิดร้านขายของแล้วหลายๆ คน อาชีพที่ได้พลิกฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งกลายเป็นอาชีพในฝันของหนุ่มสาวหรือแม้กระทั่งคนที่รู้ภาษาต่างประเทศจำนวนไม่น้อย นั้นคือ อาชีพ ไกด์นำเที่ยว

 

จิ๋น (Chinh) ชายวัยปลาย 40 เป็นชาวฮอย อาน โดยกำเนิด ทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมาเกือบค่อนชีวิต ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจลาออกจากจากอาชีพครูมาเป็นไกด์นำเที่ยวแทน ภายหลังจากที่ ฮอยอานได้เป็นเมืองมรดกโลกและนักท่องเที่ยวนั้นก็เข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเที่ยวฮอย อาน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

ว่ากันว่าการเป็นครูนั้น เงินเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 1 ด่ง หรือ 2,500 บาท แต่การเป็นไกด์นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละภาษา แต่ภาษาที่แพงที่สุดคือ เยอรมัน จะตกเดือนละ 300 เหรียญ หรือ 12,000 บาท ส่วนภาษาอังกฤษนั้นต่ำสุดคืออยู่ที่ 200 เหรียญสหรัฐฯ หรือ ประมาณ 8,000 บาท ก็นับว่าต่างกับอาชีพครูอยู่โข นี่ยังไม่รวมเงินที่ได้พิเศษจากการทิปของลูกค้าและเปอร์เซ็นต์จากร้านขายของอีกต่างหาก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กหนุ่มสาวที่นั่นหากไม่ได้มีกิจการของตัวเองแล้วก็จะคิดที่จะมีอาชีพไกด์กัน

 

สำหรับ เถ่า (Thao) หญิงสาววัยกลาง 20 ทำงานเป็นพนักงานต้อนรับของโรงแรมมานาน 6 ปี แล้ว เป็นคนฮอย อาน โดยกำเนิด บอกว่า 3-4 ปีหน้านี้ มีนักท่องเที่ยวเยอะกว่านี้ ซึ่งลดลงเนื่องจาก ซาร์ และไข้หวัดนก

 

เถ่า เห็นว่า เรื่องดีสำหรับการที่ฮอย อาน เป็นเมืองมรดกโลกก็คือ สำหรับหนุ่มสาว เรียนจบแล้วก็ได้กลับมาทำงานที่บ้าน ได้อยู่กับพ่อแม่ เพราะมีธุรกิจบริการมากมายที่เกิดขึ้น เช่น การท่องเที่ยว การโรงแรม หรือร้านอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงแรมนั้นเธอบอกว่ามีเพิ่มขึ้นมากและโรงแรมที่มีอยู่แล้วก็มีการปรับปรุงทุกปี ส่วนรายได้นั้น หากเป็นโรงแรม 4 ดาวก็จะอยู่ประมาณ 200เหรียญ (8,000 บาท ต่อเดือน) สำหรับของเธอนั้นเป็นโรงแรม 3 ดาว รายได้เธอจึงอยู่ที่ 75- 100 เหรียญขึ้นอยู่กับช่วง low หรือ high season แต่เธอก็บอกว่า เพียงพอสำหรับเธอเนื่องจากเธออยู่กับพ่อแม่ ไม่ต้องเช่าบ้าน เป็นการหารายได้เพื่อเลี้ยงตัวเอง

 

"สำหรับคนทั่วไปก็ธรรมดา แต่ว่าคนรวยก็รวยขึ้น คนจนก็ยังจนอยู่นั่นแหละ" เถ่ากล่าว เมื่อถูกถามว่าฐานะของผู้คนที่นี่ดีขึ้นหรือไม่

 

เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า คนที่รวยก็เป็นนักลงทุนนั่นแหละ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจโรงแรมที่มีอยู่กว่า 70 แห่งนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นคนจากที่อื่น เช่น โฮจิมินห์ ซิตี้ ดานัง หรือจากต่างชาติ

 

สิ่งหนึ่งที่เถ่าบอกว่าเปลี่ยนแปลงไปและเธอก็ไม่ค่อยชอบที่จะเห็นนักก็คือ มีผู้หญิงออกไปกับชาวต่างชาติมากขึ้น หลายคนก็แต่งงานกับชาวต่างชาติไป บางคนถึงขนาดเลิกกับสามีไปแต่งกับชาวต่างชาติ และในส่วนของเมืองนั้นก็กลายเป็นการค้าขายมากขึ้น คนเดินตามขายของนักท่องเที่ยวจนน่าเบื่อ

 

"มีนักท่องเที่ยวบางคนต้องใส่เสื้อที่เขียนว่า No สิ่งนั้น สิ่งนี้เอาไว้ เพื่อบอกว่าไม่ต้องมาตาม เพราะยังไม่ต้องการซื้อ แล้วอีกอย่าง ในเมืองตอนนี้ก็มีแต่ของขายเต็มไปหมด จนบดบังสถาปัตยกรรมที่คนตั้งใจจะมาดู หรืออีกทีก็เรียกว่า การเป็นเมืองตัดเสื้อผ้าไปแล้ว" เถ่ากล่าวด้วยเสียงหนักแน่น

 

แน่นอนสิ่งที่เธอพูด ล้วนเป็นความจริงที่เห็นได้ชัด ใครต่อใครก็คิดกันแต่เรื่องค้าขาย ในขณะที่ลืมไปว่าเสน่ห์อีกส่วนหนึ่งของเมืองนั้นคือความผสมผสานกันอย่างกลมกลืนของวัฒนธรรมหลายชาติที่มีอยู่ที่นี่ที่ยังสะท้อนอยู่ในรูปแบบของสถาปัตยกรรม

 

โชคดีที่ทางฝ่ายรัฐบาลของเมืองฮอย อานเองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้อยู่ และได้คิดหาหนทางว่าจะทำอย่างไรถึงจะให้มีความสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม

 


 

 

 

 

(อ่านต่อตอนหน้า : หลวงพระบาง VS ฮอย อาน)

 

-----------------------------------------------

* รายงานชิ้นนี้เขียนขึ้นภายใต้โครงการ Imaging Our Mekong สำนักข่าว Inter Press Service (IPS) สนับสนุนโดยมูลนิธิ Rockefeller

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท