Skip to main content
sharethis



ภาพจาก www.tjanews.com


 


 


วันอังคารที่ 24 มกราคม 2006 19:18น.


ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือแห่งปรเทศไทย


 


คณะทำงานวาระทางสังคม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเรื่อง"เศรษฐศาสตร์การเมือง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้" โดยเชิญเมธีวิจัย ทั้งที่อยู่ในพื้นที่รับรู้เบื้องลึกของปัญหาสถานการณ์ และเมธีวิจัยอาวุโส ผู้เฝ้ามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยภาพรวมผนวกเข้ากับสถานการณ์การเมืองในประเทศและสถานการณ์โลก มาให้ข้อมูลเพื่อความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองในพื้นที่


 


นางราซีด๊ะ ระเด่นอาหมัด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


 


สถานการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดรุนแรงกว่าอดีต หลายคนอยู่ในสภาวะเครียด การใช้ชีวิตจากที่เคยเป็นมาได้หายไป ตั้งแต่การปล้นปืนเมื่อ 4 มกราคม 2547 ใน 5 ด้าน พบปรากฏการณ์ดังนี้


 


1.ภาคการผลิต ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของ 3 จังหวัดภาคใต้ นับแต่ปี 2546 เป็นต้นมา มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น และเป็นการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นได้ระดับหนึ่ง เหตุการณ์รุนแรงได้ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนเวลาการกรีดยาง แต่ปริมาณยางโดยภาพรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย


 


สำหรับปริมาณและมูลค่าสัตว์น้ำมีจำนวนลดลงอย่างมากสาเหตุจากราคาน้ำมันสูงขึ้น ความไม่มั่นใจในสถานการณ์ความไม่สงบส่งผลให้ผู้ประกอบการเรือประมง ย้ายไปขึ้นสัตว์น้ำที่ท่าเรืออื่นแทน ส่วนหนึ่งได้ย้ายออกนอกพื้นที่ ซึ่งได้ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องต้องลดลงตามไปด้วย


 


นอกภาคเกษตรพิจารณาจากปริมาณการใช้ไฟฟ้า นับแต่เกิดความไม่สงบพบว่ามีปริมาณลดลงเพียงเล็กน้อย เช่น ปัตตานีมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมปี 2546 จำนวน 188,175,000 กิโลวัตต์ ปี 2547 จำนวน 186,352,000 กิโลวัตต์ ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อนร้อยละ 0.97 เป็นต้น


 


2.ภาคการลงทุน พบว่ามีบางส่วนของเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ได้แก่ พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงอย่างมาก เพราะไม่มั่นใจในความไม่สงบที่เกิดขึ้น ประกอบกับราคาวัสดุก่อสร้างสูง และขาดแคลนแรงงาน จำนวนอุตสาหกรรมที่แจ้งเลิกแม้จะมีจำนวนแจ้งเลิกน้อยกว่าช่วงก่อนหน้านั้น แต่อุตสาหกรรมที่แจ้งเลิกดังกล่าวกลับเป็นอุตสาหกรรมที่มีทุนจดทะเบียนสูง ส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งตกงาน โรงงานที่แจ้งเลิก ได้แก่ ปัตตานี 4 โรง ยะลา 5 โรง


 


ยังมีส่วนของเศรษฐกิจที่ช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจให้ฟื้นอยู่บ้าง ได้แก่การขยายสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และปริมาณการจดทะเบียนใหม่รถบรรทุกเพิ่มขึ้น หมายความว่าประชาชนบางส่วนยังมีอำนาจซื้ออยู่ เศรษฐกิจไม่ได้ตกต่ำไปทุกด้าน


 


3.ภาคการเงิน ถึงเดือนมิถุนายนมีเงินบาทเพิ่มขึ้น สินเชื่อเพิ่มขึ้น เงินฝากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้ง 3 จังเพิ่มขึ้น มีมูลค่าเช็คมากขึ้น เช็คเด้งน้อยลง เว้นแต่นราธิวาสที่เช็คคืนมากขึ้น ยกเลิกน้อย โดยรวมถือว่าเศรษฐกิจท้องถิ่นยังดี


 


4.ภาคการอุปโภคบริโภคเอกชน โดยรวมอยู่ในภาวะขยายตัว การจองรถยนต์เพิ่มขึ้น การจดทะเบียนรถยนต์เพิ่มขึ้น และจำนวนหนึ่งในนั้นขอจดทะเบียนป้ายกรุงเทพฯ เพราะออกจากปัตตานีไม่ได้ตำรวจค้น โรงแรมอ้างว่าเต็ม รถจักรยานยนต์ถ้าสถานการณ์ดีจะมีการซื้อมากขึ้น ยอดตกแค่ในระยะสั้น การใช้ไฟฟ้าในบ้านมากขึ้น อาจเป็นเพราะคนกลัวก็เลยเปิดไฟรอบบ้าน


 


5.ภาคการคลัง การจัดเก็บรายได้ อยู่ในเกณฑ์สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งปีงบประมาณ 46-48 สูงขึ้น ยกเว้นยะลารายได้ลดลงเล็กน้อย ดูจากการจัดเก็บภาษีเก็บได้เพิ่ม โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ภาษีสรรพากรเก็บได้ลดลง โดยเฉพาะภาษาเหล้าเบียร์ เนื่องจากคนไม่กล้าออกไปดื่ม สถานการณ์บันเทิงได้รับผลกระทบ ยะลาได้รับผลกระทบมากสุด


 


ด้านรายจ่ายพบว่าก่อนไม่มีสถานการณ์มีงบลงไปน้อย แต่หลังมีเหตุการณ์รัฐได้ทุ่มงบฯด้านความมั่นคงลงไปมาก โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบฯของ กอ.สสส.จชต. ที่ยะลามีการเบิกจ่ายงบฯมากสุด จากโดยรวมทั้ง 3 จังหวัด มีงบหมื่นกว่าล้าน แต่ปี 48 เพิ่มเป็นสองหมื่นกว่าล้าน ที่ยะลาเพิ่มจากปี 46 จาก 4 พันกว่าล้านเพิ่มในปี 48 เป็น 1.4 หมื่นล้านบาท ปัตตานีจากปี 46 ได้งบฯ 4.5 หมื่นล้านบาท ในปี 48 เพิ่มเป็น 5.9 พันล้านบาท และนราธิวาสจากปี 46 ได้งบฯ 4.6 พันล้านบาท ปี 48 เพิ่มเป็น 4.9 พันล้านบาท


 


กล่าวโดยสรุปเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้เศรษฐกิจ 3 จังหวัดชะลอตัว แต่ไม่ทั้งหมด โดยเฉพาะคนที่ไปทำงานที่มาเลเซียได้ส่งเงินกลับมาในพื้นที่และเป็นเงินจำนวนมากพอสมควร


 


รศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี กล่าวในหัวข้อ "ทศวรรษความรุนแรงชายแดนใต้" โดยระบุว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากทั้งสาเหตุที่เป็นปัจจัยภายในและภายนอก ซึ่งสถานการณ์สากล ปัญหาอุดมการณ์ทางศาสนาอาจจะมีผลกระทบตามมาอย่างมากต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ประกอบกับปัจจัยภายในที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่สำคัญในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรัฐบาลยุบเลิกศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)


 


เป้าหมายและเหยื่อของความรุนแรง


ข้อมูลจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่ามีคนตายและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบสองปีระหว่างปี 2547-2548 มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 2,940 คน ในจำนวนนี้มีผู้ตาย 1,175 คน และบาดเจ็บ 1,765 คน คนไทยมุสลิมเสียชีวิตมากกว่าคนไทยพุทธ กล่าวคือคนมุสลิมเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในระหว่างปี 2547-2548 จำนวน 607 คนหรือเป็นจำนวนร้อยละ 51.7 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด ส่วนคนพุทธเสียชีวิตจำนวน 538 คนหรือเป็นร้อยละ 45.8 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในรอบสองปี


 


ในส่วนของผู้บาดเจ็บนั้น คนไทยพุทธมีจำนวนมากกว่า กล่าวคือคนพุทธได้รับบาดเจ็บจำนวน 1,085 คน หรือร้อยละ 61.5 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมดส่วนคนมุสลิมได้รับบาดเจ็บจำนวน 498 คนหรือเป็นสัดส่วนร้อยละ 28.2 ของผู้บาดเจ็บทั้งหมดระหว่างปี 2547-2548


 


กล่าวโดยสรุป ความรุนแรงที่พบไม่ว่าการยิง เผา รวม 2 ปี มีจำนวน 3,546 ครั้ง นับเป็นอัตราเพิ่มที่เข้มข้นสูงขึ้นหรือคิดเป็น 374-400% ขณะที่ในรอบ 11 ปี เหตุปัจจัยมีทั้งภายในคือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแบละนโยบายของรัฐบาลทักษิณ โดยเฉพาะการบุบ ศอ.บต. การปรับเปลี่ยนผู้นำที่เป็นราชการในพื้นที่ทำให้มีผลต่อสถานการณ์ภายในแต่ก็มีปัจจัยภายนอกคือเหตุการณ์ 11 กันยาในปี 2544


 


ปัญหายาเสพติด


สภาพปัญหายาเสพติดในพื้นที่ มีส่วนเชื่อมโยงกับการผลิต และค้ายาเสพติดจากนอกภาค ได้แก่ กลุ่มนักค้าจากภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กลุ่มนักค้าจากภาคใต้ รวมทั้งกลุ่มนักค้าจากประเทศมาเลเซีย ที่มักถูกใช้เป็นแหล่งเก็บพัก ก่อนนำเข้ามาจำหน่ายในพื้นที่ 3 จชต. ฯลฯ โดยมี จ.นราธิวาส (อำเภอสุไหง-โกลก อ.ตากใบ และ อ.แว้ง) เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญมากที่สุดในฐานะเป็นแหล่งกระจายยาเสพติดไปยังพื้นที่ต่างๆใน จชต.และจังหวัดอื่นๆในภาคใต้


 


ตัวยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดมาก ได้แก่ กัญชา ยาบ้า เฮโรอีน สารระเหย ยาแก้ไอ วัตถุออกฤทธิ์ฯ ยาเสพติดประเภท club drugs ยาแก้ไอผสมกับอีกหลายชนิดในระยะหลัง ฯลฯ ประมาณการว่า มีผู้เสพยาเสพติดในพื้นที่ 3 จชต. ไม่น้อยกว่า 20,000-30,000 คน และมีแนวโน้มว่า มีอัตราส่วนของผู้เสพรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 70% ในแต่ละปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเยาวชนที่ว่างงาน การศึกษาน้อย ทำให้กลุ่มเหล่านี้ มีโอกาสอย่างสูงที่จะถูกชักชวนให้เข้าร่วมปฏิบัติการก่อความไม่สงบ โดยมีตัวยาเสพติดเป็นแรงจูงใจ


 


จากการสำรวจข้อมูลของ สำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 9 ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ มีการประมาณการว่า มีหมู่บ้าน/ที่ปรากฏปัญหายาเสพติด ไม่น้อยกว่า 1,200 หมู่บ้าน/ชุมชน โดย จ.นราธิวาส มีระดับความรุนแรงมากที่สุด รองลงมาได้แก่ จ.ปัตตานี และ จ.ยะลา


 


ทั้งนี้ต้องแยกระหว่างปัญหายาเสพติดกับปัญหาการก่อความไม่สงบออกจากกัน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแยกเรื่องอาชญากรรมและการก่อความไม่สงบออกจากกันแล้วเป็นเรื่องส่วนตัวประมาณ 20% และเหตุผลที่ประชาชนเป็นเป้าหมายหลักก็เพราะการฆ่าประชาชนมีมากสุด และมีมุสลิมตายมากกว่า ถือว่าซับซ้อนเพราะเรื่องอุดมการณ์ เช่น เป็นสายข่าว หรือพัวพันกับรัฐ และอีกส่วนก็มาจากากรกระทำของรัฐเองด้วย หรืออุ้มฆ่าเกิดขึ้นจริง แม้ไม่มากก็ตาม


 


ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิจัยเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ(ทีดีอาร์ไอ)


 


ปัญหา 3 จังหวัดที่มีปัญหาหลายอย่างเกิดขึ้นจากการพัฒนาและไม่พัฒนา ในแง่พัฒนาคือเกิดผลต่อทรัพยากรในชายแดนภาคใต้ที่ไม่สามารถเพิ่มกำลังผลิตหรือผลิตภาพได้รวดเร็วเพราะทรัพยากรถูกลิดรอนไปหรือหมดสิ้นไป สิ่งแรกที่ศึกษาจากชาวประมงที่ปัตตานี อ.ยะหริ่ง พบว่าชมรมชาวประมงพื้นบ้านปัตตานี ถูกอวนรุนอวนลากมากวาดเอาปลาไปหมด รายได้ก็ตกต่ำ มีการต่อสู้เรียกร้องมาเกือบ 20-30 ปี และในช่วง 5 ปีก่อนนี้ได้ชัยชนะที่รัฐประกาศไม่ให้อวนรากอวนรุนเข้ามาในระยะ 3 กิโลเมตรจากชายฝั่ง แต่เป็นชัยชนะบนกระดาษ


 


ปัญหาที่ป่าพรุ เป็นพื้นที่ที่ราชการเรียกว่าป่าเสื่อมโทรม แต่เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน ถูกยึดครอง ไปทำสวนปาล์มบ้างทำรีสอร์ทบ้าง สุดท้ายชุมชนสามารถมองเห็นร่วมกันได้ คือป่าที่ถูกกำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ หรือป่าบนสันเขาที่ชาวบ้านปลูกยางปลูกลองกอง และรัฐก็มาห้ามตัดต้นไม้ใดๆ ทั้งสิ้นทำให้กลายเป็นปัญหา


 


ปัญหาก็คือเราไม่มีกติกาที่ให้เกียรติชุมชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรเดิมและปกป้องชุมชนจากการถูกตักตวงจากบุคคลจากภายนอกไม่ว่ารัฐหรือนายทุนก็ตาม


 


ทั้งนี้ยังมีปัญหาคนไทยพุทธโยกย้ายออกนอกพื้นที่ เขาไม่เห็นอนาคตของเศรษฐกิจ 3 จังหวัดภาคใต้ และคนมุสลิมก็ย้ายออกด้วย เช่น ย้ายไปอยู่มาเลเซียไปขายต้มยำ


 


ในแง่การศึกษา พบว่ามีหลายสิ่งที่ประหลาดคือ ม.4 ขึ้นไป เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมีเด็กผู้หญิงเรียนมากกว่าผู้ชาย ปัญหาก็คือการศึกษาและเกิดมาเป็นระยะหลายปีแล้วและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมองว่าโรงเรียนคือสถานที่ที่กลืนอัตลักษณ์ของพวกเขาและชุมชนกับค้านการศึกษาของหลวง และจากการสัมภาษณ์ผู้ปกครองเด็กหนุ่ม สิ่งที่เขาทักท้วงโรงเรียนการศึกษาสายสามัญไม่ดีพอ อยากให้สอนให้ดีกว่านี้ เช่น เด็ก ป.1 เขียนภาษาไทยไม่เป็นเลย"


 


สำหรับด้านทรัพยากรธรรมชาตินั้นทำให้คนหนีออกไปหางานอื่น แต่ใน 3 จังหวัดการศึกษาไม่ดีพอ ภาวการณ์ว่างงานเด็ก 20-30 ปีอยู่ที่ 8-9% แต่ภาคอื่นๆ อยู่ที่ 3-4% แต่ผู้หญิงในภาคใต้ไม่ค่อยมีปัญหาแต่รายได้ก็ไม่ดีพอ สำหรับคนที่หนีการพึ่งพิงทรัพยากร ฉะนั้นความยากจน การว่างงาน มาจากกระบวนการพัฒนาและไม่พัฒนาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


สำหรับความรุนแรงที่เกิดขึ้น พบว่าเด็กที่ไปปฏิบัติการก่อเหตุก็มีอายุในระดับเดียวกัน และพบว่าคนทำจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ แต่มาจากที่อื่น


 


ทั้งนี้ความเชื่อส่วนตัวของผมก็คือ ผมไม่คิดว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นตัวอธิบายความรุนแรงที่เกิดขึ้น แน่นอนที่สุดก็คือไม่ใช่เป็นเหตุผลเดียวและไม่คิดว่าเป็นเหตุผลหลัก อย่างดีก็เป็นแค่ปัจจัยเสริม อย่าพยายามเกี่ยวโยงเรื่องเศรษฐกิจกับความรุนแรงมากเกินไป แต่เกิดจากบาดแผลที่มีมานานและไม่ได้รับการดูแล เป็นโรคที่คั่งค้างมานาน และการแก้ไขก็ไม่ใช่แก้ง่ายๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net