กลุ่มที่ดินอุบลเดือดชุมนุมร้องผู้ว่าสางปัญหา

กลุ่มเรียกร้องสิทธิที่ดินฯ กว่า 100 คน ร่วมชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลฯ เรียกร้องให้จังหวัดแก้ปัญหา หลังจากยื่นขอเอกสารสิทธิ์มาแล้วร่วม 19 ปี ด้านรองผู้ว่าฯ รับข้อเรียกร้องย้ำเปิดประชุม กบร.จังหวัด 7 ก.พ.ศกนี้


 

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2549 เวลา 9.00 น. ที่ผ่านมา กลุ่มเรียกร้องสิทธิที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยและที่ทำกินจำนวนกว่า 100 คน ได้เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯและเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยซึ่งเกิดจากการพัฒนาตามโครงการขนาดใหญ่ของจังหวัด ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนมาจากศาลหลักเมืองเข้าสู่ศาลากลางจังหวัดและร่วมกันอภิปรายปัญหาต่างๆ ของชุมชนและเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการลงมาพบกับกลุ่มของตน ซึ่งหลังจากนั้นประมาณ 10.00 น. นายวันชัย สุทินรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งติดภารกิจร่วมประชุมกับแม่ทัพภาคที่ 2 ในเรื่องปัญหาชายแดนจึงได้เรียกแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าหารือถึงทางออกที่ห้องประชุมมิตรไมตรี 1

 

ในโอกาสนี้ตัวแทนกลุ่มเรียกร้องฯ คือ นางอัจราวรรณ พรรณี ได้เสนอข้อเรียกร้องต่อที่ประชุมว่า พี่น้องที่มาวันนี้ส่วนใหญ่เป็นคนจนที่เข้าครอบครองในที่ดินมานานและได้ยื่นขอเอกสารสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2530 ถึงวันนี้กว่า 19 ปีแล้ว ล่าสุดปี 2548 ได้ชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางกันอีกครั้งและผลที่ได้รับคือ มีรายชื่อที่เข้าร่วมประชุมกับ กบร.จังหวัด แต่รายชื่อนั้นไม่ใช่ตัวแทนที่เดือดร้อนจริง ต่อมาตัวแทนชุมชนได้ยื่นหนังสือกับส่วนกลางอีกครั้ง และส่วนกลางก็ส่งเจ้าหน้าที่มาดูพื้นที่จริง จากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ ตนก็เข้ายื่นหนังสือรวมทั้งต่อ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกรัฐมนตรีอีกด้วย แต่ปัญหาก็ยังเรื้อรังมาจนทุกวันนี้ ทางกลุ่มเรียกร้องฯ จึงหารือกันและขอพบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้

 

 "ข้อที่หนึ่งดิฉันต้องการให้ทางจังหวัดหันมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยการนัดประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ (กบร.) ระดับจังหวัด และต้องเชิญ กบร.ส่วนกลางเข้าร่วมด้วย ข้อที่สอง ในการประชุมครั้งต่อไปควรให้ตัวแทนประชาชนเข้าร่วมในการประชุมด้วย เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาไม่เคยเข้าร่วมเลย ข้อที่สามขอให้ทางจังหวัดหยุดดำเนินการทางคดีกับชาวบ้านในพื้นที่ที่มีปัญหา และข้อที่สี่อยากให้จังหวัดเปิดเผยข้อมูลโครงการขนาดใหญ่ที่จะดำเนินการต่อไปให้ประชาชนได้ทราบ"

 

นายวันชัย สุทิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ เปิดเผยว่า ต่อข้อเรียกร้องถึงการประชุมครั้งต่อไปต้องให้ชาวบ้านเข้าร่วมด้วยนั้น ตนขอรับต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ซึ่งหากการประชุมครั้งต่อไปที่มีวาระที่เกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุม จังหวัดจะมีหนังสือเชิญไปถึง จากนั้นให้ส่งตัวแทนมาร่วมประชุมในฐานะเข้าฟังการประชุมเพื่อให้คณะ กบร.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แต่ไม่มีสิทธิออกเสียง ทั้งนี้ก็เป็นไปตามระเบียบของการประชุม โดยกำหนดการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2549 ด้านการดำเนินคดีกับทางชาวบ้านที่เกิดขึ้น 2 รายที่บ้านปลาดุกนั้นให้สั่งการฝ่ายตำรวจเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนการที่จะให้จังหวัดสั่งไม่ดำเนินคดีกับคนที่ทำผิดนั้นคงเป็นไปไม่ได้

 

"ราชการไม่รังแกพี่น้อง แต่เงื่อนไขของพี่น้องต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย ในระหว่างนี้กลุ่มแกนนำต้องไปอธิบายให้พี่น้องเข้าใจร่วมกันให้อยู่ในความสงบ ช่วงที่คาราคาซังอยู่นี้เราคงเข้าไปเตะไม่ได้ ท่านอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างปกติ อย่าทำผิดกฎหมายเพิ่มเติมก็พอ แล้วมาแก้ปัญหาร่วมกัน การทำงานในจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดที่ใหญ่ ไม่อยากให้กลุ่มผู้เรียกร้องต้องผูกเงื่อนไขของเรื่องเวลาว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ซึ่งต้องขอความเห็นใจต่อเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่ว่าจังหวัดจะแช่แป้งต่อปัญหาของท่าน ซึ่งจะแก้ปัญหาให้พอใจทั้งสองฝ่าย และใช้เวลาอันควร ผมอยากบอกพี่น้องว่า ผมมีความตั้งใจจริงต่อการทำงาน ผมเป็นลูกผู้ชายพอและขอเอาตำแหน่งรองผู้ว่าเป็นประกันได้"

 

ทั้งนี้ด้านการเปิดเผยโครงการพัฒนาต่างๆ ของจังหวัดนั้นเป็นสิ่งที่ทางการไม่ได้ปกปิด ตนขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมได้ขอเอกสารดังกล่าวกับกลุ่มแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดได้โดยตรง การแก้ปัญหานั้นทุกฝ่ายต้องเปิดอกรับผิดชอบร่วมกัน

 

พ.ต.อ.ประทีป กิจจาวัฒนะ รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.อุบลราชธานี เปิดเผยถึงกรณีการออกหมายเรียกกับ นายดำรงศักดิ์ พันธุ์โบ และนายทองสอน ผลพันธ์ นั้น ตนขอไปตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนที่รายงานต่อจังหวัดต่อไปภายใน 3 วัน ซึ่งการดำเนินคดีแต่ละเรื่องนั้นต้องมีการสอบสวนรวบรวมข้อมูลหลักฐานทุกเรื่อง ซึ่งตนเข้าใจว่ากรณีดังกล่าวนี้เป็นเพียงการที่พนักงานสอบสวนเชิญมาให้ข้อมูลไม่ใช่การออกหมายจับแต่อย่างไร

 

นายโอภาส เจริญพจน์ อนุกรรมการการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา เปิดเผยว่า

ปัญหาในครั้งนี้เกิดจากทางจังหวัดไม่มีข้อมูลในพื้นที่มากกว่า ซึ่งข้อมูลที่มีอยู่เป็นเพียงข้อมูลของทางราชการ เมื่อทั้งสองส่วนไม่ตรงกันทำให้การแก้ไขปัญหายุ่งยากมากขึ้น โดยที่ตนขอเสนอว่าคณะทำงานต้องมีประชาชนที่เดือดร้อนและข้าราชการต้องร่วมลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกัน

 

"ผมคิดว่าเขาคงจะเสนอให้ทางจังหวัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมีชาวบ้านเป็นคณะกรรมการร่วมกับทางจังหวัด ถ้าไม่อย่างนั้นปัญหาจะแก้ไม่ได้ จริงๆ แล้วต้องรับฟังชาวบ้านให้มาก การประชุมวันนี้ผมมีความพอในเพียงบางส่วน เพราะการแก้ไขปัญหาในวันนี้เป็นเพียงการยื้อเวลาออกไป การเบี่ยงประเด็นออกจากคำถามของชาวบ้าน จริงๆ แล้วหากชาวบ้านเข้าร่วมคงใช้เวลาไม่มากขนาดนี้"

 

อย่างไรก็ตามหลังจากที่ตัวแทนกลุ่มเรียกร้องฯ ได้หารือกับจังหวัดแล้ว ด้านนายวันชัย สุทิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดได้เดินทางมาพบกับชาวบ้านที่ชุมนุมหน้าศาลากลางพร้อมทั้งสรุปข้อตกลงเบื้องต้นให้กลุ่มผู้ชุมนุมรับทราบ ซึ่งกลุ่มผู้เรียกร้องเองก็มีความพึงพอใจต่อการชี้แจงในครั้งนี้ และได้แยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาของตนเอง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท