Skip to main content
sharethis


เอบีซี/ซีบีเอ็นนิวส์ - สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติกระตุ้นรัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ยุติการสังหารผู้สื่อข่าวในประเทศโดยเรียกร้องให้ติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยที่อยู่เบื้องหลังการฆ่าผู้สื่อข่าวๆ หลายๆ คนในฟิลิปปินส์

 


เอ็มมา วอลเตอร์ จากสมาคมผู้สื่อขาวนานาชาติ (IFJ)  สำนักงานเอเชีย แปซิฟิค กล่าวว่า ความล้มเหลวของรัฐบาลในการนำตัวมือสังหารเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะส่งสารที่ผิดๆไปให้กับประชาชนที่คับข้องใจในสื่ออยู่


 


"การที่มือสังหารยังคงลอยนวลอยู่ได้นั้น จะทำให้ประชาชนที่รู้สึกคับข้องใจกับสื่อเข้าใจผิดได้ว่า การสังหารสื่อเป็นเรื่องที่ทำได้ และคุณก็จะไม่ต้องถูกดำเนินคดี ตอนนี้เรื่องนี้กำลังเป็นปัญหาที่หนักหนามากๆ ในฟิลิปปินส์ปัจจุบัน" วอลเตอร์กล่าวกับเอบีซี/ซีบีเอ็นนิวส์


 


วอลเตอร์กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมานี้ มีผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์ถูกสังหารในระหว่างการปฎิบัติหน้าที่ถึง 10 คน ทำให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นลำดับสองของกลุ่มประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับผู้สื่อข่าว


 


"เป็นประเทศที่มีการสังหารผู้สื่อข่าวสูงสุดเป็นอันดับสอง รองจากอิรักซึ่งเป็นประเทศที่กำลังอยู่ในสงคราม และเป็นประเทศที่มีการสังหารผู้สื่อข่าวสูงสุดในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค" วอลเตอร์กล่าว


 


รายงานจากสหภาพผู้สื่อข่าวแห่งชาติฟิลิปปินส์เพิ่งมีรายงานออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า เมื่อเริ่มปี 2006 ขึ้นมาในเดือนมกราคมนี้มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารไปแล้ว 2 คน  โดยคนแรกในวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา  โรลลี คาเนเตอ ผู้ประกาศข่าวอิสระจากเมือง เพกาเดียน ซิตี้ ถูกลอบยิงโดยคนร้ายที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นใคร และในวันต่อมา กราเซียโน อาควิโน บรรณาธิการข่าวจาก บาตาอาน และอดีตผู้สื่อข่าว DZRS ก็ถูกสังหารด้วย


 


ในปี 2005 นั้น ฟิลิปปินส์ไม่ได้ติดอันดับประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับสื่อเฉพาะในกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น แต่ติดอันดับประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกด้วย


 


"ปี 2005 เป็นปีแห่งโศกนาฎกรรมและปีที่สื่อมวลชนตกเป็นเป้ามากที่สุด"  คริสโตเฟอร์ วอร์เร็น ประธาน IJF กล่าว


 


จากจำนวนคนข่าวที่ถูกสังหารโหดทั้งหมดในโลก 150 คนในปี 2005 นั้นมีถึง 36 คนมาจากประเทศภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก


 


เอเชียใต้เป็นภูมิภาคภายในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกที่อันตรายที่สุดที่มีผู้สื่อข่าวถูกสังหาร ได้แก่ในอัฟกานิสถาน 2 คน  บัคลาเทศ 3 คน อินเดีย 3 คน ปากีสถาน 6 คน ศรีลังกา 4 คน และเนปาล 2 คน


 


IJF รายงานว่า มีผู้สื่อข่าวและคนทำงานสื่อประมาณ 89 คน ที่ถูกสังหารในระหว่างการปฎิบัติหน้าที่ และมีจำนวนมากที่ถูกลอบสังหารโดยกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองและอาชญากรรม  รายงานยังบอกด้วยว่า กว่าร้อยละ 90 ของคดีเหล่านี้ไม่ได้มีการติดตามและสืบสวนอย่างเหมาะสม และมีมือสังหารเพียงแค่หยิบมือเดียวเท่านั้นที่ถูกนำมาดำเนินคดี


 


ทั้งนี้ทาง IJF กล่าวโทษสาเหตุที่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาจาก 3 สาเหตุรวมกันได้แก่  การคอรัปชั่นของตำรวจ การไร้ความสามารถของฝ่ายยุติธรรม และความเพิกเฉยของฝ่ายการเมืองที่สร้าง "วัฒนธรรมแห่งการละเลย" ( Culture of neglect) ขึ้นเมื่อมีการเสียชีวิตของสื่อ


 


"การที่ผู้สังหารสื่อไม่ได้รับการลงโทษเป็นเรื่องเสื่อมเสียที่สุดที่จะทนในสมัยของเราที่ชุมชนนานาชาติเองไม่อาจจะละเลยได้อีกต่อไป" ไอดัน ไวท์ เลขาธิการ IJF กล่าว


 


---------------------------------------------------------


ที่มา: http://www.abs-cbnnews.com/storypage.aspx?StoryId=27999


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net