Skip to main content
sharethis


 

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


เรื่อง การเจรจาทำความตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคี (FTA) ของประเทศไทย


 


ตามที่รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายที่จะใช้การเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) เป็นกลยุทธ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาและมีการดำเนินการเจรจากับประเทศต่างๆ กว่า ๑๐ ประเทศอยู่ในขณะนี้


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการติดตาม และตรวจสอบการดำเนินนโยบายเรื่องเขตการค้าเสรีตลอดมา ด้วยตระหนักถึงผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในหลากหลายมิติที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านสิทธิในการพัฒนา สิทธิด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิทธิชุมชน สิทธิการเข้าถึงฐานทรัพยากร สิทธิการเข้าถึงยาและบริการสาธารณสุข เป็นต้น


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐอเมริกา ที่มีเนื้อหาการเจรจารวม ๒๒ หัวข้อ ไม่ใช่เป็นเพียงการเจรจาปรับลดภาษีสินค้าหรือการเปิดตลาดสินค้าเท่านั้น แต่มีเนื้อหาการเจรจาเกี่ยวโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนทุกคนในสังคมไทย ทั้งปัจจุบันและในอนาคตรุ่นลูกรุ่นหลาน เช่น การเจรจาเรื่องสิทธิบัตรยา เรื่องสิทธิบัตรพันธุ์พืชและสัตว์ เรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุน เรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ


 


จากการติดตามวิเคราะห์การเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการเจรจารอบที่ ๖ ไปเมื่อต้นเดือนมกราคม ๒๕๔๙ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นและข้อสังเกตต่อกระบวนการและเนื้อหาการเจรจาในประเด็นสำคัญต่างๆ ดังนี้


 


๑. กติกาและกระบวนการเจรจาของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่มีความเป็นธรรมและความเสมอภาคต่อประเทศไทย สหรัฐอเมริกานำเอาเนื้อหาที่กำหนดไว้ในกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา (Trade Promotion Act 2002) มาเป็นข้อเรียกร้องในการเจรจาทุกหัวข้อ และปฏิเสธที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา ฝ่ายเจรจาของไทยจึงไม่มีสิทธิในฐานะประเทศภาคีเท่าเทียมกันที่จะเจรจาในเนื้อหาสำคัญเรื่องอื่นๆ นอกเหนือไปจากการเจรจาปรับลดภาษีและการเปิดตลาดสินค้าเป็นหลัก


 


ทั้งนี้ จากการศึกษาทบทวนเนื้อหาของความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่สหรัฐอเมริกาได้ลงนามกับประเทศต่างๆ มาก่อนหน้านี้ เช่น สิงคโปร์ ชิลี โมร็อกโค เวียดนาม ประเทศเหล่านี้ต้องยอมรับข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการเปิดเสรีการลงทุน เรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและอธิปไตยของชาติ


 


๒. กระบวนการจัดทำ FTA ของสหรัฐอเมริกาดังกล่าว โดยแท้จริงแล้ว จึงเท่ากับเป็นการนำกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกามาขยายบังคับใช้กับประเทศไทยผ่านการทำความตกลงเขตการค้าเสรี ซึ่งเป็นการละเมิดและลิดรอนสิทธิอธิปไตยของชาติ ทั้งในทางนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ


 


๓. กระบวนการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐอเมริกา ขาดความโปร่งใส ขัดต่อหลักการธรรมภิบาล ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาและจุดยืนท่าทีการเจรจาของประเทศไทยให้ประชาชนทั่วไปทราบ ซึ่งนำไปสู่ข้อกังวล ข้อสงสัยต่อประโยชน์และผลกระทบที่แท้จริงในการทำ FTA กับสหรัฐอเมริกา


 


นอกจากนี้ ในขณะที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบในกระบวนการเจรจา แต่ได้อนุญาตให้ตัวแทนบรรษัทธุรกิจเข้าร่วมในห้องเจรจาได้


 


๔. การศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบของ FTA ไทย-สหรัฐ รวมถึงการทำ FTA กับประเทศต่างๆเป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นในประเด็นเรื่องการปรับลดภาษีและการเปิดตลาดสินค้าเป็นหลัก ขาดการศึกษาอย่างรอบด้านถึงผลกระทบและต้นทุนที่ประเทศไทยต้องจ่าย ทั้งในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องแรงงาน เรื่องการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ เรื่องต้นทุนการจัดการ เรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ฯลฯ ทำให้ตัวเลขผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการทำ FTA สูงเกินกว่าความจริงอยู่มาก


 


๕. ฝ่ายเจรจาของไทยยังขาดการเตรียมพร้อมอยู่อีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย กฎระเบียบภายในของสหรัฐอเมริกา เช่น เรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งจะเป็นจุดอ่อนสำคัญประการหนึ่งของฝ่ายไทยในการเจรจา


 


ในเบื้องต้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติใคร่ขอเสนอแนะและเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงกระบวนการเจรจาจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาใน ๔ ประการสำคัญได้แก่


 


๑. ให้ชะลอ/ยุติการเจรจา FTA ไทย - สหรัฐ ไว้ก่อน จนกว่าจะได้มีการศึกษาผลกระทบทั้งในทางบวกและลบอย่างครบถ้วนรอบด้าน และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ให้มีการปรับเปลี่ยนกติกาการเจรจาให้เกิดความเป็นธรรมและเสมอภาค ไม่ถูกบังคับให้ยอมรับข้อเรียกร้องโดยเพียงแต่อ้างถึงข้อกำหนดในกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา


 


๒.ให้เปิดเผยข้อเรียกร้องทั้งหมดของสหรัฐอเมริกาต่อสาธารณะ การเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ไม่ส่งผลกระทบใดๆต่อท่าทีหรือกลยุทธการเจรจาของฝ่ายไทย ในทางกลับกัน การปกปิด ข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาไว้เป็นความลับ จะยิ่งทำให้เกิดคำถามข้อสงสัยและความไม่ไว้วางใจต่อผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับหรือต้องเสียมากยิ่งขึ้น ทำให้กระบวนการทำ FTA ไม่เกิดความชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง


 


อนึ่งเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอในเรื่องนี้ได้ ประเทศไทยควรต้องยกเลิกข้อสัญญารักษาความลับในการเจรจา ที่ทางสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้ไทยถือปฏิบัติตั้งแต่การเจรจารอบที่ 1


 


๓.ให้ประชาชนและรัฐสภาได้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจาอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามข้อบัญญัติและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองในการเจรจาของไทย ช่วยแก้ไขปัญหาความเสียเปรียบในอำนาจการเจรจาอีกทางหนึ่งด้วย


 


๔.ให้ประชาชนซึ่งเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำ FTA ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจลงนามความตกลง FTA โดยการออกเสียงประชามติตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ทั้งนี้ โดยมีการเปิดเผยข้อมูล สร้างความข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาข้อเจรจา และผลกระทบในทุกด้านอย่างถูกต้องและเพียงพอก่อนการทำประชามติด้วย


 


๕.การที่ประเทศไทยจะผูกพันตามสนธิสัญญาจำเป็นต้องผ่านกระบวนการให้สัตยาบัน(Ratification) โดยต้องไม่กำหนดเวลาในการให้สัตยาบัน เพื่อเปิดให้องค์กรรัฐสภา ประชาชน และรัฐบาลได้มีโอกาสและส่วนร่วมในการพิจารณารายละเอียดเนื้อหาในความตกลง FTA อย่างรอบคอบ


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความเห็น ข้อเสนอแนะข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นนี้ จะเป็นผลประโยชน์ต่อการดำเนินงานของรัฐบาลและองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ในอันที่จะปกป้องรักษาความเป็นธรรมและผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมและยั่งยืนต่อไป


 


ในขั้นต่อไป คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เฉพาะกิจติดตามตรวจสอบการทำ FTA ของไทย โดยจะมีการศึกษารายละเอียดของเนื้อหาข้อเจรา การศึกษากฎหมายภายในของสหรัฐที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอข้อมูล ข้อเสนอแนะต่อประชาชนและรัฐบาลเป็นระยะอย่างต่อเนื่องต่อไป


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


มกราคม ๒๕๔๙


นื้อหาของข้อเรียกร้องต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายการค้าของสหรัฐอเมริกา ฝ่ายเจรจาของไทยจึงไม่มีสิทธิในฐานะประเทศภาคีเท่าเทียมกัน


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net