Skip to main content
sharethis








 


 


 



นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ภาพจาก
www.thairath.com


 


 


ผ่านไปแล้วสำหรับเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ว่าด้วย เอฟทีเอไทย-สหรัฐ ที่ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" ลั่นวาจาไว้ว่าจัดแน่ ! รับฟังแน่ ! (24 ม.ค.49)  หลังเกิดขบวนต่อต้านใหญ่ที่เชียงใหม่ในการเจรจารอบ6 ที่ผ่านมา


 


เอาเข้าจริงเวทีนี้จัดโดย กกร.-คณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน (ได้แก่ สภาอุตฯ สภาหอการค้าฯ สมาคมธนาคารฯ) ได้รับความสนใจจากผู้คนมากหลาย ส่วนใหญ่เป็นภาคธุรกิจและราชการ แต่ก็มีเครือข่ายภาคประชาชนอยู่บ้าง


 


เวทีนี้มีการจับผู้เจรจาหัวข้อต่างๆ มานั่งสาธยายความคืบหน้าให้ฟัง รวมทั้งนักวิชาการทั้งที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย-เห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง มาแลกเปลี่ยนกัน


 


สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ผู้ดูแลข้อตกลงเขตการค้าเสรีทั้งหมดกล่าวในปาฐกถาเปิดงานว่า กระแสการค้าเสรีก่อตัวมาได้ 10 กว่าปีแล้ว โดยยิ่งนานยิ่งชัดเจนว่า เป็นกระแสที่ "หลีกเลี่ยงไม่ได้" เพราะประเทศส่วนใหญ่ในโลกต้องการให้เป็นไปแบบนั้น!


 


และสิ่งใดที่อ่อนไหว อาจกระทบกับคนไทยแห่งอนาคต จะเอาผลประโยชน์ทางการค้ามาแลกไม่ได้ ข้อนี้ทุกคนเข้าใจดี


 


"ขอให้ทุกคนวางใจ ไม่มีใครจะไม่ตระหนักถึงผลประโยชน์ของประเทศไทย ในคณะเจรจาเจ้าหน้าที่ทุกท่านล้วนแต่เป็นคนไทย หัวใจไทยทั้งสิ้น เขาทำงานหนัก เป็นทัพหน้าของประเทศ เราต้องให้กำลังใจ ต้องสนับสนุนเขา อย่าถือว่าเขาเป็นศัตรู อย่าเผาโลงใส่ชื่อเขา มันสะเทือนใจถึงบรรพบุรุษ"


  


"จบไม่ได้ก็คือจบไม่ได้ แต่อย่าด่วนสรุปว่าให้ล้มเลิก เพราะล้มเลิกมันพูดง่ายแต่ทำยาก ประเทศไทยจะเสียหาย" สมคิดยังยืนยันคำเดิม แม้นายกฯ จะสั่งลุยลูกเดียวห้ามถอยก็ตาม


 


ส่วนหัวหน้าคณะคนใหม่ก็ยังคงไม่ชัดเจน มีการเก็งกันไว้หลายคน แต่ที่มาแรงคือ อุตตม สาวนายน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในวันนั้นก็ให้สัมภาษณ์หลังลงจากเวทีเสวนาว่า เรื่องนี้แล้วแต่ผู้ใหญ่ ยังพูดอะไรไม่ได้ พร้อมทั้งยืนยันแน่นหนักว่า การที่เขาไปช่วยเสริมทัพคณะเจรจารอบ 6 ที่เชียงใหม่นั้น ไม่ใช่เรื่องการเมืองเข้าไปแทรกแซงแน่ เพียงแต่การเจรจามันเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ "หลายหัวดีกว่าหัวเดียว ก็เท่านั้นเอง"


 


ส่วนเรื่องที่นำมาพูดคุยกันนั้นมีหลากหลาย การเปิดตลาดสินค้า การค้าบริการและการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา ขอเก็บตกบางส่วนมานำเสนอ


 


. . . . . . . . . .


 


การค้าบริการและการลงทุน


 


เริ่มต้นที่ การค้าบริการและการลงทุน เพราะกำลังมีประเด็นสำคัญอย่างการขายหุ้นของกลุ่มชินคอร์ปอยู่ เรื่องนี้ถูกหยิบยกมาเชื่อมโยงกันโดยด ร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่งมูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


 


ดร.สมเกียรติ วิเคราะห์ผลของเอฟทีเอที่จะมีต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) โดยใช้สูตรทางเศรษฐศาสตร์ แบบจำลองดัชนีชี้วัดระดับการเปิดเสรี พบว่า


 


1. ยิ่งมีการคุ้มครองนักลงทุนมากเท่าไร ก็เท่ากับประเทศนั้นมีความเสี่ยงสูงไม่น่าลงทุน ฉะนั้นข้อบทการคุ้มครองนักลงทุนอย่างมากมายมหาศาลในเอฟทีเอ จะไม่เพิ่มการลงทุน เผลอๆ จะลดลงด้วยซ้ำ หากมันเป็นสัญญาณว่ามีความเสี่ยงต่อนักลงทุน


 


2. การเปิดเสรีบริการ จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ในสาขาบริการ และอาจจะเลยไปถึงภาคการผลิตได้ด้วย ซึ่งจะมีการกระจายผลประโยชน์ไปสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบ นี่เป็นประโยชน์ในแง่การดึงดูดการลงทุนที่เราพอจะคาดหวังได้


 


3. โพสิทีฟลิสต์ (Positive list) / เนกาทีฟลิสต์ (Negative list) ไม่ว่าเราจะปิดหมดแล้วระบุบางรายการที่จะเปิด(Positive list) หรือเปิดหมดแล้วระบุบางรายการที่จะสงวน (Negative list) ประเด็นนี้ไม่มีความสำคัญ เพราะมีวิธีเขียนที่ได้ผลเท่ากันทุกประการได้ ยกเว้นจะมีการบริการใหม่


 


ดังนั้น ดูเหมือนการเปิดเสรีบริการน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะการที่เราจำกัดไม่ให้ต่างชาติเข้าสู่ตลาดบริการของไทย มีผลต่อราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็นของการบริการต่างๆ ในบ้านเรา เช่น การขนส่งทางอากาศ สูงขึ้น 16% ธนาคารสูงขึ้น 11% ส่วนโทรคมนาคมนั้นสูงถึง 86% 


 


แต่ช้าก่อน ! ทั้งหมดที่อธิบายมานี้ ดร.สมเกียรติตบท้ายว่า "มันป่วยการแล้วที่จะพูดว่า เปิดเสรีบริการหรือไม่เปิด"  เพราะการขายหุ้นของกลุ่มชินคอร์ปให้กับกองทุนของสิงคโปร์ มูลค่ากว่า 7.3 พันล้านบาทนั้น เป็นการเปิดเสรีให้นักลงทุนต่างชาติไปแล้วทั้งที่ยังไม่มีกฎหมายอนุญาต


 


ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.โทรคมนาคมได้แก้ไขให้ผู้ถือหุ้นต่างชาติสามารถถือหุ้นได้จาก 25% เป็น 49%   แต่เอาเข้าจริงมีบริษัทต่างชาติ ถือหุ้นในชินคอร์ป 75- 80% ไปเรียบร้อยแล้ว แม้กฎหมายไม่อนุญาต โดยใช้รูปแบบการถือหุ้นแบบปิรามิด หรือแบบนอมินี คือ ถือผ่านบริษัทคนไทยที่ตั้งขึ้นมา


 


"ถือถือหุ้นแบบนอมินีมีมานานแล้วเราก็รู้กัน แอบทำกันโดยรู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง รัฐบาลอาจจะปรับปรุงเรื่องนี้ให้รัดกุมขึ้นก็ได้ แต่ครั้งนี้มันสร้างบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาเลย มันเป็นดีลที่ใหญ่มาก และทำกันอย่างเปิดเผยมาก ครั้งนี้มันหมดทางปรับปรุงแล้ว"


 


"มันไม่ผิดกฎหมาย แต่มันขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย คราวนี้ก็รอแต่นักลงทุนใจกล้าที่จะกล้าลองของ ถ้ามีขึ้นมารัฐบาลก็คงอิหลักอิเหลื่อที่จะจัดการ"


 


ส่วนการนำเงินรายได้ ไปทำการกุศลตามที่นายกฯ ระบุนั้น ดร.สมเกียรติมองว่า ควรจะทำให้ถูกต้องโดยการนำไปเสียภาษีมากกว่า ซึ่ง กรณ์ จาติกวานิช รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ คำนวณมาแล้วตกราว 20,000 บาท


 


"ผมว่ามันเป็นอย่างที่ภาษาฝรั่งเรียกว่า too late,too little อีกอย่างตรรกะของเงินมันชัดเจนว่าเงินต้องวิ่งหาผลตอบแทน เราต้องคอยดูกันต่อไปว่าเขาจะเอาไปทำอะไร ย้ายไปธุรกิจใหม่อะไร เพราะธุรกิจเดิมมันอิ่มตัวแล้ว เคยเติบโตร้อยกว่าเปอร์เซ็นต์ มาปีที่แล้วเหลือแค่ 7 เปอร์เซ็นต์"


 


กลับมาที่ข้อเสนอของดร.สมเกียรติ  เขาเสนอว่า ข้อบทเรื่องการลงทุนในเอฟทีเอสหรัฐนั้นต้องระมัดระวัง โดย 1. ควรมีการกำหนดขอบเขตการคุ้มครองการลงทุนที่ชัดเจน อย่าคุ้มครองการลงทุนระยะสั้นเพื่อเก็งกำไร


 


2.นิยามการริบทรัพย์ทางอ้อม (อะไรก็ตามที่ขัดขวางนักลงทุนถือเป็นการริบทรัพย์ทางอ้อม) ต้องทำให้กระจ่าง ไม่เช่นนั้นยุ่งแน่ 3.มาตรการโอนเงิน ควรต่อรองเพื่อรักษาสิทธิในการควบคุมการโอนเงินเอาไว้ให้ได้ ดังที่ประเทศชิลีทำสำเร็จมาแล้ว


 


4.ระหว่างการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายการลงทุน กฎหมายโทรคมนาคม ถ้าแก้ไม่ดีจะทำให้ผู้ประกอบการไทยและประเทศอื่นๆ ได้สิทธิด้อยกว่าสหรัฐ หรือการรวมไว้ในพ.ร.บ.เดียว ตามสไตล์เร่งรัดของรัฐบาล แล้วระบุว่าให้เป็นไปตามเอฟทีเอ จะเท่ากับให้การคุ้มครองนักลงทุนสหรัฐอย่างเดียว


 


5.ควรมีการแก้ไขกฎหมายแข่งขันทางการค้า ไม่ให้ทุนใหญ่ผูกขาด ไม่ว่าจะทุนไทยหรือทุนต่างชาติ


 


6.ควรเลือกใช้วิธีการให้สัตยาบัน หรือให้การรับรองโดยรัฐสภา เพราะหากใช้วิธีลงนามแล้ว นำเฉพาะกฎหมายที่มีการแก้ไขเพื่อรองรับเอฟทีเอเข้ารัฐสภา เท่ากับเป็นการมัดมือชกรัฐสภา หากรัฐสภาไม่ผ่านกฎหมาย ก็ถือว่าไม่ทำตามความตกลง สหรัฐมีสิทธิฟ้องประเทศไทยได้


 


 หันมาทางหัวหน้าคณะเจรจากลุ่มการลงทุน "ดร.วีรชัย พลาศรัย" รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เขาอธิบายว่า สำหรับการลงทุน ประเทศไทยทำการส่งเสริมการลงทุนมานานแล้ว ทั้งในรูปนิคมอุตสาหกรรมหรือบีโอไอ  ขณะที่การคุ้มครองนักลงทุนนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เรื่องที่ใหม่ คือ การเปิดเสรี


 


การเปิดเสรีการลงทุน รวมถึงการคุ้มครองการลงทุนนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีการคุยกันในเวทีการค้าระดับโลก อย่างดับทีโอ ดังนั้น จึงต้องเป็นการเจรจากันทำความตกลงกันเองในกรอบของทวิภาคี ซึ่งไทยได้ตกลงเปิดเสรีการลงทุนภาคบริการ การผลิต และเหมืองแร่ไปแล้วเป็นครั้งแรกกับออสเตรเลีย (เอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย)


 


สำหรับไทยและสหรัฐ เราเคยมีสนธิสัญญาไมตรีพ.ศ.2509 ที่เปิดให้นักลงทุนสหรัฐเข้ามาลงทุนได้เต็มที่ และเพิ่งสิ้นสภาพไป เอฟทีเอจะช่วยให้อีกฝ่ายผูกพันการเปิดเสรีต่อไป และมีสภาพบังคับไม่ให้ "ถอยหลัง" (เปิดแล้วเปิดเลย) โดยที่การผูกพันนั้น อาจจะ ต่ำกว่า เท่ากับ หรือสูงกว่า ที่กำหนดในกฎหมายปัจจุบันก็ได้ (นี่เองที่ทำให้มีการประเมินกันว่าเอฟทีเอไทย-สหรัฐจะส่งผลให้ต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ)


 


ส่วนความคืบหน้าในการเจรจานั้น รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ชี้แจงว่า ขณะนี้ได้บรรลุโครงสร้างการเปิดเสรีในข้อบทความตกลงแล้ว และขณะนี้แต่ละฝ่ายได้ยื่นรายการระบุมาตรการหรือสาขาที่ตนไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่ตกลงกันได้ เพื่อที่หลังจากนั้นจะต่อรองให้อีกฝ่ายลดจำนวนรายการที่เปิดไม่ได้ลง


 


ดร.วีรชัย กล่าวด้วยว่า ในการเจรจารายสาขารอบต่อไปนั้น คาดว่าสิ่งที่สหรัฐจะเรียกร้องคือให้ไทยเปิดเสรีทุกสาขาแต่สาขาที่สนใจเป็นพิเศษ คือ  เกษตร ขนส่ง บริการส่งพัสดุไปรษณีย์ด่วน ทรัพยากรธรรมชาติ โทรคมนาคม และบริการทางการเงิน


 


ขณะที่ตลาดฝั่งสหรัฐเปิดเสรีอยู่แล้ว และไทยสนใจเป็นพิเศษในสาขาบริการที่มี "Thai touch" อาทิ ร้านอาหาร บริการสุขภาพ สปา สถาปนิก ออกแบบ ซ่อนรถยนต์ เป็นต้น


 


มีผู้เข้าร่วมสัมมนาแสดงความกังวลกรณีที่อนุญาตให้เอกชนฟ้องรัฐได้  ดร.วีรชัยกล่าวว่า ในเอฟทีเอบทของการลงทุน มีการอนุญาตให้เอกชนฟ้องรัฐผ่านอนุญาโตระหว่างประเทศ แต่ขณะนี้ฝ่ายไทยได้ขอสงวนบางเรื่องที่ไม่ควรใช้ระบบอนุญาโต เช่น บริการทางการเงิน ขั้นตอนการให้ใบอนุญาตก่อนเข้า และเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา "แต่ขณะนี้สหรัฐยังโน (NO) อยู่"


 


. . . . . . . . . . .


 


บริการการเงิน


 


การเงินนี้เป็นภาคบริการที่ถูกแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งหัวข้อใหญ่ในการเจรจา "นายนริศ ชัยสูตร" ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้ากลุ่มเจรจาได้ขึ้นเวทีชี้แจงว่า หลักที่ไทยยึดไว้มั่นในการเจรจาคือ ระยะเวลาในกาเปิดเสรี ต้องให้ธนาคารพาณิชย์ ประกันภัย/ประกันชีวิต หลักทรัพย์ ปรับตัวได้ทัน และต้องมีกฎหมาย ตลอดจนกลไกที่จะรองรับการเปิดเสรี ควบคุมการไหลเข้าไหลออกของเงินได้ เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจมหภาค


 


ภายใต้จุดยืนเพื่อผลประโยชน์ผู้บริโภค ความพร้อมของผู้ประกอบการ และประสิทธิภาพในการดูแล นริศระบุว่า "ต้องยอมรับว่าเราขาดความพร้อมในการกำกับดูแล ตรวจสอบข้อมูล โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่" การเปิดเสรีจึงต้องเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป


 


สำหรับความคืบหน้ารอบ 6 ที่เชียงใหม่ เขากล่าวว่า สหรัฐเข้าใจประเทศไทยมากขึ้นว่าทำไมจึงต้องการมาตรการป้องกันต่างๆ ซึ่งในการเจรจาครั้งต่อไปนั้นไทยก็ยังจะยืนยันว่า สหรัฐต้องยอมรับให้ไทยดำเนินมาตรการใดๆ เพื่อการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค และขอสงวนไว้ซึ่งสิทธิในการออกใบอนุญาต การกำกับดูแลบริการทางการเงินใหม่ๆ


 


นอกจากนี้ยังต้องขอสงวนสิทธิ์ในการใช้มาตรควบคุมใหม่ๆ ที่ยังไม่มีระบุไว้ในกฎหมาย แต่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เพื่อไล่ให้ทันนวตกรรมใหม่ๆ ที่สำคัญ ไทยจะไม่ยอมรับกลไกให้เอกชนฟ้องรัฐโดยใช้ระบบอนุญาโตตุลาการอีกด้วย 


 


จุดยืนข้อสุดท้ายได้รับการชื่มชมจากผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันนั้น แต่น่าเสียดายที่เราแข็งและรู้จักตัวเอง จนดูเหมือนเป็นที่น่าพอใจสำหรับผู้ประกอบการทั้งหลายก็เฉพาะในภาคการเงินเท่านั้น.....

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net