คาดเอดส์กลับมาระบาด เร่งปกป้องยาต้านไวรัสราคาถูก

ประชาไท - 24 ม.ค.49    คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงสาธารณสุขรายงานสรุปผลการทบทวนแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ พ.. 2545 - 2549 โดยทีมผู้ประเมินจากภายนอก สรุปได้ดังนี้

                       

ในระหว่างวันที่ 7-19 สิงหาคม 2548 คณะผู้ประเมินจากภายนอก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทบทวนการดำเนินงานตอบสนองต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในภาคส่วนสาธารณสุขของประเทศไทย สรุปผลได้ดังนี้

           

1.การดำเนินงานด้านการป้องกันและการดูแลรักษาเอดส์ในอดีตที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี การแพร่ระบาดของเชื้อเอช ไอ วี ในชุมชนส่วนใหญ่ลดลงพฤติกรรมเสี่ยงลดลง จากการให้สุขศึกษา การเข้าถึงบริการและการสนับสนุนถุงยางอนามัย แม้จะยังมีความรังเกียจผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี ในสังคมไทย แต่ก็มีแนวโน้มดีขึ้น นอกจากนี้ เริ่มมีการพูดคุยเรื่องเพศ และสุขภาพทางเพศมากขึ้น

                       

2. ในปัจจุบัน คาดว่ามีผู้ป่วยเอดส์ที่เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 551,000 ราย และยังมีผู้ติดเชื้อที่มีชีวิตอยู่ 540,000 ราย หากผู้ติดเชื้อเหล่านี้ได้รับการดูแล และเข้าถึงยาต้านไวรัส จะทำให้ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม

                       

3. เชื่อว่า นับตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา การดำเนินงานป้องกันเอดส์ได้ช่วยป้องกันผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ 5.7 ล้านคน อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณว่า การแพร่ระบาดของการติดเชื้อเอช ไอ วี อาจหวนกลับมาใหม่ โดยมีสัญญาณ ดังนี้

 

- จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละปี ไม่ได้ลดลงอย่างรวดเร็วดังในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

- หนึ่งในสาม ถึง กึ่งหนึ่ง ของผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นหญิง ซึ่งรับเชื้อจากสามีหรือคู่นอนประจำ

- ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วัยรุ่นทั้งชายและหญิงมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอช ไอ วี เพิ่มขึ้น

- โครงการถุงยางอนามัย 100% เริ่มมีปัญหา เนื่องจากการทำงานเชิงรุกลดลง

- รูปแบบการให้บริการทางเพศเปลี่ยนไป และ การสนับสนุนถุงยางอนามัยไม่เพียงพอ

- การติดเชื้อเอช ไอ วี ในประชากรหลายกลุ่ม เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มชายรักชาย กลุ่มชายแต่งกายเป็นหญิง กลุ่มประชากรด้อยโอกาส รวมทั้งชนกลุ่มน้อย กลุ่มประชากรเคลื่อนย้ายและผู้ติดตาม และผู้ใช้ยาเสพติด

- การตรวจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น

 

คณะผู้ประเมินได้ให้ข้อสังเกต ต่อการดำเนินงานด้านเอดส์ในระยะต่อไป ดังนี้

 

1. มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าอาจเกิดการระบาดใหม่ของเชื้อเอช ไอ วี ได้อีก เช่น ในกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ ในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มประชากรชายรักชาย และ กลุ่มที่เข้าถึงยาก เช่น กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด เป็นต้น

 

2. การเร่งรีบขยายบริการการรักษาอย่างรวดเร็ว ส่งผลเป็นเหมือนดังเงาที่บดบังงานด้านการ ป้องกัน ทั้ง ๆ ที่การดำเนินงานทั้งสองส่วนต้องดำเนินการอย่างคู่ขนาน

                       

3. มีความรู้สึกที่รับรู้ทั่วไปว่า การดำเนินงานด้านเอดส์ ได้เปลี่ยนจากแนวคิดการใช้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็น ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง จึงเป็นความสำคัญที่จะต้องรับรู้ว่า การฟื้นฟูให้เกิดการเคลื่อนไหวที่มุ่งไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการลบล้างภาวะรังเกียจต่อผู้ติดเชื้อเอช ไอ วี กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นใหม่เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยมีข้อเสนอแนะได้แก่

                       

1. ภายใต้การนำของรัฐบาล ควรแสดงออกถึงความมุ่งมั่นที่จะให้วาระเรื่องเอดส์เป็นประเด็นการพัฒนาที่มีลำดับความสำคัญ และเป็นประเด็นสาธารณะศูนย์กลางที่ได้รับการถกเถียงอย่างกว้างขวาง

                       

2. ภายใต้นโยบายการกระจายอำนาจด้านการเมือง และ การบริหาร ควรส่งเสริมให้การดำเนินงานด้านเอดส์เป็นเรื่องที่ภาคประชาชนสามารถดำเนินการได้

                       

3. ในการปฏิรูประบบสุขภาพ ควรพิจารณาให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการด้านการป้องกันและการดูแลได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง

                       

4. ควรดำเนินการให้การเข้าถึงบริการด้านการรักษา เป็นไปอย่างยั่งยืน ทั้งการเข้าถึงยา และ น้ำยาตรวจ ด้วยราคาที่สามารถจ่ายได้ ด้วยการพัฒนาแนวทางการจัดซื้อยา การผลิตยาเองภายในประเทศ การสร้างแรงกดดันต่อราคาทั้งราคาในประเทศและในระดับนานาชาติ และปกป้องการเข้าถึงยาในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

                       

5. ต้องให้ความสำคัญกับงานด้านการป้องกันและการช่วยเหลือทางสังคมเพิ่มมากขึ้น และเชื่อมโยงกับการเข้าถึงการดูแล

                       

6. ให้ความสนใจกับการป้องกันในกลุ่มเยาวชน และ กลุ่มคนที่แต่งงาน หรือมีความสัมพันธ์กับคู่ที่

ติดเชื้อเอช ไอ วี

                       

7. พัฒนากลยุทธ์ในการป้องกันการติดเชื้อเอช ไอ วี ที่สอดคล้องกับสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนไป ในกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศและผู้ซื้อบริการ กลุ่มชายรักชาย กลุ่มผู้ใช้ยา และประชากรกลุ่มน้อย

                       

8. ประยุกต์ใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย ในการพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์งานเอดส์ โดยแจ้งวาระการวิจัย ให้ครอบคลุมประเด็นด้านสังคม พฤติกรรม ระบบสุขภาพ และ มาตรการการดำเนินงาน

                       

9. องค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งรวมถึงองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ และองค์กรชุมชน ต้องการการสนับสนุน และทุนในการดำเนินงาน ทั้งจากระดับชาติ และระดับท้องถิ่น และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นควรได้รับการพัฒนาศักยภาพให้สามารถสนับสนุนได้

                       

10. ในการดำเนินงานด้านเอดส์ควรผนวกหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการรับรองโดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และ กฎหมายอื่น ๆ โดยมีพัฒนากลไกและเครื่องมือดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ด้วยความมุ่งมั่นทางการเมืองในระดับสูง ประกอบกับความพร้อมในระบบสุขภาพ และ องค์กรภาคีในภาคประชาสังคม โอกาสเหล่านี้จะช่วยให้การดำเนินงานด้านเอดส์ของประเทศไทยโดยมีแนวคิดให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการดำเนินงาน ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง และมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท