Skip to main content
sharethis


โดย : สมพล โชคดีศรีสวัสดิ์ : สำนักข่าวประชาธรรม

 


เมื่อเร็วๆ นี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ฟ้องร้องเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค องค์กรปฏิรูปสื่อ องค์กรประชาธิปไตย เครือข่ายผู้หญิง สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีออกแถลงการณ์ประณามการดำเนินการของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรีที่ละเลยต่อการปรับผังรายการของไอทีวีอย่างมีเงื่อนงำจนทำให้กลายเป็นสื่อบันเทิงล้นจอ


 


กลุ่มผู้ถูกฟ้องทั้งหมด 12 รายจะต้องไปให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิตในวันที่ 24 มกราคม 2549 นี้


 


แถลงการณ์ที่เป็นต้นเหตุถูกฟ้องหมิ่นประมาทครั้งนี้ออกเมื่อวันที่ 1 เม.. 2547 มีใจความสำคัญคือ เรียกร้องให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการต่อ ไอทีวี ที่ปรับผังรายการ เพราะเป็นการกระทำที่ละเมิดสัญญาสัมปทาน


 


ผู้ถูกสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรีฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทล้วนเป็นผู้มีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอยู่นอกรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง อาทิ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค องค์กรปฏิรูปสื่อ


 


อะไรเกิดขึ้นที่ไอทีวี


 


"ไอทีวี" เป็นสถานีโทรทัศน์ที่มีรากฐานการก่อตั้งจากเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เพื่อให้เกิดทีวีเสรีไม่ขึ้นกับหน่วยงานรัฐ และเน้นการเสนอข้อมูลสาระมากกว่ารายการบันเทิง พร้อมกำหนดให้ผู้ถือหุ้นแต่ละรายมีหุ้นได้ไม่เกิน 10 % และมีสัดส่วนนำเสนอรายการสารประโยชน์ 70% รายการบันเทิง 30%


 


แรกเริ่ม บริษัทสยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี มหาชน จำกัด ชนะการประมูลการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เสรี ด้วยการให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงกว่าผู้แข่งขันรายอื่นถึง 10 เท่า คือ 25,600 ล้านบาทตลอดระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ต่อมาทำสัญญากับสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ..2538 เงื่อนไขหนึ่งในสัญญาระบุว่า


 


"หากหน่วยงานรัฐให้สัมปทาน หรือทำสัญญาใดๆกับบุคคลอื่นเข้าดำเนินกิจการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ โดยมีโฆษณา หรืออนุญาตให้โทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกทำการโฆษณาได้ และเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของผู้เข้าร่วมงานอย่างรุนแรง เมื่อผู้เข้าร่วมงานร้องขอ สำนักงานจะพิจารณาและเจรจากับผู้ร่วมงานโดยเร็ว เพื่อหามาตการชดเชยความเสียหาย"


 


เงื่อนไขนี้เป็นต้นเหตุให้ไอทีวีเรียกร้องให้มีการแก้ไขสัมปทานเมื่อวันที่ 12 ..42 พร้อมอ้างเหตุผลได้แก่


 


กรมประชาสัมพันธ์ให้สัมปทานบริษัทไทยสตาร์ทีวี จำกัด ต่อมาเปลี่ยนเป็น เวิล์ดสตาร์ทีวี ดำเนินการโทรทัศน์บอกรับสมาชิกที่มีโฆษณาได้ สัญญาเริ่ม 30 .. 2539


 


กองทัพบกทำสัญญาสัมปทานใหม่กับสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ในปี 2541 จ่ายค่าตอบแทนขั้นต่ำตลอดระยะเวลาสัมปทานเพียง 4,670 ล้านบาท


 


สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ได้รับอนุญาติให้มีโฆษณา


 


ยูบีซีเคเบิลทีวี มีโฆษณาแฝง


 


รัฐธรรมนูญระบุให้รัฐต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรี อาศัยกลไกตลาดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม


 


การแก้ไขสัมปทาน เริ่มตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยยกเลิกเงื่อนไขกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นรายละไม่เกิน 10% ต่อมากลายเป็นช่องทางให้บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น มหาชน จำกัด เข้าถือหุ้นใหญ่ในสถานีแห่งนี้ กลายเป็นที่มากรณี 21 ขบถนักข่าวไอทีวี


 


ภายหลังการเปลี่ยนแปลงผู้ลงทุนในไอทีวี ไอทีวีส่งหนังสือทวงถามสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีการแก้ไขสัญญาหลายครั้ง แต่ถูกปฏิเสธ กระทั่งเดือน ม.. 2546 ไอทีวียื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการ และได้รับคำตัดสินในวันที่ 30 ..2547


 


ผลการตัดสินปรากฎว่า


 


1.ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชดเชยความเสียหาย โดยชำระเงินคืนแก่ไอทีวี 20 ล้านบาท


 


2.ให้เปลี่ยนผลประโยชน์ตอบแทน โดยจ่ายค่าตอบแทนขั้นต่ำปีละ 230 ล้านบาท หรือ 6.5 % ของรายได้ โดยถือเอาจำนวนที่มากกว่าเป็นหลัก และมีผลย้อนหลังไปถึง 3 ..2545 ทำให้มีผลส่งรายได้ให้รัฐขั้นต่ำ 7,790 ล้านบาท จากรายได้เดิม 25,600 ล้านบาท


 


3.ให้สำนักงานปลัดฯจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนสำหรับงวดปี 2546 ที่ไอทีวีชำระไว้คืนแก่ไอทีวี


 


4.ให้ไอทีวีสามารถเผยแพร่ภาพโดยไม่ถูกจำกัดเฉพาะรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ ในช่วง 19.00-21.30 . และต้องนำเสนอข่าว สารคดี และสารประโยชน์ไม่น้อยกว่า 50 % ของเวลาออกอากาศทั้งหมด ทำให้มีการปรับเนื้อหาสารประโยชน์จาก 70% เหลือ 30% ทั้งที่รายการประเภทสารประโยชน์ได้รับความนิยมระดับต้นๆ


 


เมื่อกลุ่มชินคอร์ปเข้ามาลงทุนในไอทีวี จึงยากที่จะเลี่ยงประเด็น "ผลประโยชน์ทับซ้อน"แม้ว่านายกทักษิณจะออกอากาศทางวิทยุผ่านรายการ" นายกทักษิณ คุยกับประชาชน" ในวันที่ 7 .. 2547ว่า " มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติทุกคนทำอย่างตรงไปตรงมา พี่น้องประชาชนคนไทยไม่ต้องห่วง ผมไม่มีนิสัยตะกละตะกลามเด็ดขาดนะครับ"


 


แต่คำพูดของนายกฯสวนทางกับคำพูดของนายบุญคลี ปลั่งศิริ ประธานคณะกรรมการบริษัทชิน คอร์เปอร์เรชั่นจำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 3 .. 2547ในการสัมมนาหุ้นเด็ดปี 2547 มีใจความตอนหนึ่งว่า ก่อนตัดสินใจลงทุนไอทีวีได้ศึกษาในสัญญาพบว่าในข้อ 5 มีความเป็นไปได้ที่จะชนะ โดยดูจากตัวอย่างที่ให้สัมปทานไทยทีวี กรณีให้ยูบีซีสามารถลงโฆษณาได้บ้าง และการเปลี่ยนแปลงสัมปทานของสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ทั้งที่ยังไม่หมดสัญญา แต่ได้ต่ออายุไปอีก 25 ปี ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่ไอทีวีจะได้ลดค่าสัมปทาน


 


"ผมกล้าเสี่ยงเพราะลงทุนในไอทีวีที่มีขนาดธุรกิจเพียง 3,000 ล้านบาท เทียบกับเงินลงทุนในเอไอเอส แต่ละปี 50,000 ล้านบาท ถือว่าน้อย"


 


ภายหลังที่ไอทีวี ชนะคดี สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ดำเนินการฟ้องร้องอนุญาโตตุลาการต่อศาลปกครอง และฟ้องไอทีวี กรณีปรับผังรายการ แต่กลับใช้แนวทางเจรจาประนีประนอมในการชดใช้ค่าเสียหาย ตามที่กระทรวงการคลังมีความเห็น


 


ด้านกลุ่มชินคอร์ปดึงกลุ่มทุนกันตนา และนายไตรภพ ลิมปพัทธ์เข้ามาบริหาร และปรับผังรายการดังปรากฎอยู่ทุกวันนี้


 


ภายหลัง "ไอทีวีเปิดเสรีใหม่" ปรากฎผลประกอบการตามที่หนังสือพิมพ์ระบุคำสัมภาษณ์ของ นายบุญคลี ปลั่งศิริ ว่า ผลประกอบการไอทีวีปีนี้ถือว่าสูงขึ้นมาก เพราะคาดว่าผลประกอบการไอทีวีปี้นี้สูงขึ้นมาก จนไอทีวีเป็นหนึ่งในสองธุรกิจที่มองเห็นการเติบโตได้ชัดเจน


 


จากความนิ่งเฉยของรัฐบาล ทำให้ประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนยิ่งเด่นชัดมากขึ้น จนทำให้กลุ่มการเมืองภาคประชาชนออกแถลงการณ์ประณามสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับเรียกร้องให้สำนักปลัดฯดำเนินการฟ้องศาลพิทักษ์ผลประโยชน์ประชาชน


 


วันนี้ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เติบโตขึ้นมาก จากธุรกิจที่มีขนาดเพียง 3,000 ล้านบาท ขณะนี้มีมูลค่ารวมในตลาดหลักทรัพย์สูงถึง 14,114.66 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ..2549) อะไรทำให้ไอทีวีเติบโตขนาดนี้


 


รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้จากสัญญาไอทีวีจำนวน 17,810 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 774.35 ล้านบาท ของช่วงอายุสัญญาที่เหลืออยู่ 23 ปี และเงินจำนวนนี้ที่จะไหลไปเป็นงบประมาณของประเทศ ที่จะต้องนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของคนไทยกว่า 60 ล้านคน


 


นอกจากนี้สังคมไทยยังต้องสูญเสีย "สื่อ"ที่เคยทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาล สร้างการเรียนรู้แก่คนไทย


 


สมควรหรือไม่ที่ภาคประชาชนจะเรียกร้องให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลรักษาผลประโยชน์ของประชาชน.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net