Skip to main content
sharethis

โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


กรุงเทพธุรกิจ : 18 มกราคม 2549


 


 


สัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นบางส่วนของสังคมไทยออกอาการแตกตื่นสุดขีด ดิ้นรน ตัวสั่น ลงไปกลิ้งเกลือกกับพื้นดินกรีดร้องราวกับคนเสียสติที่ได้เผชิญหน้ากับปีศาจร้ายจากขุมนรก ทั้งหมดด้วยการร่ายมนต์พ่นคาถาอย่างเมามันของบรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนบางกลุ่ม


 


ปีศาจร้ายที่ว่านี้ ก็คือความตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอไทย-สหรัฐ


 


ความชั่วร้ายสารพัดของเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ถูกตอกย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง ราวกับว่า ถ้าวันนี้มีเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ประเทศไทยก็จะพินาศล่มจม สิ้นชาติ ไร้แผ่นดิน ประชาชนทั้งประเทศตกเป็นทาสของปีศาจอเมริกันไปในทันที


 


ที่น่าเศร้าคือ แม้แต่รัฐบาลก็ไร้ซึ่งความสามารถที่จะชี้แจงอธิบายความจริงและประโยชน์ที่ประชาชนไทย รวมทั้งเกษตรกรจะได้รับจากเอฟทีเอไทย-สหรัฐ


 


ความเลวร้ายของเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ที่กล่าวอ้างนั้น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเท็จที่องค์กรพัฒนาเอกชนวาดภาพให้ผู้คนหวาดกลัว ในขณะที่คนจำนวนมากมีอาการตกใจเพียงเพราะไม่เข้าใจ แต่อาจทำความเข้าใจให้หันมาสนับสนุนเอฟทีเอได้หากมีข่าวสารที่ถูกต้อง


 


ในประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อม เอฟทีเอกำหนดว่า ทั้งไทยและสหรัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อมของตนที่มีอยู่แล้วให้เข้มงวด เฉพาะในกรณีธุรกิจที่ผลิตสินค้าส่งไปขายในประเทศภาคี ซึ่งในประเทศไทยก็คือ เฉพาะธุรกิจที่ผลิตสินค้าส่งไปขายสหรัฐเท่านั้น ประเด็นนี้หากปฏิบัติได้ ก็จะเป็นผลดีต่อคุณภาพชีวิตของลูกจ้างคนงาน เกษตรกร และประชาชน เพราะเป็นการย้ำให้รัฐบาลไทยเข้มงวดในมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน


 


ในประเด็นบริการทางการเงิน การเปิดเสรีจะเป็นผลดีต่อการพัฒนายกระดับระบบสถาบันการเงินของประเทศให้เข้าสู่สากล เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจและประชาชน เป็นพื้นฐานรองรับการพัฒนาประเทศในระยะยาว ผู้ที่เสียประโยชน์มีเพียงกลุ่มทุนธนาคารไทยไม่กี่ตระกูลที่ผูกขาดระบบการเงินไทยมาหลายสิบปี ซึ่งจะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากผู้ให้บริการรายใหม่


 


ในประเด็นการลงทุนและการค้าบริการข้ามพรมแดน เอฟทีเอจะทำให้กฎหมายและการบริหารราชการเอื้อประโยชน์ต่อนักธุรกิจมากขึ้น มีขั้นตอนกฎเกณฑ์โปร่งใส ลดการทุจริตคอร์รัปชันและการแทรกแซงใช้อำนาจตามอำเภอใจของข้าราชการและรัฐบาล เปิดประตูให้ผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุนประกอบกิจการได้ง่ายขึ้น กระตุ้นการแข่งขัน มีการปรับปรุงคุณภาพบริการ เพิ่มความหลากหลาย เป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภค


 


ในประเด็นบริการโทรคมนาคม เอฟทีเอจะมีผลให้ต้องยกเลิกอำนาจผูกขาดของรัฐวิสาหกิจไทยสองแห่งในโทรคมนาคม รัฐบาลและ กทช.ต้องปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายเท่าเทียมกัน ผู้ประกอบการรายใหญ่จะกลั่นแกล้งกีดกันรายเล็กไม่ได้ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบรายใหม่เข้ามาแข่งขันให้บริการ เพิ่มคุณภาพ ลดราคา ลดต้นทุนของธุรกิจและประชาชน เป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกับการเปิดเสรีทางการเงิน


 


องค์กรพัฒนาเอกชนแสดงบทละครเป็นผู้รักเกษตรกรอย่างสุดหัวใจ โดยอ้างว่า เอฟทีเอจะทำลายเกษตรกรไทยด้วยสินค้าเกษตรนำเข้าจากสหรัฐ เพราะรัฐบาลสหรัฐให้เงินอุดหนุนภาคเกษตรเป็นจำนวนมหาศาลทุกปี แต่ข้อนี้ ฝ่ายไทยสามารถเจรจาให้สหรัฐลดเลิกเงินอุดหนุนได้ ซึ่งในเอฟทีเอที่สหรัฐทำกับประเทศอื่น สหรัฐก็ได้อ่อนข้อในเรื่องนี้ชัดเจน แม้แต่ที่ฮ่องกง สหรัฐก็มีบทบาทสำคัญในองค์การการค้าโลก (WTO) กดดันให้สหภาพยุโรปต้องยอมยกเลิกการให้เงินอุดหนุนสินค้าเกษตรส่งออกภายในปี 2013 ซึ่งหมายความว่า สหรัฐก็ต้องผูกพันด้วย


 


กรณีพืชตัดแต่งพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ เป็นตัวอย่างของความไม่รู้เรื่องขององค์กรพัฒนาเอกชน เพราะในเอฟทีเอไม่มีเรื่องนี้ และสหรัฐก็ไม่จำเป็นต้องใช้เอฟทีเอมาผลักดันเรื่องจีเอ็มโอ เพราะสหรัฐมีอาวุธที่ถูกกฎหมายใน WTO ที่จะผลักดันการค้าพืชจีเอ็มโออย่างได้ผลอยู่แล้ว และเป็นมาตรการที่ใช้ได้กับทุกประเทศใน WTO ถ้าสหรัฐจะใช้เอฟทีเอเป็นอาวุธเรื่องนี้ ก็นับว่าโง่เขลามาก เพราะมีเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่มีเอฟทีเอกับสหรัฐ


 


องค์กรพัฒนาเอกชนแสดงบทเป็นผู้รักคนป่วยในเรื่องสิทธิบัตรยา โดยขู่ว่า คนไข้จะต้องนอนรอความตายเพราะยามีราคาแพงเสียจนไม่มีเงินซื้อ แต่ความจริงคือ เรื่องสิทธิบัตรในเอฟทีเอจะไม่มีผลใดๆ ต่อยารักษาโรคที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่จะมีผลเฉพาะกับยาใหม่ในอนาคตเท่านั้น



 


ถึงกระนั้น เอฟทีเอยังอนุญาตให้รัฐบาลใช้มาตรการบังคับสิทธิบัตรเพื่อประโยชน์ของประชาชนได้ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและบริษัทยาไม่ยอมให้ความร่วมมือ รวมทั้งยารักษาโรคก็ยังคงเป็นสินค้าราคาควบคุมตามกฎหมายไทยอยู่เหมือนเดิม


 


องค์กรพัฒนาเอกชนกระตุ้นความรักชาติของคนไทยอย่างถึงกระดูก โดยขู่ว่า เอฟทีเอจะทำให้พันธุ์พืชสุดรักของคนไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ ถูก "ปล้นสะดม" และผูกขาดโดยสหรัฐ นับเป็นการบิดเบือนที่ชาญฉลาด แต่ความจริงคือ การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ในเอฟทีเอจะไม่มีผลใดๆ ต่อบรรดาพันธุ์พืชทั้งปวง รวมทั้งข้าวหอมมะลิที่เกษตรกรไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่จะมีผลเฉพาะพันธุ์พืชใหม่ที่จะมีการประดิษฐ์ขึ้นในอนาคตเท่านั้น ซึ่งกลับเป็นข้อดีเพราะเกษตรกรไทยจะมีทางเลือกมากขึ้น ที่จะใช้พันธุ์พืชเก่าของตนต่อไปเหมือนเดิม หรือหันไปซื้อพันธุ์ใหม่ที่มีสิทธิคุ้มครองก็ได้


 


จะเห็นได้ว่า เอฟทีเอไทย-สหรัฐ มีเนื้อหาที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง สร้างความเข้าใจที่แท้จริงได้ยาก จึงตกเป็นเหยื่อของพวกหมอผีที่ปากอ้างความรักชาติ รักเกษตรกร รักคนไข้โรคเอดส์ แต่มีเบื้องหลังแอบแฝง แสวงหาประโยชน์จากคนไม่รู้ คนอ่อนแอ และคนป่วย โดยการปลุกปั่นความหวาดกลัว และเกลียดชังด้วยข้อมูลเท็จ และการบิดเบือนประเด็น


 


น่าเศร้าไม่แพ้กันคือ แม้แต่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ในคณะเจรจาและน่าจะเข้าใจประเด็นได้ดี ก็ยังกลัวจะน้อยหน้า ออกมาผสมโรง คัดค้านประเด็นเหล่านี้ในเอฟทีเอผ่านสื่อสาธารณะเสียเอง ในขณะที่รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อน คอยหลบก้อนหินอยู่อย่างเดียว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net