Skip to main content
sharethis



ตลาดมืด - หมายถึงขายกันตอนกลางคืนรวมผลิตภัณฑ์พื้นเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากชนเผ่า


 


โดย สุทธิดา มะลิแก้ว


 


(ต่อจากตอนที่แล้ว)



3.


หลวงพระบาง VS ฮอย อาน


 


UNESCO ได้ประกาศให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลกด้วยคำจำกัดความของเมืองนี้ว่า หลวงพระบางนั้นเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นมากในเรื่องของการผสมกลมกลืนกันของสถาปัตยกรรมลาวดั้งเดิมและสถาปัตยกรรมสมัยอาณานิคมที่สร้างโดยชาวยุโรป รวมทั้งโดดเด่นในด้านการรักษาโครงสร้างทางด้านผังเมืองที่สามารถผสมกลมกลืนสองวัฒนธรรมนี้ได้อย่างดีเยี่ยม


 


ส่วนฮอย อานนั้น ได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นเมืองที่พิเศษในเรื่องของการรักษาตัวอย่างของเมืองท่าการค้าของเอเชียอาคเนย์สมัยศตวรรษที่ 15 -19 เอาไว้ได้อย่างดี แผนผังบ้านและถนนสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของทั้งคนท้องถิ่นและคนต่างชาติที่ทำให้รวมกันเป็นพื้นที่ที่เป็นมรดกโลกที่โดดเด่น


 


การประกาศเป็นมรดกโลกของหลวงพระบางนั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รับบาลลาวประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยวด้วย (ท้ายปี 1995 กับต้นปี 1996) จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวทะลักเข้าในหลวงพระบางที่มีประชากรในขณะนั้น (ปี 1995) เพียง 365,000 คนอย่างมากมาย โดยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 35,000 คน


 


นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาหลวงพระบางก็มีนักท่องเที่ยวมากขึ้นๆ ทุกวัน ในปี 2001 จากรายงานของสำนักงานมรดกโลกหลวงพระบางประชากรของทั้งจังหวัดหลวงพระบางอยู่ที่ 360,000 คน และเป็นประชากรที่อยู่ในเขตตัวเมือง 30,000 คน แต่ที่อยู่ในเขตอนุรักษ์มรดกโลกนั้นมีจำนวน 12,000 คน ในขณะที่ตัวเลขจากฝ่ายท่องเที่ยวบอกว่า ถึงปี 2005 ประชากรของจังหวัดหลวงพระบางทั้งหมดมี 400,000 คน และที่อยู่ในตัวเมืองมีอยู่จำนวน 80,000 คน ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 250,000 คน และมีนักท่องเที่ยวเป็น 3 เท่าของประชากรที่อยู่ในเขตมรดกโลก


 



วัดเซียงทองยังคงงดงามดังเดิม



ส่วนที่ฮอย อาน เริ่มขึ้นตั้งแต่ที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมรัฐบาลเวียดนามได้ประกาศให้ Hoi An มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ (National Relic) ตั้งแต่ปี 1995 แผนการที่จะบูรณะต่างๆ ก็ได้ทำก่อนหน้านั้นแล้ว และทางรัฐบาลเองก็มีแผนที่จะเสนอทาง UNESCO เพื่อให้ฮอยอานเป็นเมืองมรดกโลก และในที่สุดก็ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลกในปี 1999 โดยพื้นที่นั้นมีคือเมืองโบราณที่มีเนื้อที่ 1 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ฮอย อาน นั้นมีพื้นที่สิ้น 16 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 80,000 คน อาศัยอยู่ในมรดกโลก 10,000 คน


 


จำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในฮอย อาน ในปี 1996 ภายหลังจากที่รัฐบาลเริ่มประกาศรับรองให้เป็นมรดกของชาติแล้ว ทำให้มีนักเที่ยวเข้ามาที่ฮอย อาน ถึง 132,946 คน เป็นชาวต่างชาติ 56,280 คน เทียบกับปี 1991 ที่มีนักท่องเที่ยวเพียง 3,410 คนเท่านั้น และภายหลังจากการเป็นเมืองมรดกโลกแล้วนักท่องเที่ยวยิ่งหลั่งไหลกันเข้ามาขึ้น จนถึงปี 2005 เพียงช่วง 4 เดือนแรกของปีก็มีนักท่องเที่ยวถึง 559,500 คน ในนั้นเป็นชาวต่างชาติ 145,615 คน


 


อ้วน สิริสัก ผู้อำนวยการสำนักงานมรดกโลก หลวงพระบาง แม้จะมองเห็นว่า มีผลกระทบบางประการที่เกิดขึ้นอย่างที่มีข้อกังวลกันที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น แต่ก็ยืนยันว่า เรื่องนี้ส่งผลดีให้กับชาวเมืองมากกว่า เพราะอย่างน้อย ที่เห็นได้ชัดก็คือ มีการบูรณะ บ้านเรือน เส้นทาง อาคารและศาสนสถานต่างๆ สิ่งที่ปรากฏก็คือ บ้านเมืองที่สวยงามขึ้น ถนนหนทางที่สวยงาม แม้กระทั่งเวียงจันทน์ก็มาดูเป็นตัวอย่าง นอกจากนั้นประโยชน์ที่ประชาชนในเขตมรดกโลกได้รับคือครอบครัวที่อยู่ตามริมทางก็สามารถเปิดร้านขายสินค้า ขายของที่ระลึก หรือแม้กระทั่งเปิดเกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร หรือโรงแรม และโอกาสของการทำงานของประชาชนก็มีมากขึ้นทำให้ไม่ต้องจากบ้านไปไกล


 


ภาพที่ชาวบ้านเห็นก็คือ หากสอบถามความเห็นชาวบ้านทั่วไปที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นแล้ว ส่วนใหญ่จะยินดีกับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้กระทั่งคุณยายวัย 80 อย่างแม่เฒ่าผุย วิไลปะเสิด ที่อยู่นั่นมาตั้งแต่สมัยฝรั่งเศสปกครองก็บอกว่า บ้านเมือง ถนนหนทางสวยขึ้นมาก ทางเข้าบ้านของตนที่เคยเป็นฝุ่น ตอนนี้ก็เป็นคอนกรีตแล้ว แต่กระนั้นก็ยืนยันว่า "เดี๋ยวนี้ไปไหนมาไหนคนก็เยอะ น่าเวียนหัว"


 


เจ้าของเกสท์เฮาส์อย่างวีระเดชา พิดอนง จิตรกรที่เปิดเกสต์เฮาส์คนแรกๆ ในหลวงพระบางมาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว บอกว่า เมื่อก่อนนี้มีอยู่ไม่ถึง 10 แห่ง แต่ตอนนี้มีเกือบ 200 แห่ง การแข่งขันสูงมาก แต่เขาก็มองในภาพดีว่า "การแข่งขันย่อมทำให้เกิดการพัฒนา" ตอนนี้ธุรกิจเขาก็ยังไปได้ด้วยดี เขามีห้องพัก 12 ห้อง และกำลังคิดจะต่อเติม แต่กำลังอยู่ในระหว่างการรอนุมัติจากสำนักงานมรดกโลกอยู่


 


ผู้อำนวยการสำนักงานมรดกโลก ยังเล่าต่อถึงส่วนที่ดีที่เกิดจากการเป็นเมืองมรดกโลกก็คือ ในเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีหลายอย่างก็กลับคืบมา เช่นการแสดงพระลักษมณ์ พระราม (รามเกียรติ์) การแสดงดนตรีพื้นเมือง หรือศิลปะท้องถิ่น ที่เคยรับใช้ราชสำนัก แต่กระทำไม่ได้เมื่อสมัยปลดปล่อย หรือแม้กระทั่ง พิธีบาสี (บายศรี) เมื่อเปิดการท่องเที่ยว การแสดงเหล่านั้นก็กลับมาอีกครั้ง แม้กระทั่งคนที่เป็นนักฟ้อนรำ นักดนตรี หรือ แม้กระทั่งหมอบาสีก็ได้กลับมามีอาชีพอีกครั้งหนึ่ง


 


แม้จะดูดี แต่นั่นก็คงจะไม่ใช่คำตอบต่อข้อกังวล ที่ดวงเดือน บุนยาวง ตั้งคำถามในตอนต้น ถึงเรื่องที่จะเป็นกระทบกับวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง นักคิดชาวเวียงจันทน์คนเดิมได้เสนอว่า ทางยูเนสโก น่าจะมีโครงการที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนให้ชาวบ้านรักษางานฝีมือให้เป็นงานคุณภาพ และควรส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เน้นเป็นตัวอย่างสัก 2-3 อย่าง ช่วยให้คนที่นั่นได้ดำรงวิถีชีวิตแบบเดิมไว้ และควรมีหลักสูตรเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐและไกด์นำเที่ยว รวมทั้งปูพื้นให้เด็กได้รักในวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย


 


อ้วน สิริสัก กล่าวถึงประเด็นการจัดการของสำนักงานมรดกต่อเรื่องวัฒนธรรมว่า โดยภารกิจแล้วไม่ได้เป็นงานโดยตรง เนื่องจากที่ทางสำนักงานมรดกโลกต้องดูแลนั้นจะเป็นเรื่องของสถาปัตยกรรม และเรื่องของภูมิทัศน์ มากกว่า


 


แต่ก็ยังดีที่ทางหลวงพระบางเองนั้นก็ได้มีการประชุมส่วนงานที่เกี่ยวข้องกันอยู่เสมอถึงเรื่องการจัดการกับเรื่องของชีวิตและวัฒนธรรม อย่างกรณีของการใส่บาตรนั้น ในที่สุดทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายองค์กร คือแผนกข่าวสารและวัฒนธรรมหลวงพระบาง, องค์กร Lao Bhudhist Fellowship, โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวแม่น้ำโขง- เอดีบี, โครงการพัฒนาจากเนเธอร์แลนด์ SNV,สำนักงานมรดกโลก หลวงพระบาง, โครงการ Quiet in the Land, และ UNESCO ก็ได้ร่วมกันทำโปสเตอร์ เพื่ออธิบายเรื่องความสำคัญของการตักบาตร และหลักการปฎิบัติในการตักบาตรขึ้น มีข้อความด้านหน้าว่า " ช่วยเราเคารพประเพณีตักบาตร" (Help us respect the alms giving ceremony) โดยจัดทำเป็น 6 ภาษา คือ ลาว ไทย จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และอังกฤษ แล้วไปติดตามโรงแรม ร้านค้า ต่างๆ รวมทั้งแจกให้บรรดาไกด์นำเที่ยวเพื่อให้ใช้ในการแนะนำนักท่องเที่ยวด้วย


 


นอกจากนั้นทางกลุ่มนี้ก็มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาว่า ให้พวกขายเครื่องใส่บาตรนั้นนั่งอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ใครที่ตั้งใจจริงจะไปตักบาตรก็ไปซื้อหาเอาเอง ส่วนเรื่องเด็กเดินเร่ขายของนั้น ก็ได้ก็คิดว่าคงจะเริ่มห้ามปรามด้วยเช่นกัน


 



นอกจากศึกษาธรรมะสามเณรยังเลือกที่จะฝึกอาชีพได้ด้วย


 


อองเจลมานน์ ได้อธิบายให้ฟังถึงความเป็นมาและการจัดการเกี่ยวกับเรื่องมรดกโลกของหลวงพระบางว่า ตอนที่สำนักงานมรดกโลกเตรียมเอกสารให้ UNESCO ก็พูดถึงเรื่องการคุ้มครองเฉพาะสถาปัตยกรรม และผังเมือง หรือการจัดการผังเมือง สำหรับเมืองนี้ที่สำคัญจริงๆ นั้น ไม่ใช่แค่เรื่องสถาปัตยกรรม แต่ยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้นที่สำคัญของเมืองนี้ก็คือ จะทำอย่างไรให้สถาปัตยกรรมสมดุลกับธรรมชาติ ซึ่งหมายถึง ต้นไม้ สวน ที่สำคัญมากก็คือ ผู้คน และ พื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนั้นการคุ้มครองจึงไม่ใช่แค่ สถาปัตยกรรม แต่หมายถึงพื้นที่ต่างๆ ของเมืองด้วย ที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ UNESCO ไม่ได้รวมเอาสิ่งที่ไม่ใช่วัตถุ สิ่งที่จับต้องไม่ได้ หรือที่เรียกว่า intangible อยู่ในความคุ้มครองด้วย


 


"ดังนั้นบรรดาเพลง พิธีกรรม วัฒนธรรม หรือวรรณคดีต่างๆ อยู่นอกเหนือการตัดสินใจของ UNESCO ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่ายูเนสโกจะไม่สนใจ แต่ในช่วงแรกนั้นมันดูเหมือนว่าจะมากเกินไปที่เอาทุกอย่างทำทั้งหมด" ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานมรดกโลกกล่าว


 


นอกจากนั้นยังได้อธิบายเพิ่มเติม แต่ก็มีความไม่เข้าใจของคนอยู่ว่า มรดก (Heritage) คืออะไร ซึ่งจริงๆ ชื่อเรียกที่ถูกต้องน่าจะเรียกว่า การอนุรักษ์มรดก (the conservation of heritage) หรือ the conservation of the property of Luang Prabang ซึ่งหมายถึงทรัพยากรด้วย และถึงแม้ว่าทางสำนักมรดกโลกจะรู้ว่า เรื่องเพลง หรือวรรณกรรมจะเป็นเรื่องสำคัญ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากคิดว่าไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ


 


"เรื่องนี้จะต้องไปอยู่ภายใต้แผนกวัฒนธรรมของจังหวัด ทว่ามักจะมีช่องทางในการทำงานที่ค่อนข้างจำกัด สำนักงานมรดกโลกนั้นได้รับเงินสนับสนุนจำนวนมากจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการบูรณะสิ่งที่เป็นสถาปัตยกรรม หรือโครงสร้าง เมื่อเทียบกับงบประมาณของแผนกวัฒนธรรมที่มีเพียงน้อยนิดในการอนุรักษ์สิ่งที่เป็น intangible แต่ว่าหากเรามีเมืองที่สวยงาม ที่ว่างเปล่า ไม่มีชีวิตแบบเดิมๆ แล้วจะมีความหมายอะไร และนี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งของที่นี่"


 


ส่วนการจัดการปัญหาที่เป็นข้อกังวลนั้นเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเข้ามาสั่นคลอนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมนั้น อองเจลมานน์กล่าวว่า เรื่องการทำโปสเตอร์ก็เป็นส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็คือโครง Quiet in the Land ซึ่งได้รับทุนจากมูลนิธิจากอเมริกาที่รวมรวมเอานักการศึกษาและศิลปิน 35 คนจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและจากประเทศอื่นๆ มาทำงานกับคนในชุมชนเพื่อให้เข้าใจอย่างลึกซึ้งในเรื่องของความเกี่ยวข้องกันระหว่างการอนุรักษ์วัฒนธรรม และการปรับตัวทางวัฒนธรรมกับความท้าทายที่เข้ามาในศตวรรษที่ 21


 


"ตอนนี้เราได้ทำงานร่วมกับช่างภาพคนหนึ่งชื่อ ฮันส์ เบอร์เกอร์ ที่ไปเก็บภาพและข้อมูลพวกพิธีกรรม วัฒนธรรม ต่างๆ ในหลวงพระบาง มีด้วยกัน 2 เล่มๆ หนึ่งจะเป็นฉบับง่าย เพื่อใช้สอนเด็กประถม และมัธยมต้น นอกจากนั้นยังมีอีกเล่มหนึ่งที่อยู่ในโครงการที่ใช้สำหรับชาวต่างชาติ"


 


ส่วนที่ฮอย อาน แน่นอนว่าการเป็นเมืองมรดกโลกนั้นสร้างประโยชน์เกิดขึ้นแน่กับประชาชนทั้งที่อยู่ในเขตและนอกเขตเมืองมรดกโลก หมู่บ้านมีการผลิตงานฝีมือต่างๆ ที่นอกเมืองออกไปก็สามารถได้ผลประโยชน์จากเรื่องนี้ เพราะมีตลาดรองรับสินค้า ผู้คนก็มีงานทำ เชื่อว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนดีขึ้นแน่นอน


 


ทั้งนี้จากการสอบถามพูดคุยจากผู้คนที่อยู่หมู่บ้านรอบนอกก็ต่างยืนยันว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แน่นอนประชาชนที่นั่นต่างรู้สึกยินดีที่จะได้ทำมาค้าขายได้มากขึ้น จนออกจะลืมๆ ไปด้วยซ้ำว่า นักท่องเที่ยวนั้นต้องการมาชมความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองมรดกโลก ร้านค้ามากมายที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด และสินค้าที่ระลึกที่ซ้ำๆ กันจนลานตาทั้งที่บางครั้งเป็นของดี แต่สุดท้ายก็กลายเป็นของโหลไป


 


ปัญหาเรื่องรับมือเพื่อคงความเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของฮอย อานนั้น จึงเป็นปัญหาที่ทางภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องเองนั้นทำการบ้านหนัก เจิ่น วัน เญิน (Tran Van Nhan) รองผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมและกีฬา ฮอย อาน บอกว่า เราต้องคิดว่าทำอย่างไร เราถึงจะสามารถรักษาวัฒนธรรมแบบเดิมๆ เอาไว้ได้ หรือควรมีกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างไรบ้าง


 


ทางฝ่ายวัฒนธรรมนั้นบอกว่า ที่จริงก็เป็นกังวลอยู่เหมือนกันในเรื่องของนักท่องเที่ยว ที่มีความเห็นแย้งกันอยู่ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายการท่องเที่ยว


 


"ฝ่ายการท่องเที่ยวและประชาชนนั้นต่างพยายามที่จะให้คนเข้ามามากๆ โดยบอกว่าเราจะได้มีรายได้เข้าประเทศมากๆ และสามารถนำมาใช้พัฒนาบ้านเมืองได้ แต่เรากำลังกังวลว่า น่าจะมีการจำนวนจำนวนนักท่องเที่ยวบ้าง เพราะหากมากเกินไปเกรงจะเป็นการยากที่จะคงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้" รอง ผอ. ศูนย์วัตนธรรมฯกล่าว


 


สำหรับกรณีนี้ บุนเที่ยง แห่งการอินเตอ-ลาว การท่องเที่ยว ที่แม้ว่าจะอยู่ภาคธุรกิจนี้ เห็นต่างกับฝ่ายท่องเที่ยวของฮอย อาน ที่เห็นว่า สำหรับหลวงพระบางอาจจะเป็นการดีถ้ามีการคัดสรรนักท่องเที่ยว ที่แม้ว่าอาจจะจำนวนน้อยลงแต่มีคุณภาพขึ้น ทั้งนี้ รายได้อาจยังคงเดิม แต่ขยะหรือการใช้ทรัพยากรก็จะน้อยลงด้วย


 


"ที่จริงถ้ามีการโปรโมตการท่องเที่ยวที่ลักษณะเฉพาะ ไม่ต้องไปขายทัวร์พร่ำเพรื่อ และจัด package ดี มีการอำนวยความสะดวกดี สมมุตว่าเดิมมีคนมา 500,000 คนแต่เป็นนักท่องเที่ยวแบบประหยัด การการมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 200,000 คน แต่มีการใช้จ่ายสูง คิดว่ารายได้น่าจะเท่ากัน แต่ขยะในประเทศจะน้อยลง และการใช้ทรัพยากรก็จะลดลง" รองผู้อำนวยการ อินเตอ-ลาว หลวงพระบางกล่าว


 


ในที่สุดทางฮอย อาน ซึ่งถูกจัดให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ก็ได้จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมขึ้นมามากมาย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1998 บนถนนสายหลักของฮอย อาน ได้จัดให้เป็นถนนคนเดิน และทุกๆ คืนวันขึ้น 15 ค่ำ จะจัดเป็นงาน "ค่ำคืนแห่งตำนาน" (legendary night) ที่ทุกบ้านจะต้องดับไฟแต่ใช้จุดโคมไฟแทนให้เหมือนดังในอดีต และมีเล่นดนตรีพื้นเมือง และห้ามรถทุกชนิดเข้าไปในเขตเมืองโบราณ ทุกๆ วันเสาร์ จะให้เป็นวันที่ท้องถนนปราศจากรถมอเตอร์ไซค์ และจัดเทศกาลตกปลา ในเดือนมีนาคม รวมทั้งยังมีกิจกรรมย่อยๆ อีกมากมาย แต่ละกิจกรรมนั้นล้วนประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะทำให้คนเริ่มคิดถึงวัฒนธรรมที่มีอยู่ของชาวฮอย อานมากขึ้น


 



โคมไฟหนึ่งในสินค้าเลื่องชื่อของ ฮอย อาน เป็นวัฒนธรรมที่ตกทอดมาจากจีนและญี่ปุ่น


 


"ตอนที่เราทำ legendary night นั้น ตอนแรกเราขอร้องให้บรรดาเจ้าบ้านที่อยู่ในเขตมรดกโลกนั้นดับไฟแล้วจุดโคมไฟ หรือตะเกียง อย่างที่เคยใช้กันในอดีตแทน ปรากฏบรรดาร้านค้าก็บ่นว่า แล้วจะขายของได้อย่างไร แต่เรายืนยันว่าจะขอทดลองก่อนสัก 2-3 ครั้ง ถ้าทำให้เดือดร้อนจริงๆ ก็จะยกเลิก"


 


แต่แล้วปรากฏว่างานนี้กลับเป็นที่สนใจของผู้คน ทั้งที่อยู่ในประเทศ และนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ แม้กระทั่งเด็กวัยรุ่นที่ไม่เคยสนใจในเรื่องของวัฒนธรรมมาก่อน ก็เริ่มอยากรู้อยากเห็นว่าคนโบราณเขาอยู่กันอย่างไร บรรดาคนค้าขายก็เลยเลิกบ่นไป


 


"คนหนุ่มสาวเริ่มจากการสงสัยใคร่รู้ก่อน ต่อมาเมื่อเขาเห็นเรื่อยๆ เดือนละครั้ง เขาก็เริ่มคุ้นเคย แล้วก็จะเข้าไปยู่ในวิถีชีวิตของเขา แล้วที่สุดแล้วเขาก็จะภูมิใจในบ้านเกิดของเขา จากแค่เป็นผู้สังเกตเขาก็จะกลายเป็นคนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมวัฒนธรรมโดยตรง"


 


 "และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้คนสำนึกรักบ้านเกิด คุ้นเคย และกลายเป็นการผูกพัน ไปอยู่ที่ไหนก็อยากกลับมาบ้านตัวเอง เพราะบ้านตัวเองมีเอกลักษณ์ มีสิ่งที่น่าสนใจที่หาไม่ได้ในที่อื่นๆ" เญินกล่าวในที่สุด


 


ปัญหาร่วมของคนที่อยู่ในเมืองมรดกโลกนั้น จะพบว่าตัวเองมีปัญหาในการต่อเติมหรือตกแต่งบ้านเรือนของตัวเอง เพราะตามกฎแล้ว ต้องขออนุมัติ หลายๆ คนไม่ค่อยพอใจกับจุดนี้ ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนควรจะได้รับการแจ้งแล้วโดยละเอียดก่อนที่จะนำเข้าไปเสนอขอเป็นเมืองมรดกโลกจาก UNESCO ซึ่งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของกระบวนการ


 


ดร.เฮเตอร์ ปีเตอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสหน่วยงานวัฒนธรรม จาก UNESCO กล่าวว่า ความมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในการดำเนินกระบวนใดๆ ประชาชนควรมีโอกาสของการได้แสดงความคิดเห็นและรับรู้ว่าสิ่งใดจะเกิดกับเขาบ้าง ทาง UNESCO นั้นให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างมาก


 


ทั้งนี้ ในกระบวนการเตรียมการนั้น ประชาชนชาวหลวงพระบางบอกว่า ได้รับการแจ้งให้ทราบว่า เมืองหลวงพระบางนั้นได้รับการเสนอชื่อให้เป็นเมืองมรดกโลก และต่อมาก็มีการประกาศ ประชาชนก็รู้สึกยินดีสำหรับเงื่อนไขและระเบียบต่างๆ ในการจัดการและบ้านเรือนที่อยู่ในเขตของเมืองมรดกโลกนั้นก็ได้มีการชี้แจงให้ทราบต่อมา


 


"ตอนปีที่ประกาศตรงกับปีท่องเที่ยว ชาวบ้านเห็นโอกาสก็อยากจะต่อเติมบ้านออกมาเป็นร้านอาหารหรือบ้านพักบ้าง แต่ทำไม่ได้ เลยรู้สึกว่าขัดใจอยู่บ้าง แต่ว่าทุกวันนี้ เรามีการทำความเข้าใจให้กับประชาชนแล้ว เขาก็รับได้" ผู้อำนวยการสำนักงานมรดกโลกกล่าว


 


สำหรับที่ฮอย อานนั้นดูเหมือนว่าในการจัดการนั้น ประชาชนค่อนข้างพอใจ แม้จะรู้สึกอึดอัดอยู่บ้างว่า จะต่อเติมบ้านสักทีก็ทำได้ช้า รวมทั้งมีคนจำนวนหนึ่งต้องการที่จะสร้างบ้านใหม่ ก็ออกจะเป็นกังวลอยู่พอสมควร แต่แล้วทางส่วนที่รับผิดชอบที่ฮอย อานก็สามารถจัดการให้เป็นที่พอใจได้ในระดับหนึ่ง และทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็มีความสุขกับการที่ฮอย อาน เป็นเมืองมรดกโลก


 


"เราเริ่มจากแบ่งจัดระดับชั้น (Class) ของบ้านเรือนก่อน โดยแบ่งออกเป็น 5 ชั้น ขึ้นอยู่กับว่ามีความสมบูรณ์อยู่กี่เปอร์เซ็นต์ วางหลักการให้แก่แต่ละบ้านและแจกคู่มือการดูแลรักษาบ้านของตัวเอง และบอกถึงความจำเป็นของการอนุรักษ์" เหงียน จี๋ จุง (Nguyen chi Trung ) ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการและอนุรักษ์ปูชนียสถาน (Centre for Munoment Management and Preservation) อธิบายให้ฟัง


 


ทั้งนี้ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เอกสารหลักการต่างๆ นั้นได้นำเสนอให้กับประชาชนรับรู้ตั้งแต่ปี 1997 แล้ว คู่มือที่เป็นฉบับสมบูรณ์ที่ทุกวันนี้ทุกบ้านจะได้รับไว้เป็นคู่มือปฎิบัติในดูแลรักษาหรือทำนุบำรุงแล้วเสร็จในปี 2002


 


นอกจากนั้นแล้ว ในการทำนุบำรุงรักษาบ้านนั้น ทุกหลังที่อยู่ในเขต ไม่เฉพาะบ้านที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ในการซ่อมแซม ทางรัฐก็จะช่วยออกเงินสมทบทุนให้ด้วย โดยคิดตามเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับสภาพที่ต้องซ่อมแซม เญิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการเที่ยวชมเมืองมรดกโลกสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคนเข้ามาเที่ยวชมตามปกติ เรามีบูธที่ขายตั่วสำหรับเข้าชมบางสถานที่ในเมืองมรดกโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าใครจะเข้าไปในนั้นทุกคนจะต้องจ่าย แต่จ่ายเฉพาะบางสถานที่เท่านั้น


 


 


สะพานญี่ปุ่น เอกลักษณ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งฮอย อาน เขตเมืองโบราณหมดตรงนี้


 


"เรามีสถานที่และบ้านเก่า 400 หลัง เราเปิดให้นักท่องเที่ยวชม 15 แห่ง เก็บค่าเข้าชม 75,000 ด่ง สามารถเลือกชมได้ 5 แห่ง ในนี้มีของเอกชนด้วย 5 หลัง เงินที่เราเก็บได้นี้ ใช้จ่ายสำหรับกองทุนเพื่อการบูรณะปฎิสังขรณ์เมืองเก่าไป 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วน 25 เปอร์เซ็นต์สำหรับเจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าของบ้านที่เปิดให้นักท่องเที่ยวนั้นก็จะได้รับค่าตั๋วไป แล้วสิ้นเดือนก็เอาคูปองไปแลกเงินมา รายได้ของบ้านเหล่านี้อาจจะตกเดือนละประมาณ 2,000 เหรียญสหรัฐ


 


สำหรับภาษีอื่นๆ ที่เก็บมาได้นั้น เญินบอกว่า ไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับฮอย อาน ดังนั้นฮอย อาน ทั้งเมืองดูดีขึ้นไม่ใช่เพียงเฉพาะในเมืองมรดกโลกเท่านั้น


 


จุง ซึ่งรับผิดชอบในตรวจตราเรื่องการอนุรักษ์มรดกโลกยืนยันว่า หากวันใดวันหนึ่งที่เจ้าของบ้านที่เป็นเอกชน เกิดเหนื่อยกับการที่ต้องให้คนเข้าชมบ้าน เพราะรู้สึกว่าขาดความเป็นส่วนตัว ไม่อยากเปิดบ้านอีกต่อไป ก็ถอนตัวได้ไม่มีปัญหาอะไร


 


"แต่เขาคงไม่ถอนตัวเพราะนี่คือรายได้ของเขา" จุงสรุป


 


(อ่านต่อตอนจบพรุ่งนี้ : คนในออก คนนอกเข้า)


 


-----------------------------------------------


* รายงานชิ้นนี้เขียนขึ้นภายใต้โครงการ Imaging Our Mekong สำนักข่าว Inter Press Service (IPS)


สนับสนุนโดยมูลนิธิ Rockefeller


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net